อบรมเซฟตี้เทรนนิ่ง สร้างพลังสื่อกำกับกันเอง –ดูแลสังคม

อบรมเซฟตี้เทรนนิ่ง

สร้างพลังสื่อกำกับกันเอง –ดูแลสังคม

เรื่อง- จุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดอบรม “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงและภัยพิบัติ”  หรือ Safety Training  ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ตั้งเป้านำไปสู่การปฏิรูปสื่อฯ จากการเพิ่มศักยภาพให้สื่อมวลชน ทำข่าวสถานการณ์ฯได้อย่างปลอดภัย  และสร้างสังคมสะอาด  ไม่ขยายความขัดแย้งจาก Hate speech  และไม่ตกเป็นเหยื่ิอของ Fake news

“ก่อนที่เราจะไปเผชิญเหตุ ต้องดูสถานการณ์ตอนนั้น ว่าเป็นน้ำแบบไหน ถ้าเป็นน้ำท่วมปกติ ไปช่วยลำเลียงประชาชน  ประเมินหน้างาน ว่าต้องใช้เรือประเภทไหน  ส่วนเสื้อชูชีพมีหลายแบบ สิ่งที่เราสามารถสังเกตเบื้องต้นได้ ถ้าใส่เพื่อดำน้ำดูปะการังน้ำตื้น โฟมด้านหน้าจะบาง  แต่แบบที่ใช้ช่วยชีวิตคน ด้านหน้าจะหนา เพื่อจะทำให้หน้าหงายตลอดเวลา เขาจะไม่สำลัก นอกจากนี้การแต่งตัวให้ผู้ประสบภัย ต้องใส่ให้ถูกต้อง รัดสายของเสื้อชูชีพทุกสายให้ครบ โดยเฉพาะสายรัดขา ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุด  ถ้าไม่มีสายรัดขา เวลากางชูชีพขึ้นมา จะหลุดจากตัว  แล้วขึ้นไปดันเส้นเลือดใหญ่ เลือดจะไม่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอันตรายมาก”

“ขั้นตอนการช่วยเหลือคนจมน้ำ ใช้หลัก “ตะโกน-โยน-ยื่น”   ตะโกนบอก เพื่อขอความช่วยเหลือจากคนอื่นด้วย  ช่วยด้วยครับ! ช่วยด้วยครับ! มีคนจมน้ำ!  และเป็นการบอกตัวเขาด้วย เพื่อเตือนให้เขามีสติ  ก่อนจะโยนห่วงโฟม หรือ “ลิงบุย” และ “โทลแบค” หรือ ถุงเชือก ให้เขาจับแล้วลากกลับ...การลงไปช่วยเขาในน้ำ ขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะมันเป็นการเสี่ยงถ้าเราลงไปช่วยเขา”

นี่คือส่วนหนึ่งของยุทธวิธีการช่วยเหลือทางน้ำ ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ จากทีมอาสาภาคประชาชน ใจถึงใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน ซึ่งได้มีการสร้างสถานการณ์จำลอง ให้ผู้เข้าอบรมไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่พบอยู่กลางน้ำ ขณะนั่งเรือเข้าไปรายงานข่าว ผู้ประสบภัยพายุไซโคลนพัดถล่มหมู่บ้าน  ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเพิ่มเติมขึ้นเป็นปีแรก ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงและภัยพิบัติ” หรือ Safety Training รุ่นที่ 9  เนื่องจากสถานการณ์การทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบัน  ต้องลงพื้นที่รายงานข่าวภัยพิบัติ โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้ง

“สื่อมวลชนเวลาไปทำข่าวทางน้ำ การปฏิบัติตัว อย่างแรก ต้องรับฟังคำสั่งของนายท้ายเรือ ที่เขาดูแลอยู่ เขาจะมองเห็นทั้งหมด และจะประเมินให้ว่าเราควรไปนั่งตรงไหน  ต้องเชื่อเขา   เช่น เรือท้องแบน มันมุดน้ำได้ เราต้องนั่งถอยหลังไปเยอะๆ   หรือขณะกำลังช่วยเหลือ  ถ้าเขายังไม่ได้ร้องขอ  เราต้องมาอยู่ท้ายเรือ เพื่อรักษาสมดุลเรือให้เขา และไม่ว่าจะเป็นนักข่าวหรือทีมงาน เมื่อลงพื้นที่ไปทำข่าวควรแต่งตัวให้พร้อมกับสถานการณ์ และควรมีเสื้อชูชีพเป็นของตัวเอง ที่ผ่านมาสิ่งที่เจอคือมาแต่ตัวเปล่าๆ ไม่มีอุปกรณ์อะไรมาเลย แล้วต้องมาแบ่งอุปกรณ์จากบนเรือ  ซึ่งเป็นของที่เตรียมไปช่วยผู้ประสบภัย นั่นหมายความว่าถ้าต้องใช้ช่วยเหลือคน มันก็จะขาดแคลน”


การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงและภัยพิบัติ”  หรือ Safety Training   ครั้งนี้  ที่จัดขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 26 – วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2561 ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น  จ.สระบุรี   มีสื่อมวลชนจากทุกแขนง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อส่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เข้าร่วมอบรมรวม 30 คน  เนื้อหาหลักสูตรของการอบรมที่เป็นไปอย่างเข้มข้น มีทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎี เช่น การเตรียมตัววางแผนก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานข่าว  , การเข้าทำข่าวในพื้นที่ประสบภัยพิบัติและพื้นที่ความขัดแย้ง  ,  ภาษา ที่ใช้รายงานข่าว เพื่อไม่ให้สื่อมวลชนกลายเป็นผู้ขยายข้อความ เพิ่มความขัดแย้ง หรือ Hate speech  และไม่ตกเป็นเหยื่ิอของข่าวลือ ข่าวลวง หรือ Fake news  , การให้ความรู้ด้านอาวุธศึกษา และการเอาตัวรอด ช่วยชีวิต  ปฐมพยาบาลเชิงยุทธวิธี ในสถานการณ์ฉุกเฉิน  โดยนอกจากทีมวิทยากร Safety Training แล้ว ยังมีบุคลากรจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ.  มาถ่ายทอดองค์ความรู้ ในการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี ทั้ง การทำ ซีพีอาร์  การห้ามเลือดขันชะเนาะ พร้อมนำอุปกรณ์จริง เช่น เครื่องกระตุ้นคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้า หรือ เออีดี และ เปล สเก็ต ที่มีความยืดหยุ่น กันแรงกระแทก ซึ่งเคยเป็นอุปกรณ์สำคัญ  ที่นำไปใช้ในปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง  มาสาธิตการใช้งาน

นอกจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  สื่อมวลชนที่เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ ยังได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ตลอดระยะเวลา 3 คืน 4 วัน เน้นการช่วยเหลือและทำงานร่วมกันเป็นทีม  ทำให้เกิดความผูกพันและสามัคคี แม้หลายคนจะไม่เคยได้รู้จักกันมาก่อน

นายสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าว พีพีทีวี  ซึ่งเคยผ่านการเข้าร่วมอบรม Safety Training  รุ่นที่ 2  ปัจจุบันเป็นหัวหน้าทีมวิทยากร และเป็นผู้จัดทำหลักสูตรการอบรม Safety Training   กล่าวว่า  หลักสูตรปัจจุบันที่ใช้ในการอบรมได้พัฒนามาจากหลักสูตรของต่างประเทศ ที่เคยใช้อบรม Safety Training  แต่ปรับเพิ่มเนื้อหาหลักสูตรให้ตรงกับสถานการณ์การทำงานของสื่อมวลชนในประเทศไทยให้มากที่สุด  เช่น หัวข้อการรายงานข่าว ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่พูดถึงเรื่องภาษา วาทกรรมทางการเมืองต่างๆ จะรายงานข่าวอย่างไร ให้ได้เนื้อหาประเด็นครบถ้วน  ความหมายไม่เปลี่ยน แต่ไม่ตกเป็นเหยื่อของวาทกรรม และไม่ไปขยายผลความขัดแย้งเพิ่ม ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวฯ ได้เพิ่มหลักสูตรเรื่องภัยพิบัติเข้ามา  ให้มีการเรียนรู้เรื่องแผนที่ เส้นทางน้ำ เส้นทางพายุ จุดปลอดภัยต่างๆ  เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถเปลี่ยนจากการรายงานข่าวสถานการณ์ เป็นการรายงานข่าวแบบการเป็นผู้เตือนภัย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขได้  ทั้งนี้ทุกๆหลักสูตรในการอบรม  ทีมสตาฟและทีมวิทยากร  จะถูกส่งไปฝึกไปอบรมก่อน เพื่อให้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะมาถ่ายทอดต่อให้กับผู้เข้าอบรม

“หลักการที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอ และเราพยายามบอกกับผู้เข้าอบรม  คือการอบรมเหมือนการซ้อม เวลาซ้อมเราซ้อมให้เหมือนจริง ทุกอย่างที่เราเซตขึ้นมา มันคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ฉะนั้นซ้อมให้เหมือนจริง เวลาปฏิบัติจะได้ทำได้เหมือนตอนซ้อม สำคัญมากคือการมี “สติ”  ไม่ว่าจะเป็นการซ้อม หรือจะเป็นสถานการณ์จริง” ผู้จัดทำหลักสูตรการอบรม Safety Training กล่าว

ขณะที่ นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง รองเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่าการอบรม Safety Training นอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่ายของสื่อมวลชนที่ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานข่าวแล้ว  ยังเป็นการสร้างพลังของสื่อมวลชน ในการกำกับดูแลกันเอง และขยายรวมไปถึงการช่วยกันดูแลสังคม

“ถ้ามองแบบผิวเผินโครงการนี้คนอาจจะมองว่าเป็นการอบรมให้นักข่าว 30 คนในแต่ละรุ่น มีความปลอดภัยในการทำข่าวในสนามข่าว แต่จริงๆแล้ว นักข่าวแต่ละรุ่นที่ได้รับการอบรม ตั้งแต่ปลายปี 53 ถึงปัจจุบันปี 2561  รุ่นละ 30 คน จนถึงตอนนี้มีนักข่าวที่ผ่านการอบรมเกือบ 300 คนแล้ว  ซึ่งไม่เพียงจะแต่ช่วยกำกับดูแลกันเองในวงเล็กๆ แต่ในอนาคต  จะขยายเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป 9 ปีที่แล้ว คนที่เคยผ่านการอบรมจากโครงการนี้ ทุกวันนี้หลายคนเป็นหัวหน้าข่าว ผู้ช่วยหัวหน้าข่าว เป็นบรรณาธิการและบางคนเป็นถึงผู้บริหาร ที่สามารถกำหนดทิศทางข่าวในองค์กรของตัวเอง  มีความตระหนักคิด มีความสำนึก ในการนำสิ่งที่ถูกสอนถูกอบรม ไปปฏิบัติใช้ต่อบุคลากรในองค์กรของตนเอง รวมไปถึงการไม่ตกเป็นเหยื่อของ hate speech หรือ Fake news ทำให้สื่อมวลชนจะกลายเป็นด่านแรกในการตรวจสอบข่าวสารต่างๆที่ออกมา เพื่อให้สังคมสะอาดมากขึ้น  ซึ่งนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการ “ปฏิรูปสื่อฯ” ที่สังคมต้องการเห็น ”


สำหรับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงและภัยพิบัติ”  หรือ Safety Training จัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 9 แล้ว  เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับสื่อมวลชนทุกคน  โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เมื่อปี 2553 ซึ่งยาวนานต่อเนื่องกว่าสองเดือน

หลังผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานเติมกำลังใจให้กับนักข่าวภาคสนาม เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553  ซึ่งนักข่าวภาคสนามได้ใช้โอกาสในการจัดงานดังกล่าว รวมตัวกันยื่นข้อเสนอ 9 ข้อ ต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและกองบรรณาธิการของสื่อแต่ละสำนัก  1 ในจำนวน 9 ข้อนั้น คือเสนอให้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมนักข่าว ช่างภาพในสังกัด เพื่อเรียนรู้วิธีการป้องกันตัวเองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุปะทะหรือการจลาจลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ภายใต้หลักการเดียวกัน คือ “ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย-ไม่เพิ่มจำนวนของผู้บาดเจ็บ” ซึ่งเป็นหัวใจของการอบรม Safety Training ที่จัดขึ้นทุกครั้ง