แฉทุจริตจัดซื้อนมโรงเรียนล็อกสเปก-ฮั้วเป็นขบวนการ

"แฉทุจริตจัดซื้อนมโรงเรียนล็อกสเปก-ฮั้วเป็นขบวนการ"

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

ข้อเท็จจริงของข่าว

ปัญหาการทุจริตจัดซื้อนมโรงเรียน เป็นปัญหาที่หมักหมมมายาวนานหลายยุคหลายสมัย แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาก็ยังหนีไม่พ้นขบวนการหากินกับนมโรงเรียนไม่มีที่สิ้นสุด

จากการที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ดำเนินการจัดซื้อนมโรงเรียนเอง แต่เกิดปัญหาเด็กนักเรียนไม่ยอมดื่มนมจากบริษัทที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรับรอง เนื่องจากเป็นนมไม่มีคุณภาพ รสชาดจืดชืดเหมือนแป้งผสมน้ำ บางครั้งก็มีกลิ่นเหม็นบูด

ขณะที่ผู้นำ อปท. และนายกเทศมนตรีหลายแห่ง พยายามยกเลิกการซื้อนมจากบริษัทที่มีปัญหานมไม่มีคุณภาพ  เพื่อแก้ไขปัญหาไปซื้อนมจากท้องตลาด แต่ปรากฏว่าไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากขัดระเบียบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ระบุให้จัดซื้อจากบริษัทเอกชนที่รับรอง 68 รายเท่านั้น การจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณใหม่ก็ยังได้กลุ่มของบริษัทเอกชนรายเดิม ทำให้เห็นว่าเรื่องการจัดซื้อนมโรงเรียนผิดปกติ และมีการล็อกสเปกและฮั้วกันเป็นขบวนการ โดยเอกชนบางรายยังเป็นผู้มีอิทธิพลและมีนักการเมืองหนุนหลัง

เมื่อนายสุธรรม นทีทอง เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ และได้รับการร้องเรียนจากผู้อำนวยการโรงเรียนเรื่องเด็กไม่ยอมดื่มนมที่ภาครัฐนำมาแจก รวมทั้งผู้นำ อปท. ก็ยืนยันถึงปัญหาการจัดซื้อนมที่ไม่ได้คุณภาพ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของการเปิดโปงขบวนการล็อกสเปกและฮั้วจัดซื้อนมโรงเรียน เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา

 

วิธีการนำเสนอ

น.ส.พ.ไทยรัฐ ได้เริ่มเสนอข่าวการทุจริตจัดซื้อนมโรงเรียน ที่ถูกมองว่ามีการล็อกสเปกและฮั้วกันเป็นขบวนการ ในฉบับวันที่ 16 ก.พ. 2552 จากการที่ นายสุธรรม นทีทอง เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และได้รับการร้องเรียนจาก ผอ. โรงเรียนปากเลข อ.พะโต๊ะ ว่า เด็กนักเรียนไม่ดื่มนมในโครงการนมโรงเรียนที่ภาครัฐนำมาแจก ครูประจำชั้นขอร้องให้ดื่มก็แอบนำไปเททิ้ง เพราะนมมีกลิ่นเหม็น ไม่มีคุณภาพ ไม่ใช่นมสด 100% ตามที่ประกาศไว้ เป็นแค่หางนมผสมน้ำบรรจุถุง

จากการสอบถามนายอำเภอพะโต๊ะ นายกเทศมนตรีเทศบาลพะโต๊ะ และ นายก อบต.ปังหวาน ก็ได้รับการยืนยันเช่นเดียวกัน และเปิดเผยด้วยว่าอำนาจการจัดซื้อนมโรงเรียนเป็นของ อปท. และนมที่จัดซื้อก็ไม่มีคุณภาพจริง ทุกโรงเรียนมีปัญหาแต่ไม่สามารถเปลี่ยนบริษัทผู้นำส่งได้ เพราะมีคำสั่งจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ อปท. จัดซื้อเฉพาะบริษัทที่กำหนดรับรองมาเท่านั้น

จากนั้นจึงได้มีการเปิดเผยข้อมูลคำสั่งที่ล็อกไว้ไม่ให้ อปท. ไปจัดซื้อนมเองหรือจัดซื้อจากบริษัทอื่นๆคือ คำสั่ง มท.08934/ว. ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงวันที่ 29 ต.ค. 2551 เรื่องการจัดซื้ออาหารเสริมนมโรงเรียน ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

แม้จะมีรายชื่อผู้ประกอบการจัดส่งนม 68 ราย แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติกลับพบว่ามีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนๆ เพื่อขายนมให้กับโรงเรียนต่างๆ ห้ามซื้อขายข้ามเขต เสมือนเป็นการล็อกสเปกบริษัทที่ผลิตนม รวมถึงการแบ่งพื้นที่หากินกับนมโรงเรียน กระทำกันเป็นขบวนการ แบ่งกันหากินเป็นล่ำเป็นสัน ตั้งแต่นักการเมือง โดยการสั่งให้ข้าราชการในสังกัดเป็นเครื่องมือทำมาหากินกับนมเด็ก โดยไม่คำนึงถึงการเจริญเติบโตและอนาคตของเด็ก สวนทางกับสภาพปัจจุบันที่นมโคที่มีคุณภาพล้นตลาด แต่เด็กนักเรียนไม่ได้บริโภค กลับได้บริโภคนมคุณภาพต่ำ

ภายหลังจากการเสนอข่าวตีแผ่ออกไป ก็มีการรายงานให้ รมว.ศึกษาธิการ ทราบเรื่อง เพื่อประสานให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบแก้ไขปัญหา และให้ทุกโรงเรียนช่วยกันตรวจสอบ หากพบปัญหาให้แจ้งกระทรวงศึกษาธิการทันที

ขณะที่ รมช.มหาดไทย และ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ออกมาชี้แจงว่า การจัดซื้อนมโรงเรียนเป็นอำนาจของ อปท. ที่จัดตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ โดยมี ผอ.โรงเรียน เป็นคนตรวจรับ ส่วนการกำหนดบริษัทนมนั้นอนุกรรมการฯ เป็นผู้กำหนดว่าในแต่ละพื่นที่จะซื้อนมจากบริษัทใด ซึ่งสวนทางกับสภาพความเป็นจริงที่ไม่สามารถทำได้ และการจัดซื้อก็ยังอยู่ในวังวนของบริษัทที่ถูกกำหนด ที่มีการล็อกสเปกและฮั้วกัน ซึ่ง น.ส.พ.ไทยรัฐ ได้เสนอข่าวเปิดโปงติดต่อกันต่อเนื่องทั้งในหน้า 1 และหน้าการศึกษา

จากการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ รมว.สาธารณสุข และ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของนมจาก จ.ชุมพร ก็พบว่ามีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับบริษัทหรือโรงงานที่ผลิต ขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนต่างๆ กล้าที่จะออกมาร้องเรียนว่าพบนมบูด เน่าเสีย และไม่ได้คุณภาพ เพิ่มขึ้นอีกกว่า 16 จังหวัด อีกทั้ง ส.ส. ก็ออกมาแฉอีกว่ามีการนำนมเลี้ยงสัตว์และนมผงมาผสมน้ำส่งโรงเรียนให้นักเรียนดื่ม

จากปัญหาดังกล่าวนายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทวงมหาดไทย, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดระเบียบแก้ปัญหานมล้นตลาดและนมโรงเรียนใหม่อย่างเป็นระบบ

ด้านการแก้ไขปัญหาการล็อกสเปกและฮั้วขายนมโรงเรียนนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2552 ให้ยกเลิกระบบการแบ่งเขตขายนมโรงเรียนหรือโซนนิ่ง เปิดโอกาสให้มีการจำหน่ายนมโรงเรียนได้อย่างเสรี

นอกจากนี้ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ที่มีนายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้มีมติให้ยุบคณะกรรมการบริหารโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน และคณะอนุกรรมการรับรองสิทธิ์การจำหน่ายนมในโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน โดยให้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่ขึ้นชื่อ คณะอนุกรรมการจัดระบบอาหารเสริม(นม)โรงเรียนŽ โดยมีอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานดูแลทั้งระบบ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ และการรับรองสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียน

ต่อมาคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลาง ทำหน้าที่บริหารจัดการนมโรงเรียนให้ผู้มีส่วนได้เสีย ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เสนอแนะในการแก้ไขปัญหานมโรงเรียน โดยมีองค์การส่งเสริมการกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มารับหน้าที่บริหารจัดการ เพื่อจัดระบบใหม่ ให้โรงนมที่จะเข้าร่วมโครงการมาขึ้นทะเบียนและตรวจรับรองมาตรฐานโรงงานกันใหม่

ส่วนการขายนมให้ อบต. นั้น ทาง อบต. จะต้องแจ้งความต้องการมาให้คณะกรรมการว่า มีโรงเรียนในส่วนที่ต้องรับผิดชอบกี่โรงเรียนและนักเรียนกี่คน คณะกรรมการกลางจะเป็นผู้จัดสรรนมไปให้ โดยให้สิทธิ์โรงนมที่อยู่ใกล้พื้นที่ก่อน และ อ.ส.ค. เป็นตัวแทนในการทำสัญญาซื้อขายกับทาง อบต. ก่อนที่จะมอบอำนาจให้โรงนมเป็นผู้ส่งนมและรับเงิน แต่ละวันจะใช้น้ำนมดิบวันละ 1,200 ตัน งบประมาณสำหรับโครงการนมโรงเรียนมีวงเงิน 12,000-13,000 ล้านบาท

ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทผู้ส่งนมไม่ได้มาตรฐาน และมีพฤติกรรมฮั้วราคากันนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เข้ามาสืบสวนทำคดีการฮั้วประมูลจัดซื้อนมโรงเรียน โดยเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2552 ได้เข้าจับกุม นายปิยะ แย้มชะอำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และภรรยา รวม 2 คน ในข้อหาร่วมกันฮั้วประมูลจัดซื้อนมโรงเรียน เนื่องจากสืบสวนทราบว่าได้ใช้ชื่อ 3 บริษัทสลับประมูลนมโรงเรียนในลักษณะฮั้วประมูล ส่งให้โรงเรียนกว่า 70 แห่ง ค้นพบหลักฐานและเอกสารมากมายในบริษัทที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร, อ.สะเดา จ.สงขลา และที่ จ.เพชรบุรี รวมทั้งนมบรรจุถุงเป็นของกลางด้วย และยังจะสืบสวนขยายผลต่อไปอีก

 

คุณค่าและผลกระทบของข่าว

คุณค่าของข่าวที่ น.ส.พ.ไทยรัฐ เปิดโปงขบวนการทุจริตหากินกับนมโรงเรียนติดต่อกันอย่างต่อเนื่องนี้ ส่งผลให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง และส่งผลกระทบนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คือรัฐบาลสั่งยกเลิกระบบแบ่งเขตขายนมหรือโซนนิ่ง เปิดโอกาสให้มีการขายนมอย่างเสรี

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการดำเนินการเรื่องนมโรงเรียน และระเบียบการจัดซื้อนมใหม่ทั่วประเทศ โดยตั้งคณะกรรมการกลาง ทำหน้าที่บริการจัดการนมโรงเรียน มีองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นผู้บริหารจัดการ และเป็นตัวแทนทำสัญญาซื้อขายกับ อบต. ซึ่งใช้งบประมาณปีละ 12,000-13,000 ล้านบาท ให้โรงนมที่อยู่ใกล้พื้นที่มาขึ้นทะเบียนจัดส่งให้ ทำให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ ตัดปัญหาการล็อกสเปกและฮั้วราคา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาทุจริตนมโรงเรียนได้ทั้งระบบในระดับหนึ่ง.