คนข่าวศาลากทม.-เสาชิงช้า กับภารกิจปากเสียงแทนคนกรุงฯ

สายข่าว เล่าเรื่องภาคสนาม

โดยกองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน

 

คนข่าวศาลากทม.-เสาชิงช้า

กับภารกิจปากเสียงแทนคนกรุงฯ

 

“กรุงเทพมหานคร”เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ คือคนกรุงเทพฯ มีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าฯของตัวเอง โดยที่ผ่านมาก็มี อดีตผู้ว่าฯกทม.เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว คือนายสมัคร สุนทรเวช

 

ด้วยความสำคัญของกรุงเทพฯในฐานะเมืองหลวง มีประชากรอาศัยอยู่หลายล้านคน เป็นมหานครที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีสำนักในความรับผิดชอบของกทม.ถึง 21 สำนัก คอยดูแลงานครอบคลุม ทั้งด้าน สาธารณสุข การศึกษา คมนาคม การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย วัฒนธรรม การท่องเที่ยว ด้านผังเมือง และอื่นๆ แต่อาจมีการเจาะจง ในบางเรื่องซึ่งเป็นปัญหาหลักของเมืองหลวง อย่าง การระบายน้ำ และยังมี ผู้อำนวยการเขตอีก 50 เขต ที่คอยบริหารงานและดูแลปัญหาต่างๆในพื้นที่ความรับผิดชอบ อีกทั้งยังมีหน่วยงานพาณิชย์กรุงเทพมหานคร อาทิ บริษัทกรุงเทพธนาคม หรือสำนักงานสถาธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นต้น

กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีประชากรรวมประชากรแฝง ทั้งชาวไทยที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯและแรงงานต่างด้าว ทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านคน ภายใต้พื้นที่1568.74 ตร.กม.

จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองฟ้าอมรแห่งนี้จะมีสารพัดเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นเสมอ

สำหรับ สื่อมวลชนที่ทำข่าวเกี่ยวกับ”กรุงเทพมหานคร”หรือที่เรียกกันว่า”นักข่าวสายกทม.” จึงมีข้อมูลหลากหลายมานำเสนอเป็นประเด็นข่าว-ข่าวสารให้แก่ประชาชน ผ่านสารพัดเนื้อหา ตั้งแต่ เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น- การเลื่อน ลด ปลด ย้าย ตำแหน่งข้าราชการ การเมืองภายในองค์กร -การติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีต่างๆ -ปัญหาฝนตก น้ำท่วม-การรื้อชุมชน-ปัญหาโรคระบาด-ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบกับชาวกรุงเทพฯ เช่น ฝุ่นละออง  –กรณีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนกทม.จากปัญหาต่างๆ ไปจนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแต่ละวัน ที่กระทบกับการใช้ชีวิตของคนกทม.เช่น  ฝาตระแกรงท่อน้ำชำรุด-ป้ายรถเมล์ถล่มหลังฝนตกหนัก-คนเดินตกท่อของกทม.เพราะกทม.ละเลยไม่ทำที่ปิดฝาท่อ เป็นต้น

ยิ่งหากเป็นช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.สนามข่าวกทม.ก็จะยิ่งมีสีสันมากขึ้นตามลำดับ

ด้วยความที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ มีหน่วยขึ้นตรงในสายงานจำนวนมาก ทำให้”นักข่าว-คนข่าวเสาชิงช้า” ที่ได้รับมอบหมายให้มาทำข่าวที่ศาลากทม.ก็ต้องทำการบ้านพอสมควรเพราะเป็นสนามข่าว ที่จะมีความแตกต่างในเชิงโครงสร้างหน่วยงานที่แตกต่างจากกระทรวงหรือหน่วยราชการอื่นๆ พอสมควร

 

อย่างเรื่องการเข้าถึง“แหล่งที่มาของข้อมูล” หรือ”แหล่งข่าวในสายกทม.” นักข่าวก็ต้องเข้าไปสืบ-หาข่าว-ตามประเด็น จากแหล่งข่าวที่ทำงานอยู่ในศาลาว่าการกทม. จนถึง ข้าราชการระดับปฏิบัติที่อยู่ตามสำนักต่างๆ  โดยเฉพาะข้อมูลแง่สถิติ และข้อมูลเชิงลึก ตามสำนักหรือเขตต่างๆ บางกรณี ก็อาจมาจาก ข้อร้องเรียนของชาวบ้าน ที่ออกมาค้าน หรือ เรียกร้องบางอย่างแล้วนักข่าวก็ไปตามประเด็นต่อเนื่อง อย่าง กรณีของชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ หรือการคัดค้านโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

ด้วยความกว้างของงานในภาพรวม ทำให้การทำงานของนักข่าวสายกทม.มีการแข่งขัน ใน“ระดับปกติ” เพื่อหาข่าวที่แตกต่าง ซึ่งก็เป็นเหมือนที่อื่นๆ  แต่ท้ายที่สุด ประเด็นที่นำเสนอขึ้นอยู่กับความต้องการของสำนักข่าว-สำนักงาน-โรงพิมพ์ ของนักข่าวแต่ละคน ที่ให้ความสำคัญกับแต่ละประเด็นต่างกันไป บางสำนักก็เน้น ข่าวในโทนการเมือง คือเป็นข่าวกทม.เชิงการเมือง ขณะที่บางค่าย ก็เน้นการหาข่าว-นำเสนอข่าวในโทนคุณภาพชีวิต คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับข่าวกทม.ที่กระทบกับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ หรือไม่ก็เป็นข่าวเกี่ยวกับงานโยธาหรือการขนส่ง การก่อสร้างโครงการต่างๆ ในกทม.เป็นต้น ทั้งหมดแล้วแต่แนวนโยบายข่าวของแต่ละค่าย ที่เล่นข่าวในประเด็น-มุมข่าวที่แตกต่างกันไป

ทำให้บรรยากาศการทำงานของนักข่าวสายกทม.ก็ค่อนข้างผ่อนคลาย มีการขอความช่วยเหลือระหว่างกัน และมีการขอข่าวกันบ้าง อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแข่งขันหาข่าวในประเด็นข่าวที่สังคมจับจ้องบ้าง แต่งานคืองาน ย่อมไม่ส่งผบกระทบต่อความสัมพันธ์ของสื่อด้วยกันเองแต่อย่างใด

นักข่าวสายกทม.ที่อยู่สังกัดหนังสือพิมพ์รายวันแห่งหนึ่งที่มีประสบการณ์ในการทำข่าวสายกทม. มากว่า 15 ปี เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่สนามข่าวกทม.เป็นภาพกว้าง ไม่ได้มุ่งเน้นไปเฉพาะประเด็นใด ประเด็นหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง  แม้จะมีผลกระทบต่อคนเฉพาะในเมืองกรุง แต่ในอีกทางหนึ่ง เป็นการทำให้ประชาชนในพื้นที่อื่น เห็นประสิทธิภาพในการบริหารเมือง ของพรรคการเมืองต้นสังกัด ผู้ว่าฯกทม.กลายๆ ขณะที่ความแตกต่างกันในการทำงานแต่ละยุค ที่เห็นชัดเลย คือ การให้ข้อมูลของแหล่งข่าว

“คนข่าวเสาชิงช้า”เล่าย้อนอดีตการหาข่าว ทำข่าวของอดีตผู้ว่าฯเมืองหลวงในช่วงที่ผ่านมาว่า เช่นยุคที่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม. พบว่าค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการให้ข่าวกับสื่อมวลชนพอสมควร และอาจมีการเช็คบิลผู้ให้ข่าวตามหลังหากข่าวที่ออกไปนั้นเกิดผลทางลบ ขณะที่สมัยพลตรี จำลอง ศรีเมือง หรือสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯกทม. การให้ข่าวกลับเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อแหล่งข่าวสามารถให้ข่าวแก่สื่อมวลชนได้เลย โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขซับซ้อน

“แม้จุดมุ่งหมายของผู้บริหารทุกยุค คือการ นำเสนอข่าวแต่ด้านดีก็ตามแต่ความพิเศษ ของข่าวกทม. คือ การที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงลงไปในเรื่องใดเรื่องนึง แต่เป็นทุกเรื่อง ตั้งแต่การเมือง ยันเรื่อง นากบุกกินปลาของชาวประมง ล้วนอยู่ในข่ายความรับผิดชอบของเรา ทำให้นักข่าวกทม.ที่อยู่มานาน มีพื้นฐานความเข้าใจข่าวสายอื่นพอสมควร จากประสบการณ์ที่ต้องเจองานหลากหลายรูปแบบ จึงทำให้นักข่าวที่นี่ไม่เหมือนสายอื่นๆ” คนข่าวเสาชิงช้าทิ้งท้าย