เข้าปีที่ 5คสช. กรรมการสิทธิฯ-ฮิวแมนไรท์วอทช์ อยากเห็นสื่อทำหน้าที่อย่างไร?

Special Report

โดย กองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน

 

เข้าปีที่ 5คสช.

กรรมการสิทธิฯ-ฮิวแมนไรท์วอทช์

อยากเห็นสื่อทำหน้าที่อย่างไร?

ขณะนี้ เข้าสู่ปีที่ 5ของรัฐนาวา คสช.โดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการบริหารประเทศแล้ว โดยประเด็นเรื่อง”สิทธิ-เสรีภาพ”ยังคงเป็นเรื่องที่คสช.ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมาแม้ทุกคนจะรู้ดีว่า รัฐบาลคสช.ไม่ใช่รัฐบาลปกติ แต่เป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร แต่หลายฝ่ายก็ต้องการให้คสช.ต้องให้สิทธิ-เสรีภาพกับฝ่ายต่างๆ มากกว่าที่เป็นอยู่

ในบริบท”สิทธิเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน” นอกจากเสียงสะท้อนจากสื่อแล้ว มุมมองของคนที่ทำงานด้านสิทธิฯ คือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ก็มีเสียงสะท้อน-ความเห็นต่อเรื่องการทำงานของสื่อในยุคคสช.ที่เข้าสู่ปีที่ 5 แล้วในตอนนี้

เริ่มต้นด้วย“สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย”ที่ประเมิน 4 ปี คสช. ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์ด้านสื่อมวลชนยังถดถอยไม่สิ้นสุด เหตุจากการคุกคามและลิดรอนสิทธิจากรัฐบาล

“สุนัย”ยกเหตุผลมาขยายความประเด็นนี้ไว้ว่า  4 ปี คสช ที่ผ่านมา  ฮิวแมนไรท์วอทช์  ได้ประเมินสถานการณ์ด้านสื่อมวลชน ถือว่ายังอยู่ในสภาวะที่ถดถอยไม่สิ้นสุด แม้ว่าในปีนี้ คสช.  จะประกาศว่าประเทศไทย เข้าสู่โหมดนับถอยหลังการเลือกตั้ง เพื่อเปลี่ยนผ่านการเข้าสู่ประชาธิปไตยแล้วก็ตาม  เพราะบรรยากาศการลิดรอนสิทธิเสรีภาพควรจะได้รับการผ่อนคลาย แต่กลายเป็นว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการเร่งดำเนินคดีกับคนที่ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออก มีการคุกคามสื่อเกิดขึ้นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

.. ใช้ข้อหาร้ายแรงทั้งมาตรา 116 สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบรัฐบาล คสช. ถูกถอดปลั๊กไปเกือบเดือน เช่น กรณี พีซ ทีวี ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี แทนที่ คสช. จะเร่งคืนประชาธิปไตย แต่เสรีภาพเหล่านี้กลับไม่มีเลย  นำไปสู่ข้อสงสัยว่าตกลงแล้ว โรดแมป ของ คสช  คือโรดแมป อะไรกันแน่   คสช.  มักวิพากษ์วิจารณ์สื่อมาตลอดว่าให้ภาพตนแค่ด้านเดียว แต่จริงๆแล้ว คนที่จำกัดให้เห็นเหรียญแค่ด้านเดียว  คือ คสช. เอง เพราะการปิดกั้นที่ คสช. เองทำไว้  ทำให้สื่อทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ตามจรรยาบรรณที่ควรจะเป็น  และเราจะเชื่อในคำมั่นสัญญาที่ คสช. ให้ไว้กับคนไทย และกับเวทีนานาชาติได้อย่างไร

ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่วันแรกที่มีการยึดอำนาจ กฎระเบียบมากมากมายทำให้ไม่มีพื้นที่การแสดงความคิดเห็นต่างๆ  ในสื่อมวลชน และตอนนี้ขยายรวมไปทั้งสื่อไทยและสื่อภาษาอังกฤษ สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ออนไลน์ ทั้งหมดถูกปิดกั้นกันอย่างเต็มที่  ตัวอย่างกรณี บางกอกโพสต์ ก็สืบเนื่องมาจากการเกรงจะเสียความสัมพันธ์อันดีกับ รัฐบาล คสช.    ถ้าไม่มีบรรยากาศความหวาดกลัวแบบนี้  ถ้าไม่กลัวจะถูกเชือด ไม่กลัวจะถูกเตือน ไม่มาร่วมงานกัน ก็คงไม่จำเป็นต้องปราม หรือ จนถึงขั้นย้ายบรรณาธิการ ไปอยู่ตำแหน่งที่ไม่มีบทบาทในการควบคุมข่าวต่อไป

นี่เป็นการเซนเซอร์ตัวเองของสื่อ ถามว่าเพราะอะไร เพราะกลัว จากพฤติกรรมของ คสช. ที่ทำมาตลอด 4 ปี การไล่เบี้ยส่วนที่คิดเห็นไปด้านตรงข้าม

...การเซนเซอร์ตัวเองของสื่อ ในช่วง 4 ปี คสช.  ที่เราเห็นมาตลอดคือ ท่าทีในการวิพากษ์วิจารณ์  เห็นได้จากประเด็นไหน คสช. บอกว่าเล่นได้ ประเด็นไหนเล่นไม่ได้  มีการเปลี่ยนตัวผู้ประกาศ ผู้ดำเนินรายการ หรืออย่างบางรายการก็เลี่ยงประเด็นจากวิเคราะห์การมือง  กลายเป็นรายการแนวไลฟ์สไตล์ไป หรือหนักข้อไปถึง เมื่อถูกถอดปลั๊ก ก็มีเงื่อนไขที่จะกลับมาออกอากาศอีกได้

เราไม่เห็นบรรยากาศแบบนี้มานานแล้ว  และเป็นระยะเวลายาวนาน ที่สื่อไทยถูกจำกัดการทำหน้าที่   ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นอักษร แล้วไม่ใช่แค่ตัวสื่อเองที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่การจะเชิญบุคคลภายนอกมาก็ไม่ได้

ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ย้ำว่าในมุมมองฐานะประชาชน ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ใช้สื่อเยอะ และเสพสื่อเยอะ  ถ้ามองย้อนไปคำสั่งแรกเลยที่เกิดขึ้น   คือคำสั่งปิดกั้นสื่อ ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 57  ที่กองทัพประกาศกฎอัยการศึก  วันนั้นผมเป็นคนแรกๆที่ได้รับผลกระทบ ไปให้สัมภาษณ์วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง  ซึ่งไม่ได้พูดถึงการเมืองในประเทศไทย แต่รายการก็ถูกเซนเซอร์ และสถานีก็ถูกปิด มีการเข้ามาแทรกแซงสื่อ หลังจากนั้นก็เข้มข้นกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว และอย่างที่บอก คุมทุกสื่อ นสพ. วิทยุ โทรทัศน์ โดนกันถ้วน ปิดกั้นกันไปหมด

...ถ้าในสถานการณ์ทั่วไป เราคงคาดหวังว่าสื่อไทย รวมถึงองค์กรวิชาชีพของสื่อ  จะลุกขึ้นออกมาสู้ตั้งแต่วันแรกที่คำสั่งออกมา ว่าเรายอมได้อย่างไร ให้สิทธิเสรีภาพสื่อถูกปิดกั้นมายาวนานมา 4 ปี  แล้วการเลือกตั้งกำลังจะเกิด บทบาทของสื่อยิ่งจำเป็น เพราะสื่อจะทำให้คนไทยตัดสินใจได้อย่างดี  โดยมีเหตุมีผล ข้อมูลครบถ้วน แต่ถ้าสื่อถูกชี้นำโดย คสช.  ข้อมูลก็จะออกมาไม่ครบถ้วน

“ที่ผ่านมาเรามักโทษประชาชนว่าเลือกคนแบบนี้มาได้อย่างไร แต่ตอนนี้ถ้าสื่อทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ สื่อก็จะมีส่วนที่จะถูก ตำหนิว่าสื่อ ทำให้คนไทยเหลือทางเลือกไม่มากนักในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น”

...แม้แต่เรื่องปลอกแขนสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็เป็นการคุกคามจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างมาก เราผ่านการขัดแย้งทางการเมืองมาหลายครั้ง ไม่เคยมีครั้งไหนชัดแจ้งมากขนาดนี้ เป็นการบีบสื่อให้เสนอภาพด้านเดียวคือภาพจากฝั่งรัฐ  ไหนบอกว่าสื่อควรนำเสนอภาพของทั้งสองด้าน แต่กลายเป็นการสั่งให้สื่อเสนอภาพของเหรียญเพียงด้านเดียว

“สุนัย”ยังได้กล่าวถึงบทบาทของหน่วยงานอย่าง”สำนักงานกสทช.”ว่าตอนนี้ กสทช. กลายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้น ในการคุกคามสื่อ แทนที่จะเป็นองค์กรที่กำกับดูแลตามหน้าที่ตัวเอง ไม่เลือกข้าง เลือกฝั่ง แต่กลายเป็นองค์กรที่ออกหน้าแทน คสช. ในการลงมือเชือดสื่อ ไม่ต่างจากการเป็น “นอมินี” ให้กับ คสช. ในการเชือดสื่อ

“ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย”มองว่า ในยุคคสช.ที่ผ่านมาแล้ว 4 ปี การทำงานของสื่อในตอนนี้ ยังสู้ไม่พอ แต่ยังไม่สายเกินไป ถ้าในวันพรุ่งนี้สื่อและองค์กรวิชาชีพต่างๆ จะลุกขึ้นสู้   ยังไม่สายเกินไป  โดยเฉพาะตอนนี้ที่สื่อมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนทั้งประเทศ จะต้องทำให้คนไทยรับรู้ข่าวสารรอบด้านมากที่สุด เพราะประเทศกำลังจะเข้าสู่ระยะเวลาที่ต้องเตรียมพร้อมในการเลือกตั้ง เพื่อกลับเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย สื่อต้องมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้หน้าต่างหรือโอกาสของประเทศไทยในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริง

สื่อต้องออกมาช่วยกัน ต้องประสานและร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรด้านสิทธิเสรีภาพ กลุ่มต่างๆ ประชาสังคม  ทำให้การลิดรอนสิทธิเหล่านี้สิ้นสุดลงทันที อยากเห็นประโยคนี้ ที่สื่อและองค์กรวิชาชีพจะบอกว่า เราจะไม่ยอม จะไม่ทนอีกต่อไป เพราะตอนนี้เราเห็นแล้วว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการถูกปิดปากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นกับทุกกลุ่มทุกสี จึงต้องเริ่มออกมาจากการพูดก่อน ถ้าเราไม่พอใจแต่เก็บไว้ในใจ สังคมก็ไม่รับรู้ และมันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร

กสม.กังวลสื่อเซนเซอร์ตัวเอง

ด้านมุมมอง-ความเห็นของ”อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มองว่าการทำงานของสื่อมวลชน ในรัฐบาล คสช. ต้องยอมรับว่าช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา  มีการจำกัดสิทธิการทำงานของสื่อมวลชนเกิดขึ้น  ทีวีบางช่องถูกระงับการออกอากาศถ้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยระบุว่ามีผลต่อความมั่นคง  ถ้าสื่อไม่มีเสรีภาพ จะทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารได้รอบด้าน    ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพสื่อและคุ้มครองเสรีภาพประชาชน แต่ก็ยังมีคำสั่ง คสช. ที่ออกมาแล้วทำให้สื่อต้องทำงานด้วยความระมัดระวังเช่นกัน

“การเซนเซอร์ตัวเองของสื่อเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก  เพราะสื่อต้องพยายามอยู่ให้ได้ เพราะตอนนี้ก็มีกลุ่มทุนเข้าไปร่วมดูแลในกิจการ ซึ่งนายทุนก็คงไม่อยากจะมีปัญหากับรับบาล นโยบายในการทำงานของสื่อจึงจำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพตัวเอง  ตรงนี้จริงๆ น่ากังวล  มันทำให้สื่อไม่เป็นอิสระเท่าที่ควร แต่สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำ คือรัฐธรรมนูญให้เสรีภาพของสื่อ

ประเทศไทยยังดีที่สื่อไม่ถูกคุกคามมากเหมือนบางประเทศ สิ่งที่อยากจะเห็นคือสื่อควรมีเสรีภาพ เพราะคนที่จะได้รับประโยชน์ที่สุด คือประชาชน ในการเข้าถึงข้อมูลได้vย่างรอบด้าน ซึ่งประชาชนก็มีวิจารณญาณในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรได้”

“อังคณา-กรรมการสิทธิฯ”ย้ำว่าสิ่งที่ประชาชนคาดหวังอย่างมาก คือการที่ได้เห็นสื่อนำเสนอเรื่องราวความเดือดร้อนของเขา กรณีที่เกิดผลกระทบในชุมชน หรือมีการละเมิดสิทธิ   เพื่อให้การเกิดแก้ปัญหา แต่สื่อบางสื่อก็กังวล เมื่อพยายามทำข่าวแล้ว แต่ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ หรือออกอากาศ

“การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นสิ่งที่สำคัญ มันไม่ควรจะเป็นข้อมูลของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรเป็นข้อมูลจากด้านของประชาชนด้วย ซึ่งก็จะกลับมาที่สิทธิเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน

การออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้น  ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ หลายๆประเทศก็มีการพูดถึง แต่อย่างที่บอก รัฐธรรมนูญ ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและของสื่อมวลชน  ในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และที่สำคัญการที่ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 19 ก็เน้นย้ำเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ  ซึ่งการนำเสนอข่าวของสื่อจำกัดได้ด้วยเหตุผลความมั่นคงของรัฐ แต่หากว่าไม่ได้ทำให้เกิดความไม่มั่นคงหรือความไม่สงบแล้ว สื่อก็ยังคงมีเสรีภาพอยู่”

..การปิดสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็เหมือนกับ กสทช. รับนโยบายจากรัฐบาล มีข้อจำกัดหลายๆเรื่อง เช่น ข้อมูล การออกมาวิพากษ์วิจารณ์อาจถูกกล่าวหาว่าข้อมูลเป็นเท็จ ทำให้ถูกลงโทษ แต่จริงๆแล้ว ถ้าเราให้สิทธิเสรีภาพกับสื่อ  รัฐบาลมีสื่อในมือมากอยู่แล้ว  สามารถใช้สื่อของรัฐชี้แจงข้อเท็จจริงได้อยู่แล้ว

“อังคณา-กรรมการสิทธิฯ”กล่าวตอนท้ายว่า การทำหน้าที่ของสื่อในอีกด้านหนึ่ง หากรัฐมองเป็นบวก มองการทำงานของสื่อให้เป็นกระจกเงาสะท้อนความคิดความเห็นจากประชาชน ถ้ารัฐใจกว้าง อาจจะได้มุมมองหรือทัศนะของประชาชนที่มีต่อรัฐ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐเอง ไม่อยากให้รัฐมองสื่อด้วยความหวาดระแวง และคิดว่าสื่อมวลชนหรือประชาชนที่เห็นต่างจะประสงค์ร้ายต่อรัฐบาล คนเราไม่มีใครหรอกที่จะคิดเหมือนกันหมด การคิดต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา

..สิ่งสำคัญที่สุด คือ สื่อเองก็ต้องทำหน้าที่บนความรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าเราจะไปวิพากษ์วิจารณ์ใครให้เสื่อมเสียหรือเกิดผลกระทบกับใคร   ถ้าสื่อไหนไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อยู่แล้ว  ผ่านองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นกรรมสิทธิมนุษยชน หรือศาล หรืออะไรก็แล้วแต่  อยากให้สมาคมสื่อทั้งหลายกำกับดูแลสื่อมวลชน ในการรักษาจรรณยาบรรณด้วยเช่นกัน มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีความรับผิดชอบ ถ้าเราทำได้ สื่อก็สามารถดูแลกันเองได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครไปกำกับควบคุม คนที่จะได้ประโยชน์ท้ายที่สุด คือประชาชน ...