ข่าวเปิดโปง อภ. สต๊อกวัตถุดิบพาราฯ 148 ตันแฉปัญหา “โรงงานวัคซีน-โรงงานผลิตยา”-เดลินิวส์-2556

ผลงานส่งประกวดรางวัล อิศรา อมันตกุล ประจำปี 2556

เปิดโปง อภ. สต๊อกวัตถุดิบพาราฯ 148 ตันแฉปัญหา “โรงงานวัคซีน-โรงงานผลิตยา”

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

จุดเริ่มต้นของข่าว

“เดลินิวส์”ได้เบาะแสจากแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเดือน ม.ค.2556  ว่าคุณภาพ “วัตถุดิบ”  ที่ใช้ในการผลิต “ยาพาราเซตามอล” ซึ่งองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ว่าจ้างให้ผู้อื่นผลิตให้ เป็นวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศมีปัญหาการปนเปื้อนอยู่เป็นระยะ ๆ ขณะเดียวกัน อภ.ได้ซื้อวัตถุดิบมาเก็บไว้จำนวนหนึ่ง  จึงตั้งคำถามว่า วัตถุดิบที่นำเข้านั้น มาจากแหล่งใดบ้าง  อภ.มีการซื้อวัตถุดิบมาสำรองไว้จริงหรือไม่  มีปัญหาเรื่องคุณภาพหรือไม่  แล้ววัตถุดิบที่มีปัญหาการปนเปื้อน มีวิธีจัดการอย่างไร   ทั้งนี้เพราะ อภ.เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ผลิตยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งจัดหายาให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศมาช้านาน  โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ต้องใช้ยาและเวชภัณฑ์ที่ อภ.จัดหาให้  จึงได้เริ่มกระบวนการเจาะข้อมูลมานำเสนอ

การดำเนินการ

“เดลินิวส์”ได้เริ่มวางแผนหาข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มจากผู้รับจ้างผลิตยาพาราเซตามอลให้กับ อภ. ซึ่งมี 2แห่งด้วยกัน คือ โรงงานเภสัชกรรมทหาร  (รภท.) รับจ้างผลิตยาพาราเซตามอลชนิดบรรจุขวดให้กับ อภ.  และบริษัทโอสถอินเตอร์ จำกัด ผลิตชนิดแผง โดย รภท.ต้องซื้อวัตถุดิบจากโรงงานในประเทศจีนที่เจ้าหน้าที่ อภ.ตรวจและให้การรับรองแล้วเท่านั้นซึ่งมีเพียง 2 แห่ง แต่ 1 แห่งยังมีปัญหาเรื่องสูตรอยู่ โดย รอง ผอ.รภท.ในขณะนั้น ระบุว่า ระยะหลังวัตถุดิบที่นำมาผลิตยามีปัญหาการปนเปื้อนเพิ่มขึ้นจริง จากการเจาะลึกข้อมูล พบว่า “วัตถุดิบ”ที่ใช้ในการผลิตยาพาราเซตามอลของ รภท.ตั้งแต่ปี 2553-2555 มีการปนเปื้อนระหว่างการตรวจวิเคราะห์เพื่อนำไปผลิต 17 รุ่นการผลิต ซึ่ง รภท.ได้รีเจ็กซ์ออกไป

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ อภ.ซื้อวัตถุดิบแบบผสมเสร็จ(ดีซีเกรด) สามารถนำมาตอกเม็ดยาได้เลย จำนวน 148 ตันมูลค่าประมาณ 23  ล้านบาทด้วยวิธีพิเศษ มาสำรองไว้ เป็นวัตถุดิบจากโรงงานในประเทศจีนนำเข้าโดย หจก.แห่งหนึ่ง ครั้งแรกเดือน ก.พ. 2554 จำนวน 48 ตันเก็บไว้โกดังเก็บสินค้า องค์การคลังสินค้า  2 ราษฎร์บูรณะ  ครั้งที่ 2 จำนวน 100 ตัน ก.พ.2555 เช่าโกดังบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เก็บวัตถุดิบเอาไว้  โดยอ้างว่ามีแผนการผลิตโดยใช้โรงงานแมสโปรดักซ์ชั่นที่กำลังก่อสร้าง (เซ็นสัญญา ม.ค. 2544 ต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน 180 วัน) และอ้างว่าสำรองไว้หลังน้ำท่วม  โดย อภ.ได้แบ่งขายวัตถุดิบ 10 ตันจากล็อตแรกให้ รภท.นำไปผลิต แต่ รภท.ตรวจวิเคราะห์พบการปนเปื้อนจึงไม่ได้นำไปผลิต

“เดลินิวส์”ได้ข้อมูลจาก  อย. ที่เข้าไปตรวจสอบการนำเข้าและใช้วัตถุดิบ พบว่า ตั้งแต่ ม.ค.2554-ก.ย.2555 หจก.ผู้นำเข้าวัตถุดิบ ได้นำเข้าวัตถุดิบ 97 รุ่น โดย 37 รุ่น 148 ตันขายให้ อภ.  ส่วน 60 รุ่น 37 ตัน ขายให้ รภท. เหลือเก็บไว้ที่ หจก. 17 ตัน  มีปัญหาตีกลับ  20.35  ตัน ทั้งนี้วัตถุดิบที่มีปัญหาและตีกลับ หจก. ได้นำไปขายต่อให้กับอีก 2 บริษัท 7 ตัน โดยทั้ง 2 บริษัทได้นำไปผลิตยาพาราเซตามอลและจำหน่ายหมดแล้ว

นอกจากนี้ “เดลินิวส์”ได้ตรวจสอบข้อมูลพบ ปัญหาโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกในระดับอุตสาหกรรม” มูลค่า 1,411.70 ล้านบาท ที่ ต.ทับ กวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ได้รับการอนุมัติโครงการจาก ครม.เมื่อ 22 พ.ค.2550  ทำสัญญาจ้างปี 2552 ต้องก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2554 แต่การก่อสร้างล่าช้า ทั้งที่ซื้อเครื่องจักรเตรียมไว้หมดแล้ว สาเหตุความล่าช้า เกิดจากปรับแบบจากฐานแผ่เป็นเข็มเจาะ มีการทบทวนการออกแบบ ปรับเปลี่ยนมาตรฐานโรงงานวัคซีนจากผลิตเชื้อตายสามารถผลิตเชื้อเป็นได้กรณีมีการระบาดใหญ่ โดยไม่มีการขออนุมัติ ครม. ส่งผลให้บริษัทผู้รับเหมาขอเพิ่มงบค่าก่อสร้างอีก 90 ล้านบาท แต่ อภ.ขอต่อรองเหลือ 60 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่สามารถก่อสร้างต่อได้เพราะต้องเสนอเรื่องเข้า ครม.ซึ่งหาก ครม.อนุมัติต้องใช้เวลาก่อก่อสร้างอีก 18 เดือน

กรณีโรงงานวัคซีนพบว่า อภ.ทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด 4 สัญญา 4 บริษัท ส่วนสัญญาก่อสร้างทำกับ 2 บริษัท ซึ่งระหว่างการก่อสร้างได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้าง เพิ่มวงเงิน และขยายระยะเวลาให้บริษัทเป็นระยะ

“เดลินิวส์” ยังพบ ปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี (โรงงานผลิตยารังสิต)  ที่คลองสิบ จ.ปทุมธานี ล่าช้า ติดปัญหาเครื่องปรับอากาศไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้  มีการบอกเลิกสัญญาบริษัทและมีการกำหนดทีโออาร์ใหม่เพื่อประมูลงานส่วนที่เหลือ   และปัญหาโรงงานแมสโปรดักซ์ชั่น ที่ถนนพระราม 6  ล่าช้า  ปรับแบบหลายครั้ง ทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา มีการต่อสัญญาให้บริษัทถึง 2 ครั้ง  จนถึงขณะนี้แม้จะก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดการผลิตได้ครบวงจร

ปัญหายาหัวใจโคลพิโดเกรล มูลค่า 10 ล้าน อภ.ซื้อจากบริษัทในประเทศไทยมาเก็บไว้จนยาใกล้หมดอายุ ต้องแลกเปลี่ยนคืนยากับบริษัท  ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เนื่องจาก สปสช.มอบให้ อภ.จัดหายาให้ บังเอิญยาหัวใจโคลพิโดเกรลของ สปสช.ใกล้หมดสต๊อกและบังเอิญอีกที่บริษัทยาซีแอลในประเทศอินเดียไม่ส่งยา 18 ล้านเม็ดให้ อภ.ทำให้ อภ.ต้องซื้อยาราคาแพงจากบริษัทในประเทศไทย 3 ล้านเม็ดแก้ขัด และมีความพยายามจะซื้ออีก 3 ล้านเม็ด ทั้งที่ยาซีแอลเข้ามาแล้ว แต่พอมีข่าวนี้ออกไปทำให้การจัดซื้อยาต้องล้มเลิกไป

ปัญหาวัตถุดิบโอเซลทามิเวียร์ ใช้สำหรับผลิตยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการสำรองไว้จำนวนมากช่วงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระบาด ทำให้วัตถุดิบเหลืออยู่ถึง  3,496.9 กก. มูลค่า 500 ล้านบาท  ผลิตยาได้ประมาณ 30 ล้านเม็ด ใช้ 10ปีก็ไม่หมดซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ ยังพบปัญหาจัดซื้อเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา ปัญหาน้ำเกลือ ที่ซื้อมาตุนหลายล้านถุง  และ ปัญหาบรรจุยาผิดแผง

ผลกระทบและคุณค่าข่าว

กรณีวัตถุดิบพาราเซตามอล

-ภายหลังจาก “เดลินิวส์” นำเสนอข่าววัตถุดิบพาราเซตามอล  148 ตัน เพียง 5 วัน  อภ.ตัดสินใจยุติปัญหาคืนวัตถุดิบทั้งหมด ให้บริษัทในประเทศจีนเพื่อแลกกับวัตถุดิบล็อตใหม่ ในขณะนี้วัตถุดิบล็อตแรกได้เข้ามาแล้ว 24 ตันเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2557 ที่ผ่านมา

-อย.เข้าไปตรวจสอบข้อมูลจาก  อภ.  รภท. และ หจก.ที่นำเข้าวัตถุดิบ พร้อมออกมาตรการให้ผู้ผลิตยาและนำเข้าต้องแจ้งข้อมูลกรณีพบปัญหาคุณภาพวัตถุดิบให้ อย.ทราบภายใน 7 วัน

-อย. ให้ อภ.  และ รภท. ระงับการนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่มีปัญหาจนกว่าจะสามารถพิสูจน์ให้มีความมั่นในคุณภาพ รวมทั้งให้ อภ.ทบทวน ปรับปรุง พัฒนาระบบการประกันคุณภาพเพื่อลดปัญหาการจัดเก็บเภสัชเคมีภัณฑ์เป็นระยะเวลานานและไม่สอดคล้องตามแผนการผลิต  ส่วน หจก.นำเข้าวัตถุดิบ ให้ระงับการขายวัตถุดิบที่พบปัญหาคุณภาพซึ่งได้รับคืน ให้แก่ผู้ซื้อและผู้ผลิตรายอื่น

-ดีเอสไอสอบสวน สรุปว่ามีการทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เนื่องจากไม่ได้เปิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการซื้อวัตถุดิบโดยไม่มีแผนการผลิต จึงส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณา และยังสรุปด้วยว่าเข้าข่ายการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

- อภ.ตั้งคณะกรรมการสอบสวน มอบให้ นพ.นิพนธิ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นประธาน  ผลออกมาว่า การจัดซื้อวัตถุดิบโดยวิธีพิเศษไม่สอดคล้องกับระเบียบพัสดุ  สำรองวัตถุดิบโดยไม่มีแผนการผลิตและที่เก็บ  ทั้งนี้ อภ.อยู่ระหว่างการพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้อง

กรณีโรงงานวัคซีน

-ดีเอสไอสอบสวนสรุปว่ามีการทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542  กรณีแบ่งซื้อแบ่งจ้างการออกแบบ โดยแบ่งสัญญาออกเป็น 4 สัญญา  การเปลี่ยนแบบโรงงานจากที่ ครม.อนุมัติคือให้สร้างแบบเชื้อตาย แต่ได้เปลี่ยนแบบให้ผลิตได้ทั้งเชื้อตายและเชื้อเป็น โดยไม่ขออนุมัติ ครม. และการบริหารสัญญาล่าช้า ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาและและยังสรุปว่าเข้าข่ายการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

-การเลิกจ้างผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

- อภ.อยู่ระหว่างการพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้อง

“เดลินิวส์” เชื่อมั่นว่า การนำเสนอข่าวในครั้งนี้จะทำให้  อภ. ปฏิรูปองค์กรให้เกิดความโปร่งใส  โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญาต่าง ๆ ต้องรัดกุม  ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง   ช่วยให้รัฐประหยัดงประมาณค่าใช้จ่ายด้านยา  เพราะความล่าช้าจากการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โรงงานผลิตยา ย่อมส่งผลให้ต้องนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันการนำเสนอข่าวในครั้งนี้น่าจะช่วยป้องปรามหน่วยงานต่าง ๆ มิให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า เหมาะสม.