เปิดโปงขบวนการปล่อยสินเชื่อแสนล้านสกัด "สกสค.-ธ.ออมสิน-ทิพยฯ" ร่วมมือรีดเงินค่าทำศพครูกว่าหมื่นล้าน!
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มติชน
ที่มาและข้อเท็จจริงของข่าว
หนังสือพิมพ์ "มติชน" รายวัน เป็นฉบับแรกและฉบับเดียว ที่เปิดประเด็นและเกาะติดเปิดโปงพฤติการณ์ส่อทุจริตของผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ร่วมมือกับผู้บริหารธนาคารออมสิน และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จัดโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โครงการ 5 มูลค่ามหาศาลกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยมีลักษณะฉ้อฉลกำหนดเงื่อนไขบังคับให้สมาชิกครูทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 200,000 คน ที่ยื่นกู้ต้องทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ ถูกหักเงินกู้ไปคนละ 37,200 บาท คิดเป็นเงินจำนวนมหาศาลถึง 7,440 ล้านบาท ทั้งที่ไม่สามารถบังคับได้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และที่สำคัญไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องบังคับให้ครูเหล่านี้ทำประกัน เนื่องจากเงินสงเคราะห์ทำศพของครูทุกรายที่จะได้รับมีจำนวนมากกว่าวงเงินให้กู้สูงสุดอยู่แล้ว
ตลอดระยะเวลาต่อเนื่องนานเกือบ 7 เดือนเต็ม ที่ "มติชน" เกาะติดและตีแผ่มาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้ทราบเบาะแสพฤติการณ์อันฉ้อฉลในการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อหวังรีดเงินค่าทำศพของสมาชิกครูทั่วประเทศ ที่ล้วนฐานะยากลำบากทางการเงินอยู่แล้ว "มติชน" ได้พยายามเสาะแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งตัวบุคคล เอกสาร และข้อมูลจากเว็บไซต์ในแวดวงการศึกษาและวงการประกันภัย จนสามารถตีแผ่ให้สังคมเห็นถึงพฤติการณ์ของกลุ่มผู้บริหารในหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว ที่ร่วมมือกันแสวงหาประโยชน์จากเงินค่าทำศพของครู โดยใช้เล่ห์เหลี่ยมทุกวิถีทาง
นอกจากความไม่ชอบมาพากลในโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ดังกล่าวแล้ว "มติชน" ยังสืบเสาะจนค้นพบหลักฐานเอกสารสำคัญและพฤติการณ์ที่เปิดโปงให้เห็นถึงขบวนการขูดรีดเงินกู้ของครูในลักษณะส่อทุจริตเพิ่มเติมอีก โดยพบการกระทำที่ชี้ชัดเจนว่า มีการบังคับให้ครูที่ยื่นกู้เงิน ช.พ.ค. โครงการ 5 ต้องถูกหักเงินกู้เพื่อเช่าบูชาพระพุทธโสธร "รุ่นเจริญสุข" ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ด้วย เฉลี่ยอย่างน้อยคนละ 1,000 บาท อีกทั้งยังค้นพบหลักฐานชี้ชัดด้วยว่า ผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.แอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ไปใส่ไว้ในวัตถุประสงค์ของโครงการจัดสร้างและเชิญชวนให้เช่าบูชาพระพุทธโสธรดังกล่าว โดยระบุว่าจะถวายเงินรายได้ให้ มมร. โดยที่ทาง มมร.ไม่ทราบเรื่อง
"มติชน" ยังได้ตีแผ่พฤติการณ์ในอดีตของผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.อันเชื่อได้ว่า มีเงื่อนงำการทุจริตในอีกหลายโครงการที่เคยถูกร้องเรียนมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ซึ่งทุกโครงการล้วนเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้บริหารที่มีอำนาจในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ปัจจุบัน อาทิ โครงการจัดสร้างและให้เช่าบูชาองค์จตุคามรามเทพ รุ่น "ร่ำรวยยั่งยืน", โครงการจัดหาอาวุธปืนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา, โครงการคุรุธานี ตลอดจนถึงปัญหาการทุจริตภายในองค์การค้าของ สกสค.
ผลกระทบและคุณค่าของข่าว
ผลจากการตีแผ่อย่างต่อเนื่องแทบจะทุกวันของ "มติชน" ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสกัดกั้นและทลายขบวนการขูดรีดครูดังกล่าวนี้ ได้ส่งผลกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นธรรมต่อวงการครูอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ กรณีแล้ว ดังต่อไปนี้
1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้คณะกรรมการ สกสค. ซึ่งเป็นบอร์ดบริหารสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. สั่งยกเลิกเงื่อนไขบังคับครูต้องเสียเงินทำประกันชีวิตในโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. โครงการ 5 นอกจากนี้ยังสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 2 คณะ สอบสวนทั้งโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. โครงการ 5, โครงการจัดสร้างและเชิญชวนให้เช่าบูชาพระพุทธโสธร "รุ่นเจริญสุข", โครงการจัดสร้างและให้เช่าบูชาองค์จตุคามรามเทพ "รุ่นร่ำรวยยั่งยืน", โครงการคุรุธานี และปัญหาการทุจริตในองค์การค้าของ สกสค.
ในโครงการจัดสร้างและเชิญชวนให้เช่าบูชาพระพุทธโสธร คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้สรุปผลออกมาว่า มีการกระทำผิดกฎหมายอาญาข้อหาฉ้อโกงประชาชน มีผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน สกสค. 5 คน และระดับเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้อง และทาง ศธ.ได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินคดีร่วมกับที่ มมร.ได้ยื่นร้องทุกข์ต่อดีเอสไอไว้ก่อนหน้านี้ ให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารสำนักงาน สกสค. ฐานแอบอ้างชื่อ มมร.ในโครงการจัดสร้างและเชิญชวนให้เช่าบูชาพระพุทธโสธรดังกล่าว
2.นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัด ศธ. และประธานคณะกรรมการ สกสค.ในขณะนั้น ได้สั่งยกเลิกโครงการจัดสร้างและเชิญชวนให้เช่าบูชาพระพุทธโสธร และให้คืนเงินแก่ครูที่ไม่สมัครใจเช่าบูชา ซึ่งประมาณการว่า ถ้า "มติชน" ไม่ตีแผ่การกระทำอันฉ้อฉลที่บังคับหักเงินกู้ของครูเพื่อให้เช่าบูชา และโครงการนี้ยังดำเนินต่อไปจนครบวงจรที่จะมีครูกว่า 200,000 คน ยื่นกู้เงินในโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. โครงการ 5 จะต้องถูกบังคับหักเงินกู้ให้เช่าบูชาเป็นเงินรวมกันมากถึง 200 ล้านบาท โดยที่มีผู้บริหารในสำนักงาน สกสค.ทั้งในส่วนกลางและทุกจังหวัดได้รับส่วนแบ่ง
3.มมร.ยื่นฟ้องแพ่ง และร้องทุกข์ต่อดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารสำนักงาน สกสค. ที่แอบอ้างชื่อ มมร.ในโครงการจัดสร้างและเชิญชวนให้เช่าบูชาพระพุทธโสธร พร้อมทั้ง มมร.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนและลงโทษพักงานระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ใน มมร. รวม 4 รูป/คน และตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยซ้ำ ฐานมีส่วนรู้เห็นการแอบอ้างชื่อ มมร.ในโครงการนี้ด้วย
4.นายจุรินทร์สั่งให้คืนเงินจำนวน 10,000 บาท ที่สำนักงาน สกสค.บังคับหักจากเงินกู้ ช.พ.ค.ของครูต่อหัวทุกคน เข้ากองทุนรวมสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของสมาชิก ช.พ.ค. โดยอ้างว่าเพื่อนำไปลงทุนและจะให้ดอกผลคืนแก่ครู ทั้งที่กองทุนนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะจัดตั้งขึ้นมาได้เมื่อใด ในขณะที่ครูต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ก้อนนี้ให้กับธนาคารออมสินนับตั้งแต่ได้รับเงินกู้มา นอกจากนี้ประธานบอร์ด สกสค.ยังสั่งให้สำนักงาน สกสค.คืนเงินให้กับครูผู้กู้รายเก่าอีกจำนวน 2,000 บาท ที่บังคับหักเอาจากเงินกู้ ช.พ.ค.ของครูต่อหัวทุกคน เข้ากองทุนส่งเสริมความมั่นคงโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. โครงการ 5
ทั้งนี้ ประมาณการว่า ถ้า "มติชน" ไม่ตีแผ่ถึงความไม่โปร่งใส จะทำให้ครูจำนวนกว่า 2 แสนคนที่ยื่นกู้เงิน ช.พ.ค.ต้องถูกบังคับหักจากวงเงินกู้ทั้งสองยอดนี้ไปโดยไม่ชอบธรรม รวมกันมากกว่า 2 พันล้านบาท
5.ผลจากการตีแผ่พฤติการณ์อันส่อทุจริตบังคับให้ครูมากกว่า 2 แสนคน ต้องเสียเงินทำประกันชีวิตรวมกันมหาศาลถึง 7,440 ล้านบาท โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น ได้ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนประเด็นการบังคับให้ครูทำประกันชีวิต และอีก 2 ประเด็นที่ส่อไม่โปร่งใส กรณีให้ครูต้องทำประกันชีวิตกับถึง 2 บริษัท คือบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด โดยที่ไม่มีสิทธิได้ล่วงรู้ ซึ่งทำให้ครูต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงกว่าปกติไปมากกว่า 1.2 หมื่นบาทต่อหัว
อีกกรณีที่บริษัท ทิพยประกันภัย เป็นบริษัทที่รับประกันวินาศภัย ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย แต่กลับได้มาร่วมโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ที่มีเงื่อนไขเป็นการประกันชีวิต ซึ่งตามกฎหมายประกัน บริษัทที่มีอำนาจรับประกันได้จะต้องเป็นบริษัทประกันชีวิตเท่านั้น จนสามารถตั้งข้อสงสัยได้ว่า เหตุใดบริษัท ธนชาตประกันชีวิตจึงไม่ได้เข้ามาร่วมโครงการนี้โดยตรง แต่กลับเข้ามารับช่วงทำประกันชีวิตต่อจากบริษัท ทิพยประกันภัย จึงเชื่อได้ว่ามีเงื่อนงำไม่ชอบมาพากลแอบแฝงอยู่แน่นอน โดยที่ผู้บริหารในสำนักงาน สกสค. และธนาคารออมสิน น่ามีส่วนรู้เห็นด้วย โดยเฉพาะธนาคารออมสินมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ทิพยประกันภัย ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะไม่รู้ว่า บริษัท ทิพยประกันภัย เป็นบริษัทที่รับประกันวินาศภัยเท่านั้น อันน่าเชื่อได้ว่า มีขบวนการทุจริตหาประโยชน์จากเงินประกันที่บังคับให้ครูกว่า 2 แสนคน ต้องจ่ายรวมกันมหาศาลถึง 7,440 ล้านบาท โดยอย่างน้อยน่าจะได้เงินค่าคอมมิสชั่นจากบริษัทประกันมาแบ่งสันปันส่วนเข้ากระเป๋ากัน
ล่าสุด ฝ่ายคดีในสำนักงาน คปภ.ได้สืบสวนผู้เกี่ยวข้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการ คปภ.พิจารณาตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป โดยเบื้องต้นผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน คปภ.ระบุว่า ถ้าสอบสวนพบการทำประกันชีวิตในโครงการนี้ไม่ถูกต้องจริง ครูสามารถบอกเลิกสัญญาและขอคืนเบี้ยประกันทั้งหมดได้ และยิ่งกว่านั้น บริษัทประกันที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกลงโทษด้วย
ท้ายสุด "มติชน" ตั้งความหวังไว้ว่า ผลจากการตีแผ่ข่าวชิ้นนี้จะทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เอาจริงเอาจังในการล้างบางขบวนการทุจริตสูบรีดเงินครู โดยในกรณีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นมีวงเงินรวมมหาศาลกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นหมายถึงสวัสดิการ สวัสดิภาพ และความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพครูทั่วประเทศจะมีเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนให้เยาวชนไทยมีคุณภาพยิ่งกว่าในปัจจุบันนี้ตามไปด้วย !!
กองบรรณาธิการมติชน