4 ปี รัฐประหารคสช. เรื่องเล่า-การทำหน้าที่ นักข่าวภาคสนาม เมื่อ 22 พ.ค. 57

4 ปี รัฐประหารคสช.

เรื่องเล่า-การทำหน้าที่

นักข่าวภาคสนาม เมื่อ 22  พ.ค. 57

22 พฤษภาคม ของเมื่อ 4  ปีที่ผ่านมาคือเมื่อปี 2557 ได้ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ประเทศไทย หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น ได้ทำการยึดอำนาจ-รัฐประหารจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่เวลานั้นเป็นรัฐบาลรักษาการ

โดยวันดังกล่าวสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งไทยและต่างประเทศ กระจายตัวทำข่าวตามจุดต่างๆ ในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก-มีการชุมนุมของทั้งเวทีกปปส.และนปช. ขณะเดียวกัน ที่สโมสรกองทัพบก ก็มีการประชุมร่วมกันของตัวแทนฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางออกทางการเมืองแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ข้อยุติ จนเกิดรัฐประหารขึ้น

ผ่านไป 4 ปี “เพจจุลสาราชดำเนิน”ย้อนรอยไปดูบรรยากาศการทำงานของสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557  ในพื้นที่หลักสองจุด  ที่ปนคละไปด้วยอารมณ์หลากหลาย ทั้งหวาดกลัว – มึนงง- สับสน ท่ามกลางความ”ไม่รู้” ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น กับการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่ไปหารือร่วมกันที่สโมสรกองทัพบก สถานที่ซึ่งพลเอกประยุทธ์ประกาศยึดอำนาจ ทำรัฐประหาร

เกิดมาไม่เคยทำข่าวรัฐประหาร

รายงานข่าวไป ก็สั่นไป

“รพีพรรณ เรือนศรี ผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวี”เล่าย้อนถึงการทำข่าวของเธอในวันที่ 22พ.ค.2557 ที่บริเวณหน้าสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีฯว่า

..ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันคือวันที่ 21 พฤษภาคม ที่สโมสรทหารบก มีการนัดแกนนำทั้งกลุ่มนปช. ,กปปส. ,พรรคเพื่อไทย ,ประชาธิปัตย์ รวมไปถึงกกต. โดยทางพลเอกประยุทธ์ ให้การบ้านทุกฝ่ายกลับไปคิดว่าจะหาทางออกให้ประเทศในช่วงนั้นอย่างไร ตอนนั้น เราก็เห็นว่ายังปกติ ไม่มีสัญญาณอะไร ที่จะพาไปถึงการยึดอำนาจ

รพีพรรณ เล่าว่า ที่สโมสรทหารบกจะ กำหนดพื้นที่ให้นักข่าวอยู่ จะไปเดินเพ่นพ่านทั่วไปไม่ได้ ต้องอยู่ในห้องสื่อ ถึงเวลามีแถลงข่าวก็จะมาตามเอง และวันนั้น(22 พฤษภาคม 2557 ) มันแปลกๆคือเขาใช้เวลานานมาก ทั้งที่วันก่อนก็เคยคุยกันมาแล้ว แต่ไม่นานอย่างนี้ นักข่าวจึงต้องไปเฝ้ากันที่ถนน

“เมื่อใกล้ถึงเวลาที่เขาจะยึดอำนาจ ก็มีกำลังทหารเข้ามาประจำตามจุดต่างๆในสโมสรทบ.  ก็คิดว่าทหารมาทำไม  ตอนนั้นก็เข้าใจว่าคงจะเลิกแล้ว ทหารมาตั้งแถวเพื่อรอรับนาย แต่ไม่ใช่อย่างนั้น เขาปิดประตูเข้าออกหมด ตั้งแต่ทำงานมาหลายปีก็ไม่เคยเจอแบบนี้ ก็พยายามถ่ายคลิปแล้วส่งเข้าข้างในออฟฟิต หัวหน้าก็บอกมาว่าน่าจะมีการทำรัฐประหารแน่ เขาคงคุยกันไม่ได้แล้ว ซึ่งเมื่อถามนักข่าวสายทหารก็ยืนยันเหมือนกัน”
รพีพรรณ บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์วันคสช.ทำรัฐประหารเมื่อสี่ปีที่แล้วต่อไปว่า ตอนนั้นไทยรัฐทีวีเพิ่งทดลองออกอากาศ ก็ดึงสัญญานขึ้นออกสดทันที ซึ่งเราเป็นช่องสุดท้ายที่ทหารไปถึง เพราะเขาไม่รู้ว่าออฟฟิศอยู่ไหน ช่องอื่นโดนเกี่ยวสัญญานลงหมด จากนั้นสถานการณ์ในสโมสรทบ. ทหารควบคุมพื้นที่ทั้งหมด แล้วก็มีรถตู้ที่มีแกนนำนั่งอยู่ข้างในเริ่มทยอยออกมา เขาควบคุมตัวไปที่ ร.1 รอ.

นักข่าวก็พยายามวิ่งตาม จะมีอยู่คันหนึ่งที่ชะลอเพราะไปไม่ได้ ก็เห็นว่ามีจตุพร พรหมพันธุ์ อยู่ข้างใน ตอนนั้นชัดเจนที่สุดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น และเมื่อแกนนำทั้งหมดถูกนำตัวไปเข้าค่ายหมด ทหารก็เคลียร์พื้นที่ ให้กลับกันให้หมด

“ตื่นเต้นมาก เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร แล้วเราต้องทำอะไรบ้าง เราเป็นนักข่าวมานาน เจอม็อบมามากมาย แต่ยังไม่เคยเจอการรัฐประหาร ซึ่งตอนนั้นรายงานสดไปก็สั่นไป”รพีพรรณ เล่าเรื่องราวการทำข่าวเมื่อสี่ปีที่แล้วอย่างละเอียด เหมือนกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

รพีพรรณ บอกต่อไปว่า วันนั้นก็ทำงานค่อนข้างลำบาก กำลังรายงานข่าวอยู่ ทหารก็ไล่เรา ต้องเดินไปรายงานไป เก็บของไป แต่สักพักเมื่อเขาตัดทุกอย่าง เราก็ทำอะไรไม้ได้ ได้แต่ถ่ายบรรยากาศเก็บไว้
เมื่อถามว่า 4 ปีที่ผ่านมาในยุคคสช.มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ “รพีพรรณ”ให้ทัศนะว่าก็เปลี่ยนทั้งการทำงานของเรา แล้วก็บรรยากาศประเทศ แต่ส่วนตัวเชื่อความขัดแย้งไม่ได้หายไป แต่แค่ถูกกดไว้ วันหนึ่งที่ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติก็ยังเชื่อว่ามันจะกลับมาเหมือนเดิม ไม่คิดว่ามันจะหายไปจากประเทศไทย แม้หลายคนจะเสื่อมถอยอำนาจลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าวันหนึ่งก็จะมีตัวตายตัวแทนขึ้นมาอีก

..ส่วนการทำงานของสื่อ ถ้าเทียบกับรัฐบาลปกติ รัฐบาลนี้เราจะทำอะไรไม่ได้เต็มที่เท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้ถูกปิดกั้นเสียจนไม่มีเสรีภาพเลย เขาก็ยังเปิดให้เราทำงานได้ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนที่ดีคือสื่อค่อนข้างมีระเบียบขึ้นในการทำงาน เมื่อก่อนเราจะอิสระมากไป เวลานายกฯจะไปไหนก็ไปรุมกัน ไปแย่งกัน แล้วไม่ได้อะไรเลย แต่ตอนนี้เขาจัดให้มีระเบียบมีแบบแผนมากขึ้น เราก็รู้สึกว่าดี เมื่อก่อนเราต้องตามไปทุกที่จนกว่าเขาจะกลับบ้าน แต่ตอนนี้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่บางครั้งก็รู้สึกถูกปิดกั้นในสิ่งที่เราควรจะได้รู้ หรือเข้าถึง เราเข้าถึงตัวนายกฯได้ยากขึ้นไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่เราจะไปดัก หรืออยู่ตรงไหนก็ได้
เกิดอะไรขึ้น

ที่ถนนอักษะ เวทีเสื้อแดง?

อีกจุดที่ห่างไกลออกไปคนละมุมเมือง แต่อารมณ์ความตื่นเต้นในการทำข่าวการทำรัฐประหาร สำหรับนักข่าวที่ไม่เคยทำข่าวรัฐประหารมาก่อน ความตื่นเต้นกับประสบการณ์การทำข่าวดังกล่าว ย่อมไม่ต่างกัน

รวีวรรณ สมรภูมิ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย”ซึ่งวันคสช.ทำรัฐประหาร 22 พ.ค.57ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทำข่าวการเคลื่อนไหว การชุมนุมของกลุ่มนปช.-คนเสื้อแดง ที่บริเวณถนนอักษะ เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ 4ปีที่แล้วว่าวันนั้นก็ไปทำข่าวปกติ เหมือนทำข่าวม็อบทั่วไป แต่จะมีความเข้มข้นขึ้นมากว่าวันก่อนๆ คือตรงที่บนเวทีปราศรัยใหญ่ จะมีการลุกฮือ มีการเย้วๆกันมากกว่าปกติ เช่น แกนนำนปช.ที่เวทีตอนนั้น ก็ไม่ใช่แกนนำหลักคนสำคัญ เพราะแกนนำเดินทางไปร่วมพูดคุยที่สโมสรกองทัพบกกันหมด คนที่อยู่ตรงเวที ก็พยายามจะปลุกผู้ชุมนุม ว่าเราจะไม่ยอมๆ ก็ไม่รู้ว่าเขาได้รับสัญญาณอะไรกันมาหรือเปล่า ก็ไม่คิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จนช่วงบ่ายเฝ้าติดตามสถานการณ์จากโทรทัศน์ ขณะที่บนเวทียังอัพเดตความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

..อยู่ๆก็มีเสียงคล้ายปะทัด หรือเสียงปืนเราก็ไม่แน่ใจ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่รู้แน่ชัดเลยว่าว่าเป็นเสียงอะไร แต่ตอนนั้นจู่ๆมันดังขึ้นไล่เข้ามาเรื่อยๆจากด้าน ผู้ชุมนุมก็ตะโกนกันว่า มาแล้วๆ แกนนำบนเวทีก็ประกาศว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น นักข่าวก็อยู่ในเต้นข้างหลังเวที  ซึ่งวิสัยทัศน์ตรงนั้นเราจะไม่สามารถมองเห็นอะไรโดยรอบๆได้ เพราะถนนอักษะจะเป็นเส้นตรงยาวไป และเสียงอันนั้นมันก็ไล่จากด้านนอกเข้ามา ดังเข้ามาเรื่อยๆ
..พี่ๆนักข่าวก็ตะโกนบอกให้ทุกคนหมอบลง ก้มลงให้ต่ำที่สุด จากประสบการณ์ที่เราทำข่าวม็อบมา ตอนนั้นก็คิดว่าสถานการณ์เป็นได้สองแบบ อย่างแรกก็คือกลุ่มที่สร้างสถานการณ์ ส่วนอีกแบบคือน่าจะมีทหารเข้ามา  แต่แบบไหนก็คิดว่าไม่ปลอดภัยแน่ๆ เพราะเราอยู่ในพื้นที่อับ จะออกไปก็ไม่ได้ เพราะเสียงที่ดังเหมือนประทัดยังดังต่อเนื่อง แล้วก็ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามา

..อารมณ์ตอนนั้น คือระทึกอยู่ประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง สักพักเสียงก็เงียบไป ทันทีกับที่รู้ว่าแกนนำบนเวทีถูกควบคุมตัวแล้ว ก็มีพี่คนหนึ่งเขาบอกว่า ไม่ต้องไปไหน ไม่มีอะไรหรอก ช่วงเวลาที่เรากำลังสับสน ในสถานการณ์ของความชุลมุน ขณะนั้นทหารก็เข้ามา มาจากไหนก็ไม่รู้ อาวุธครมมือ  บอกให้เราก้มหมอบ ห้ามเงยขึ้นมองหน้า ห้ามบันทึกภาพ ตอนนั้นเราก็รู้สึกกลัวเพราะไม่รู้อะไรเลย ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ยังแอบแหงนๆขึ้นไปมอง ก็เห็นว่าทหารเหล่านั้นเป็นพลทหารที่ยังหนุ่ม ไม่ใช่รุ่นใหญ่ๆ หน้าโหดๆ จึงไม่ค่อยน่ากลัวอะไร ซึ่งน้ำเสียงที่พูดกับพวกเรา ก็ไม่ได้ดุ ประมาณว่าขอความร่วมมือ ก้มลงไปครับ อย่าเพิ่งมองขึ้นมา จากนั้นเขาก็ยึดพื้นที่ไว้ ใช้เวลาสักพัก ก็เคลียร์ให้นักข่าว กับผู้ชุมนุมออกไป ห้ามทำข่าว ห้ามบันทึกภาพอะไรทั้งนั้น โดยให้นักข่าวออกไปก่อน แต่ทุกคนจะมีการบันทึกไว้ว่าเป็นใครมาจากไหน และมีข้าวของอะไรมาบ้าง

รวีวรรณ  เล่าต่อไปว่า ตอนนั้นก็ยังงงๆอยู่ ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น เรากำลังดูโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดจากสโมสรทบ. ที่มีความวุ่นวายอยู่ ไม่นึกว่าเพียงไม่นาน ยังไม่ได้ตั้งตัวเลย ทหารเข้ามาถึงตัวเราที่ถนนอักษะแล้ว ซึ่งบนเวทีก็รู้พร้อมๆกันกับเรา ก่อนหน้านั้นที่ตามๆข่าวอยู่ ก็เห็นว่ามีการเชิญแกนนำไปพูดคุย ก็ไม่นึกว่าเขาจะทำรัฐประหาร ไม่เชื่อว่าเขาจะทำ เพราะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยกันแล้ว หลายคนก็ถือว่าช็อค รู้สึกกลัว ลนลานไปหมด แต่เรียกสติกลับมาได้ เพราะเห็นนักข่าวรุ่นพี่ๆ เขานิ่งกันมาก ไม่มีใครกระโตกกระตากให้เห็น พี่ๆพยายามจะบอกว่าไม่มีอะไร ไม่ต้องกลัวและยืนยันให้เราต้องอยู่ทำข่าว

โดยเฉพาะตอนที่เสียงเหมือนประทัดดังขึ้นมากๆ มีบางช่องที่เริ่มจะถอดใจ อยากออกไปให้พ้นๆตรงนี้  แต่พี่ๆก็บอกว่าเราต้องอยู่ ถ้าไม่มีเรา แล้วใครจะบันทึกภาพ ใครจะทำข่าว โชคดีที่ตอนนั้นไม่มีความสูญเสีย ไม่มีบาดเจ็บ ยอมรับว่าเขาวางแผนมาอย่างดี
“รวีวรรณ”ให้ความเห็นว่า สำหรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ ส่วนตัวตั้งแต่ตอนนั้นเราขออะไรก็ได้ที่ไม่ให้มีม็อบอีก เพราะมันมีมาเป็นสิบปีแล้ว มันน่าเบื่อ แต่เราคาดไม่ถึงว่าพลเอกประยุทธ์จะทำรัฐประหาร  เพราะการชุมนุมมันต่อเนื่องมากนานแล้ว เชื่อว่าที่คนไม่ออกมาต่อต้านเพราะอยากให้มีใครทำอะไรก็ได้สักอย่าง ให้ประเทศมันไปได้ ไม่มีม็อบ เพราะรู้สึกว่าการมีม็อบ ไม่ปลอดภัยเท่าทำรัฐประหาร เพราะมีอำนาจทหารดูแล บางคนอาจมองอย่างนี้

ส่วนการทำงานของนักข่าว “รวีวรรณ” เห็นว่าเมื่อก่อนก็จะวุ่นวายกันมาก นักข่าวบางคนต้องทำข่าวทั้งเสื้อแดง และเสื้อเหลือง ต้องอยู่บนความขัดแย้งของมวลชน จะไปม็อบไหนก็ต้องปรับการทำงาน ระมัดระวังตัว หัวไมค์บางช่องก็เข้าไปทำข่าวการชุมนุมของบางกลุ่มไม่ได้ต้องเก็บซ่อน

..อีกเรื่องคือ ช่วงแรกที่พลเอกประยุทธ์เข้ามา แทบจะไม่มีรัฐมนตรีคนอื่นพูดเลย เป็นการเมืองนิ่งๆ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในแง่ดีถ้ามองก็มีเรื่องการออกกฎหมายหลายฉบับ ที่รัฐบาลปกติทำไม่ได้ ถ้าไม่ดีก็เรื่องเศรษฐกิจ ที่ประเทศเราถูกมองว่ารัฐประหารกันอีกแล้ว

...ถึงตอนนี้ คสช.ก็อยู่มา 4ปีแล้ว ตามวาระจริงๆก็ถือว่าครบเทอมรัฐบาลแล้ว ถ้าเกินลิมิตกว่านี้เชื่อว่าอาจมีคนรับไม่ได้ ขณะที่บางเรื่องก็รู้สึกว่าถูกแทรกแซงเกินไป

“อย่างรายการวันศุกร์ เหมือนพื้นที่ที่จะเสนอข่าวในแต่ละช่องถูกแย่งไป  และเขายัดเยียดสิ่งที่เขาอยากจะให้รู้ ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันจะหลากหลายกว่า เราเจอมาหลายรูปแบบ ทั้งอภิสิทธ์ ยิ่งลักษณ์ ตอนนั้นยังเช็คข่าวได้  มีคนตอบคำถาม นักการเมืองถึงจะมีพรรคสังกัด แต่ก็มีอิสระทางความคิดในประเด็นนั้น แต่ยุคนี้ไม่ได้เลย น้อยคนที่จะพูดอิสระได้เอง แต่ก็แปลกตรงที่เราก็ต้องยอม ด้วยสถานการณ์อะไรก็ตาม ที่เราต้องจำนน”คนข่าวค่ายสำนักข่าวไทย กล่าวปิดท้าย