เหตุเกิดที่ถ้ำหลวง

 

เหตุเกิดที่ถ้ำหลวง บทเรียนครั้งสำคัญของนักข่าว

 

โมเดลใหม่ น่าศึกษา
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยละสร้างสรรค์ ร่วมกับองค์กรสื่อ เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดงานเสวนาการถอดบทเรียนการทำข่าวถ้ำหลวง

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอุนกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า มีอยู่ 3 เรื่องที่สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามจากสังคมและผู้บริโภคต่อการทำหน้าที่รายงานข่าวที่ถ้ำหลวง คือ 1.การรายงานข่าวเป็นการล้ำเส้นหรือไม่  2.การละเมิดจริยธรรมของสื่อมวลชน และ 3.ความเป็นมืออาชีพของสื่อไทยว่ามีฝีมือถึงพอหรือไม่ และถูกเปรียบเทียบกับการทำงานของสื่อต่างประเทศ

สุภิญญา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและทำให้เห็นว่ารูปแบบการจัดการใหม่ครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คือ โมเดลการจัดโซนนิ่งสำหรับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการแยกระหว่างนักข่าวกับพื้นที่เกิดเหตุ โดยที่ผ่านมาเราเห็นเหตุการณ์ละเมิดของนักข่าวมักจะเกิดขึ้นในพื้นที่เกิดเหตุแทบทั้งสิ้น ทั้งพื้นที่ก่อเหตุอาชญากรรม อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ อีกพื้นที่คือโรงพยาบาล เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนเยอะมากเกี่ยวกับการถ่ายภาพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ เหยื่อที่เป็นเด็กเยาวชน หรือแม้แต่คนที่กำลังจะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย และสังคมมีคำถามตามมาตลอดว่า ทำไมถึงไม่กั้นสื่อมวลชนออกจากที่เกิดเหตุ

“เหตุการณ์จัดโซนนิ่งสื่อฯ ที่ถ้ำหลวงก็ถือเป็นครั้งแรก ทำให้เราไม่เห็นภาพว่าสื่อไปละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือทำข่าวไปกระทบกับความเป็นส่วนตัว กระทบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และนักข่าวเองก็เริ่มเข้าใจแม้ช่วงแรกจะมีการบ่นมาบ้างว่าทำงานลำบากก็ตาม แต่ผู้บริโภคมองว่าเป็นมาตรการใหม่ที่ดีอย่างมาก ที่สำคัญคือหน่วยงานอื่นๆ น่าจะนำไปใช้เป็นแบบอย่างได้ เพราะจะได้ไม่มีปัญหาละเมิดสิทธิกันตามมา”

สุภิญญา กล่าวว่า อีกโมเดลที่เกิดขึ้นคือการรายงานด้วยข้อความสั้นผ่านทวิตเตอร์ ซึ่งได้ผลอย่างมากในแง่การรับสารของผู้บริโภค เพราะความเร็วกระชับ อย่างเห็นเว็บไซต์ MTHAI ที่เข้ามารายงานเหตุการณ์ถ้ำหลวงผ่านทวิตเตอร์ ก็ได้รับการติดตามอย่างล้นหลามจากผู้บริโภค สื่อกระแสหลักต้องหันมาสนใจกับช่องทางนี้ เพราะไม่จำเป็นจะต้องไลฟ์สดตลอดเวลา แต่ข้อความสั้นๆ ที่แม่นยำก็ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคได้เช่นกัน

เธอ กล่าวว่า อีกเรื่องที่ต้องศึกษา คือการที่สื่อมวลชนจากต่างประเทศเข้ามารายงานข่าวนี้อย่างคับคั่ง ทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างสื่อไทยกับสื่อนอก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ต้องการให้เกิดความน้อยใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจจะศึกษาการทำงาน

“นี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคสะท้อน สื่อก็ต้องมาดูตัวเองว่าจะปรับตัวได้อย่างไร เช่นที่ถ้ำหลวง หากเราเอามาเป็นบทเรียน ทั้งการให้ข้อมูล การเสนอข้อมูล บทบาทสื่อจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เร็วได้แต่ต้องแม่นยำ”

สุภิญญา ย้ำอีกว่า การล้ำเส้นที่พบเจออย่างเห็นได้ชัด คือการบินโดรนที่อาจกระทบกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้เข้าใจว่าเกิดความสับสนของสื่อเองว่าทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วกสทช.ควรจะเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐกับสื่อโทรทัศน์ เพราะสื่อโทรทัศน์ถูกเพ่งเล็งอย่างมากกับเหตุการณ์ถ้ำหลวง กสทช.ต้องทำงานเชิงรุก เพื่อช่วยให้สื่อมวลชนทำอย่างถูกต้อง อยู่ในกรอบกติกา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามมอง คือ จากนี้ 13 ชีวิตของทีมหมูป่าจะออกจากโรงพยาบาลกลับไปใช้ชีวิตปกติ นักข่าวก็ต้องเข้าใจว่าทั้งหมดคือเยาวชน แม้แต่โค้ชเอกที่อายุ 25 ก็ยังถือว่าเป็นเยาวชน ดังนั้นจะต้องเข้าใจว่าการทำข่าวกับเยาวชนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก การเจาะข่าวจากนี้คาดว่าจะลงไปในระดับครอบครัว ซึ่งภาพเนื้อหาที่ดราม่าเราไม่อยากให้เกิดขึ้น และจะเป็นอีกครั้งในการพิสูจน์จริยธรรมของสื่อ

 

5 ข้อดี 5 ข้อที่พัง

อีกหนึ่งความเห็นจาก มุมมองของผู้ที่ติดตามการทำงานของสื่อ อย่าง วรัชญ์ ครุจิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสื่อสารมวลชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ความเห็นกับวงเสวนาว่า มี 5 สิ่งที่ต้องชื่นชมสื่อมวลชนในเหตุการณ์ถ้ำหลวงจากการรายงานข่าว คือ 1.นักข่าวทุ่มเท เสียสละ เข้าถึงพื้นที่ และพยายามอย่างมากในการรายงานข่าวด้วยความรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยกันตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ 2.การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งช่วงระยะหลังดีขึ้นอย่างมากเมื่อได้รับการร้องขอ ยินยอมที่จะทำไม่เกเร 3.การเป็นที่พึ่งของประชาชนทำได้อย่างดี 4.การเสนอข่าวทำในแง่มุมบวก ให้กำลังใจให้แรงบรรดาลใจ เป็นที่พึ่งและจุดเริ่มต้นของการรวมใจกันทั้งประเทศ กระทั่งนำไปสู่ข้อที่ 5.ทำให้ทุกประเทศอยากจะเข้ามาช่วย ส่งคนและเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เห็นภาพความน่าสนใจในการทำข่าวจากต่างประเทศอย่างชัดเจน ถึงกับสำนักข่าวเมืองนอกพาดหัวว่า Today The World Win ในวันที่ช่วยเหลือ 13 ชีวิตออกจากถ้ำ

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสียรวม 5 ข้อที่เรียกว่า “ขาด” ด้วยเช่นกัน คือ 1.ขาดการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะการบริโภคสื่อออนไลน์ ที่มีการจับผิดและคนบริโภคอ่อนไหวอย่างมาก 2.ขาดการใส่ใจถึงประเด็นจริยธรรม ไม่ว่าจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อไม่ใส่ใจ จริยธรรมจะถูกมองข้ามไปในทันที เช่น การนำเสียงวิทยุสื่อสารมาออกอากาศ บินโดรนกระทบการทำงาน ถามครอบครัวว่าเด็กๆ มาเข้าฝันบ้างหรือไม่ หรือการเปิดเผยชื่อเหยื่อ และยังมีการอธิบายขณะที่ทั้ง 13 ชีวิตรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลว่าอยู่ห้องไหน ชั้นอะไร 3.ขาดการทำข่าวที่สร้างสรรค์ นักข่าวไม่ได้ทำข่าวเชิงรุกหรือทำการบ้านมาก่อน จนทำให้ถูกตั้งแง่ว่าเป็นการทำข่าวตามรถพยาบาล หรือตามเฮลิคอปเตอร์ 4.ขาดการยอมรับผิด บางสำนักข่าวทำผิดและยอมรับผิดพร้อมรับการลงโทษ แต่บางสำนักข่าวก็ยังไม่ยอมรับจนถึงขณะนี้ ยังเถียงและพยายามเฉไฉไปเรื่องอื่น และ 5.ขาดการควบคุมกันเอง เพราะมีการตั้งคำถามถึงองค์กรวิชาชีพว่า นอกจากออกประกาศแล้วมีอะไรบ้างที่ทำงานเชิงรุก มีตัวแทนเข้าไปจัดระเบียบในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะนักข่าวบางคนยังทะเลาะกันเองเพื่อแย่งแหล่งข่าว

“เมื่อเราขาด 5 อย่างก็ต้องเติมให้สมบูรณ์ ต้องอบรมให้ความรู้ อบรมด้านจริยธรรม อบรมว่ารายางานข่าวอย่างไร ให้โดนใจผู้บริโภค เติมเต็มกันเข้าไป หรือให้ดีก็ต้องเรียนรู้การทำงานของสื่อต่างประเทศที่ทำข่าวเรื่องภัยพิบัติ จะเชิญเขามาบรรยาย หรือไปดูงานก็ได้ อีกอย่างคือองค์กรวิชาชีพจะต้องมีกลไกที่กำกับดูแลและควบคุมพร้อมทำงานเชิงรุกที่ชัดเจน ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ทุกปัญหาในการรายงานข่าวเกิดตั้งแต่ต้น” วรัชญ์ กล่าว

 

องค์กรวิชาชีพ พร้อมรับบทเรียน

ปราเมศ เหล็กเพ็ชร นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่าที่ผ่านมาสื่อมวลชนมักจะถูกวิจารณ์ในแง่ลบต่อการรายงานข่าวสถานการณ์หรือเหตุการณ์มาโดยตลอด แม้นักข่าวเพียงคนเดียวทำเสียเรื่องก็จะถูกเหมารวมทั้งหมด แต่ในยุคปัจจุบันอาจจะเรียกว่าจุด “พีค” ของการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอยู่ในยุคโซเชี่ยลมีเดีย

“ผมจำได้ดีกับเหตุการณ์คนงานติดเหมืองที่ประเทศชิลี เมื่อเกิดเหตุผู้บัญชาการเหตุการณ์ออกคำสั่งห้ามนักข่าวเข้าพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด แต่อนุญาตให้สำนักข่าวของภาครัฐเข้าไปได้ที่เดียว และห้ามรายงานสด เขาทำก็เพื่อลดการดราม่า ไม่ให้กระทบกับครอบครัวของเหยื่อ และเมื่อลำเลียงช่วยเหลือคนงานออกมาได้ การแถลงข่าวให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนก็มีนักจิตวิทยามาให้คำแนะนำด้วย ซึ่งเราสามารถเอามาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้”

ปราเมศ ย้ำอีกว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจำต้องสมควรที่ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ให้มีการรายงานข่าวที่ดราม่า ไม่ให้มี Fake news หรือข่าวปลอมออกมาสร้างความสับสน ซึ่งเราต้องป้องกันและต้องอบมรมนักข่าวในประเทศให้เกิดการพัฒนา เหมือนกับนักข่าวต่างประเทศที่รายงานข่าวสถานการณ์หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติรุนแรง หากไม่ผ่านการอบรมที่เข้มข้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะไม่มีสิทธิ์ไปภาคสนามเพื่อทำข่าวได้

“นักข่าวต่างประเทศทำการบ้านมาอย่างดีก่อนลงพื้นที่ ขณะที่กองบรรณาธิการก็พร้อมสนับสนุนข้อมูล ทำให้เขาสามารถทำข่าวเชิงสร้างสรรค์ได้ตลอด ของเราก็ต้องพัฒนาไปถึงจุดนั้นให้ได้ และอยากให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จะถอดบทเรียนกัน เพราะเราจะเอาบทเรียนคร้ังนี้ไปทำเป็นหนังสือคู่มือ เพื่อเป็นคัมภีร์ให้กับสำนักข่าว นักข่าวใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ควบคู่ไปกับการทำเวิร์คช็อป” ปราเมศ มองถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ภาคประชาชนกำกับสื่ออยู่หมัด

ขณะที่ความเห็นของ ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส ฉายภาพในเวทีเสวนาครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า สื่อมวลชนที่รายงานข่าวในพื้นที่คิดว่าถูกคาดหวังจากผู้บริโภคว่าจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วที่สุด ดีที่สุด ลึกที่สุด หากแต่ความเป็นจริงผู้บริโภคคาดหวังจะเห็นความสำเร็จ คาดหวังว่า 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำจะได้ออกมาเจอครอบครัว เมื่อเป็นเช่นนั้น การรายงานข่าวต่างๆ ที่ไปกระทบกับความคาดหวังจะถูกต่อต้านอย่างทันที

“มันทำให้เห็นภาพว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่สะท้อนกลับมาจากผู้บริโภค สื่อต้องมาถามตัวเองว่า การรายงานข่าวของเรานั้นขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือไม่ และผลจากการรายงานข่าวนั้นมีผลกระทบกับใครบ้างหรือเปล่า” ก่อเขต ตั้งคำถาม

อย่างไรก็ตาม นักข่าวที่อยู่ในพื้นที่ภาคสนามพยายามอย่างเป็นที่สุดในการหาแหล่งข่าวเพื่อให้มาบอกเล่าสถานการณ์ แต่คำถามบางครั้งกลับสร้างความอึดอัดใจให้กับแหล่งข่าวหรือเจ้าหน้าที่ ซึ่งจากที่ได้สัมผัสมาก็ได้รับเสียงสะท้อนว่า ในบางคร้ังการตั้งคำถามของนักข่าวก็ทำให้การทำงานหมดกำลังใจลงได้ง่ายๆ แม้การรุกไล่แหล่งข่าวจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะต้องการความชัดเจน แต่บางครั้งก็ละเอียดอ่อนด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักให้มากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เราไม่เคยสัมผัสกับความรู้สึกนี้มาก่อน

ก่อเขต สะท้อนอีกว่า การวิพากษ์วิจารณ์สื่อแบบเหมารวมก็ทำให้คนรายงานข่าวเสียกำลังใจไปเหมือนกัน บางคนทำอย่างถูกต้อง เล่นตามกติกา แต่กลับถูกเหมารวมว่าเป็นสื่อที่ไม่ดี ผลที่ว่ามันก็สร้างความบั่นทอนให้กับสื่อดีๆ ด้วยเหมือนกัน หากมองในมุมกลับเราอยู่ในยุคที่ทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้เหมือนกัน นำเสนอข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ได้เหมือนกัน เราจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้ได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ยังมีข้อดีที่ได้เห็น คือภาคสังคมกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชนได้อยู่หมัด รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือรูปแบบไหนก็ตามทำแบบภาคสังคมไม่ได้เลย เป็นสิ่งที่ดีมากเพราะสื่อมวลชนจะต้องระมัดระวังการรายงานข่าวมากขึ้น ทำแบบนี้ไม่ดีนะมีคนคอยดูอยู่ หากภาคสังคมเข้มแข็งแบบนี้ และรู้ว่าควรบริโภคสื่อที่ดีจากที่ไหน ก็จะทำให้สื่อมวลชนดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมายแน่นอน

 

ออนไลน์กับสิ่งพิมพ์ อุปสรรค์ไม่ต่างกัน

ด้าน ชวรงค์  ลิ้มป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้มุมมองว่า ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ไม่ใช่พระเอกในการายงานข่าวแล้ว แต่ก็พร้อมจะเป็นผู้ร้ายได้ทุกเมื่อหากมีการรายงานข่าวผิดพลาด แต่กระนั้น ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า กลุ่มผู้บริโภคหนังสือพิมพ์เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่คุ้นชินกับการบริโภคข่าวสารออนไลน์ แต่แน่นอว่าถึงแม้เราจะมีเวลาในการตรวจทาน หาความจริงให้รอบด้าน แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกันในเรื่องเนื้อหาการนำเสนอข่าว เพราะเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้ต่างจากในสื่อออนไลน์

บทเรียนจากถ้ำหลวงคนทำหนังสือพิมพ์ก็เห็นหลายอย่างที่ผิดพลาด และได้เห็นหลายอย่างในเรื่องที่ไม่ทราบมาก่อน เช่นภาพของหน่วยซีลที่มีการเผยแพร่ออกไปแล้ว กระทั่ง2 วันให้หลัง หน่วยงานภาครัฐถึงมาขอความร่วมมือไม่ให้เปิดเผยใบหน้า ขณะที่สื่อต่างประเทศเผยใบหน้ากันอย่างแพร่หลาย ซึ่งมันคือความแตกต่าง

ชวรงค์ ให้ภาพอีกว่า หนังสือพิมพ์เองก็มีข้อผิดพลาดจากความไม่ชัดเจนเช่นกัน ไม่เพียงแค่หนังสือพิม์ไทยเท่านั้น หากแต่ต่างประเทศก็ผิดด้วย เช่น ภาพของเด็กที่เป็นภาพเก่าแต่ถูกรายงานว่าเป็นภาพปัจจุบัน

“แต่ผมเห็นด้วยที่ทุกวันนี้ผู้บริโภคสื่อจะเรียกได้ว่ามีคุโณปการในการกำกับจริยธรรมอย่างอยู่หมัด เรื่องอะไรที่ถูกยวิจารย์สื่อจะหยุดทันที” ชวรงค์ ย้ำ แต่กระนั้น คนทำสื่อในทุกวันนี้จะต้องใช้วิจารณญาณกับเรื่องของจริยธรรมด้วยเช่นกัน เพราะจริยธรรมไม่ใช่ภาพขาวกับดำอย่าง 100% หากแต่มันเป็นภาพก้ำกึ่ง ที่คนทำสื่อจะต้องมาชั่งน้ำหนัก แต่ทั้งนี้ก็ต้องยึดตามประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก

นันทสิทธิ์  นิตย์เมธา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เสริมเช่นกันว่า เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงกับสื่อออนไลน์ถือว่ามีบทบาทอย่างมาก เห็นได้จากสื่อกระแสหลักที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการช่วยสื่อสารข่าว รูปแบบการรายงานข่าวจากเดิมก็ถูกเปลี่ยนแปลง เกิดการไลฟ์ เกิดการจัดรายการพิเศษผ่านระบบออนไลน์ มีการนำเสนอภาพนิ่ง อินโฟกราฟฟิกที่เข้าใจได้อย่างง่าย นั่นทำให้เห็นภาพว่าสื่อกระแสหลักพยายามปรับตัวมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันก็ยังมีสื่อออนไลน์ถือกำเนิดมากขึ้นมาด้วย เพราะเราเห็นได้จากมีการลงทะเบียนสื่อมวลชนเพื่อรายงานเหตุการณ์ถ้ำหลวงมากกว่า 800 คน ซึ่งนับตั้งแต่ทำข่าวมาไม่เคยคิดว่าจะเห็นการลงทะเบียนเพื่อทำข่าวจำนวนมหาศาลเช่นนี้

นันทสิทธิ์ สะท้อนว่า แต่ปัญหาที่พบคือ  Fake News บนสื่อออนไลน์มีเยอะมาก และเกิดการแชร์อย่างแพร่หลายด้วยและไร้ซึ่งกระบวนการตรวจสอบ แต่ขณะเดียวกันจากปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เป็นจังหวะที่ดีที่สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จะเข้ามาจัดระเบียบการทำงาน ทั้งจากสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์เอง

“ข่าวปลอมเราได้เห็นกันเยอะ และเมื่อเกิดการแชร์มันก็ผิดตั้งแต่ต้นทาง แต่ต้องตระหนักว่าข่าวออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเร็ว แต่ต้องถูกต้องแม่นยำ เราต้องพัฒนาในอนาคต”

ส่วนประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์นัน นันทสิทธิ์ยอมรับว่า จะต้องหามาตรการมาจัดการ เพราะเห็นได้จากหลายสื่ออนไลน์ที่นำข้อมูลจากสำนักข่าวหลายที่มาขยำรวมกันแล้วเผยแพร่ ขณะที่นักข่าวภาคสนามที่ลงพื้นที่ทำงานจริงๆ กับไม่ได้ประโยชน์ใดๆ

“แต่ก็อย่างว่า คนมันจะเอา มันก็จะเอา ไม่สนว่ามีลายน้ำหรือไม่” นันทสิทธิ์สะท้อน แต่ยืนยันว่าจะหามาตราการเข้ามาจัดการ


นักข่าวภาคสนาม สะท้อนบทเรียน

ฐิดารัตน์ เมืองจันทร์ จากไทยรัฐออนไลน์ ในฐานะนักข่าวภาคสนามที่อยู่ในพื้นที่ถ้ำหลวง สะท้อนไว้อย่างน่าสนใจว่า การทำข่าวช่วยเหลือครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทาย ในฐานะผู้สื่อข่าวต้องระวังในเรื่องสิทธิของเด็ก และต้องคิดถึงแง่จริยธรรมอย่างมาก เพราะสถานการณ์มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนและพร้อมจะตรวจสอบอย่างเต็มทีและทันที  

ฐิตารัตน์ เล่าว่า เตรียมตัวมาระดับหนึ่งหลังรู้ว่าจะต้องไปทำงานที่ถ้ำหลวงก่อนเดินทาง 3 ชั่วโมง เวลาที่มีต้องทำการบ้าน สอบถามจากคนในพื้นที่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้เราเตรียมการทั้งด้านข้อมูล และร่างกาย เพราะคาดไว้แล้วว่างานจะหนักแน่นอน

ฐิดารัตน์ บอกอีกว่า ช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า การแสวงหาข่าวเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นคนให้ข่าวได้แค่คนเดียว แต่นักข่าวต้องหาข่าวเพื่อรายงานทั้งวัน ความท้าทายจึงอยู่ตรงนี้

"ในกลุ่มนักข่าวก็มีการพูดคุยกันบ้าง เช่น การนำเสนอภาพ สื่อบางแห่ง มีการเข้าไปถ่ายภาพที่อาจไม่เหมาะสม เราก็คุยกันว่าจะไม่ทำอย่างนี้กันนะ บางครั้งมีสถานการ์ขัดแย้งกันเอง รวมถึงไปขัดแย้งกับแหล่งข่าวด้วย บางอย่างจะมีผลกระทบที่ใหญ่ตามมา เราตกลงกันว่าจะไม่เสนอข่าวประเภทนี้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบทเกินกว่าจะรับมือได้"

ฐิดารัตน์ กล่าวว่า เราจะไม่รายงานสดบริเวณหน้าปากถ้ำ หรือจุดที่เข้มงวด อีกอย่างคือ จะงดการสัมภาณ์คนในครอบคัว คนใกล้ชิด เราไม่อยากจะซ้ำเติม เพราะเป็ฯการกระทบจิตใจมากเกินไป เราจะไม่สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน และจะหลีกเลี่ยง นี่คือสิ่งที่ได้มา

ส่วนประเด็นที่เกิดข้อถกเถียง กับเรื่องหน่วยงานราชการที่จัดโซนนิ่งนั้น ฐิตารัตน์ บอกว่า เรายอมรับได้ และยินยอมที่จะปฏิบัติตาม เพราะไปยู่ตรงนั้นจะรบกวนเจ้าหน้าที่ อีกอย่างคือ หากอยู่ในจุดเดียวกัน ได้ข้อมูลเดียวกัน ก็จะได้ข้มุลที่ถูกต้อง ประชาชนได้รับข้อมูลที่ลักษณะเดียกวันทำให้ไม่เกิดข้อผิดพลาดในการรายงานสู่สาธารณะ