ทลายวงผลประโยชน์ทวงถามธรรมาภิบาล “บิ๊ก” รุมทึ้ง “การบินไทย”
กองบรรณาธิการ หนงัสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
การขาดทุน กว่า 2 หมื่นล้านบาท ของบริษัทการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ เมื่อช่วงต้นปี 2552 ที่ผ่านมา กลายเป็นข่าวสำคัญที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ เพราะเป็นการขาดทุนครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ของการบินไทย
ปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องส่งคณะกรรมการเข้าไปฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เป็นการเร่งด่วนในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เพื่อให้การบินไทย สามารถเดินหน้าได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และของโลก กำลังย่ำแย่
บริษัทการบินไทย มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีกระทรวงคมนาคม เป็นกระทรวงต้นสังกัด ทำให้ การบินไทย มีนักการเมือง และคนการเมือง เข้ามามีบทบาทภายในบริษัทไม่น้อย
ที่ผ่านมา บริษัทการบินไทยเลยกลายเป็นขุมทรัพย์ทางการเมืองให้นักการเมืองและพวกพ้องเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์มาทุกยุคทุกสมัย รูปแบบของการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ได้มีแต่การส่งพรรคพวกเข้าไปนั่งในตำแหน่งบริหารเท่านั้น แต่ยังมีการใช้อำนาจในการขอใช้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการขอตั๋วบินฟรี การขอปรับที่นั่ง จากชั้นธรรมดา ไปเป็นชั้นธุรกิจ หรือ ชั้นเฟิรส์ต คลาส ที่มีราคาค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว
รวมถึงการขอเพิ่มน้ำหนักสัมภาระในการเดินทางแต่ละครั้ง ซึ่งการบินไทยมีระเบียบให้ผู้โดยสารสามารถบรรทุกสัมภาระได้ไม่เกิน 30 กิโลกรัม สำหรับที่นั่งชั้นประหยัด และ 40 กิโลกรัม สำหรับที่นั่งบิสซิเนส แต่บรรดาผู้มีอำนาจ มักจะขอเพิ่มน้ำหนักบรรทุกสัมภาระมากกว่าที่กำหนดโดยเฉพาะเวลาเดินทางไปกลับจากต่างประเทศ
การใช้อภิสิทธิ์ ของนักการเมือง และผู้มีอำนาจ กับการบินไทย นั้นเกิดขึ้นมานาน และกลายเป็นเรื่องที่คนการบินไทยน้ำท่วมปาก การขอใช้อภิสิทธิ์ ต่างๆ ของนักการเมือง และพรรคพวกนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรม ผู้มีอำนาจมักคิดว่า การใช้อภิสิทธิ์ดังกล่าวเป็นเรื่องถูกต้อง และทำได้โดยไม่รู้สึกผิด ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามระเบียบเป็นปัญหาธรรมาภิบาลตลอดจนเป็นการกระทำผิดกฎผิดรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ฯลฯ นอกจากนั้นยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทการบินไทยปีละนับพันล้านบาท
โพสต์ทูเดย์ได้ติดตามการแก้ไขปัญหาทางการเงินของการบินไทย อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ ได้รับเบาะแสว่า มีฝ่ายบริหารคนหนึ่งได้ใช้อภิสิทธิ์ขนสัมภาระเข้าประเทศเป็นจำนวนหลายร้อยกิโลกรัม โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมขนสัมภาระ
เมื่อได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พบว่ามีผู้บริหารการบินไทยเดินทางจากสนามบินนาริตะมายังสนามบินสุวรรณภูมิจริง โดยโดยสารมาในชั้นเฟิร์สต คลาส โดยใช้สิทธิผู้บริหาร และยังนำสัมภาระเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยมีน้ำหนักบรรทุกมากถึง 390 กิโลกรัม แต่ขอให้นายสถานีนาริตะระบุว่าน้ำหนักสัมภาระมีเพียง 100 กว่ากิโลกรัม และไม่ได้นำสัมภาระทั้งหมดผ่านขั้นตอนทางศุลกากรด้วย
นอกจากนี้ผู้บริหารคนดังกล่าว ยังมีร้านจำหน่ายสินค้านำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยให้ภรรยาเป็นผู้รับผิดชอบ อยู่ที่ซอยละลายทรัพย์ด้วย
โพสต์ทูเดย์ ได้นำเสนอเรื่องนี้อย่างรอบด้าน โดยได้สัมภาษณ์ผู้บริหารคนดังกล่าว ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้ยอมรับว่า นำสัมภาระเข้ามาจริง แต่เป็นผลไม้ที่จะนำมาถวายวัดปากน้ำ รวมถึงเป็นสิ่งของที่ลูกศิษย์ของวัดปากน้ำที่ประเทศญี่ปุ่นฝากนำมาถวาย ไม่ได้เป็นของหนีภาษีแต่อย่างใด
เมื่อได้ตรวจสอบไปยัง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ปรากฏว่า ทางวัดไม่ได้รับสิ่งของจากฝ่ายบริหารคนดังกล่าว ตามช่วงเวลาที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
โพสต์ทูเดย์ได้สัมภาษณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ใหญ่ในรัฐบาล และ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อติดตามให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ทำให้เกิดผลดังต่อไปนี้
1.กระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัทการบินไทย ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยจะมีการแถลงข่าวผลการสอบสวนในวันที่ 15 ม.ค. 2553
2.ผู้บริหารคนดังกล่าว ได้ขอลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัทการบินไทย เพื่อแสดงสปิริต
3.กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ประกาศปรับเปลี่ยนระเบียบในการขออัพเกรดที่นั่ง และการขอเพิ่มน้ำหนักสัมภาระ ใหม่ทั้งหมด
4.คณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาสองชุดซึ่งมีนางสาวรสนา โตสิตระกูล และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เป็นประธาน ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจนพบเงื่อนงำความผิดปกติหลายประการ
5.ทำให้บริษัทการบินไทยตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาล ผู้บริหารบริษัทการบินไทยได้เปิดเผยว่าจะรื้อข้อมูล เรื่องการขอใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยมิชอบ เพื่อให้องค์กรตรวจสอบทั้งหลายได้นำไปพิจารณาแก้ไขปัญหา ทำให้ในอนาคตเชื่อได้ว่าการขอปรับที่นั่ง หรือการขอใช้อภิสิทธิ์ ต่างๆ ในการบินไทย จะลดน้อยลง
การติดตามข่าวผู้บริหารการบินไทยที่นำสัมภาระเข้าประเทศไทยจำนวนมากในครั้งนี้ เป็นการตีแผ่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตามข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่นั้น ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างมาก นอกจากฝ่ายบริหารการบินไทย ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วยังได้ออกระเบียบการอัพเกรดที่นั่ง และการขอเพิ่มน้ำหนักสัมภาระใหม่หมด เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
6.ปัจจุบัน เรื่องดังกล่าวได้ถูกขยายวงไปอย่างกว้างขวาง โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหาได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบวิปรัฐบาลกรณีเหมาเครื่องการบินไทยไป จ.แม่ฮ่องสอน ว่าเป็นการใช้อภิสิทธิ์เกินจริงหรือไม่ และขอให้ตรวจสอบ สส. กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยไม่ชอบยื่นสอบผู้ที่รับของขวัญเกิน 3,000 บาท
รวมถึงนางรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ก็ได้ส่งเรื่องนี้ ป.ป.ช.สอบสวนด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ดีดี) เตรียมที่จะส่งข้อมูลผู้ที่อัพเกรดที่นั่งบนเครื่องบินสายการบินไทย โดยตั้งเป้าที่นักการเมือง ที่เป็น ส.ส. ,ส.ว. และรัฐมนตรี ย้อนหลัง 3 ปี ป.ป.ช. พิจารณา ว่าเข้าข่ายความผิดรับของขวัญที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท หรือไม่
การตรวจสอบการใช้อภิสิทธิ์ในบริษัทการบินไทยครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มที่ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการสังคายนาการบินไทยให้เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลเป็นที่น่าเชื่อถือได้ แก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเงินของการบินไทย ป้องกันไม่ให้นักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในการบินไทยและรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ และยังทำให้เกิดความตื่นตัวในการตรวจสอบการใช้อภิสิทธิ์ของนักการเมืองและฝ่ายบริหารในองค์กรอื่นๆ อย่างกว้างขวางต่อไป