จุฬาฯถอดปรากฎการณ์ถ้ำหลวงเสนอทางรอด -หน้าที่สื่อไทย-รู้จักข้อมูล

จุฬาฯถอดปรากฎการณ์ถ้ำหลวงเสนอทางรอด -หน้าที่สื่อไทย-รู้จักข้อมูล


“ปรากฎการณ์ถ้ำหลวง” กลายเป็นประเด็นร้อนที่ไม่ใช่เพียงกลายเป็นข่าวใหญ่ของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่สะท้อนในหลากมุมมอง  หลายความคิดเห็น และกระแสทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่14เรื่อง“วิเคราะห์ปรากฏการณ์ถ้ำหลวง จากหลากมิติ” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้จากนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ถอดบทเรียนจากการช่วยชีวิตผู้ที่ติดอยู่ใน ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทั้ง 13ชีวิต

สู่ขั้นตอนตอบสนองต่อภัยพิบัติ

นายสมบัติ อยู่เมือง    ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย(Gisthai) กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาระดับโลก เพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก และไม่ค่อยมีเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาในเรื่องของการดำเนินการ จะเป็นการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลความจริง
ซึ่งในการดำเนินการต้องมีเรื่องขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง หลักการและแนวทางในการสร้างระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยที่เหมาะสมกับประเภทของภัยพิบัติธรรมชาติดังกล่าวที่เกิดขึ้น และการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับลักษณะรูปแบบและผลกระทบกับประเภทของภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยขั้นตอนการบริหารจัดการพิบัติภันธรรมชาติ ต้องมีการประเมินผลกระทบ การช่วยเหลือและตอบสนอง การฟื้นฟู การซ่อมแซม การเตรียมความพร้อม การลดความรุนแรง การคาดการณ์และเตือนภัย และการเกิดภัยพิบัติ

“ตอนนี้เข้าสู่การตอบสนองต่อภัยพิบัติ ประกอบด้วย การจัดตั้งกลไกทางด้านสถาบันในการตอบสนองและปรับปรุงทักษะในการค้นหา กู้ภัยและปฎิบัติการซ่อมแซม ส่วนหลังจากนี้จะเป็นการฟื้นฟู บูรณาการลดความเสี่ยงและการทำแผนที่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีเพียงแผนที่หน้าถ้ำ แต่ยังไม่มีแบบจำลองรายละเอียดของแต่ละถ้ำที่จัดเจน จึงต้องมีการศึกษาวิจัยทั้งการสำรวจ และนำไปสู่การวางแผนต่างๆ  ต้องมีข้อมูลที่จำเป็นต่อการลดความสูญเสียจากธรณีพิบัติภัย การหลีกเลี่ยง  การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน การออกแบบทางวิศวกรรม การกระจายตัวของความสูญเสีย ซึ่งทุกถ้ำ ทุกพื้นที่ที่มีน้ำท่วม พื้นที่ที่มีความเสี่ยง ต้องทำทุกขั้นตอนเหล่านี้  และต้องมีการจัดทำแผนที่ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการอย่างไรก็ตาม ขณะที่ตอนนี้ทุกมหาวิทยาลัยช่วยกันทำแผนที่ถ้ำหลวงอยู่” นายสมบัติกล่าว

ออฟชั่น พาทีมหมูป่าฯ ออกจากถ้ำ

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ได้มีแผนในการช่วยเหลือเด็กและโค้ชออกมาจากถ้ำ ทั้งในกรณีที่น้ำลดหรือน้ำไม่ลด ซึ่งต้องประเมินไปตามสถานการณ์ ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งกรณีที่น้ำไม่ลด และเสี่ยงที่จะอยู่ต่อในพื้นที่ตอนนี้ เพราะอาจมีน้ำมาถึง ดังนั้น ตามแผนที่ของนายมาร์ติน เอลลิส ผู้เขียนแผนที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ระบุว่ามีพื้นที่โล่งที่มีอากาศให้เด็กและโค้ช รวมถึงทีมที่เข้าไปสามารถอยู่ได้ ดังนั้น หากมีการเดินต่อไป มีพื้นที่ว่างให้อยู่ได้ มีอากาศ มีอาหาร มีคนอยู่ด้วยและมีกิจกรรมให้ทำ เช่น มีพื้นที่ว่างให้เล่นฟุตบอล เป็นต้น เชื่อว่าเด็กสามารถอยู่ภายในถ้ำต่อไปได้ หรือ ถ้าน้ำไม่ลง ก็มีการสูบน้ำต่อไปเรื่อยๆ

นอกจากนั้น การหาทางเข้าอื่นๆ เช่น โพรง อุโมงค์ เหนือถ้ำ หรือรอยแตก ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติดีกว่าเจาะ  ส่วนข้อเสนอของการให้เจาะถ้ำนั้น ต้องหาพื้นที่ชัดเจน และแม่นยำ ต้องมีการกำหนดขอบเขต มีเทคนิค  มีเครื่องมือ เพราะการจะเจาะให้ตรงจุดนั้นเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง  อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวภาวนาให้น้ำลงมากที่สุด เพื่อให้เด็กออกมาให้ได้
"ขณะนี้การช่วยเหลือต้องสู้กับสถานการณ์ และเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ดังนั้น ต้องให้กำลังใจผู้ว่าราชการ และทุกทีมที่เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งทุกคนได้ทำอย่างเต็มที่"  นายสมบัติ กล่าว

ถอดบทเรียนสำคัญเหตุการณ์นี้

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ควรประเทศไทยควรจะมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้าง นายสมบัติ กล่าวว่า ระบบการจัดการจากนี้ไป ประเทศไทยต้องมีการสำรวจถ้ำ ทั้ง 140 กว่าแห่ง ให้ก่อนฤดูกาลที่จะเกิดปัญหา ที่ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นการเตือน และป้องกันไม่ให้คนเข้าไปในพื้นที่ หรือมีโอกาสเสี่ยงที่เข้าไป ขั้นตอนที่เกิดวิกฤต ขณะนี้รู้ถึงขั้นตอน การดำเนินการต่างๆ อยู่แล้ว

ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญว่าต้องดำเนินการอย่างไร เพราะกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเคสที่ยากที่สุด หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ กรมอุทยานสัตวป่าฯ กรมบาดาล และหน่วยงานการศึกษา ต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหา และจัดการองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้เป็นระบบ โดยนำความรู้จากสากลมาเป็นต้นแบบ

สำหรับระยะเวลาในการเตือนภัยสำหรับพิบัติภัยประเภทต่างๆ ได้แก่ พายุ มีระยะเวลา 1-2 วัน ,พายุโซนร้อน 2-4 วัน ,น้ำท่วม ชั่วโมง-เดือน, ดินถล่ม ตะกอนไหลถล่มและน้ำปนตะกอนป่า นาที -ชั่วโมง, คลื่นยักษ์ 1-2 ชั่วโมง  ,แผ่นดินไหว  ซึ่งห้ามแผ่นดินไหวไม่ได้ ไม่สามารถเปิดระยะเวลาได้ และภูเขาไฟระเบิด วัน-สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จำเป็นต้องมีการยกระดับความรู้ของคนไทย นักวิชาการไทย  ช่วยบริหารจัดการถ้ำแต่ละแห่งให้ดีขึ้น  ทุกอย่างต้องชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของพื้นที่ ฤดูกาล ต่างๆ เป็นต้น

จี้สื่อไทยทบทวนหน้าที่ตนเอง

นางพิจิตรา สึคาโมโต้    หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สำหรับข่าวถ้ำหลวง เป็นข่าวร้อนที่พยายามเกาะสถานการณ์ ว่าเด็กหายไป และการเข้าไปติดตามสถานการณ์ต่างๆ จนกระทั่งพบเด็ก ซึ่งจากการวิเคราะห์ ทีมหมู่ป่า ติดถ้ำหลวง 24มิ.ย.-6 ก.ค. ข้อความรวม 559,810 ข้อความ Engagement รวม 165 ล้านกระแสสูงสุดเมื่อวันที่ 2-3 ก.ค. คือวันที่ค้นพบทีมหมูป่าทั้ง 13 คน และ ทวิตเตอร์ มีจำนวนข้อมูลสูงสุด 266,875 ข้อความ และตามมาด้วยเฟตบุ๊ค  คือ 181,299 ข้อความ และถ้าดูในส่วนของเว็บข่าว ทำการวิเคราะห์ต่างๆ พบว่ามีข้อมูล 7,800 ข้อความโดยข่าวที่ได้การแชร์ในเฟสบุ๊คมากที่สุด คือ การเสียสละของโค้ช ข่าวพระครูบาบุญชุ่ม เด็กเขียนพื้นที่ละเอียด  ฝรั่งที่เข้าไปช่วยชีวิต  การพบตัวเด็ก และข่าวดีคนไทยมีน้ำใจ

สังคมไทยว่าแสวงหาฮีโร่

“สังคมเป็นอย่างไรสื่อเป็นอย่างนั้น และสื่อเป็นอย่างไรสังคมเป็นอย่างนั้น  โดยจากการวิเคราะห์การนำเสนอข่าวของสื่อไทย สะท้อนให้เห็นถึงสังคมไทยว่าแสวงหาฮีโร่  ซึ่งแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในตนเองของคน , การหาแพะ หรือการหาคนผิด, ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์  และความมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งส่วนตัว มีคำถามว่า สื่อจะเป็นกระจกที่สะท้อนสังคม หรือเป็นตะเกียงที่ส่องทางให้แก่สังคม ทั้งที่ในช่วงวิกฤต สื่อต้องทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจแก่สังคม ไม่ใช่เป็นเพียงการเล่าเรื่อง เพราะขณะนี้ทั่วโลกจับตาเรื่องดังกล่าวอยู่ ควรสร้างวิกฤตให้เหนือวิกฤต” นางพิจิตรา  กล่าว

นอกจากนั้น ขณะนี้ข่าวนี้เป็นข่าวดังระดับโลก ทั่วโลกช่วยกันจับตามอง และให้กำลังใจคนที่ปฎิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกันแสดงให้เห็นว่าคนทั่วโลก อยากรู้ข่าว กระหายข่าว และต้องการข่าวสารรอบด้าน  ดังนั้น  การนำเสนอข่าวของสื่อไทย ไม่จำเป็นต้องด่วน และเร็วที่สุด

แนะถอด4 บทเรียนสำคัญ

นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถถอดบทเรียนได้ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.เรื่องความเชื่อของสังคมไทย โดยเฉพาะในเรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งถ้าไสยศาสตร์ หรือร่างทรงมาให้กำลังใจก็จะทำให้ทุกคนรู้สึกดี แต่ในความจริงร่างทรงเข้ามาในพื้นที่และมาพูดจาว่าเด็กแย่ ก็จะเกิดผลเสีย 

2.การเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี ขณะนี้ทุกคนนำเสนอข่าวโดยรอเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา และก่อนที่จะนำเสนอข่าวต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจน ไม่งั้นจะเกิดผลกระทบ เช่น เรื่องมีนำเสนอข่าว ดาวเทียมบนฟ้าที่ช่วยค้นหาเด็กในพื้นที่ลึกๆ ได้ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีเทคโนโลยีนี้ โดยเทคโนโลยีที่ดี น่าเชื่อถือ และสำคัญมาที่สุด คือเทคโนโลยีพญานาค หรือเครื่องสูบน้ำ อย่าคาดหวังกับเทคโนโลยีไฮเทค  ควรวางแผนในสิ่งที่มีอยู่และใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
3.การให้ข้อมูลในการช่วยเหลือเด็ก ซึ่งการนำเสนอข่าวของสื่อไทย ควรที่จะต้องนำเสนอในเรื่องของการช่วยเหลือเด็กที่ถูกต้อง เพราะหลังจากที่ทุกคนรู้ว่าพบเด็ก ก็พร้อมที่จะส่งอาหารไปให้ ทั้งที่ร่างกายของคนเรา หากขาดสารอาหาร 4-5 วัน การจะให้อาหารปกติ ไม่สามารถรับประทานได้ เพราะอาจจะทำให้เสียชีวิตได้

และ4.การให้ข้อมูลในการเข้าถ้ำ ซึ่งขณะนี้มีการแชร์ป้ายหน้าถ้ำ มีการกำหนดชัดเจนว่าห้ามเข้า แต่เด็กกลับไปเข้าไปจนทำให้หลายคนกล่าวว่าเด็กจะเข้าไปทำไมทั้งที่มีป้ายห้ามเข้า แต่ในความเป็นจริง ป้ายดังกล่าวที่แชร์กันในโซเซียล เป็นป้ายใหม่ที่ทำขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ โดยป้ายเดิมนั้นเล็ก และมีการห้ามเข้าเดือนก.ค.-พ.ย. ซึ่งช่วงที่เด็กเข้าไปก่อนที่ห้ามเข้า ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้ เป็นนักท่องเที่ยวผู้ประสบภัย ไม่ใช่เป็นเด็กที่เขาห้ามแล้วยังเข้าไปอีก ดังนั้นข้อมูลที่นำมาแจ้งเป็นข้อมูลเก่าที่ไม่เคยศึกษาถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป