เทคโนโลยี-กราฟิก-สามมิติ ไม่สำคัญเท่ากับความถูกต้อง

เทคโนโลยี-กราฟิก-สามมิติ

ไม่สำคัญเท่ากับความถูกต้อง

เรื่อง – กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน


โลกยุคดิจิตัล ทำให้ การรายงานข่าวเปลี่ยนไป สั้น กระชับ ดูเข้าใจง่าย เป็นขั้นตอน และเน้น กราฟิกเป็นตัวอธิบาย

ในทีวีจากยุคแรกๆ เป็นกราฟิก อินโฟกราฟิกจนปัจจุบันใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีพัฒนาเป็น  Immersive Graphic (อิมเมอร์ซีฟ กราฟฟิค) สร้างภาพเหมือนจริง 3 มิติ อย่างที่ปรากฎในหลายช่องโดยเฉพาะการรายงานข่าวถ้ำหลวง ช่วยให้คนดูเข้าใจเนื้อหาง่ายโดยใช้เวลาดูเพียงไม่กี่วินาที

น่าสนใจว่า กว่าจะได้อิมเมอร์ซีฟกราฟิกชิ้นงามๆ  มานำเสนอหน้าจอ แต่ละกองบรรณาธิการ มีการวางแผนอย่างไร


เนติพิกัติ ตังคไพศาล รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และออกแบบ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี  ผู้นำในเทคโนโลยีกราฟฟิค และภาพเสมือนจริงประกอบการรายงานข่าว อธิบายระบบการทำงานของสถานีว่า โดยปกติแล้วทีมกราฟิกของไทยรัฐทีวีจะเป็นฝ่ายทำหน้าที่สนับสนุนกองบรรณาธิการ หมายความว่า กองบรรณาธิการจะทำการสรุปข้อมูลเนื้อหาทั้งหมดในแต่ละวัน และมาประชุมกับทีมออกแบบว่าต้องการจะได้กราฟิกอย่างไร ทีมกราฟิกก็จะดำเนินการให้ตามข้อมูลของกองบรรณาธิการ

สำหรับข่าวเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนนั้นทีมกราฟิก ทำให้ทีมกราฟิกทำงานในเชิงสนับสนุนแบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องมาร่วมทำงานกับกองบรรณาธิการอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยทีมกราฟิกจะต้องคอยติดตามข่าวและความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ เพื่อทำการออกแบบกราฟิกในเบื้องต้นไปก่อน เพราะถ้ามารอให้ทีมข่าวมาทำการสรุปความเคลื่อนไหวในแต่ละวัน การทำงานออกแบบกราฟิกจะไม่ทันกับเวลาอย่างแน่นอน”


เนติพิกัติ อธิบายแง่มุมความแตกต่างของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ว่า ขณะเดียวกัน การทำกราฟิกในลักษณะของอินโฟกราฟิกกับImmersive 3 มิติ มีความแตกต่างกัน โดยถ้าเป็นอินโฟกราฟิกจะไม่ได้มีความซับซ้อนมากนักในแง่ของการผลิตและการใส่เนื้อหา

“แต่ถ้าเป็นกรณีของ Immersive 3 มิติ จะต้องใช้เวลาในการออกแบบพอสมควร เพราะจะต้องนำเสนอไปไฮไลต์สรุปเหตุการณ์ทั้งหมดในแต่ละวัน รวมทั้งยังต้องประสานกับผู้ดำเนินรายการด้วยว่าเมื่อImmersive 3 มิติแล้ว ผู้ดำเนินการจะต้องนำเสนอเนื้อหาให้สอดคล้องกับกราฟิกที่ทีมงานออกแบบอย่างไรด้วย”

ส่วนอนาคตของข่าวทีวีนั้น เนติพิกัติ วิเคราะห์ว่า ส่วนตัวยังมองไม่ออกว่าทิศทางของการพัฒนาในการนำเสนอข่าวและการทำกราฟิกจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยี Immersive ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่วงการโทรทัศน์ของไทย


“แต่คิดว่าสิ่งที่สำคัญในเวลานี้ คือ การรักษามาตรฐานที่เคยทำไว้จากเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน พร้อมกับต้องรักษามาตรฐานของความถูกต้องของข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก เพราะเทคโนโลยีเป็นเพียงแค่ตัวช่วยในการทำงานเท่านั้น แต่ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานข่าว”

พุทธิฉัตร จินดาวงศ์ หัวหน้าผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานีโทรทัศน์ที่ใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอข่าวอย่างเต็มรูปแบบ เล่าถึงการทำงานว่า เวลาเป็นข่าวทีวี ส่วนใหญ่จะมีหลักคิดที่ว่าภาพที่ดีที่สุด คือ ภาพที่บันทึกเหตุการณ์จริงๆซึ่งจะต้องมีทั้งภาพและเสียง แต่การจะใช้เทคโนโลยีเพื่อทำภาพจำลองนั้นหรือImmersive จะใช้เฉพาะสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในเรื่องการบันทึกภาพเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ถ้ำหลวง

“เหตุการณ์หมูป่า มีข้อจำกัดพอสมควรโดยเฉพาะเรื่องภาพ เพราะเป็นเรื่องยากที่ผู้สื่อข่าวหรือช่างภาพจะเข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์ภายในที่เกิดเหตุ ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์ดังกล่าวมีประเด็นค่อนข้างมาก เช่น กระบวนการในการเข้าไปภายในถ้ำของผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน วิธีการดำน้ำเพื่อเข้าไปพื้นที่ด้านในเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงวิธีการนำผู้ประสบภัยออกจากถ้ำ ทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าไม่มีทางที่จะได้ภาพเหตุการณ์จริงในขณะนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการทำภาพจำลองออกมา”

พุทธิฉัตร บอกอีกว่า การทำภาพจำลองนั้นกระบวนการในการผลิตจะมีหลายฝ่ายในกองบรรณาธิการที่เกี่ยวข้อง แต่หลักๆ คือ ทีมผู้สื่อข่าวภาคสนามและทีมกองบรรณาธิการภายในสถานี โดยจะมีลักษณะของการแบ่งงานกันทำ คือ ผู้สื่อข่าวภาคสนาม จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลภายในพื้นที่จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนทีมงานภายในสถานีจะคอยทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนมากที่สุด

“เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างแสวงหาข้อมูลกันมาได้แล้ว จะนำมาเทียบกันว่ามีส่วนไหนและประเด็นใดที่ตรงกันบ้าง จากนั้นภายในสถานีจะทำหน้าที่ออกแบบภาพสามมิติผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ภาพที่ออกมานั้นมีความใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริงและข้อมูลที่ได้ให้มากที่สุด แต่คิดว่าการแข่งขันในงานข่าวทีวีนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความถูกต้องและแม่นยำในข้อมูล ไม่ใช่การแข่งกันใช้เทคโนโลยี ดังนั้น กองบรรณาธิการ จึงได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลเหนือสิ่งอื่นใด”


สำหรับอนาคตของการผลิตข่าวโทรทัศน์ภายใต้เทคโนโลยี ‘พุทธิฉัตร’ คิดว่าการใช้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้สถานีโทรทัศน์ส่วนใหญ่จะเดินตามแนวทางนี้ โดยไม่เพียงแต่ใช้ในการจำลองเหตุการณ์สำคัญอย่างถ้ำหลวง แต่จะใช้เป็นเครื่องในการประมวลผลเพื่อนำเสนอข้อมูลที่มีความสลับซับซ้อนให้มีความเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วภาพและเสียงจากเหตุการณ์จริงยังคงเป็นห้วใจ อันเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ เพราะเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงไปยังประชาชน ส่วนเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการผลิตเท่านั้น


ขณะที่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นอีกสถานีที่ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีด้านนี้ ‘นพดล ศรีหะทัย’ บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า เหตุการณ์ถ้ำหลวงเป็นเหตุการณ์ที่ให้สถานีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งในแง่ของเนื้อหาและภาพ แต่ยอมรับว่าเรื่องภาพข่าวนั้นมีข้อจำกัดพอสมควร เพราะไม่สามารถเข้าไปบันทึกภาพภายในถ้ำได้ ทำให้ต้องมีการจำลองภาพขึ้นมา


“กระบวนการในการทำดังกล่าว ต้องอาศัยความละเอียดและความถูกต้องของข้อมูลพอสมควร โดยนักข่าวในพื้นที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นทีมงานและโปรดิวเซอร์จะนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบเป็นกราฟิก เพื่อนำเสนอควบคู่ไปกับเนื้อหา”

สำหรับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนั้นผลผลิตของการทำกราฟิกที่ออกมานั้นไม่ได้ใช้เฉพาะสื่อหลักอย่างโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังเผยแพร่สื่อออนไลน์ไปพร้อมกันกันด้วยภายใต้แนวคิด “ออนแอร์และออนไลน์”

“การใช้กราฟิกเพื่อทำภาพจำลองจะทำจำกัดเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์จริงได้ จึงต้องเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำภาพเสมือนจริงในการเล่าเรื่อง แต่อย่างไรก็ดี การทำกราฟฟิกนั้นไม่ได้ใช้เฉพาะการทำเสนอและออนแอร์ทางโทรทัศน์เท่านั้น แต่จะใช้สำหรับสื่อออนไลน์ด้วย”

“การออนแอร์และการออน์ไลน์มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ การออนแอร์จะถูกจำกัดด้วยเรื่องเวลา แต่กรณีของการออนไลน์ไม่ได้มีข้อจำกัดด้านเวลามากนัก ทำให้สามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ได้เต็มที่ อีกทั้งข้อมูลที่นำเสนอผ่านทางออนไลน์จะอยู่ในระบบไปตลอด เพื่อคนทั่วไปสามารถค้นหาข้อมูลได้”

ทิศทางของการทำสื่อโทรทัศน์ในอนาคต ผู้บริหารกองบรรณาธิการคนนี้ คิดว่า จะเป็นไปในลักษณะของการทำควบคู่ไปทั้งเนื้อหาข่าวและกราฟิก ซึ่งจะถูกเผยแพร่พร้อมกันทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ แต่ถึงกระนั้น อีกกลไกสำคัญที่จะช่วยในการนำเสนอเนื้อหาทั้งหมด คือ ตัวผู้ดำเนินการที่จะต้องเข้ามามีบทบาทในการให้คำอธิบายกับผู้รับข้อมูลข่าวสารด้วย ไม่ใช่จะเน้นแต่การใช้เทคโนโลยีเท่านั้น


“แต่ถึงที่สุด การทำข่าวทีวีที่ดีที่สุด คือ การได้ภาพและเสียงจากการบันทึกในเหตุการณ์จริง ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการทำข่าวโทรทัศน์ โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำกราฟิกนั้นจะใช้เฉพาะเวลามีข้อจำกัดเรื่องภาพเพียงอย่างเดียว” บรรณาธิการบริหาร ไทยพีบีเอส กล่าว