‘3อดีตนักข่าวหญิง’ สู่ ‘นักการเมือง’ เมื่อเขาว่า ‘สื่อ’ มาลงการเมืองจะ ‘ไม่รุ่ง’ ?

Special Report

โดย กองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน


‘3อดีตนักข่าวหญิง’ สู่ ‘นักการเมือง’

เมื่อเขาว่า ‘สื่อ’ มาลงการเมืองจะ ‘ไม่รุ่ง’ ?

.         ในแวดวง ‘นักการเมือง’ เป็นแหล่งรวมผู้คนหลากหลายวงการอาชีพ ที่กระโดนมาลงสนามการเมือง ทั้งนักกฎหมาย แพทย์ วิศวกร นักธุรกิจ อดีตข้าราชการ แม้แต่อาชีพที่มี ‘นักการเมือง’ เป็น ‘แหล่งข่าว’ ก็มาลงสนามการเมืองหลายคน นั่นคืออาชีพ ‘สื่อมวลชน’ ที่สำคัญพวกเขาเหล่านี้ มีบทบาทนำในพรรคการเมืองต้นสังกัดไม่น้อย

.         หากกล่าวถึง ‘3 อดีตคนสื่อ-นักข่าวหญิง’ ในสนามการเมืองที่เคยเป็นอดีตสื่อมวลชน กับบทบาทวันนี้ ที่ใส่เสื้อ”นักการเมือง”และมีตำแหน่งในพรรคในฐานะ”‘ทีมโฆษกพรรค’ ด้วย จาก 2พรรคใหญ่ และ 1พรรคการเมืองตั้งใหม่แต่ถูกจับตามองตั้งแต่เริ่มตั้งพรรค   นั่นคือ

‘ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข จากพรรคประชาธิปัตย์”- ‘หมวดเจี๊ยบ’ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต แห่งพรรคเพื่อไทย และ‘ช่อ-พรรณิการ์ วานิช แห่งพรรคอนาคตใหม่” อันเป็น 3 พรรคที่ ‘จุดยืน-อุดมการณ์-แนวทางการเมือง’ ของพรรคต่างกันหลายเรื่อง แต่ในบางเรื่องก็คล้ายกันอยู่บ้าง (ตามทิศทางลม)

แต่ทีมงานเพจจุลสารราชดำเนิน เราไม่ได้มาคุยเรื่อง ‘การเมือง’ แบบที่โฆษกพรรคมักถูกตั้งคำถามถึง แต่เราจะให้เล่า ‘อดีต’ ถึง ‘ปัจจุบัน’ ในการเป็น ‘สื่อมวลชน’ แล้วมาเป็น ‘นักการเมือง’ มีหนทางที่ได้เปรียบหรือยิ่งกดดัน อีกทั้งคำปรามาสที่ว่าคนเป็น ‘สื่อ’ มา ‘เล่นการเมือง’ มักไป ‘ไม่รุ่ง’  ทั้ง ‘3 อดีตนักข่าวหญิง-พิธีกรอ่านข่าว’ จะโต้คำปรามาสนี้อย่างไร หรือ ยอมรับว่าเป็นจริง ?

.         จากการพูดคุยกับทั้ง ‘3หญิงแกร่ง’ ระบุตรงกันว่า การเป็นสื่อแล้วไปเป็นนักการเมือง มีความ ‘ได้เปรียบ’ มากกว่า ‘เสียเปรียบ’ ในการเจอสิ่งที่ท้าท้ายต่างๆ


.         เริ่มที่ ‘หมวดเจี๊ยบ’ อดีตผู้สื่อข่าวช่องสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ที่ทำงานข่าวมากว่า 5 ปี และลงสู่สนามการเมืองมา 5 ปีในเสื้อพรรคเพื่อไทย จนได้ตำแหน่ง รองโฆษกรัฐบาล ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรรวมถึงรองโฆษกพรรคเพื่อไทยในเวลานี้   ระบุว่า เข้าใจขบวนการผลิตข่าวของสื่อเป็นอย่างดีจากประสบการณ์ โดยเฉพาะระยะเวลาในการผลิตข่าว หรือ pre-production แม้จะคนละหน่วยงานกันก็ตาม แต่ทีมโฆษกในฐานะผู้ส่งสารออกไปก็คือหนึ่งในขบวนการผลิตข่าว การสื่อสารของโฆษกจึงต้องประเด็นชัด รวดเร็ว ตรงตามที่ต้องการจะชี้แจงสังคม เพื่อลดระยะเวลาการทำงานของสื่อไปในตัว

.         แต่สิ่งสำคัญที่ ‘หมวดเจี๊ยบ’ ย้ำคือการให้ความสำคัญกับสื่อทุกประเภททั้งสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ออนไลน์ ไม่ว่าจะหัวใหญ่หรือหัวเล็ก เพราะตนเข้าใจถึง ‘หัวอก’ ของ ‘สื่อหัวเล็ก’ ที่โอกาสเข้าถึงแหล่งข่าวยากกว่า ‘สื่อหัวใหญ่’ และการเปิดกว้างกับนักข่าวรุ่นใหม่ๆที่เพิ่งเข้าสู่วงการ ให้ได้ข่าวไปเช่นกัน

.         ด้าน ‘ช่อ-พรรณิการ์ วานิช แห่งพรรคอนาคตใหม่’ นักการเมืองเฟรชชี่ ที่เข้ามาทำงานการเมืองได้เพียง 2 เดือนครึ่ง โดยหลังเรียนจบ ปริญญาโท ก็มาอยู่ที่ช่อง วอยซ์ ทีวี ถึง 6 ปี 6 เดือน ระบุว่า สื่อและนักการเมือง มีความเหมือนกันมาก แต่คนทำสื่อจะมองทั้งเรื่องรายได้และอุดมการณ์ จรรยาบรรณ ที่สำคัญคือการส่งต่อ ‘ความเชื่อ’ ไปยังคนอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งการมาเป็น ‘นักการเมือง’ เราก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยมีอำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการ ดังนั้นสื่อและนักการเมืองจึงรับใช้สิ่งเดียวกัน แต่มีวิธีการต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคืออำนาจรัฐที่ได้มาต้องชอบธรรม เป็นของประชาชน เพื่อป้องกันการแทรกแซงสื่อด้วย

ซึ่ง ‘ช่อ-พรรณิการ์ มองว่า การเป็นสื่อมาก่อน จึงเข้าใจว่าสื่อต้องการอะไร มีวิธีการทำงานอย่างไร ซึ่งการเป็นสื่อมาก่อนก็ทำให้เราเข้าใจมวลชนและประชาชน เข้าใจวิธีการสื่อสารต่างๆให้ตรงจุด จึงเป็นจุดที่ทำให้ ‘สื่อ’ ที่มาเป็น ‘นักการเมือง’ ได้เปรียบคนอื่นๆ

.         ด้าน ‘ติ่ง-มัลลิกา’ ที่อยู่ในวงการข่าวโดยเฉพาะการเป็นนักข่าวสายการเมืองมา 10 ปีที่ช่องไอทีวีก่อนจะหันมาเป็นนักการเมืองที่อยู่บนถนนสายนี้มาร่วม  10 ปี ระบุว่าการเป็น ‘สื่อ’ แล้วมาเป็น ‘นักการเมือง’ นั้น ได้เปรียบมาก ด้วยความเป็นสื่อมาก่อน ทำให้สิ่งที่เสนอออกไป มีต้นทุนว่าเป็นข้อมูลที่ ‘น่าเชื่อถือ’ เพราะมีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ มีข้อเท็จจริงชัดเจนและลึก มีฐานข้อมูลที่ดี เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และการบริหารจัดการต่อไป ดังนั้นจะเข้าไปทำงานทางการเมืองได้ดีขึ้น เพราะเป็นทักษะด้านการสื่อสารที่ติดตัวมา

.         ขณะที่ ‘ติ่ง-มัลลิกา’ ก็มองการทำงาน ‘สื่อ’ กับ ‘นักการเมือง’ นั้นแตกต่างกัน การทำงานสื่อเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่มีแรงกดดันต่อผลตอบรับที่กลับมา สามารถนำเสนออย่างตรงไปตรงมาได้ แต่พอมาเป็น ‘นักการเมือง’ ต้องมีเรื่องความสมดุลที่จะต้องให้ผลเป็นบวกมากกว่าลบกลับมา

.         ส่วนการเปลี่ยนจาก ‘สื่อ’ มาเป็น ‘แหล่งข่าว’ นั้น ก็ไม่เป็น ‘อุปสรรค’ กับ ‘3อดีตคนสื่อหญิง’ แต่ย้ำถึง ‘จุดยืน’ ระหว่าง 2 สถานะ ที่แตกต่างกัน

.         โดย ‘หมวดเจี๊ยบ’ ระบุว่า สื่อและนักการเมืองมีความแตกต่างกันเพราะต้อง ‘ตรวจสอบถ่วงดุลกัน’ ในการสื่อสารกับประชาชน ซึ่งเราจะต้องให้ข่าวทุกสำนักอย่างเท่าเทียม ไม่เหมือนสมัยที่ตนเป็นนักข่าวที่ส่งให้เพียงต้นสังกัดก็พอแล้ว แต่การทำหน้าที่ทีมโฆษกต้อง ‘ระวังตัว’ มากขึ้นด้วย สิ่งใดไม่ดีก็ไม่ควรทำ เพื่อไม่ให้สื่อต้องมาขุดคุ้ย แต่สื่อก็เป็นคนที่คอยเตือนเราด้วย เช่น สมัยมาเป็นโฆษกใหม่ๆ ก็มีสื่อเตือนเรื่องการวางตัว ในการแต่งกาย โดยสื่อก็ดูเราตั้งแต่หัวจรดเท้า เพื่อให้เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง

.         ด้าน ‘ช่อ-พรรณิการ์”มองว่า จากการเป็น ‘สื่อ’ แล้วมาเป็น ‘แหล่งข่าว’ นอกจากเราเข้าใจการทำงานของนักข่าวแล้ว ก็ช่วยในเรื่องการได้ชี้แจง พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เพราะเราชอบเรื่องการพูดคุยอยู่แล้ว แต่พอมาเป็นนักการเมืองก็มีบางอย่างที่พูดไม่ได้ เพราะ ต้องรอมติพรรคหรือผ่านที่ประชุมพรรคก่อน แต่การเป็นสื่อมาก่อนก็ทำให้เราเข้าใจคนอีกฝ่ายมากขึ้น

.         ส่วน ‘ติ่ง-มัลลิกา’ มองอีกมุมว่า ช่วง 5 ปีหลัง ที่ทำงานการเมืองมา ก็เป็นทั้ง ‘สื่อ’ และ ‘แหล่งข่าว’ พร้อมๆกัน เพราะตนก็สื่อผ่านโซเชียลมิเดีย ทั้ง Facebook Twitter Instagram ในการสื่อสารกับสื่อและประชาชน แต่ก็ยังคงสื่อสารกับสื่อหลักทั้งสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์เช่นเดิมอยู่ด้วย ที่สำคัญยังได้ตระเวนไปพื้นที่ต่างๆเพื่อพบกลุ่มต่างๆ ในการอบรมการใช้โซเชียลมิเดีย วันละ 4 ชั่วโมง ทั้งการเรียนทฤษฎีและปฏิบัติจริง

คนสื่อบนถนนการเมือง เล่นได้แต่ไม่รุ่ง?

.         ส่วนคำปรามาสที่ชอบพูดกันว่า ‘สื่อ’ มาลง ‘สนามการเมือง’ มัก ‘ไม่รอด’ หรือ ‘ไม่รุ่ง’ นั้น ? ทั้ง ‘3 อดีตนักข่าว-คนสื่อ ’ ปฏิเสธอย่างจริงจัง พร้อมตั้งคำถามกลับต่อคำปรามาสทันที

ประเด็นนี้ ทัศนะ ‘หมวดเจี๊ยบ’ ระบุว่าการจะชี้ชัดว่า ‘รุ่ง’ หรือ ‘ประสบความสำเร็จ’ หรือไม่นั้น ต้องดูว่าจะต้องไปถึงจุดใด สิ่งสำคัญคือการ‘พอใจ’ ในตัวเราเอง ว่าเราได้ทำตามเป้าหมายของเราได้หรือไม่ ส่วนตัวพอใจกับจุดที่ยืนอยู่ในวันนี้ที่ได้ทำงานด้วยใจรัก สิ่งที่เราทำเปรียบเหมือนการ‘หยอดเงินลงกระปุก’ ในวันหนึ่งโอกาสสำคัญก็จะเข้ามาหาเรา แต่โอกาสนั้นจะมาถึงหรือไม่ ก็อยู่ที่ ‘ความสามารถ’ ของเราควบคู่กัน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การพัฒนาตัวเราเสมอ

.         “ที่ผ่านมาเรามีไอเดียในการนำเสนอทางการเมือง แต่เราไม่ได้มีภูมิหลังครอบครัวทำงานการเมือง ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นพรรคในช่วงการเป็นรัฐบาลและช่วงที่พรรคไม่มีอำนาจว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งการทำงานตรงนี้การจะประสบความสำเร็จ ใช่ว่าจะต้องชี้วัดที่การมีตำแหน่งเพียงอย่างเดียว เพราะหลายคนที่ทำงานการเมือง ก็ต้องการเพียงแค่นำเสนอความต้องการหรือความเดือดของประชาชนก็พอแล้ว มีความสุขในการเป็น กระบอกเสียง ช่วยคนที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคม หรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ”

.         มุมดังกล่าว ‘ช่อ-โฆษกพรรคอนาคตใหม่’ ถามกลับว่า ที่ว่าไม่รุ่งในจุดนี้ คำว่า ‘รุ่ง’ และการจะ ‘ประสบความสำเร็จ’ ต้องเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละคนมีเป้าหมายต่างกัน เช่น ในการเป็นนักข่าว หลายคนก็อยากอยู่ในภาคสนาม แต่หลายคนก็อยากเข้ามาเป็นบรรณาธิการ ดังนั้นคำว่า ‘รุ่ง’ จึงอยู่ที่ว่าเราให้ความสำคัญกับอะไร เช่นเดียวกัน การเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ หรือ ‘รัฐบาล’ ก็สามารถผลักดันสังคมไปข้างหน้าได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เราอยากได้ตำแหน่งใด แต่หากเราได้ทำตามอุดมการณ์ที่เรามีอยู่ ตนเชื่อว่าคนไม่น้อยก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงแค่วัดผ่านการมีตำแหน่ง เช่น เก้าอี้รัฐมนตรี เป็นต้น

.           ปิดท้ายที่ “ติ่ง-มัลลิกา’ ย้ำว่า การที่ระบุว่า ‘ไม่รุ่ง’ นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะอดีตสื่อที่ไปทำงานการเมืองแล้วมีตำแหน่งก็มีให้เห็น เช่น นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรมช.แรงงานและสวัสดิการสังคม สมัยรัฐบาลไทยรักไทย  นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรมต.สาธารณสุข  สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นรุ่นเก่าแต่เก๋า ดังนั้นจะ ‘รุ่ง’ หรือ ‘ไม่รุ่ง’ จึงไม่ได้อยู่ที่อาชีพ จะมาเหมารวมอาชีพสื่อไม่ได้ เพราะอยู่ที่ตัวตนไม่ใช่อาชีพ

.         จากการเปิดใจของ ‘3อดีตนักข่าวหญิง’ แม้ต่างพรรค ต่างประสบการณ์ แต่ก็มีจุดร่วมที่ชัดเจน คือ ‘อุดมการณ์’ และ ‘ความเชื่อ’ ในการไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ในการมองภาพรวมของสังคมเป็นหลัก หากทั้ง ‘3 อดีตคนสื่อหญิง” ได้เข้าสภาฯพร้อมกัน มีเรื่องให้ต้องติดตาม แบบที่กะพริบตาไม่ได้แน่นอน