สนช.หลับกลางสภาฯ ปัญหาการทำหน้าที่สื่อมวลชนจริงหรือ ?

Special Report

โดย กองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน

 

สนช.หลับกลางสภาฯ

ปัญหาการทำหน้าที่สื่อมวลชนจริงหรือ ?

 

ภาพสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) งีบหลับกลางห้องประชุมรัฐสภา ระหว่างการประชุมพิจารณางบประมาณ 3 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และร้อนแรง

ถึงขั้น บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคสช.  มีอารมณ์ ไล่ สนช.กลับไปนอนที่บ้าน พร้อมคาดโทษไม่ให้รับตำแหน่งใดๆ ต่อไปในอนาคต

ทว่าอีกด้าน สมชาย แสวงการ อดีตสื่อมวลชน ในฐานะ สนช. ลุกขึ้นอภิปราย ในห้องประชุมระบุว่าภาพดังกล่าวว่าเป็นการบิดเบือนโจมตีการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย

“สี่ปีที่ผ่านมาผมเห็นว่าสิ่งเดียวที่ไม่เคยปฏิรูปตัวเองเลยคือ สื่อมวลชน ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความบิดเบือน สร้างความขัดแย้งที่จริงมีไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นสื่อที่ดีกว่า 90เปอร์เซ็นต์” (สมชาย แสวงการ)

นำมาสู่คำถามที่ชวนคิด... สนช.หลับแต่สื่อผิด จริงหรือ ?

 

หน้าที่สื่อต้องเปิดเผยความจริง

ถ้าไม่ผิดชี้แจงได้

ในฐานะที่ทำหน้าที่ช่างภาพประจำรัฐสภา ถ่ายภาพห้องประชุมรัฐสภามานาน “ฉลาด จันทร์เดช อดีตประธานชมรมช่างภาพการเมือง” มองว่า การถ่ายภาพ ส.ส.หลับ เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ถูกต้อง เพราะการประชุมงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท มีเป้าหมายนำงบไปพัฒนาประเทศ แต่ถ้าจะหลับในสภาคุณสามารถไปหลับข้างนอก ซึ่งมีห้องรับรอง

 

“หากคุณป่วยก็ไปสามารถไปห้องพยาบาล แต่เมื่อข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ สื่อเขาก็มีมุมมองของเขา มันเป็นประเด็นไง งบประมาณขนาดนี้คุณมานั่งหลับ ไม่ใส่ใจ หรือสมัยก่อนตอนพวกเราทำงาน ส.ส.เปิดรูปโป๊ ในห้องประชุมสื่อก็มีหน้าที่ต้องสะท้อนภาพตรงนั้นออกไป”

 

ถามว่าล้ำเส้น หรือ ละเมิดสิทธิของ สนช. หรือไม่ “ฉลาด-อดีตช่างภาพอาวุโสประจำรัฐสภา หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง มองว่า  ไม่ใช่เรื่องล้ำเส้นเพราะอาชีพสื่อมวลชน ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ ถ้าไม่ผิดก็สามารถออกมาชี้แจงได้ การทำหน้าที่ของพวกเราคือการนำความจริงมาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้

“ส่วนคนที่บอกว่าการทำหน้าที่บิดเบือน ตรงนี้ไม่ใช่ข้อบิดเบือน หลักฐานมีทนโธ่ คุณหลับแบบเอาเป็นเอาตาย ขณะที่เขากำลังอภิปรายงบประมาณกัน ตรงนี้ไม่ได้มาชวนทะเลาะ แต่ถ้าดูหลักความจริง ต้องถือว่าการทำหน้าที่ของสื่อถูกต้องแล้ว  คุณควรจะไปปรับปรุงตัวเองไม่ใช่มาแก้ตัว ยิ่งคนที่เคยเป็นสื่อก็น่าจะเข้าใจการทำงานของพวกเรา ไม่ใช่จวกพวกเรา ต้องนึกถึงความถูกต้องต้องบ้าง”

ในฐานะช่างภาพที่ผ่านงานถ่ายรูปในห้องประชุมสภามาหลายรัฐบาล ฉลาด เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมามี ส.ส. หรือ ส.ว. หลับในห้องประชุมสภาฯ มาตลอด แต่ก็ไม่เคยมีใครออกมาต่อว่าการทำงานของสื่อมวลชน ทุกคนยอมรับสภาพตัวเองได้ เพราะจำนนต่อหลักฐาน

“ไม่ใช่เขาแค่ก้มแล้วมาเมกนั่งหลับ เขาจ้องดูกันมานานแล้ว สมัยก่อนช่วงการเมืองมีพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ต้องเกาะติดห้องประชุม ใครทำผิดพวกเราก็จับจ้อง เคยมีส.ส.เขียนหนังสือด่ากันพวกเรายังเคยซูมเข้าไปถ่ายเพราะเป็นการทำหน้าที่ของสื่อ”

...ครั้งนั้นเคยมีเหตุการณ์ ตอนที่ทำหน้าที่เป็นประธานชมช่างภาพการเมือง  มีอยู่เคสหนึ่ง ช่างภาพหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไปถ่ายรูป ส.ส. เปิดรูปโป๊ ในห้องประชุม ตอนประมาณ 2 ทุ่ม คนถูกถ่ายรูปตัวก็ให้คนมาประกบช่างภาพขอให้ลบรูปเป็นการคุกคาม พวกเราก็ยื่นเรื่องถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ขณะนั้น เขาก็ออกมาขอโทษ

..ครั้งนี้เขาก็ต้องยอมรับผิด ไม่ใช่เรื่องสื่อผิดพลาด คนที่ออกมาชี้แจงแทนก็อาจจะเข้าข้างหรือเอาใจใครหรือเปล่า มันก็เป็นคนละมุม เรื่องภาพ สนช.หลับ อาจจะไม่รุนแรง แต่เมื่อไปประกอบกับ ใต้ภาพการพิจารณางบประมาณ 3 ล้านล้านบาทเลยอาทำให้ดูแรง

“มันไม่ใช่เรื่องละเมิดสิทธิ ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะ สื่อเข้าไปดูรายงานได้เพื่อเอาความจริงมาเผยแพร่ สมาชิกเองก็ต้องปรับตัวเพราะไม่ใช่ครั้งแรกมีหลายเหตุการณ์ที่ปรากฏภาพส.ส.หลับ ต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เดี๋ยวนี้เทคโนโลยี ซูมเห็นหมดว่าทำอะไร เขียนอะไร ซึ่งห้องประชุมเป็นพื้นที่อีกพื้นที่ ที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏอย่าไปโทษสื่อ”

 

ถ้าไม่มองในทางเป็นปฏิปักษ์

การตรวจสอบนำไปสู่การพัฒนา


ไม่ต่างจากมุมมองของช่างภาพประสบการณ์สูง ปาล์ม -ภานุมาศ สงวนวงษ์ ช่างภาพ Thai News Pixที่ยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ถูกต้องของช่างภาพ ซึ่งปกติการถ่ายภาพห้องประชุม ต้องมีบัตรสื่อมวลชนสภาเพื่อไปทำข่าวชั้นลอยรายงานการทำหน้าที่ ส.ส. สนช. ซึ่งการหลับก็เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติหน้าที่ของเขา

“ที่ผ่านมาเราก็ทำแบบนี้มาตลอด คือมี ภาพส.ส.หลับมาก่อนแล้ว ถามว่าละเมิดสิทธิไหมก็มีเส้นบางๆ มันคือการปฏิบัติหน้าที่ของสนช.  เพราะฉะนั้น เราในฐานะช่างภาพ สื่อต้องตรวจสอบการทำงาน สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าทำไมเขาถึงหลับในการประชุม จะบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวแต่ก็อยู่ในพื้นที่การทำงานสามารถเสนอได้ว่าในการประชุมเกิดอะไรขึ้น สนช.อยู่ในห้องประชุมก็ต้องรู้ว่ามีสื่อจับจ้อง”

ภานุมาศ” อธิบายว่า การทำงานของ สื่อคือดูว่าสนช.ให้ความสำคัญกับการประชุมมากน้อยแค่ไหน สมัยก่อน ไม่ใช่แค่การหลับในห้องประชุม แต่มีการดูภาพโป๊ เสียบบัตรแทนกัน และอื่นๆ ทั้งหมดเป็นการทำงานของสื่อมวลชน  ซึ่งบางกรณีการใช้ภาพก็สุ่มเสี่ยงกับการก้าวล่วงเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งช่างภาพ กองบรรณาธิการ จะต้องพิจารณาความเหมาะสม แต่กรณีนี้ไม่ถือว่าละเมิดสิทธิ เป็นพื้นที่สาธารณสื่อมีหน้าที่ตรวจสอบ

..การทำหน้าที่ของสื่อถ้าไม่มองในมุมลบ หรือเป็นปฏิปักษ์ มองว่าเป็นการตรวจสอบการทำหน้าที่ ย่อมเป็นมุมดีที่จะได้สะท้อนการตรวจสอบการทำหน้าที่ นำไปสู่การปรับปรุง ระมัดระวังตัว อันจะดีกว่าการออกมาติหนิสื่อ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์

..หลักการทำงานของช่างภาพนั้นไม่ได้เน้นจับจ้องไปที่จะจับผิดหากคนหลับ แต่ก็คล้ายกับนักข่าวคือมุ่งไปที่ประเด็นหลักก่อน ว่านายกรัฐมนตรี  แถลงอะไร ภาพรวมเป็นอย่างไร มีปรากฏการณ์อะไร คนอภิปรายใครโดดเด่น ดูสีหน้า แอคขั่น หรือ การประชุมที่มีลักษณะยาวๆ ผู้ประชุมอ่อนล้า ก็ไปเก็บบรรยากาศ หลายครั้งไม่ใช่แค่หลับ บางทีมีเอาเก้าอี้มาต่อนอนก็มี หรือง่วงๆ ไปยืนคุยกันเสียงดัง

“บางทีก็เป็นภาพบรรยากาศกว้างๆ มีคนอภิปรายแต่ไม่มีคนฟัง เพราะเหนื่อยล้าออกไปข้างนอก  สื่อมีหน้าที่รายงาน ส่วนตัวผมว่าเป็นเรื่องมุมมอง ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องปกติ ตรวจสอบว่า ทำไมหลับ ถ้าแถลงว่าหลับเพราะป่วย โดยไม่มาตั้งแง่โจมตีสื่อ หรือมองสื่อเป็นศัตรูโทนก็จะออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง ตอนสื่อนำเสนอ ก็เป็นปรากฏการณ์ไม่ได้โจมตีเป็นเฉพาะตัว แต่เนื่องจากภาพที่ออกไปในโซเชียลมีเดียทำให้กระจัดกระจาย”

ถามถึงว่าหากมี สนช.หลับในห้องประชุม แล้วสื่อไม่ถ่ายรูปมานำเสนอจะเป็นการละเว้นปฏิบัติ หรือ บกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่ “ภานุมาศ-ปาล์ม” บอกว่า ในมุมช่างภาพ สิ่งที่เรามองเป็นหลักคือคือนายกฯอยู่แล้ว ส่วนบรรยากาศเล็กๆ น้อย ขึ้นอยู่กับการช่างสังเกตของแต่ละคน  ภาพหลับเหมือนประเด็นข่าวเล็กๆ ที่จะใส่เข้าไปในบรรยากาศ เป็นสีสันการประชุม ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องหลับในที่ประชุมย่อมไม่ใหญ่เท่ากับสิ่งที่นายกฯแถลงเรื่องงบอยู่แล้ว แต่ภาพสนช.ที่หลับในการประชุมพิจารณางบ 3 ล้านล้านบาท ทำให้ภาพดูใหญ่ มีความย้อนแย้งสูง  มันเลยขยายไปสู่สังคมวงกว้าง

“ในแง่คุณค่าข่าวมันคือมุมการตรวสอบการทำงาน การพิจารณางบประมาณก้อนใหญ่ สังคมคาดหวังว่าจะได้รับความสนใจ กระตือรือร้นจาก สนช. ตรวจสอบว่าไปใช้ถูกต้องอย่างไร ถูกตั้งคำถามว่าสนช.ใส่ใจกับมันมากแค่ไหน”

ในฐานะที่ทำหน้าที่ช่างภาพติดตามถ่ายห้องประชุมมานานกว่า 15 ปี “ภานุมาศ” บอกว่า ไม่เคยถูกต่อว่าหรือมีแรงกดดันในการทำหน้าที่ ส่วนหนึ่งเพราะหนังสือพิมพ์กว่าจะตีพิมพ์ก็นาน และสังคมออนไลน์ยังไม่แพร่หลายขนาดนี้  แม้แต่ภาพที่รุนแรงกว่านี้เช่น เสียบบัตรแทนกันหรือรูปโป๊ ที่หากผิดกฎหมายก็ต้องนำไปสู่การดำเนินคดี ต่อไป

“สุดท้ายสุดท้ายผลกระทบถึงตัวช่างภาพอาจมีเล็กน้อย อย่างบางคนที่ต้องทำงานถ่ายภาพที่รัฐสภาเป็นประจำ มีความคุ้นเคยเจ้าหน้าที่ ส.ส. สนช. ก็อาจกังวลว่าจะกระทบกับการทำหน้าที่หรือไม่ แต่ภาพรวมไม่มีสื่อทำหน้าที่ของสื่อ”

ภานุมาศ กล่าวย้ำว่า การทำหน้าที่ของสื่อถ้าไม่มองในมุมลบ หรือเป็นปฏิปักษ์ มองว่าเป็นการตรวจสอบการทำหน้าที่ ย่อมเป็นมุมดีที่จะได้สะท้อนการตรวจสอบการทำหน้าที่ นำไปสู่การปรับปรุง ระมัดระวังตัว อันจะดีกว่าการออกมาติหนิสื่อ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์

 

ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเอง

ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม

อีกด้านหนึ่งในมุมมองของ “สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล บรรณาธิการฝ่ายภาพ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์” เห็นว่าภาพงีบหลับในที่ประชุมรัฐสภา มีมาทุกยุคทุกสมัย  ซึ่งช่างภาพที่อยู่รัฐสภาหรือทำเนียบรัฐบาล มีหน้าที่ต้องตรวจสอบคนที่เป็นตัวแทนของพวกเราในการเข้าไปทำงาน จะอ้างว่าไม่ได้มาจาการเลือกของประชาชนก็ไม่ได้ เพราะเป็นภาษีของพวกเรา

 

“การทำหน้าที่ต้องพร้อมทั้งกายใจ ถามว่าความยืดเยื้อก็ไม่เหมือนเมื่อก่อนอภิปรายงบกัน 5-6วัน เพราะแค่วันเดียว หากไม่พร้อมก็ควรลาแต่แรก ซึ่งการทำหน้าที่ของช่างภาพเป็นการทำถูกต้อง ส่วนเรื่องการใช้รูปหรือไม่เป็นเรื่องที่ที่ประชุมกองบรรณาธิการจะตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้”

สาโรช อธิบายว่า ภาพดังกล่าวถูกเสนอเข้าที่ประชุมข่าว ซึ่งเห็นว่ายังไม่ใช้ ณ เวลานั้น เป็นการตัดสินใจของที่ประชุม  ถามว่ามีคุณค่าที่จะต้องใช้ไหม ก็ขึ้นกับบริบทของสถานการณ์ ส่วนหนึ่งความสำคัญของประเด็น เรามองว่าอยู่ที่การใช้งบประมาณมากกว่ารายละเอียดปลีกย่อย ถามว่ามีภาพเหตุการณ์ไหม เรามี หน้าหนึ่งเราใช้รูปนายกฯ อภิปรายงบ ซึ่งครอบคลุมประเด็นการนำเสนอ ส่วนรูปดังกล่าวเราก็ใช้ทางออนไลน์ ซึ่งเรามีช่องทางหลายช่องทางในการนำเสนอ

ถามว่ารูป สนช. หลับ กับ ส.ส. หลับแตกต่างกันหรือไม่  “สาโรช-บรรณาธิการฝ่ายภาพ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์” บอกว่า  ไม่ต่างกัน  เมื่อก่อนรูปพวกนี้ถูกใช้เป็นประจำ  เป็นเรื่องพฤติกรรมแบบนี้ เราก็ทำหน้าที่ของเราไป จนมีการเรียกร้องให้พิจารณากลับไปมุมสิทธิส่วนบุคคล มุมของเขาว่าร่างกายไม่พร้อม หรือมีความจำเป็นอะไรอย่างไร ที่จะต้องมาช่างใจ

“บางทีเขาอาจจะงีบสักพักหนึ่ง อาจจะไม่ได้ตั้งใจ มันก็เคยมีการเอาเรื่องนี้มาคุยกัน ดุความจำเป็นของเขาก่อน ที่ต้องทำอย่างนี้หรือไม่มันต้องคิดเยอะกว่าภาพที่เราเห็น แต่ก่อนหน้านั้น เคยมีการเล่นกันมาตลอด ส.ส. หลับเป็นสีสัน ช่วงหลัง เราคำนึงเรื่องพวกนี้ มากขึ้น ต่างจากความผิดชัดเจน เช่นดูหนังโป๊ในห้องประชุม หรือเล่นอะไรไม่ถูกต้องชัดเจน”

..ในมุมเรื่องสิทธิส่วนบุคคลนั้นก็มีความก้ำกึ่งอยู่ถ้าอยู่จุดนั้น ต้องมีระดับของมัน ถ้าวัดกันแบบผิดไม่ผิด ก็ยังเทาๆ นะ อยู่ที่วิจารณญาณ ประกบด้วย จรรยาบรรณ และจริยธรรมที่เรามีว่าเราควรใช้หรือไม่ควรใช้ มันก็ขัดแย้งกับบุคคลสาธารณะ สถานที่ตรงนั้นเป็นสถานที่โอเพ่น ตรงนี้เป็นเส้นบางๆ ระหว่างกัน ถามว่าผิดเต็มร้อยไหมก็ไม่ผิด ถูกเต็มร้อยไหมก็ไม่

“สาโรช”ย้ำว่า เรื่องงีบหลับ สังคมเราต้องการเข้าใจมากกว่าภาพที่เห็น  สมมติ สุขภาพไม่ดี จำเป็นต้องมาร่วมประชุมเพื่อโหวตให้ได้ตามเป้าคะแนนที่ต้องการ หรืออย่างไร เราต้องมองมุมนั้น เขาต้องชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น จากที่เคยถ่ายภาพ ส.ส.หลับในห้องประชุมก็ไม่เคยถูกต่อว่าหรือโจมตีกลับการทำหน้าที่ของสื่อ ในมุมสื่อเราถือว่าทำถูกต้องสมบูรณ์ในการตรวจสอบการทำงาน

“แต่ในมุมมองผู้ที่ถูกตรวจสอบแม้แต่ คนที่เป็นสื่อเองบางครั้ง ก็ไม่เคยเข้าใจ ถ้ามีภาพลักษณ์ตัวเองไม่ดี เขาไก็ไม่ชอบ ไม่ว่าสื่อไหนก็ตามถ้าภาพตัวเอง หรือพรรคพวกทตัวเองทำผิดเมื่อไหร่ ถูกตรวจสอบเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครพอใจเป็นสามัญสำนึกของคน ซึ่งหากมองว่าเป็นการทำหน้าที่ของสื่อก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่หากมองว่าเป็นเรื่องการปกป้องพวกพ้องก็อาจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเกิดแรงกดดันในการทำหน้าที่ของช่างภาพ ต่อไปหรือไม่ “สาโรช” ให้ความเห็นว่า ทุกคนก็ทำหน้าที่ไป ช่างภาพก็ทำหน้าท่ีของเขาเต็มที่เรามีหน้าที่ดูแล ตัดสินใจ ใช้ไม่ใช้ก็เป็นหน้าที่ กอง บก. ทุกคนทำหน้าที่ปกติ ไม่ใช่คิดว่ายุครัฐบาลรรัฐประหารจะไม่ทำ ไม่ว่ายุคไหนเราก็ทำ

“ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองไม่ว่ายุคไหนก็ตาม เราทำหน้าที่เรา เขาทำหน้าที่เขา หากเขาบกพร่องในหน้าที่เขา เรามีหน้าที่ตวจสอบ  เขาก็ต้องยอมรับ  แต่ถ้าเรามีหน้าที่ บกพร่องในหน้าที่เขาจะตรวจสอบเราเราก็ต้องยอมรับ เราต้องยอมรับในหน้าที่ของกันและกันเท่านั้น” สาโรช กล่าวย้ำ

เป็นเรื่องส่วนบุคคล

แต่สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้ชี้แจง

สำหรับมุมมองจากฝั่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์” ที่ทำงานอยู่ในสภามายาวนาน มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า สื่อก็ทำหน้าที่ของสื่อ ส่วนตัวทุกครั้งที่เห็นภาพแบบนี้ก็เฉยๆ เพราะเห็นมาทุกยุคเป็นเรื่องส่วนบุคคล การจะไปออกรับแทนก็ลำบาก เพราะไม่ใช่ตัวเขา

“ผมก็เคยง่วง ไม่ใช่ไม่เคยง่วง เราก็เดินออกมาล้างหน้า กินกาแฟ เข้าห้องน้ำ แล้วกลับเข้าไปใหม่ แต่ละคนก็มีมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่เรื่องเผลอสัปงกก็เคยมีบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ครั้งนี้เป็นประเด็นใหญ่โต คงเป็นเรื่องการตอบโต้กัน ถ้านายสมชาย แสวงการ ไม่ลุกขึ้นพูดก็คงจบไปแล้ว ทุกครั้งสมัยนักกการเมืองหลับ ไม่มีการตอบโต้คนก็เลยเฉย ทุกยุคก็เป็นอย่างนั้น”

ถามว่าการทำงานของสื่อล้ำเส้น บิดเบือนหรือเกินกว่าเหตุหรือไม่ “ครูหยุย-สนช.” กล่าวยืนยันว่า “ไม่”เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของสื่อ ซึ่งทำมาตลอด

“ผมยังเคยโดนก็ไมได้ว่าอะไร ให้เวลาพิสูจน์ข้อเท็จจริง เราก็อธิบายเชื่อไม่เชื่อว่าไป เราอธิบายก็เป็นเรื่องของเรา ถ้าเสียหายก็ฟ้อง เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเข้าใจผิดก็อธิบาย เป็นบุคคลสาธารณะหนีไม่พ้นท่ีจะต้องมีคนมอง”

ครูหยุย ย้ำว่า เพียงแต่ต้องเป็นภาพปัจจุบัน ที่ผ่านมาหลายครั้งมีการไปนำภาพหนึ่งมาอธิบายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสื่อก็ต้องรับไปพิจารณากันเอง หรือกรณีนี้ มีคนถ่ายภาพนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสนช. ที่ท่านตาบอดทั้งสองข้างไปลงเว็บไซต์หนึ่ง ประชาชนก็เข้าไปคอมเมนต์บอกว่าท่านเป็นคนตาบอด แต่ก็เงียบไป  บางทีอะไรพลาดเราต้องขอโทษ บางทีปะปนไปหมด ท่านก็เสียใจ ก้มหน้าก้มตาทำงาน อภิปรายเพิ่งเสร็จหน้านิ่วคิ้วขมวด  เขาก็เสียใจ

“สรุปสั้นๆ เป็นเรื่องส่วนบุคคล เจ้าตัวต้องไปชี้แจงเอง การไปตอบโต้ก็เหมือนไปขยายเรื่องให้ใหญ่ขึ้นไปอีก แม้จะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งก็ไม่เกี่ยว ต้องชี้แจง ส่วนจะเชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่ห้ามกันไม่ได้ แต่สื่อต้องช่วยลงคำธิบายให้ด้วย เป็นการให้สิทธิเขาอธิบาย หรือถามเขาแล้วเขาไม่มีอะไรชี้แจงก็ว่ากันไป”วัลลภ-สนช. กล่าวในตอนท้าย

....

ภาพประกอบ

-วัลลภ ตังคณานุรักษ์จากเฟสบุ๊ก วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์

-ภานุมาศ สงวนวงษ์ ช่างภาพ Thai News Pix จากเฟสบุ๊ก Palm Panumas

-จากเฟสบุ๊ก วัลลภ ...โดย มติชนออนไลน์