Backpack Journalist
ในแวดวงสื่อคำว่า Backpack Journalist ถูกพูดถึงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ท่ามกลางคำถาม-ข้อสงสัยว่า คืออะไร ?
มีการอธิบายขยายความไว้ว่า Backpack Journalist คือ การทำงานของนักข่าวยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะนักข่าวสถานีโทรทัศน์ ที่ต้องกำหนดประเด็นการทำข่าว-สกู๊ป-รายงานพิเศษ ขึ้นเอง และต้องมีการลงภาคสนาม –ลงพื้นที่ไปทำข่าว - สัมภาษณ์ -เก็บข้อมูล โดย นักข่าว ต้องถ่ายภาพ เขียนบท ลงเสียง ตัดต่อ ทั้งหมดด้วยตัวเองเพียงคนเดียว
นักวิชาการด้านสื่อคือ “ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ – หัวหน้าภาควิชา วารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” พูดถึง Backpack Journalist ไว้ว่า เทรนด์ของ backpack Journalism ที่แต่ละคนจำเป็นที่จะต้องลงพื้นที่ และก็ต้องส่งข่าวขึ้นมา ถือเป็นข้อท้าทายของคนทำสื่อยุคใหม่
“ เวลาคุณทำข่าว เหมือนเป็นการทำวิจัยอย่างหนึ่ง คือคุณต้อง หาข้อมูล ฝังตัว เหมือนคุณเป็นนักวิจัยคนหนึ่งในการเอาข้อมูลมาให้พวกเรา”
ด้านความเห็นของ คนที่ทำงานข่าวลักษณะดังกล่าว
“ธนานุช สงวนศักดิ์ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร (สารคดีเชิงข่าว) สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี” ที่มีประสบการณ์โชกโชนในการทำข่าวแนว Backpack Journalist หรือ นักข่าวแบคแพค ที่ต้องกำหนดประเด็นเอง ลงพื้นที่ไป สัมภาษณ์ เก็บข้อมูล ถ่ายภาพ เขียนบท ลงเสียง ตัดต่อ ได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว โดยมีผลงานชิ้นเอก คือ สารคดี "My Rohingya:โรฮิงญาที่ฉันรู้จัก" ที่เธอเดินทางไปถ่ายทำในค่ายผู้อพยพชาวโรฮิงญาในบังคลาเทศ ได้รับรางวัลดีเด่นสื่อมวลชนเพื่อ สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2555 จาก Amnesty International Thailand รวมถึงได้รับเลือกให้เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ กลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานแนวแบคแพค ต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
แม้ปัจจุบัน”ธนานุช” จะอยู่ในบทบาทการเป็นสื่อมวลชนอิสระ แต่ก็ยังคงหลงใหลการทำงานข่าวแนวแบคแพค เพราะมองว่าเป็นความท้าทาย
...นักข่าวแบคแพค ที่ทำเองหมดทุกอย่าง ตั้งแต่กำหนดประเด็น ถ่ายทำ สัมภาษณ์ ตัดต่อ ลงเสียง มันตอบโจทย์หลายๆอย่าง มันไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพี่ เราเคยเรียนรู้จากตอนทำโปรดัคชั่น สมัยที่อยู่กับทีม อ.พิภพ พานิชภักดิ์ (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) อยู่แล้ว ทำให้มีพื้นฐานการถ่าย ไวยากรณ์การถ่ายภาพ ซึ่งเราเองก็ชอบด้วย แต่ต้องเรียนรู้เพิ่มเรื่องเทคนิค และมันเป็นการช่วยกันทำงานด้วย
...ตอนที่เริ่มทำแบคแพค ตอนหลังพนักงานที่เนชั่นน้อย เราก็ต้องช่วยกัน บางทีช่างภาพตัดงานอยู่ เราก็บอกตัดไปแล้วกัน เดี๋ยวพี่ไปถ่ายให้เอง หลังแหล่งข่าวกลับไปแล้ว จะเป็นเวลาของเราในการถ่ายหน้าตัวเอง ทวนคำถามตัวเอง พูดประโยคเดียวกันกับตอนที่ถามแหล่งข่าว และนั่งพยักหน้าไปคนเดียวกับกล้อง คือสิ่งเหล่านี้ ช่วงแรกอาจจะเขิน อาย เหมือนขำนะ แต่ภาพเหล่านี้ ถ้ามีแล้ว มันจะช่วยในการตัดต่อ ช่วยในการเล่าเรื่องราวนั้นๆ และมันเป็นหลักฐานสำคัญด้วย ว่าเราอยู่ตรงนั้น ทำให้เรื่องเราน่าเชื่อถือมากขึ้น
“ธนานุช”บอกว่า อยากให้นักข่าวทีวีคนอื่นๆทำได้ และทำได้อย่างมีคุณภาพ มันคือการไม่ยึดติด การมีเงื่อนไขกับตัวเองมันจะเป็นการตัดโอกาสในการทำงาน อีกอย่างมันส่งผลต่อการดึงข้อมูลที่จะออกมาด้วย ความจริงต่างๆที่จะปรากฎออกมาหน้าเลนส์ ถ้าเราทำคนเดียวมันจะทำให้เราเข้าใกล้เรื่องได้มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะความจริงมันใม่ใช่แค่คำพูดอย่างเดียว มันมีบริบทต่างๆเยอะ ความไว้เนื้อเชื่อใจ จะทำให้เราเห็นรายละเอียดของเรื่องมากขึ้น ทำให้เรื่องของเราดีขึ้น มันคือเป็นเสน่ห์ของการทำงานแบบนี้
Mobile Journalist
สู่ Backpack Journalist
ขณะที่”นภจรส ใจเกษม ผู้สื่อข่าวการเมือง ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3” ทำงานในวงการข่าวมานาน 16 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่แม้จะมีประสบการณ์ทำงานภาคสนามมาอย่างโชกโชน แต่ก็ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง ด้ยการเพิ่มทักษะให้กับตัวเองและพยายามฝึกฝนการทำงานข่าวแนวแบคแพค
เขาเล่าถึงประสบการณ์ทำงาน แบบ Backpack Journalist ของตัวเองให้ฟังว่าเริ่มมาจากการเรียนรู้การทำข่าวแบบ "Mobile Journalist" หรือ "Mojo" ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการรายงานข่าว
ซึ่งการเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะตัวเองเหล่านี้ “นภจรส”มองว่าเป็นสิ่งที่นักข่าวหรือคนในวิชาชีพสื่อสารมวลชน ควรที่จะทำ เพราะโลกทุกวันนี้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์ให้เป็น จะทำให้การทำงานข่าวมีความคล่องตัวและง่ายมากขึ้น
...ครั้งแรกที่ได้รู้สึกการทำข่าวแบบนี้ คือตอนที่อบรม Mojo กับ อ.พิภพ พานิชภักดิ์ ที่สถานีเชิญมาเป็นวิทยากรสอน ตอนที่จัดการอบรมขึ้น แล้วเราสนุกกับมันมาก หลังจากนั้นประมาณครึ่งปี ได้มีโอกาส ไปทำงานที่ต่างประเทศ ไปประเทศอินเดีย แต่ต้องไปคนเดียว คือหมายรับเชิญให้แต่ละช่องส่งนักข่าวไปเพียงแค่คนเดียวเพื่อไปดูงาน ไม่เอาช่างภาพ มีช่อง 3 ช่อง 9 หนังสือพิมพ์เนชั่น แต่เราก็รู้สึกว่าเคยอบรม mojo กับ อ.พิภพ มาแล้ว ก็เลยคิดว่า ลองทำสกู๊ปข่าว จากมือถือเครื่องเดียว ส่งกลับมาให้ช่อง ก็ได้ออกอากาศในรายการข่าว 3 มิติ เป็นจุดเริ่มแรกที่ทำให้ออฟฟิศเห็นว่า เราก็ทำได้
กระทั่งล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ มีงานที่ต้องติดตามรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เดินทางไปประเทศบรูไนอย่างเป็นทางการ โดยงานภารกิจมีเวลา 2 วัน ที่ต้องเข้าประชุมทวิภาคี กับรัฐมนตรีของประเทศบรูไน ค่อนข้างเป็นพิธีสำคัญ ทางสถานีอยากให้ไปลองดูอีกครั้ง แต่คราวนี้ใช้เป็นกล้องใหญ่แบบที่ช่างภาพทีวีใช้คือ Panasonic P2 ส่วนเรื่องการตัดต่อในโน๊ตบุ๊ค เป็นสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว เพราะเวลาออกไปงานต่างจังหวัด จะตัดเองส่งกลับมาอยู่แล้ว โดยครั้งนี้ก่อนเดินทางไปบรูไน ก็ให้ช่างภาพช่วยฝึกการใช้กล้องให้ เพราะมันเป็นกล้องใหญ่ แล้วก็ช่วยแนะนำเรื่องมุมภาพ การ Setting ค่าต่างๆ ก็ฝึกอยู่ครึ่งวัน พอไปทำจริง ก็ส่งงานกลับมาสถานีเพื่อออกอากาศ
...สำหรับผมมองว่า การทำข่าวแบบแบคแพค มันเป็นสิ่งที่ดีและท้าทาย นักข่าวยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องยกโขยงกันไปแบบเมื่อก่อน ที่ต้องมีทีมงานเยอะ รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปแล้ว นักข่าวควรปรับตัวเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และมันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวคุณเองด้วย การที่ทำอะไรได้หลายๆอย่าง แต่ในขณะเดียวกันการทำข่าวแบบแบคแพคมันก็ไม่สามารถทำได้ในทุกๆงาน คือมันก็ต้องมีขอบเขตของมันเหมือนกัน เราต้องไม่มองข้ามช่างภาพ เพราะการถ่ายภาพเป็นวิชาชีพของเขา ถามว่าผมทำได้ไหม ผมทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าออกมาดีแบบช่างภาพมืออาชีพ
...การถ่ายภาพแบบมืออาชีพเราสู้ช่างภาพไม่ได้อย่างแน่นอน ต้องให้เกียรติและเคารพวิชาชีพของช่างภาพด้วย ถ้ามีงานที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ หรืองานที่ต้องการมุมภาพสวย หรืองานเชิงสารคดีขนาดมืออาชีพ ก็ต้องเป็นงานที่ต้องนำช่างภาพไปด้วย
ตอบโจทย์ความรู้สึกคนทำข่าว
ปิดท้ายที่”วิรดา แซ่ลิ่ม”คนข่าวรุ่นใหม่ ที่เริ่มก้าวเข้ามาทำงานแนวแบคแพค หลังเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนักข่าวแบคแพคประจำรายการ Backpack Journalist ของ Thai PBS ที่นำคอนเซปต์ Backpack Journalist นักข่าวสะพายเป้ ของ บิล เจนทีลย์ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวอิสระและเป็นผู้ก่อตั้ง ผู้อำนวยการโครงการ Backpack Journalist หรือ นักข่าวสะพายเป้ของมหาวิทยาลัย American University ในวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ใช้ประสบการณ์กว่า 30 ปี ที่ทำงานในวงการสื่อทุกรูปแบบใน 5 ทวีปทั่วโลก มาทำ
“วิรดา” เล่าถึงประสบการณ์ทำงานแนวแบคแพคของตัวเองว่า เริ่มเข้ามาทำนักข่าวแบคแพค ตั้งแต่สถานีเริ่มทำรายการนี้ เกือบ 3 ปีแล้ว หลังฝึกงานที่นี่ เรียนจบ ก็เป็นช่วงที่รายการกำลังฟอร์มทีมพอดี โดยทำในส่วนของรายการ Backpack Journalist และนักข่าวพลเมือง ตอนนั้นเข้ามาทำเป็นพนักงานประจำ เป็นช่วงที่กำลังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการจากเดิมที่เป็นแนวทอล์ค มาเป็นรายการเล่าข่าวแนวประเด็นสังคม และนโยบายสาธารณะ
..มันท้าทายตรงที่คนหนึ่งคน ต้องทำทุกอย่างเองแต่ตอนนั้นเรายังเป็นเด็กจบใหม่ ยังเป็นแค่เชิงการตื่นเต้น ว่าเราจะมีอำนาจคอนโทรลทุกอย่าง แบคแพคไม่ใช่แค่รายงานใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร มันไม่ใช่การเล่าแบบปิรามิดหัวกลับแบบข่าว แต่คุณต้องมีการเล่าแบบมีสตอรี่เทลลิ่งด้วย ว่าจะเล่าแบบไหน ให้น่าสนใจ ต้องคิด ครีเอท ต้องเรียนรู้เยอะ แต่สิ่งที่คิดว่ายากที่สุดคือประเด็นสังคม เพราะเราไม่ได้โตมาในระบบการศึกษาที่สอนให้เราตั้งคำถาม หรือคิดวิเคราะห์ แบบเก็ทประเด็นสังคมตั้งแต่เราจบมา คืองานมันต้องคม ลึก ก็ต้องเรียนรู้และหาความรู้ มันเหมือนเรียนรู้ และหาความรู้ใหม่อีกครั้ง ว่าสังคมนี้เป็นยังไง เพื่อจะทำงานให้มีคุณภาพที่สุด มันยากกว่าการตัดต่ออีกนะที่เราต้องคิดการเล่าเรื่อง
“วิรดา” ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานของตัวเองต่อไปว่า สำหรับความท้าทายการทำงานข่าวคนเดียว มันเสริมความสัมพันธ์เรากับแหล่งข่าวมากๆ บางทีเราถ่ายเอง แต่เราก็อยากสบตาแหล่งข่าว มันสอนเราว่าการทำงานข่าว มันไม่ใช่ไปเอาเรื่องราวมาแค่นั้น แต่เราจะมีความสัมพันธ์ยังไงกับแหล่งข่าวในพื้นที่ด้วย และสุดท้ายแล้ว ความรู้สึกนั้น เราก็จะเอามาเป็น Mood And Tone ของตัวเรื่องในสกู๊ปของเรา มันเป็นอาชีพที่พาเราไปเจอสิ่งใหม่ๆ ได้เรียนรู้ ไม่ใช่แค่สังคม แต่เรียนรูกลับเข้ามาที่ตัวเราเองด้วย
..ถ้าแบคแพคจะตอบโจทย์สื่อทุกวันนี้ มันคือการตอบโจทย์ความรู้สึกของคนทำข่าว หรือคนที่จะมาเล่าเรื่องบางอย่างที่เป็นเชิง journalism ว่าฉันจะตั้งคำถามที่ใช่ได้ยังไง ฉันจะทำงานที่มีคุณูปการบางอย่างต่อสังคม ต่อคนดูได้ยังไง เพราะทุกวันนี้เหมือนเราตื่นเต้นกับตัวแพลตฟอร์มที่มันเปลี่ยน แต่หัวใจหรือปัญหาเดิมมันยังไม่เคยถูกแก้เลย ว่าคุณจะทำงานที่มีคุณภาพ หรือให้สื่อเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทาง หรือเปิดพื้นที่ให้คนต่างกลุ่มในสังคมไทย ได้คุยแลกเปลี่ยนกันได้ยังไง มันน่าจะเป็นโจทย์นั้น
“คิดว่าแบคแพคมันตอบโจทย์นะ มันฝึกให้เราคิดและอยากทำงานอย่างมีคุณค่าขึ้น”วิรดา กล่าวทิ้งท้าย
ปล.เนื้อหาเรียบเรียงจากรายงานพิเศษ เรื่อง Backpack Journalist โดยดารินทร์ หอวัฒนกุล ตีพิมพ์ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2561