"เปิดโปงอภิมหาโครงการไซโล-นายหน้าขายข้าวอคส. เอื้อจีจีเอฟมาเลเซีย"
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
บทคัดย่อ
จากการติดตามไปร่วมรับฟังการประชุมชี้แจงโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล โดยนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 ของทีมงานโต๊ะข่าวเกษตรการค้า กองบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ เพื่อรายงานข่าวตามปกติ ในงานดังกล่าว นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้ลุกขึ้นสอบถามปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่า เหตุใดประเทศไทยตั้งบริษัท จีจีเอฟของมาเลเซีย เป็นตัวแทนขายข้าวของรัฐบาลไทยในตลาดโลก ซึ่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถชี้แจงได้ในวันนั้น
ทีมข่าวโต๊ะเกษตรการค้าจึงรายงานข่าวดังกล่าวเป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11-14 ตุลาคม 2552 เนื่องจากเห็นว่า อาจกระทบต่อกลไกการค้าข้าวไทยในตลาดโลกได้ จากนั้น”ฐานเศรษฐกิจ” ได้ติดตามตรวจสอบความเป็นมาของโครงการดังกล่าวในทางลึกอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ ซึ่งยิ่งติดตามรายงานข่าวยิ่งพบข้อพิรุธโครงการนี้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
นายยงยศ ปาละนิติเสนา รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) หน่วยงานต้นเรื่อง ที่ทำสัญญาให้บ.จีจีเอฟ(ไทยแลนด์) เข้าร่วมการงานในโครงการจัดหาไซโลเก็บข้าวของอคส. อ้างว่า หลังจากที่รัฐบาลเปลี่ยนโครงการจำนำ เป็นโครงการประกันรายได้แล้ว ภาระกิจอคส.จะน้อยลง จึงจำเป็นต้องหาธุรกิจเลี้ยงตัวเอง จึงทำโครงการจัดหาสถานที่เก็บข้าวคือไซโลขึ้น และคัดเลือกบริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้จัดหาไซโล
หลังจากนั้น อคส. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 โดยมีบริษัท จีจีเอฟ มาเลเซีย (GGF Gloden House Sdn.Bhd.)ร่วมด้วย
ในบันทึกข้อตกลงมีสาระสำคัญ 5 ข้อคือ 1.จีจีเอฟ (ไทยแลนด์)จะจัดสร้างไซโล 10 แห่ง ความจุรวม 2 ล้านตันในพื้นที่ 10 จังหวัดให้กับอคส. 2.ในกรณีที่อคส.ดำเนินโครงการรัฐบาลหรือธุรกิจของอคส.เอง อคส.เป็นผู้มีสิทธิ์รายแรกที่จะเช่าไซโลอัตราค่าเช่า 41 บาทต่อตันต่อเดือน 3.จีจีเอฟมาเลเซีย เป็นนายหน้าขายข้าวให้กับอคส.โดยมีสิทธิ์ซื้อข้าวจากอคส.เป็นรายแรก และอคส.จะมีส่วนลดให้ 25%ของราคาเอฟโอบีที่กำหนดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ณ วันสั่งซื้อ 4.จีจีเอฟมาเลเซียจะสนับสนุนทุนซื้อข้าวให้กับอคส.และ5. อคส.ได้คอมมิชชั่นค่าขายข้าวของจีจีเอฟมาเลเซียร้อยละ 2 โดยที่ในการประกาศจัดหาไซโลไม่มีเงื่อนไขการให้คู่สัญญาได้สิทธินายหน้าขายข้าวแต่อย่างใด
ทีมข่าวเกาะติดตรวจสอบในสองส่วนคือ ส่วนของการเป็นนายหน้าขายข้าว ของจีจีเอฟ มาเลเซีย นำบันทึกข้อตกลงร่วม 3 ฝ่ายมาศึกษา พบข้อพิรุธหลายประการ อาทิ ให้อคส.ได้รับค่าคอมมิชชั่นจากจีจีเอฟ มาเลเซีย 2 % ต่างจากธรรมเนียมในวงการค้าข้าว ที่เจ้าของข้าวต้องเป็นผู้จ่ายคอมมิชชั่นให้กับนายหน้า หรือในการรับฝากข้าว อคส.ซึ่งเป็นข้าวนโยบายรัฐบาล จีจีเอฟ (ไทยแลนด์)จะได้รับค่าฝากเก็บถึงปีละ 3หมื่นล้านบาท เป็นการทำข้อตกลงให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทน
ส่วนการจัดหาไซโลนั้น ได้ศึกษาสาระประกาศ ระบุจัดหาไซโลขนาดความจุแห่งละ 2 แสนตัน ซึ่งในวงการประเมินว่าต้องใช้เงินลงทุนเฉพาะไซโลไม่รวมค่าที่ดินแห่งละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท จำนวน 10 แห่งใช้เงินลงทุน 5,000-10,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) คู่สัญญาอคส.ในโครงการนับหมื่นล้านบาทนี้ พบว่ามีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท อีกทั้งผู้ถือหุ้นส่อเป็นนอมินี
ขณะเดียวกันยังพบภาพข่าวสังคมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง 3 ฝ่ายระหว่างอคส. จีจีเอฟ ไทยแลนด์ และ จีจีเอฟ มาเลเซีย มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานในพิธี ทั้งที่โครงการใหญ่ระดับนี้กลับไม่มีนายกฯหรือรัฐมนตรีพาณิชย์เข้าร่วมแต่อย่างใด ต่อมาจึงพบว่า ผู้ถือหุ้นใหม่ของบริษัทจีจีเอฟ ไทยแลนด์ หลังจากได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นแล้วนั้น มีความใกล้ชิดนายสมศักดิ์ อาทินายสุวิช ชมพูนุชจินดา อดีตเป็นรองเลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่มี นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นเลขาธิการพรรค
การเดินหน้ารายงานข่าว “เปิดโปงอภิมหาโครงการไซโลอคส.เอื้อประโยชน์จีจีเอฟมาเลเซีย”ครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสื่อต่าง ๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนคณะกรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) ต่างร่วมตรวจสอบโครงการนี้อย่างกว้างขวาง และมีข้อสรุปในเชิงเห็นค้านการดำเนินโครงการนี้ของอคส.กันถ้วนหน้า
1.คณะกรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาฯ ตั้งข้อสังเกตและข้อท้วงติงการดำเนินการของอคส.ครั้งนี้ รวมทั้งเห็นว่า อคส.เป็นหน่วยงานของรัฐ การให้จีจีเอฟมาเลเซียเป็นนายหน้าขายข้าวให้นั้น เป็นการทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 84
2.คณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.)ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตรวจสอบว่า อคส.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจดำเนินโครงการนี้หรือไม่ และ
3.กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าสอบสวนและสรุปผลว่า เจ้าหน้าที่อคส.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการทุจริต กำหนดเงื่อนไขอันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคา มุ่งไม่ให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ช่วยเหลือเอื้อให้บริษัทจีจีเอฟ ไทยแลนก์ได้มีสิทธิ์เข้าทำสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม และมีส่วนรวมกับบริษัทจีจีเอฟ มาเลเซีย ทำให้ผู้อื่นไม่มีสิทธิ์เข้าเสนอราคา อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 3,4,7,10,11,12 บริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์)กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวพ.ศ. 2552มาตรา 8(3) และได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้ว
การตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” อย่างเข้มข้น ยังผลให้บริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินีของบริษัท จีจีเอฟ มาเลเซีย ได้เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น และเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาทเป็น 500 ล้านบาท ขณะเดียวได้ทำหนังสือขอยกเลิกการเป็นนายหน้าขายข้าวให้กับอคส. ล่าสุดผู้บริหารจีจีเอฟ มาเลเซีย แฉว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่มาสอบสวนคดีนี้พยายามเรียกสินบน แต่นายธาริต เพ็งดิต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตอบโต้กลับว่า มีความพยายามเสนอให้สินบนกับกับดีเอสไอเป็นมูลค่าถึง 50 ล้านบาท จนเรื่องบานปลายออกไปอีก
..................................................................