บันทึกสื่อถ้ำหลวง หลังฉากที่ยากลำบากและความประทับใจ

บันทึกสื่อถ้ำหลวง

หลังฉากที่ยากลำบากและความประทับใจ

เรื่อง – จุลสารราชดำเนิน

 

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่า เป็นข่าวที่สะกดใจคนทั้งโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะแค่คนไทย   แม้วันนี้ทั้ง 13 คน จะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้  สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือเสียงสะท้อนจากผู้ที่ติดตามข่าวสาร ที่วิจารณ์ถึงบทบาท การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าว  “จุลสารราชดำเนิน”  สัมภาษณ์สื่อมวลชนภาคสนามที่ร่วมทำข่าวในเหตุการณ์ถ้ำหลวง เพื่อสะท้อนความรู้สึกถึงความยากลำบากในการทำงานของคนข่าวภาคสนามครั้งนี้

 

“เราสุขใจดีที่ภารกิจสำเร็จ”

ชญตร์ มุกดาหาร “โบ๊ต”

ผู้สื่อข่าวสายสังคม ช่อง 3

อายุ 30  ปี  อายุงาน  8  ปี


“ผมได้รับมอบหมายให้เข้าไปเสริมทีมของพี่แยม ฐาปนีย์  หน้าที่หลักคือประจำด้านหน้าถ้ำหลวง ติดตามเหตุการณ์และการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่างชาติ  กับอีกจุดคือที่ ดอยผาหมี ที่ ตำรวจไปสำรวจหาโพรง แต่พอตอนหลังที่มีจัดระเบียบสื่อ ก็ให้ลงมาอยู่ อบต.

ตอนแรกเครียด เพราะยากในการทำงาน เนื่องจากสถานการณ์ไม่นิ่ง มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา จะทำยังไงให้เราไม่ตกประเด็น  และการวางตัวก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ไปเกะกะการทำงานเจ้าหน้าที่เพราะจริงๆพื้นที่ของเหตุการณ์มันไม่มาก จุดมันไม่ได้กว้าง แต่พองานมันรันไป ความเครียดก็หายไปหมด เพราะจริงๆ ข่าวนี้ หัวใจคือการช่วยเหลือเด็กๆ เจ้าหน้าที่ทุกคน คือฟันเฟืองที่สำคัญทั้งหมด เราก็เลือกที่เรารู้สึกว่าตรงกับเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับข่าวจริงๆ

ความประทับใจมี สองเรื่อง อย่างแรกคือคืนวันที่ 2 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่เจอเด็กๆและโค้ช ก่อนหน้านั้น มีข่าวลือมาตลอดว่าเจอแล้ว ตั้งแต่วันแรก เจอนานแล้ว และเริ่มหนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทุกคนต้องหาข้อเท็จจริงไปหักล้าง ต้องตรวจสอบ เช็คกันตลอดว่าจริงไหม จนวันที่ 1 ก.ค. ยิ่งหนาหูมากขึ้น อาจเป็นเพราะมันใกล้ช่วงเวลาที่เหมาะสมว่าควรที่จะเจอเด็กๆ  ทีมข่าวจึงต้องผลัดเปลี่ยนกัน 24 ชั่วโมง ตอนนั้นผมกลับมาที่พัก  ระหว่างทางก็มีข้อความทีมที่ถ้ำหลวงว่าเห็น ผบ.ซีล กอดกับผู้ว่าฯ  ผมก็ถามกลับไปว่ากอดแบบไหน เพราะตีความได้ 2 ความหมาย ในใจตอนนั้นอยากให้เป็นด้านบวก จนมาถึงที่โรงแรม  มีข่าวด่วนว่าเจอเด็กแล้ว ทั้งทีมดีใจมาก ยิ้มทั้งน้ำตาออกมาโดยที่ไม่รู้เลยมาออกมาได้ยังไงแต่รู้สึกว่าก้าวแรกมันสำเร็จแล้ว ทั้ง 13 คนยังปลอดภัย ทั้งทีมรีบกลับไปที่ถ้ำ เพราะก้าวที่ 2 คือการช่วยเด็กออกมา และต้องปลอดภัย

บรรยากาศที่ถ้ำวันนั้น ผมจำได้ว่ามันเหมือนการเฉลิมฉลอง เหมือนงานปาร์ตี้ ขนาดย่อม เจ้าหน้าที่ จิตอาสา ทุกภาคส่วนที่มาช่วยเหลือกัน 24 ชั่วโมง สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ คือหันไปทางไหน ทุกคนยิ้มแย้ม มีความสุข ดีใจ โล่งใจ มันใช้คำว่า “ปีติ” ได้เลย  ทุกอย่างดูผ่อนคลายด้วยรอยยิ้มที่เติมในหน้าของแต่ละคน

วันที่แถลงปิดศูนย์ ซึ่งมีการเล่าถึงเด็กๆ 13 คน รวมโค้ชเอก ว่าปลอดภัย   ผอ.โรงพยาบาล ท่านพูดถึงอาการเด็กๆ ว่าอยู่ในภาวะที่โอเคมากๆ แล้วพูดขึ้นมาว่า จะขอให้ทุกคนดูสิ่งนี้ เป็นคำตอบที่ดีที่สุด ก่อนจะฉายคลิป ของทั้ง 13 คนที่อยู่ใน โรงพยาบาล  มันเป็นภาพที่ประทับใจมาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีการเปิดคลิปออกมา ตอนที่น้องๆยกมือไหว้ขอบคุณในคลิป ทุกคนชูมือสัญลักษณ์ “เลิฟ” กลับไปให้น้องๆ คือกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เราสุขใจที่เห็นเขาแข็งแรง ปลอดภัย  เข้าใจคำว่าความสุข  ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันเลย เราเห็นเขา รู้จักเขาผ่านเรื่องราวคำบอกเล่าจากคนอื่นด้วยซ้ำ  ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายให้เข้าใจได้ยังไง มันยินดีไปด้วย มันมีความสุขมาก

0เสียงวิจารณ์คือกระจก แต่อย่าเหมารวม

ผมคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะคิด แต่สำหรับคนทำงานในพื้นที่ทุกคน เท่าที่ผมเห็น  สื่อให้ความร่วมมือ และเคารพการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งการจัดระเบียบ หรือเรื่องต่างๆ  อาจมีบางคนที่กระทำบางอย่างไม่ระมัดระวัง หรือมีภาพอะไรที่หลุดไป สื่อก็ตักเตือนกันอยู่แล้ว ความเห็นข้างนอกที่มองมาที่สื่อ ผมว่ามันเป็นกระจกสะท้อนให้เรามากกว่า ว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งให้เราทำงานด้วยความระมัดระวัง ยอมรับว่าบางทีก็ท้อที่เราถูกเหมารวม แต่อย่างที่บอก ทุกคนมีหน้าที่ และทุกคนมีสิทธิที่จะคิด  เราก็รับฟัง และก็บอกตัวเองว่าเราทำงานอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง

 

 

 

 

 

“ดราม่าสื่อ เราถูกมองด้วยอคติ”

สมเกียรติ นูมหันต์ “เตอร์”

ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม TNN24

อายุ 30 ปี อายุงาน 8 ปี

 

“ผมลงพื้นที่ไปรายงานข่าว หลังเหตุการณ์ผ่านไป 3 วัน สถานีมีทีมข่าวไปเกาะติดทั้งหมด 6 ทีม เราอยู่หน้างานก็จะคุยหารือกันว่าควรจะรายงานจุดไหน ยังไง ปรับไปตามสถานการณ์  ผมเป็นผู้ชายคนเดียว  ก็เลือกไปจุดที่ลำบากหน่อย อยู่รอบนอก เดินป่า ขึ้นเขา

การทำงานครั้งนี้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เพราะแม้จะมีการแถลงชัดเจน ให้ข้อมูลถูกต้อง แต่เราเป็นสถานีข่าว ต้องมีข่าวนำเสนอตลอดเวลา  จึงต้องหาความเคลื่อนไหว หาประเด็นที่จะส่งในแต่ละชั่วโมง จุดไหนมีอะไร เมื่อมีการจัดระเบียบการแถลงข่าว เราก็ใช้วิธีถามเอาเป็นข้อมูลมา เช่น การสูบน้ำออกกี่ลูกบาตรเมตรต่อนาที คือเป็นทีวีแต่ต้องเก็บข้อมูลเหมือนเป็นหนังสือพิมพ์ ที่จะมีรายละเอียดการทำงานต่างๆ ใช้วิธีแบ่งกันไปหาข้อมูลของเจ้าหน้าที่ในแต่ละส่วน และสิ่งที่เราเห็น เช่น มีการยกอะไรเข้าไป มีการเคลื่อนขบวนเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องเป็นข้อมูล exclusive อะไรมากมาย  เพราะสุดท้ายข้อมูลที่ลึกและละเอียดที่สุด จะมาตอนแถลงอยู่แล้ว ซึ่งพอแถลงแล้ว เราก็จะเอาที่แถลงนั่น มาซอยประเด็น แบ่งที่จะนำเสนอในแต่ละช่วงๆ และเก็บประเด็นซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้  เอาไปใช้วันต่อไป มันทำให้ต้องรู้จักเลือกคัดประเด็นที่จะนำเสนอ ต้องรู้จักวางแผน เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อ

0 สุดยอดผู้ว่าฯ คุมสถานการณ์อยู่หมัด

สำหรับผมประทับใจการทำงานของท่านผู้ว่าฯ ตอนแรกเราไม่เข้าใจระบบแบบนี้ ทำไมไม่ให้สัมภาษณ์ ไม่ให้ข้อมูล ให้รอแถลงแค่วันละ 2 ครั้ง จากจุดเดียวเท่านั้น แต่พอพิจารณาแล้ว ก็เข้าใจแนวทางการทำงานของท่าน เพราะมันทำให้สามารถป้องกันข่าวลือข่าวโคมลอยต่างๆได้

ท่านผู้ว่าฯ ท่านเด็ดขาด ชัดเจน  ข่าวถ้ามีสื่อแยกไปเล่นประเด็นที่ไม่ได้มาจากปากท่าน ท่านก็จะตำหนิอย่างชัดเจนเลย ว่าให้ข้อมูลข่าวสารที่ผิด มันทำให้ไม่มีใครกล้าออกนอกลู่นอกทาง  เพราะถ้าถูกตำหนิ นั่นคือข่าวคุณไม่น่าเชื่อถือ ทุกคนก็จะไม่กล้าไปเจาะลึกอะไรเกินไป รอข้อมูลที่ยืนยันได้จากท่านผู้ว่าฯ เท่านั้น

จริงๆมันก็ทำให้เราไม่เหนื่อยในการต้องคอยเช็คข่าวตลอดเวลา เวลามีข่าวลือ ข่าวปล่อยอะไรมาตลอดด้วย

เราโฟกัสแค่เมื่อไหร่จะเจอเด็ก เมื่อไหร่จะพาเด็กออกมาได้ ผมมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของเจ้าหน้าที่ เรื่องการจัดระเบียบการทำงาน  การควบคุมการให้ข้อมูลข่าวสาร  ในเคสที่เป็นสถานการณ์แบบนี้

เสียงวิจารณ์ที่มีต่อสื่อ แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติของกระแสโซเชียล ที่แค่รูปๆเดียวก็เป็นประเด็นได้แล้ว แต่อยากให้มองสื่อด้วยความเป็นธรรมด้วย  หลายๆอย่างซึ่งคนที่ติดตามข่าว ไม่ได้เห็นในข้อเท็จจริงหน้างาน  ดราม่าสื่อมันทำให้เรารู้สึกว่าสื่อของไทยถูกมองด้วยอคติ ยอมรับว่าช่วงแรกอาจจะยังไม่เป็นระเบียบ เพราะเหตุการณ์นี้มีสื่อไปเกาะติดจำนวนมาก ทั้งไทยและต่างประเทศ แม้แต่สื่อท้องถิ่นของต่างประเทศก็ให้ความสนใจมาทำข่าวนี้   หลังจากที่โดนว่า มีคอมเมนต์จากผู้ว่าฯ  ก็มีการจัดระเบียบการให้ข่าว  สื่อไทยเองก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ ช่วยดูแลสื่อต่างชาติด้วย เพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจภาษา การสื่อสาร เช่น ตอนจะเข้าไปถ่ายภาพซีล  สื่อไทยก็ช่วยบอก

บางครั้งก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมที่เหมารวมตำหนิสื่อไทยทั้งหมด บางทีก็น่าน้อยใจ เพราะบางเรื่องไม่ใช่สื่อไทยทำ แต่คนที่เสพข่าว ดูแล้วก็ด่าไปก่อนแล้ว เช่น วันที่มีแถลงข่าว มีการถามเรื่องยาสลบ 5-6 คำถามติดกัน มีดราม่าในโซเชียลว่านักข่าวเข้าใจอะไรยากเหรอ ถามซ้ำๆอยู่ได้ คืออยากขอชี้แจงว่าที่ถามไม่ใช่สำนักข่าวของไทย แต่เป็นสื่อต่างชาติที่เขายังไม่เคลียร์ ด้วยความที่เขาใช้ล่าม ซึ่งล่ามไม่ใช่นักข่าวจริงๆ บางครั้งก็ไม่เข้าใจวิธีการทำข่าว หรือไม่เข้าใจประเด็น จึงจับประเด็นไม่ได้ เลยถามซ้ำๆ จนทำให้แหล่งข่าวโมโหและเกิดดราม่า มันก็รู้สึกน้อยใจที่เราเป็นสื่อไทยคนเสพข่าว จะมองแบบตำหนิไว้ก่อนแล้ว ว่าเราทำไม่ดี ทำงานไม่รู้เรื่อง ไม่มีจรรยาบรรณ  แต่อันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะโทษใคร และไม่ได้ตำหนิสื่อต่างชาตินะ เพราะเข้าใจปัญหาเรื่องการสื่อสาร แต่ก็อยากขอความเป็นธรรมจากคนที่เสพข่าว อยากให้มองสื่อไทยด้วยความเป็นธรรมด้วย ไม่เหมารวม

 

 

“ประทับใจความทุ่มเทของทุกคน”

นฤพล อาจหาญ “มน”

ผู้สื่อข่าว ช่อง 8

อายุ 27 ปี อายุงาน 4 ปี


“ตอนที่ไปรายงานข่าวนี้ ผมได้รับมอบหมายให้อยู่หน้าถ้ำ แต่สามารถเคลื่อนได้ตลอด ถ้าตรงไหนมีประเด็นก็ให้ไปอยู่ตรงนั้น  ในหน้างานมันก็ดูวุ่นวายในช่วงแรก เพราะมีทั้งเจ้าหน้าที่ และสื่อจำนวนมาก และข่าวต่างๆ กระจายอย่างรวดเร็ว มีข่าวลือ ข่าวปล่อยต่างๆ มันมีข้อผิดพลาดได้ง่าย จนกระทั่งมีการกำหนดการแถลงข่าวต้องรับข้อมูลจากผู้ว่าเท่านั้น วันละ 2 รอบ ทำให้วางแผนการทำงานได้ง่ายขึ้น ผมใช้สิ่งที่ผู้ว่าแถลงนั่นแหละ เอาข้อมูลนั้นมาใช้ เช่นแถลงรอบเช้า ผมก็เอาข้อมูลมาแกะ ส่วนหนึ่งก็รายงานจากประเด็นที่ผู้ว่าฯ แถลง อีกส่วนก็เอาไปหาข้อมูลต่อ ลงพื้นที่ เพื่อมาขยายและเล่าเรื่องให้คนดูเห็นภาพชัดขึ้นจากสิ่งที่ผู้ว่าแถลง ซึ่งเป็นข้อมูลที่เรายืนยันได้ มันทำให้ข่าวชัดเจน และเรามีข่าวที่จะเล่นต่อเนื่องได้ แม้จะมีการแถลงแค่วันละ 2 ครั้ง

ผมประทับใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่สามารถช่วยเหลือทั้ง13 คนออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่วินาทีที่รู้สึกว่ามันตื้นตันมากที่สุด คือตอนที่รถพยาบาลกำลังนำน้องคนสุดท้ายไปส่ง โรงพยาบาล  ผมรายงานอยู่เส้นทางที่รถเคลื่อนผ่าน ก่อนเข้าไป โรงพยาบาล  ตอนนั้นแค่ได้เห็นแสงไฟฉุกเฉินของรถพยาบาล  ถึงจะมองไม่เห็นเลยว่ามีอะไรข้างในรถบ้าง แต่มันตื้นตัน ที่คนสุดท้ายเขาถึงมือแพทย์ น้ำตามันออกมาเอง  มันเห็นพลังของทุกคนจริงๆที่ยินดีและมีความสุข  พอรถเคลื่อนผ่าน ทั้งเสียงเฮ  เสียงตบมือดีใจ เสียงคนร้องไห้ มีคนพูดว่าจ่าแซมหลับให้สบายนะ จ่าแซมทำสำเร็จแล้ว  มันก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่เลย  ตอนที่รายงานข่าว ผมสัมภาษณ์ชาวบ้าน เขาบอกว่า ขอบคุณจ่าแซมมากๆ ภารกิจที่จ่าแซมทำสำเร็จแล้วนะ  ดีใจทั้งที่น้องปลอดภัย และดีใจที่เจ้าหน้าที่ทำสำเร็จแล้ว เพราะเราอยู่ตรงนั้น เราเห็นว่าทุกคนทุ่มเทกันมากจริงๆ

0อย่าหวั่นไหวเพราะเรามีมาตรฐาน

เสียงวิจารณ์ที่มีต่อสื่อ ในอีกมุมหนึ่งผมรู้สึกว่า มันก็ยังมีคนที่เข้าใจและให้กำลังใจการทำงานของสื่อ  ไม่ได้มองสื่อในแง่ร้ายไปทั้งหมด อย่างผมเจอกับตัวคือคุณลุงท่านหนึ่ง เป็นเจ้าของร้านเค้กจากจังหวัดตรัง  มาเยี่ยมลูกที่เชียงราย บังเอิญได้เจอกัน ก็บอกว่าดูข่าวที่รายงานแล้วร้องไห้ตาม เพราะรู้สึกเอาใจช่วยน้องๆไปด้วย   คุณลุงขี่รถจักรยานยนต์ตามเอาขนมมาให้  ผมรู้สึกว่าในขณะที่สื่อมวลชนถูกสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ มีคนที่ตำหนิการทำงานของสื่อ แต่การมีจุดยืนในการรายงานข่าว ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เห็น หรือรายงานข้อมูลที่ยืนยันได้ มันทำให้งานของเราได้รับความน่าเชื่อถือ  คำว่างานสื่อสารมวลชน มันก็บอกอยู่แล้วว่าเราเป็นสาธารณะ มีหน้าที่ที่ต้องรายงานสิ่งต่างๆให้คนได้รู้  มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะถูกติเตียน จับตา ผมอยากให้กำลังใจสื่อ  ถ้าเราทำงานตามบรรทัดฐานที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องหวั่นไหว แค่พิจารณาว่าเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เป็นแบบนั้น ก็ไม่อยากให้เก็บมาคิดจนบั่นทอน  เราจะได้มีพลังในการทำงานต่อไป

 

 

โมเดลถ้ำหลวงต่อยอดระดับชาติ

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา “หนึ่ง”

หัวหน้ากอง บก.ข่าว PPTV

อายุ 38 ปี อายุงาน 17 ปี


“วันแรกที่เราทราบเหตุการณ์ ก็ส่งทีมไปทำข่าว แต่คิดว่าเคสนี้ไป 3 วันก็พอ มีกู้ภัยแล้ว มันไม่น่าจะนาน เพราะถ้ำก็มีแค่นั้น เข้าไปก็ค้นหาในนั้น พอหน่วยซีลมา ความที่ผมเคยทำข่าวกู้ภัย ทำข่าวทหารมาเยอะ ถ้า “ซีล” มา คือมันต้องจบแล้ว เพราะเป็นหน่วยที่ศักยภาพสูงสุด จนมาวันที่ภาคสนามรายงานว่า ซีลถอยกำลังออกไป เพราะน้ำท่วมในถ้ำ เข้าไม่ได้ และมีการขึ้นไปหาโพรงด้านบน  ตอนนั้นในกอง บก. ก็คุยกัน ว่าต้องปรับแผน  ซึ่งตอนนั้นผมจะตามประเด็นนี้อยู่แล้ว ในกอง บก. จึงตัดสินใจว่าให้มาเลยแล้วกัน  แล้วปรับทีมข้างในกันใหม่ โดยให้งานภาคสนาม ผมเป็นเซ็นเตอร์ ดูแลและประสานแจ้งเข้าไปข้างใน ส่วนทีม บก.ข้างใน ก็จะไปทำ side story ต่างๆ เพื่อประกอบเรื่อง เช่น ดูงานวิจัยถ้ำ ดูประวัตินักดำน้ำที่มา มันทำให้งานแบ่งชัดเจน และเก็บรายละเอียดมาประกอบกันได้แน่นขึ้น

การมี บก.ออกไปกำกับดูแลในพื้นที่ มันช่วยได้มากในเคสที่ต้องการการเติมเต็ม การวิเคราะห์ประมวล มีคนที่คอยดูมุมกว้างของหน้างาน นั่งข้างสนามเป็นโค้ช คอยมองภาพรวมผู้เล่นในสนาม ว่าต้องเปลี่ยนตัวยังไง ต้องปรับเกมยังไง เวลาที่เราเติมทีม เราจึงเลือกใช้ บก. ลงไปเป็นตัวเติม เพื่อให้งานสนามสมูทมากขึ้น จริงๆอาจจะไม่ต้องเป็นผมก็ได้ อาจจะเป็น บก. คนอื่นก็ได้ แต่ผมอาจมีข้อที่เหมาะกับงานนี้ เพราะเป็นผู้รายงานข่าวภาคสนามโดยปกติอยู่แล้ว ในกรณีที่จำเป็น จะสามารถไปรายงานได้ด้วย

อีกอย่างคือจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง กอง บก. ข้างใน กับทีมสนาม  มันทำให้นักข่าวไปโฟกัสประเด็นหน้างาน ไม่ต้องกังวลการประสานกับออฟฟิศข้างใน  เราอยู่หน้างาน เราเห็นว่านักข่าว เจอกับอะไร ต้องทำอะไร อะไรควรเสียเวลา อะไรไม่ควรเสียเวลา เช่น ให้ไปหาคำตอบว่าตอนนี้ “ซีล” เข้าไปถึงไหนแล้ว คนหน้างานจะรู้ว่ามันหาคำตอบไม่ได้ มันไม่มีใครมายืนยัน แต่คนข้างในแน่นอนว่าเขาอยากได้คำตอบ แต่เขาไม่เห็นภาพว่าหน้างานมันไม่มีใครให้คำยืนยันได้ หรือมีกระแสข่าวจากเพจนั้นบอกว่าอย่างนี้ จริงไหม ไปเช็คสิ หรือจะเอารายงาน 3 จุด  จะเอาอะไรรายงานถ้าไม่มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญ เราช่วยตัดสินใจได้  ช่วยการดีไซท์ได้ กระบวนการตรงนี้มันช่วยทำให้ลดความหงุดหงิดระหว่างข้างในกับข้างนอก และทำให้ประเด็นที่รายงานออกไป มันมีอะไรมากขึ้น ไม่ใช่แค่รายงานเพียงเพื่อให้มี  เพราะ บก. จะช่วยการมองงานในภาพรวมให้ได้ และเราเข้าใจอยู่แล้วว่าสั่งไปมันทำได้หรือไม่ได้ ยิ่งเราอยู่หน้างาน เรายิ่งเข้าใจ

0 ต้องถอดบทเรียนทั้งระบบ

สำหรับผมประทับใจระบบการจัดการภัยพิบัติในการจัดการครั้งนี้ของประเทศไทย คืออาจจะเคยผ่านการทำข่าวภัยพิบัติต่างๆมาเยอะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  มันทำให้ได้เห็นทั้งระบบที่ดี และระบบที่ยังไม่เคยเห็นในประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น เขามีระบบการจัดการ ที่ดี แบ่งงานชัดเจน มีผู้รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ แต่ละจุด มีการสั่งการชัดเจน มีการแปะมือส่งต่อกัน ประเมินศักยภาพในการทำงานของตัวบุคคล ไม่ได้ดูแค่ความปลอดภัยของผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ดูความปลอดภัยของตัวผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือด้วย

ที่ “ถ้ำหลวง” เราเริ่มจะมีภาพแบบนั้นในการจัดการภัยพิบัติของเรา มีการแบ่งงานที่ชัดเจน เช่น อุทยานไปดูการจัดการทางน้ำ มีทีมเจาะบาดาล มีทีมที่ไปหาโพรง คือจ่ายงานชัดเจน ทุกคนมีหน้าที่และไม่ก้าวก่ายกัน มันทำให้ทุกอย่างมีคำตอบหมด ว่าทำถึงไหน ทำได้ไม่ได้ ทำสำเร็จไม่สำเร็จ จะแก้ยังไงต่อ ถึงแม้ว่าพื้นที่ถ้ำหลวงจะมีความซับซ้อนของสภาพพื้นที่ แต่จุดเกิดเหตุไม่ได้กว้าง ต่างจากเคสน้ำท่วม หรือเหตุอื่นๆ ที่พื้นที่ประสบภัยกว้าง ผู้ประสบภัยเยอะกว่า แต่วิธีจัดการและวิธีคิดแบบนี้ มันมาถูกทางแล้ว มันน่าประทับใจที่ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี น่าจะเป็นโมเดลต้นแบบที่เอาไปพัฒนาต่อได้

อีกอย่างที่น่าประทับใจคือ ได้เห็นการรวมตัวกันขององค์ความรู้มากมาย  ทั้งคณิตศาสตร์ วิศวกรรม ทรัพยากรธรณี ชลประทาน คือเรียกว่าทุกศาสตร์องค์ความรู้มารวมกันอยู่ที่นี่ เพื่อช่วยกันออกแบบในการแก้ปัญหา จาก Mission Impossible ที่ทุกคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ น้ำท่วมถ้ำมิด ทางเข้าออกแคบๆ ที่ยากจะผ่านเข้าออกได้ แต่สุดท้ายก็ทำสำเร็จ เหตุการณ์นี้ ผมว่ามันมีคุณูปการมากๆ

หลังผ่านเหตุการณ์มา เรามีการถอดบทเรียนการทำงานของสื่อ ถอดบทเรียนจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แต่ผมว่าสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ที่เราอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก นั่นคือ ระบบการทำงาน ความรู้ เทคนิค  ศาสตร์ต่างๆที่ถูกนำมาใช้ในภารกิจครั้งนี้ มันควรที่จะมีการถอดบทเรียนองค์ความรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเรามีทีมกู้ภัยที่สูง มีเรื่องการเปลี่ยนทิศทางน้ำ การกู้ภัยถ้ำ การดำน้ำในถ้ำ ต้องมีการวางไลน์เชือก ต้องเอาถังอากาศไปวางทุก 25 เมตร มีหน้ากากเต็มใบ มีอาหารพาวเวอร์เจลที่เอามาใช้ในการช่วยเหลือ   คือเราไม่มีทางรู้หรอกว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกหรือไม่ องค์ความรู้หลายๆอย่าง ณ เวลาที่เกิดเหตุ มันอาจจะไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เวลานี้ มันผ่านการใช้มาแล้ว ถ้ามันจะไม่ถูกนำมาเปิดเผยเบื้องหลังความสำเร็จ ถ้าจะถูกเก็บไว้เพียงแค่คนที่มีความรู้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการถ่ายทอดออกสู่สาธารณะ ผมว่ามันน่าเสียดาย

ถามว่าทำไมวันแรกเราใช้เวลาในการช่วยเด็กออกมานานที่สุด แต่วันที่สองที่สามเร็วขึ้นเรื่อยๆ เพราะอะไร นั่นเพราะเขาเคยทำได้สำเร็จแล้ว มันมีความเข้าใจแล้ว เหมือนการอาบน้ำหน้าหนาว ยากแค่ขันแรก คนที่เคยทำก็ทำได้ แต่คนที่ไม่เคยทำล่ะ ถ้ามันเกิดเหตุแบบนี้อีก เราต้องไปตามคนที่ทำได้กลับมาทำเหรอ มันควรจะถูกถ่ายทอด การทำแผนที่ถ้ำ ซึ่งปรากฏว่าคนที่รู้มากที่สุดคือชาวต่างชาติ ไม่ใช่คนไทย เราควรกางองค์ความรู้เหล่านี้ออกมา หรือสกัดเป็นตำรา อะไรควรถ่ายทอดออกสู่สาธารณะได้ หรืออะไรที่ควรถ่ายทอดต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อที่มันจะไม่ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น และจบลงด้วยแค่ความสุขที่สามารถ

ช่วยเหลือ 13 ชีวิตออกมาได้สำเร็จ แต่สุดท้ายมันจะเป็นประโยชน์และต่อยอดอะไรไปได้อีกมากมาย