กองทัพในบท “สื่อ” ตั้ง“เพจทหาร”ปรับตัวรุกโซเชียล

กองทัพในบท “สื่อ”

ตั้ง“เพจทหาร”ปรับตัวรุกโซเชียล

เรื่อง – ทีมงานจุลสารราชดำเนิน  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

เป็นปรากฏการณ์ปกติไปแล้ว สำหรับการส่งข่าว และภาพข่าว ของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน   ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ในลักษณะของไลน์กลุ่ม ให้ผู้สื่อข่าว  จากนั้นก็ผู้สื่อข่าวก็ส่งให้สำนักข่าวที่ตนเองสังกัดเพื่อนำไปเผยแพร่  ในลักษณะ  “ก็อป-วาง”(Copy –paste ) ด้วยความรวดเร็ว  ทันกับสถานการณ์ข่าวออนไลน์ที่แข่งขันกันสูง

แม้กระทั่งกองทัพ ซึ่งในอดีตอ่อนไหวต่อคำว่า  “กระทบความมั่นคง” ยังต้องใช้วิธีการดังกล่าวในการส่งต่อข้อมูลในการประชาสัมพันธ์ ตอบโต้ข้อมูลที่ถูกกล่าวหา ผ่าน “ไลน์กลุ่ม” เช่นกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4 ปีหลัง ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  เข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ โดยกองทัพยังมีบทบาทหลักในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย กลไกในการชี้แจงประเด็นที่ถูกฝ่ายต้าน คสช. แฉ เปิดโปง กล่าวหา  จึงต้องให้ทีมงาน โฆษกคสช. ในการชี้แจงอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างภาพลักษณ์บวกให้ กับคสช. กองทัพ และ “ทหาร” ในฐานะกำลังพลของหน่วย ที่ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางหลักคือ “ไลน์กลุ่ม”

ที่น่าสนใจคือการเปิดตัวของ “เพจทหาร” จำนวนไม่น้อย ที่จัดทำโดยหน่วยงานของกองทัพ กลายเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ 13 นักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอน  เพจที่ชี่อว่า Thai NavySEAL  ของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือหน่วยซีล กลายเป็นเพจทหาร ยอดฮิต จากมียอดติดตามแค่ 1.6 หมื่น พุ่งสูงขึ้นเป็น1.2 ล้าน และปัจจุบันมียอดติดตาม 1.7 ล้านวิว ทั้งที่เป็นเพจของหน่วยทหาร  แต่นำเสนอความเคลื่อนไหว “วงใน” ที่เป็นข้อเท็จจริง จึงมีการนำไปแชร์และส่งต่อ ส่งผลให้คนเริ่มติดตามเพจของหน่วยทหารมากขึ้น

 

ไลน์กลุ่ม-เพจ- อินโฟฯ

ตอบโต้ ชี้แจง ไอโอ

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้เพจดังกล่าว “ติดลมบน”เพราะ แอดมินมีอาชีพของความเป็นสื่อ และ มีความใกล้ชิดกับหน่วยซีล จึงสามารถโพสต์ข่าวได้รวดเร็ว  ใช้ภาษาที่เข้าถึง  แต่ก็ไม่กระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่  นอกจากนั้น  Thai navySEAL  ยังส่งผลให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเหล่าทัพได้ขยับตัวในการพัฒนาช่องทางการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น

 

หากย้อนไปในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การเปิดตัวของเพจทหาร ของหน่วยราชการมากขึ้น ถ้ามองในแง่ของการปรับตัวให้ทันยุคสื่อดิจิทัล ก็ถือว่าเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก แต่หากมองในแง่ “ยุทธวิธี” ก็ถือได้ว่าน่าสนใจในแง่อิทธิพลของการนำเสนอ  เมื่อสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือที่ได้เปรียบในการเลือกส่งข้อมูลไปยังกลุ่มผู้รับสารโดยตรง  โดยไม่ต้องพึ่ง “สื่อหลัก” เหมือนเมื่อก่อน

แม้ในปัจจุบัน  เพจเหล่านั้น จะยังไม่กระจายตัว หรือ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายด้วยเนื้อหาที่ยึดติดการเขียนแบบทางการ  ทั้งการใช้ภาษา และ การนำเสนอ ที่ยังไม่สามารถดึงดูดคนเข้ามาคลิกดูได้ทันที  แต่การพัฒนาของหน่วยในการยกระดับเนื้อหา และ ภาพ ให้จับต้องได้มากขึ้น  ทางหน่วยงานก็ได้เริ่มดำเนินการกันแล้ว

กระนั้น การพึ่ง “สื่อหลัก” ในการกระจายข่าวสารยังมีความสำคัญอยู่ โดยปัจจุบัน“สื่อหลัก” ที่ประจำอยู่ในสายงานทหาร และ ความมั่นคง ที่รับข่าวสารทาง “ไลน์กลุ่ม” ต้องส่งข่าวที่มีปริมาณมากขึ้นในแต่ละวันเพื่อป้อนทั้งสื่อออนไลน์ ที่ต้อง “เร็ว” และบางคนต้องนำมารีไรท์เพิ่มเติมข้อมูลให้ครบถ้วนในข่าวเพื่อส่งใน “เวอร์ชั่น” ของหนังสือพิมพ์ – โทรทัศน์  ทำให้ในแต่ละวัน  การค้นหาประเด็น “ซีฟ”(exclusive)  หรือ “สืบสวน” (investigate) ลดความถี่ลง

 

เหตุเพราะ1. เนื้อหาที่หน่วยทหารส่งให้มีความรวดเร็ว ทันในช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวันต่อวัน

2. เนื้อหามีความคลอบคลุม มีตัวเลข มีแหล่งข่าว (โฆษกฯ ) ในการอ้างอิงเป็นคำสัมภาษณ์

3.  เมื่อต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถาม ตอบโต้กันทั้งในไลน์กลุ่ม และ “หลังไมค์” (ถามไลน์ส่วนตัว

4.   ปริมาณข่าวในแต่ละวันมากพอ และ เนื้อหาสามารถสนองตอบต่อการนำเสนอข่าวได้ทุกสื่อ

จึงมีคำถามตามมาว่า “ข่าว” ในลักษณะ “ก็อป-วาง”นี้เพียงพอหรือไม่ในการทำหน้าที่สื่อ  เพราะสิ่งที่ขาดไปคือการทำหน้าที่ “ตรวจสอบ”และ “ค้นหาความจริง”

กลายเป็นคำถามว่า ในอนาคต “สื่อหลัก”ยังไม่มีความจำเป็นหรือไม่?  ถ้าหน่วยงานต่างๆในกองทัพได้พัฒนา “เพจทหาร” ที่มีอยู่จนสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจนกลายสถานะเป็น “สื่อ”เสียเอง

จากการสำรวจข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของหน่วยทหาร พบว่ามี “ไลน์กลุ่ม” ทั้งกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย กลุ่มเฉพาะ ที่มีสมาชิกในกลุ่มมาก- น้อยแตกต่างกันไป  โดยมีตั้งแต่ระดับเหล่าทัพ  กองทัพภาค  กรม ลงไปถึงระดับกองพัน  และการแยกย่อยเป็นส่วนประชาสัมพันธ์

ขณะที่ “เพจทหาร”ต่างๆ  ได้เริ่มทยอยเปิดตัวกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการแชร์ภาพภารกิจการช่วยเหลือประชาชน การฝึกทางทหาร ที่สะท้อนถึงความรู้สึก และ การทำงานของทหาร ที่ยากลำบาก เสียสละ ทุ่มเท สร้างความรู้สึกและอารมณ์ร่วมของผู้เข้าไปชม ให้พึงพอใจต่อองค์กรกองทัพ ยังไม่นับการทำ “อินโฟกราฟฟิค” ภาพของ รมว.กลาโหม  ผู้บัญชาการเหล่าทัพ พร้อม “โค้ทคำพูด” ที่กินใจ รวมไปถึงการชี้แจงประเด็นที่ถูกโจมตี ผ่านการโพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊ค หรือแม้กระทั่ง เพจของสำนักโฆษกฯ เช่น สำนักโฆษกกระทรวงกลาโหม มีการถ่ายคลิปโฆษก ฯ นั่งแถลงกันเลยทีเดียว

 

เพจของระดับกองทัพภาคเองก็เริ่มมีบทบาทสำคัญ มีการใช้ภาพที่ดึงดูด  และ เร้าอารมณ์คนที่ชอบงานด้านการฝึกทางทหาร เช่น เพจของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งถือว่า มีการนำเสนอภาพที่สวยงาม โดยมีการฝึกเจ้าหน้าที่ กำลังพล ช่างภาพ (Combat camera)  มีการฝึกอบรม  เป็นระยะ

 

แต่ก็มีคำถามและข้อสงสัยตามมาว่า  การประชาสัมพันธ์ของทหารกลายเป็นงาน “ไอโอ” (Information operation) หรือปฏิบัติการด้านข่าวสารหรือไม่?  ที่บางนิยามอธิบายว่า มันคือการปฏิบัติการทางทหารที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการข้อมูลข่าวสารทั้งของฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้ามให้เป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบในการทำศึกสงคราม เพื่อต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายข้าศึกศัตรู นั่นเอง

หากมาดูในกรอบของกองทัพบกพบว่า หน่วยงานทางด้านไอโอ นั้นอยู่ในส่วนงานของ กรมยุทธการ ของเหล่าทัพ มีประชุมคณะทำงานกับกองประชาสัมพันธ์ทุกสัปดาห์ โดยจะกำหนด”ธีม” การให้ข้อมูลข่าวสารการประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับ ภารกิจ ผลงาน  ภาพลักษณ์  และ สนับสนุนจากของ คสช.-รัฐบาล  เป้าหมายหลักคือให้ข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้  และเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมและงานด้านความมั่นคง โดยกองประชาสัมพันธ์จะไปคิดวิธีการนำเสนอเอง

“สื่อหลัก ยังมีความจำเป็น เพจทหารต่างๆ เป็นการเพิ่มช่องทาง พื้นที่กระจายข่าวสารตามยุคสมัย  เพราะปัจจุบันคนยังดูทีวีมาก และต่างจังหวัด เช่นบางอำเภอ อินเตอร์เน็ตยังใช้งานอย่างจำกัดอยู่ วิทยุก็ยังมีความจำเป็น ในปัจจุบัน เพจ เฟซบุ๊ค ของหน่วยงาน ยังเป็นแค่ช่องทางเสริมตามกลุ่มคนรุ่นใหม่” แหล่งข่าวจากสายงานไอโอระบุ

 

ทหารยุคใหม่ ต้องอบรมถ่ายภาพ

เรียนประชาสัมพันธ์

ขณะที่ พล.ต. ปัณณทัต กาญจนะวสิต เลขานุการกองทัพบก ซึ่งดูแลศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทัพใช้โซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์หลายช่องทางทั้งเฟสบุ๊ค ยูทูป ทวิตเตอร์  เว็บไซด์ อินสตาแกรม โดยมีแผนกแผนฯ ประสานกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก และกรมฝ่ายเสนาธิการ เพื่อนำข้อมูลมาทำเป็นข่าว พร้อมทั้งวางแผนว่าจะประชาสัมพันธ์เรื่องอะไร  เช่น ภาพลักษณ์ ป้องกันแก้ไขความเข้าใจผิดในภาวะวิกฤติ  ข้อกล่าวหา ข่าว ข้อเขียน บทความจากสื่อกระแสหลัก ที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ เราก็จะประสานงานไปยังหน่วยที่ถูกพาดพิงเพื่อให้เขาชี้แจงข้อเท็จจริงให้เรา เราก็เตรียมข้อมูลชี้แจง ผ่านโฆษกฯ

“ส่วนติดตาม ประเมินผล ของศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก จะติดตามข่าวสารตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้เทคโนโลยีเต็มรูปแบบ เราจะติดตามทุกเว็บไซต์ข่าว รวมถึงโซเชียลมีเดียด้วย ถ้าเกิดมีข่าวที่มีผลกระทบทางลบ เราจะติดต่อหน่วยหาข้อมูล และ ตอบทันทีเลย ทุกอย่างต้องเร็ว ช้าไม่ได้ บางครั้งพอหน่วยเขารู้ว่ามีผลกระทบก็เข้าไปถึงเลย ยกตัวอย่าง กรณีภาพเกณฑ์ทหารที่มีผู้ชายร้องไห้ที่จับใบแดงและมีข้อมูลว่า ถูกเกณฑ์ทหารแล้วยายจะอยู่กับใคร ทาง มทบ.11 ก็เข้าไปเลย หาข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจเลย ตอนนั้นเขาอาจจะช็อคที่จับได้ใบแดง”

เขาบอกว่า  เราให้ความสำคัญทั้งเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ และ ชี้แจงสิ่งที่เข้าใจผิด ถ้าช่วงไม่เกิดวิกฤติ เราก็พยายามสร้างภาพลักษณ์เป็นหลัก ตอนนี้ก็ต้องพัฒนาคน เพราะการประชาสัมพันธ์ของหน่วยทหาร ก็ต้องพัฒนาทหารให้มีความรู้ด้านประชาสัมพันธ์ ปัญหาที่มีคือคนที่มีความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์แล้วบรรจุมาก็ไม่มีความรู้ด้านการทหาร จึงเขียนข่าวไม่ถูก ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นทหารก็ต้องเรียนด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเรามีหลักสูตรของกรมกิจการพลเรือนทหารบก มีการเชิญวิทยากรภายนอกมาสอน กับอีกส่วนหนึ่งก็ส่งบุคลากรไปเรียน ที่กรมประชาสัมพันธ์  หรือ ในส่วนของมหาวิทยาลัยภายนอก นอกจากนั้น ใน 1 ปีก็จะมีการจัดสัมมนา 1 ครั้ง จะเลือกหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็จะคุยว่าเราจะวางแนวทางอย่างไร เช่น ครั้งที่แล้วก็มีการพูดกันเรื่องการประชาสัมพันธ์ในยุค 4.0โดยมีผู้แทนหน่วยทั่วประเทศเข้ามา  ในส่วนของภาพถ่ายก็จะมีการฝึกอบรม มีการฝึกกันเอง เรียนรู้จากตำรา เราก็พัฒนาคนเราเป็นระยะ เราก็พยายามหาคนที่เก่งเรื่องคนถ่ายภาพ และมาฝึก

“งานประชาสัมพันธ์ ไม่เกี่ยวกับงาน “ไอโอ” ยืนยันว่านักประชาสัมพันธ์ไปทำงาน ไอโอไม่ได้ ไปทำงานปฏิบัติการจิตวิทยาไม่ได้ เพราะนักประชาสัมพันธ์ต้องพูดเรื่องจริง  ผมจะไม่ยอมทำไอโอแน่นอน แต่เสริมได้ เช่น งานไอโอ จะทำกิจกรรม เราก็ประชาสัมพันธ์ให้ได้ว่า จัดอะไร ที่ไหน ประชาสัมพันธ์ ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อ  ไม่ใช่บอกว่าพูดแต่แง่บวก แต่เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงมากกว่า  โฆษกฯ ของผมจะไม่มีการ ไซโค หรือ โฆษณาชวนเชื่อ ส่วน กรอบเนื้องานการประชาสัมพันธ์ จะอยู่ในงานป้องกันประเทศซึ่งเป็นงานป้องกันชายแดน   งานรักษาความมั่นคงภายใน รักษาความสงบเรียบร้อย พัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชน “

เลขานุการกองทัพบก มองว่า  แม้ช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียจะเข้าถึงมากขึ้น แต่เราคงจะเป็นสื่อเองไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องพึ่งสื่อหลักเพราะสื่อหลักเป็นสื่อมืออาชีพแต่ก็ต้องปรับตัวในยุค  4.0  เช่น หนังสือพิมพ์ ต่อไปก็จะอยู่ในนี้ (ชี้ไปที่โทรศัพท์)  แต่ถ้าไม่มีสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ ก็ไม่ใช่สื่อ ในส่วนของเราก็จะต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะกับแต่ละสื่อที่ส่งผ่านไป ไม่ใช่จะเลือกเฉพาะเจาะจงว่าเฉพาะสื่อนั้นสื่อนี้เพราะมีอิทธิพลต่อคนอ่าน แต่กลุ่มเป้าหมายไม่เหมือนกัน

“ในอนาคตข้างหน้าเราก็ต้องปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ตอนนี้กำลังวางแผนเรื่องการจัดตั้งแผนกสื่ออิเลคโทรนิคส์  ต้องพัฒนาคน และ พัฒนาโครงสร้างด้วย ในอนาคต โฆษกฯเองก็อาจจะมานั่งจัดรายการ มีเฟสบุ๊คไลฟ์บ้าง เราก็ต้องพัฒนาไปตามสื่อที่ประชาชนต้องการ เมื่อก่อนเราซื้อเนื้อที่ประชาสัมพันธ์ เมื่อเรารู้ว่าคนไม่ดู เราก็ลดลงก็ไปให้น้ำหนักตรงอื่น”เลขานุการกองทัพบก กล่าว

ทั้งหมดสะท้อนว่า วันนี้การเปิดแนวรุกด้านสื่อของกองทัพ ยังอยู่ในกรอบของการพัฒนาให้ทันกับยุคสมัย แต่ การประชาสัมพันธ์ของทหารยังต้องพึ่งพา “สื่อหลัก” ในการกระจายข่าวสารอยู่

แม้ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้รับสารจะเลือกรับสารจากหน่วยงานทหารแต่เพียงอย่างเดียว เพราะข่าวที่มาจาก “ผู้สื่อข่าว” ซึ่งทำหน้าที่ คัดสรร เสาะหา  สืบค้น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังข่าวในหน่วยงานด้านความมั่นคง ยังเป็น “เนื้อหา”สำคัญที่ผู้รับสารต้องการอยู่

กุญแจหลักจึงอยู่ที่ “ผู้สื่อข่าว”เองในการพิจารณาเลือกข่าวประชาสัมพันธ์ในการนำเสนอในปริมาณที่เหมาะสม และต่อยอดข่าวให้มากกว่าข้อมูลส่งต่อ พร้อมกับพัฒนาการทำข่าวเชิงลึก ข่าวตรวจสอบ เข้าสู่พื้นที่ข่าว ในฐานะของ “สี่อมืออาชีพ” ให้มากขึ้นด้วย...