ข่าวไฟไหม้ซานติก้าผับสรรพสามิตวอดวาย

"ข่าวไฟไหม้ซานติก้าผับสรรพสามิตวอดวาย"

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

ปีใหม่ 2551 เกิดโศกนาฏกรรมไฟไหม้ซานติก้าผับในท้องที่ สน.ทองหล่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา วิสุข เสร็จสวัสดิ์หรือ "เสี่ยขาว"หุ้นส่วนใหญ่ซานติก้า สุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ ซึ่งหลบหนีคดีอยู่ ผู้ถือใบอนุญาต ผู้จัดการซานติก้า ผับ และนักร้องนำวงเบิร์นรวม 5 คน ในข้อหากระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาผิดตามพ.ร.บ.สถานบริการ ที่มีการปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการ

คดีนี้ผู้บริโภคซึ่งญาติผู้เสียหายราว 20 ครอบครัว ได้ยื่นฟ้องผู้บริหารซานติก้าผับเพื่อให้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้กับผู้เสียชีวิต ได้อาศัยกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ฟ้องต่อ"ศาลจังหวัดพระโขนง"

คดีทั้งหมดจึงเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลและเช่นกันคงต้องรอฟังว่าศาลจังหวัดพระโขนงจะมีการตัดสินคดีผู้บริโภคสำนวนซานติก้าออกมาหรือไม่

ในขณะที่คดีอาญากำลังดำเนินการไปยังเข้มข้น กองบรรณาธิการนสพ.โพสต์ทูเดย์เห็นว่า นอกจากคดีอาญาและคดีผู้บริโภคที่ผู้บริหารซานติก้ากำลังถูกดำเนินคดี ยังมีคดีภาษีอีกคดีหนึ่งที่ผู้บริหารซานติก้า และเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิต น่าจะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

เพราะธุรกิจ ผับ เธค ที่มีฟลอร์เต้นรำ หรือไม่มีฟลอรืเต้นรำแต่หากมีการกระทำเป็นอาจิณน่าจะเข้าข่ายต้องเสียภาษีกินดื่น เต้นรำ ตามกฎหมาย

กองบรรณาธิการจึงนำเสนอข่าวในเรื่องการเสียภาษีและการละเว้นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรํฐอย่าต่อเนื่อง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานการปฏิบัติของหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีธุรกิจ กินดื่ม เต้นรำ

การนำเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจที่อิงอบกับอาชญากรรมนั้นกระทำได้ค่อนข้างยาก ยิ่งเป็นเรื่องของการละเว้นการปฏิบิติหน้าที่ของจข้าราชการระดับอธิบดี และเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงกระบวนการทางนโยบายของฝ่ายการเมือง ขณะเดียวกันก็มีมือดี “พยายามทำลายเอกสารทางราชการในการประกาศวิธีการเก็บภาษีผับ เธค

ขณะเดียวกันในระยะต้นรัฐมนตรีที่กำกับนโยบายไม่เห็นด้วยและไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองก็พยายามปกป้องข้าราชการที่ได้แต่งตั้ง แต่ในท้ายที่สุดก็ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีสถานบริการซานติก้าผับต้องเสียภาษีหรือไม่ ที่มี นายสถิตย์     ลิ่มพงษ์พันธุ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในขณะนั้นเป็นประธาน

ก่อนจะมีมติเป็นเอกฉันท์ออกมาแล้ว ให้ซานติก้าผับต้องเสียภาษีสรรพสามิตสถานบริการในอัตรา10% ของรายได้ และคณะกรรมการได้ส่งผลสอบให้ นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาดำเนินการต่อไปแล้ว

เหตุผลสำคัญที่คณะกรรมการฯเห็นว่าซานติก้าผับต้องเสียภาษีสรรพสามิต เนื่องจากที่ผ่านมากรมสรรพสามิตมีการใช้ข้อระเบียบปฎิบัติต่างๆ ในการดำเนินการจัดเก็บภาษีจากสถานบริการเป็นปกติ ดังนั้น ถือว่าซานติก้าผับต้องเสียภาษีสรรพสามิตอย่างชัดเจน ไม่มีเหตุผลอะไรที่กรมจะไม่จัดเก็บภาษีจากซานติก้าผับ ไม่ว่าจะมีการจดทะเบียนสถานบริการหรือไม่ ก็ต้องเสียภาษี

ประเด็นที่กรมสรรพสามิตอ้างว่าซานติก้าผับไม่ได้จดทะเบียนเป็นสถานบริการจึงไม่ต้องเสียภาษี จึงไม่สามารถนำมาอ้างได้ ซึ่งประเด็นนี้ยิ่งทำให้ซานติก้าผับมีความผิดมากขึ้น ในฐานะไม่ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในฐานะผู้ประกอบที่ต้องเสียภาษีซึ่งกรมสรรพสามิตต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจน

และเมื่อกองบรรณาธิการเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของปัญหาซานติก้า ผับ พบว่ามีหนังสือเวียนตั้งแต่ปี 2546 ลงเลขที่ กค.0621/8605 และหนังสือที่ กค.0622/8000 ที่ลงนามโดย นางสิรินุช พิศลยบุตร รองอธิบดีกรมสรรพสามิตในขณะนั้น ที่ทำหน้าที่แทนอธิบดีสรรพสามิต จำนวน 2 ฉบับ พร้อมเอกสารแนบ          หนังสือทั้ง 2 ฉบับนั้น รวมถึงหนังสือในวันที่ 10 ก.ค. 2546 ที่ลงนามโดยนายวิจิตร วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต นั้นสั่งการให้สรรพสามิตพื้นที่ในต่างจังหวัดทุกแห่ง ก็เรียกเก็บภาษีจากสถานบันเทิงทุกแห่งแล้ว

มีแต่ในเขตกรุงเทพมหานครและซานติก้า ผับเท่านั้น ที่ไม่ต้องเสียภาษี และไม่มีการเรียกเก็บ

ในที่สุดการไล่บี้เก็บภาษีสรรพสามิตซานติก้า ผับ ก็เป็นผลงานชิ้นโบดำของกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต เพราะความไม่ชอบมาพากลในการไล่เก็บภาษีซานติก้า ผับ

ทั้งๆที่จะเป็นบรรทัดฐานในการเก็บภาษีของธุรกิจในแบบเดียวกันของธุรกิจผับอีกนับหมื่นนับแสนราย เงินภาษีในแต่ละปีที่มีช่องโหว่จากสถานบันเทิงนับหมื่นล้านบาท แต่ในที่สุดกรมสรรพสามิตก็ต้องเก็บภาษีจากซานติก้า ผับ และ ผับ เธค ที่มีการเต้นรำ เพราะเมื่อกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์นำเสนอและสืบค้นไปเรื่อยๆก็พบเอกสารที่คณะกรรมการตรวจสอบชุดของนายสถิตย์ เป็นประธาน และส่งถึงมือรมช.คลังนั้น มีสำเนาอีก 5 ฉบับ ที่กรรมการแต่ละคนเก็บไว้ ในมือและสรุปผลการสอบเบื้องต้น ฟันธงว่า ซานติก้า ผับต้องเสียภาษีสรรพสามิต ตามกฎหมาย พ.ศ. 2527 แก้ไข พ.ศ. 2546 ที่ระบุสถานบริการประเภทไนต์คลับ และดิสโก้เธค ที่มีองค์ประกอบ

(1) เป็นสถานที่ (ประกอบกิจการ)

(2) สำหรับดื่มกินและเต้นรำ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือใช้เครื่องเสียง หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง

(3) มีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำ ก็ถือเป็นสถานบริการตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตในอัตรา 10% ของรายได้

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือของกรมสรรพสามิตมัดคออย่างหนาแน่นว่า สถานบริการที่เข้าลักษณะดังกล่าวไม่ต้องมีฟลอร์เต้นรำ ก็ถือว่าอยู่ในข่ายภาษีสรรพสามิต ไม่สามารถซิกแซ็กลอดช่องว่าแล้วอ้างว่าไม่มีฟลอร์เต้นข้างโต๊ะไม่ต้องเสียภาษี

ผลที่จะตามมาจากข่าวนี้ คือ เมื่อซานติก้า ผับต้องเสียภาษีสรรพสามิต ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายเล็กที่เป็นผับจะต้องถูกกวาดต้อนเข้ามาเสียภาษีสรรพสามิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

แม้ว่าข่าวนี้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ แต่ก็ทำให้เรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ และบานปลายได้แทบไม่น่าเชื่อ