เรื่อง - กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน
ปฏิบัติกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง จ.เชียงราย มีประเด็นให้ถูกพูดถึงมากมายและต้องบันทึกไว้ว่า การรวมพลังร่วมกันของนานาชาติจะภารกิจประสบความสำเร็จ
หลังจบเหตุการณ์ มีการถอดบทเรียนจากหน่วยงานต่างๆ ถึงองค์ความรู้ใหม่ที่ได้ และปรับปรุงปัญหาจากการปฏิบัติกู้ภัยในภาวะวิกฤต ที่ต้องร่วมกันทุกภาคส่วน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
กล่าวเฉพาะบทบาทสื่อ นี่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สื่อถูกพูดถึงทั้งในด้านบวกและลบอย่างมาก ในยุคที่การเสนอข่าวทางสื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลสูงจนต้องแข่งขันทุกวินาทีช่วงชิงเรตติ้งเพื่อความอยู่รอด เกิดข่าวลือมากมาย จนสร้างความสับสนต่อผู้บริโภคที่รับข่าว และการทำงานของเจ้าหน้าที่ในภาวะวิกฤตที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรายงานข่าวถ้ำหลวงครั้งนี้ คนทั่วโลกให้ความสนใจเพราะเกี่ยวข้องความเป็นความตายกับชีวิตเด็ก ไม่เพียงแต่ “สื่อกระแสหลัก” อย่างเดียว ยังมี “สื่อใหม่” ที่เข้ามาร่วมวงพันตูด้วยมากทั้ง "สื่อเฉพาะกิจ" เน้นานไลฟ์สดเหตุการณ์ทางเฟสบุ๊ค “สื่อบุคคล”จากกลุ่มเพจดังผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย มีการแสดงความเห็น ตั้งประเด็น สมมติฐาน ปล่อยข่าว ผสมปนกับความเห็นจากผู้ใช้สื่อไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือ ที่อ้างตนเป็น "ผู้รู้" “เซียนคีย์บอร์ด” ด้านต่างๆ เมื่อสื่อกระแสหลักนำมาความเห็นเหล่านั้น มาต่อยอดเป็นข่าว หรือ นำข่าวลือไปถามผู้บัญชาการเหตุการณ์ถ้ำหลวงความโกลาหลจึงบังเกิดขึ้น
ด้านบวก สื่อได้ทุ่มเททรัพยากรรายงานข่าวรอบด้าน หลายแง่มุม ทั้งต่อตัวเหตุการณ์ทั้งความเร็ว ความลึก ความยากลำบากของเจ้าหน้าที่รวมถึง ผลกระทบต่างๆ มุมความดีของสังคมที่ช่วยเหลือ ทำให้ประชาชนเห็นภาพ ความร่วมมือ เกิดความสามัคคีและอยากส่งกำลังใจไปช่วยให้ภารกิจสำเร็จ ขณะที่ทีมจากสำนักข่าวต่างๆที่ถูกส่งลงพื้นที่ทำงานอย่างหนักต่อเนื่อง อ่อนล้า บาดเจ็บ
ในด้านลบ ก็มีหลายมุม “จุลสารราชดำเนิน” ได้รวบรวมข้อวิจารณ์ต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ที่จะนำมาสู่ การถอดบทเรียนร่วมกันในสังคม
1.รายงานข่าวผิดเพราะเน้นความเร็วจี๋
ในช่วงแรกที่ยังไม่พบตัวเด็ก มีการอ้างว่าข้อมูลที่ไม่ยืนยันมากมาย เช่น นักดำน้ำถึงพัทยาบีชแล้ว ค้นหาในถ้ำทะลุไปเกือบ 10 กม.แต่ก็ไม่พบเด็ก , เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยเห็นคนใส่เสื้อแดงบนถ้ำโบกมือขอความช่วยเหลือ, ได้ยินเสียงเคาะจากถ้ำโต้ตอบเจ้าหน้าที่ , สหรัฐเตรียมใช้ดาวเทียมระบบอินฟาเหรด3D สแกนบริเวณถ้ำหลวง ก่อนจะมีการโต้แย้งว่า ปัจจุบันยังไม่มีดาวเทียมดวงใดที่สามารถมองทะลุและสร้าง 3D Mapping ของโพรงต่างๆในชั้นใต้ดิน ทั้งหมดเพราะสื่อรีบชิงเสนอข่าวด้วยความเร็ว แต่ขาดความรอบคอบหรืออ้างอิงที่มา
2.ข่าวลือ ข่าวปลอม (Fake news) กลาดเกลื่อน
ปรากฎการณ์ข่าวลือและข้อมูลเท็จในสังคมออนไลน์มีหลายเรื่องตลอด17วันของภารกิจ มีที่มาจากสื่อกระแสหลักรายงานเองและนำข้อมูลจากเพจเฟสบุ๊คต่างๆ ที่ไม่มีการตรวจสอบ มาขยายผลรายงานซ้ำ รวมถึง ข่าวลือจากโลกโซเชียลทั่วไปเพื่อสร้างกระแสดราม่า แต่บิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เกิดสร้างความตื่นตระหนก และแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่
เช่น พบศพน้องเสียชีวิตสวมเสื้อแดงจนเพจไทยเนวี่ซีลของทีมซีลยืนยันว่า ไม่จริงและอย่าแชร์ต่อ , ภาพโดรนตรวจจับความร้อนเจอ 13 ชีวิต จนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ชี้แจงว่า ไม่จริงเป็นภาพการทดสอบการทำงานอุปกรณ์โดรนติดกล้องตรวจจับความร้อนสำหรับบินสำรวจ บริเวณบ้านผาหมี , มีหน่วยซีลถูกงูกัดเสียชีวิตระหว่างลำเลียงเสบียงลงไปให้ทีมหมูป่า จนนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย ตอบโต้ว่า อย่าเชื่อลือ ข่าวปลอมใดๆ ที่แชร์ออก
ไม่เท่านั้น ยังมีข่าวลือ 13 ชีวิต ถูกแก๊งค้ายาจับตัว โดยระบุว่า ทีมหมูป่าอาจถูกกลุ่มค้ายาเสพติดข้ามชาติบริเวณชายแดนจับกุมตัวไป เพราะถ้ำหลวงเป็นพื้นที่สีแดงใช้ลำเลียงยาเสพติดจากชายแดนไทย-เมียนมา หรือ นำภาพเก่ารูปเด็กติดถ้ำหลวงถ่ายตั้งแต่ปีที่แล้วขณะไปเที่ยวส่งต่อและแชร์ว่า พบแล้ว หรือ แชร์คำพูดโค้ชเอกอ้างว่า “ผมไม่กล้าสู้หน้าใคร แม้แต่กล้องจะถ่ายผม ผมก็ไม่กล้าสู้ ตอนนี้ผมยังไม่หิวครับ ไม่อยากกินอะไรทั้งนั้น" คำพูดเหล่านี้ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่า ไม่มีใครได้ยิน
3.สร้างภาระให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย
กองทัพสื่อทั้งไทยและต่างชาติ ที่เข้าไปรายงานมีร่วมเกือบพันชีวิต แต่ไม่มีการจัดระเบียบพื้นที่เกิดเหตุ ทำให้การทำงานสื่อจำนวนหนึ่ง ได้สร้างปัญหาและเป็นภาระต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ นายณรงค์ศักดิ์ ระบุว่า มีทีวีบางช่องฝ่าฝืนคำสั่งเข้าไปถ่ายภาพการปฏิบัติงานหน้าถ้ำ หรือเข้าไปกับบรรดาญาติและเจ้าหน้าที่ ทำให้การนับจำนวนคนเกิดความสับสน ก่อนจะขอร้อง อย่าเข้าแทรกแซงการปฏิบัติงาน ซึ่งต่อมามีการจัดระเบียบโซนต่างๆ ที่ห้ามสื่อเข้าไปเกี่ยวข้อง และกำหนดโซนแถลงข่าวที่ชัดเจน ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
4. ฝ่าฝืนกฎหมาย รู้เท่าไม่ถึงการณ์?
สื่อทีวีบางสำนักนำโดรนบินคู่กับเฮลิคอปเตอร์ของทางการที่เตรียมลำเลียงสมาชิกทีมหมูป่าไปโรงพยาบาล เพื่อเก็บภาพมุมสูงรถพยาบาล แต่นั่นเป็นการแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ และการขึ้นบินของเฮลิคอปเตอร์ นอกจากผิดกฎหมาย ยังเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายได้ แม้จะมีการขออภัยภายหลัง แต่เจ้าหน้าที่ได้ฟ้องร้องเอาผิด ศาลตัดสินปรับ 1 หมื่นบาทและยึดโดรน
นอกจากนี้สื่อบางสำนักดักฟังการรายงานวิทยุสื่อสารระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติภารกิจนำสมาชิกทีม หมูป่า ออกจากถ้ำหลวง โดยนำเสียงที่ลักลอบฟังไปออกอากาศต่อสาธารณะเพื่อชิงการนำเสนอให้รู้ว่า มีกี่คนแล้วที่ออกจากถ้ำ จนถูกตำหนิว่าไม่เหมาะสม เข้าข่ายดักฟังความลับของราชการ
5. ตั้งคำถามไม่เหมาะ ไม่มีจรรยาบรรณ
พิธีกรรายการข่าวทีวีช่องหนึ่ง ได้สัมภาษณ์แม่เด็กติดถ้ำหลวงว่า "ลูกมาเข้าฝันหรือเปล่า" จนถูกวิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสม ไม่มีจรรยาบรรณ เพราะไปกระทบต่อจิตใจผู้ปกครอง หากถูกถามกลับบ้างจะรู้สึกอย่างไร อย่างไรก็ตาม พิธีกรรายดังกล่าวได้ขอออภัยภายหลัง
6. เสนอข่าวละเมิดสิทธิเด็ก
สื่อบางสำนักนำเสนอข่าวไสยศาสตร์ต่อเนื่องเพื่อเน้นเรตติ้ง กรณีร่างทรงสารพัดที่อยู่หน้าถ้ำ ที่อ้างว่า เด็กอยู่ในอาการย่ำแย่ บ้างอ้างว่า สิ่งที่ทำให้เด็กทั้งหมดติดในถ้ำเพราะเด็กไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ บอกว่า เด็กคนหนึ่งกำลังทรมาน อยากกลับบ้าน เพราะข้างในมืด และใกล้หมดลมหายใจ ข่าวเหล่านี้กระทบต่อจิตใจของผู้ปกครอง ญาติเด็กโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมและสิทธิส่วนบุคคล
นอกจากนี้ ระหว่างการนำเด็กออกจากถ้ำ 4 ชุดคนแรก นายณรงค์ศักดิ์ ขอร้องสื่อว่าอย่านำเสนอรายชื่อว่าเด็กคนไหนออกจากถ้ำมาก่อนเพราะจะมีผลต่อการวิพากษ์วิจารณ์สภาพร่ากายของเด็กเป็นรายบุคคล อย่างไรก็กลับมีสื่อมวลชนเปิดเผยทั้งหน้าและรายชื่อเด็กที่ออกมาก่อน จนถูกตำหนิว่า ไม่มีจรรยาบรรณ ไม่คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชน
บรรดานักจิตแพทย์ยังเป็นห่วงว่า ช่วงที่เด็กๆกลับไปใช้ชีวิตปกติที่บ้านอาจได้รับกระทบจากกระแสสังคม และการตามไปเจาะข่าวจากสื่ออีก เหมือนกรณีแก่งแย่งแหล่งข่าวในอดีต ที่มีการ อุ้ม กักตัว “แหล่งข่าว” เพื่อไปออกรายการทอล์ค ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า มิได้มองผลกระทบของเหยื่อทั้งที่ยังเป็นเยาวชนอยู่ หากเด็กถูกตั้งคำถามเดิมๆซ้ำอาจมีผลต่อสภาพจิตใจ ซึ่งปัจจุบันกระแสในโซเชียลก็ยังแยกแยะไม่ออกบ้างก็ยกย่องว่า เด็กๆ คือฮีโร่ บางส่วนตำหนิว่า เป็นจำเลยสังคม ทั้งที่ 13 ชีวิตทีมหมูป่าเป็น “ผู้ประสบภัย” ที่ต้องได้รับการดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ
7. การจัดการข่าวสารในภาวะฉุกเฉิน
น่าจะเป็นบทสรุปสำคัญในการถอดบทเรียนครั้งนี้ คือ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤต ที่ยังเป็นปัญหา เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนการบริหารข่าวสารของภาครัฐในภาวะฉุกเฉินที่ยังไม่ดีพอ ในช่วงแรกที่ยังค้นหาสมาชิกทีมหมูป่าไม่พบ การให้ข่าวสารต่อสังคมเป็นลักษณะตัวใครตัวมัน สื่อก็รายงานข่าวทั้งเร็วลึกผสมกับข่าวลือทุกวัน ภาครัฐก็ยุ่งอยู่กับการกู้ภัยให้พบเด็กในทุกวิธี จึงลืมตั้ง “ศูนย์กลางข่าวสารถ้ำหลวง” เพื่อให้ได้ข้อมูลยืนยันจากทางการชัดเจน สยบข่าวปลอมต่างๆ ชี้นำไม่ให้เกิดการไขว้เขว กระทบการทำงานของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม เมื่อภาครัฐตั้งหลักได้ในช่วงหลัง จึงนำมาสู่การตั้งศูนย์บัญชาการฯ แถลงความคืบหน้าของเหตุการณ์เป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหตุการณ์ถ้ำหลวงครั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจใหม่เพราะสื่อปัจจุบันที่มารายงานได้รวมไปถึง “สื่อบุคคล” “สื่อใหม่” และ “ประชาชนผู้เสพสื่อ” ไม่เพียงเท่านั้น การนำเสนอข่าวสารครั้งนี้ยังพบด้วยว่า ภาครัฐได้เข้ามามีส่วนชี้แจงข้อเท็จจริงและอัพเดทสถานการณ์ผ่านเพจของหน่วยงานตนเอง และผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นทหาร รวมถึง อาสาสมัครกู้ภัย ที่ใช้นามแฝงนำเสนอข้อมูล ไลฟ์สด ผ่านเฟสบุ๊คด้วยเช่นกัน
เสียงวิจารณ์ที่มีต่อสื่ออาจมี แต่ก็จำนวนน้อยที่นำเสนอข่าวละเมิดจริยธรรม จรรยาบรรณ ขาดความรับผิดชอบ แต่ก็ถูกเหมาเข่งว่าคือ สื่อทั้งหมด สิ่งสำคัญ ประชาชนจำเป็นต้องรู้เท่าทันสื่อ คัดกรองข้อมูลทางโซเชียลด้วยว่า สิ่งไหนเป็นข่าวลือ ไม่ควร แชร์ต่อ ต้องรอตรวจสอบจากภาครัฐที่ก็ต้องเร่งชี้แจงเช่นกัน