สื่อทางเลือกในสมรภูมิ”ข่าวอาวุธ”

 

“เราเชื่อว่า ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนโลกไปค่อนข้างมากพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงไปของสังคม แต่ก่อนถ้ากองทัพจะทำอะไร โดยเฉพาะจะซื้ออาวุธ คนก็จะบ่นว่าซื้อมาทำไม ส่วนทหารก็เอาแต่พูดว่าเป็นเรื่องของทหาร ทหารรู้ดีที่สุด ซึ่งมันก็คือทั้งสองคนไม่คุยกัน กลายเป็นกำแพงที่แบ่งกั้นทั้ง2กลุ่มไป ถ้ามีการเปิดข่าวโจมตีการจัดซื้อตามสื่อต่าง ๆ ก็มักจะเน้นไปที่เรื่องทุจริตอย่างเดียว ที่เราคิดว่ามันเป็นเพียงมิติเดียว อีกมิติหนึ่งควรจะเป็นการตั้งคำถามว่าอาวุธชนิดนั้นควรซื้อหรือไม่ ? ทำไมต้องเป็นยี่ห้อนี้? ประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาพภัยคุกคามของประเทศของเราหรือไม่? ข้อมูลจากผู้ใช้งานในประเทศอื่นๆเป็นอย่างไร ตรงนี้ยังแทบไม่มีใครตั้งคำถามที่เป็นคำถามเชิงลึก ซึ่งถ้าไม่มีคำถามเหล่านี้ ก็อยากที่จะก่อให้การถกเถียงในเชิงสร้างสรรค์กันได้ในวงกว้าง"



 

สื่อทางเลือกในสมรภูมิ”ข่าวอาวุธ”

ภายใต้ข้อถกถียงว่ากองทัพของประเทศไทยควรจะซื้ออาวุธเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บด้วยงบประมาณมหาศาล ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หรือไม่  กลับมีชุมชนสื่อสังคมออนไลน์กลุ่มหนึ่งที่ข้ามผ่านข้อถกเถียงเรื่องพวกนั้น ไปที่เรื่องของยุทธศาสตร์ ความจำเป็น ความเหมาะสม  ข้อมูล ข้อเท็จจริง   ข้อดีข้อเสีย  ที่เจาะลึกลงไปถึงแก่นเรื่องอาวุธ  ด้วยการเปิดกว้างให้เกิดการวิพากย์วิจารณ์ถกเถียงเพื่อให้ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุด

ในอดีตคนที่ชอบเรื่องอาวุธจะจำกัดอยู่ในวงแคบๆ และต้องอ่านข้อมูลจากนิตยสารต่างประเทศ  แต่ปัจจุบันเมื่อสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างสูง    เพจที่ให้ความรู้ด้านอาวุธของประเทศไทยจึงมีอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายจากคนที่สนใจศาสตร์ด้านนี้ นอกจากเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถือเป็นเนื้อหาหลักแล้ว ยังมีการนำเสนอเรื่องราวในแวดวงด้านการทหาร และ ความมั่นคง ทั้งในและต่างประเทศอย่างรอบด้าน  ส่งผลให้เห็นทิศทาง และนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น

ซึ่งในปัจจุบันก็มีอยู่มากมายหลายเพจ เช่น  ThaiArmedforce.com  กัปตันนีโม่ (เน้นเรื่องเรือดำน้ำ)  Blog AAG_TH  ,War and Technology Club Thailand และอื่นๆ อีกมากมาย

จะเห็นได้ว่า เมื่อมีประเด็นร้อนขึ้นในสังคม เช่น โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ  การจัดหาเครื่องบินฝึกฝูงใหม่ของกองทัพอากาศ เลยไปถึงเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน ที่มีงานด้านการบรรเทาสาธารณภัย มีหน่วยงานต่างประเทศ เครื่องมือ อุปกรณ์ และ อากาศยานที่สนับสนุนภารกิจ ก็จะมี “ขาจร”เข้ามาในชุมชนสื่อสังคมออนไลน์ประเภทนี้มากขึ้น จนบางโพสต์มีผู้เข้าไปมีส่วนร่วมหลักแสน กลายเป็นพื้นที่ทางเลือกของคนที่ แสวงหา ข้อมูล อีกช่องทางหนึ่ง  โดยเฉพาะThaiArmedforce.com  หรือ TAF ถือเป็นเพจหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ติดตามข่าวสารด้านนี้จำนวนมาก

จุดริเริ่มของ TAF เกิดจากผู้สนใจเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เข้าไปสนทนา แสดงความคิดเห็นใน เว็บบอร์ด ของเว็บไซท์กองบินแห่งหนึ่ง  จากนั้นเข้าสู่สนามข้อมูล ข่าวสาร ของ “พันทิป”ห้องหว้ากอ  ก่อนจะไหลรวมมาบรรจบกันทำเว็บไซด์ของตัวเองในชื่อ TAF และพัฒนาการสื่อสารผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ

เราขอสัมภาษณ์ทีมแอดมิน ของเพจ  ThaiArmedforce.com   เพื่อทราบถึงแนวคิด และการทำงานของผู้ทำงานว่ามีแนวทางอย่างไร  รวมถึงการตั้งประเด็น การค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ  โดยเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ทั้งหมดเป็นการแสดงความเห็นร่วมกันผ่านการเรียบเรียงจนเป็นคำตอบในนามของ ทีมแอดมิน

 

0การมาเจอกันของทีม TAF?

จริง ๆ แล้วทุกคนมีความสนใจด้านการทหารมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไป ๆ มา ๆ ก็มาเจอกันที่เว็บบอร์ดของกองบิน 21 ของทัพอากาศ ซึ่งเป็นเว็บบอร์ดแรก ๆ ที่มีการพูดคุยเรื่องทางการทหารกัน (เคยลองสอบถามกันแล้วว่าทำไมต้องเป็นที่นี่ ปรากฎว่าไม่มีใครทราบ เพราะจู่ ๆ ก็มาเจอกันที่นี่) คุยกันไปคุยกันมาก็เลยรู้จักกัน นัดกินข้าวกันบ้างตามประสาคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน

แต่จุดเริ่มต้นของ TAF จริง ๆ มาจากการชักชวนของสมาชิกบอร์ดที่เราชอบเรียกกันว่าป้าจู ที่จริงแกก็ควรติดตามพวกเราอยู่นานแล้ว เพราะในครั้งแรกทุกคนยังไม่คิดว่าควรจะมีเว็บหรืออะไร แต่ป้าจูเป็นคนที่มองเห็นถึงศักยภาพที่เราจะทำได้ รวมถึงเห็นว่าในอนาคตเว็บไซต์และอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลในอนาคต เมื่อได้พูดคุยแนวคิดกันแล้วก็พบว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ จึงเริ่มรวมทีมกันเพื่อทำให้ TAF เกิดขึ้นเป็นจริงขึ้นมา

 

0เปิดมากี่ปีแล้ว สมาชิกเท่าไหร่ ช่วงพีคที่คนเข้ามาช่วงไหน ( มี2เพจ )จัดแบ่งการโพสต์อย่างไร?

ปีนี้เข้าปีที่ 10 แล้วถ้านับจากวันที่เราเริ่มเปิดเว็บไซต์ขึ้นมา โดยในเว็บไซต์จะมีสองส่วนคือบทความที่เราเขียนขึ้นเอง โดยเป็นการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารทางทหารในแง่ต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งเป็นเว็บบอร์ดสำหรับสมาชิกพูดคุยกัน ต่อมาเมื่อ Social Media มีบทบาทมากขึ้นเราก็ปรับใช้ทั้ง Facebook หรือ Twitter และอื่น ๆ ด้วย ภายหลังเราประเมินว่าผู้คนน่าจะเข้าเว็บไซต์น้อยลงแต่จะอยู่กับ Social Media มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราจึงค่อย ๆ เพิ่มความสำคัญให้กับการนำเสนอข้อมูลใน Social Media มากขึ้นในปัจจุบัน คือเราไม่ได้มองว่า คนถ้าจะมาหาเราจะต้องเข้ามาที่เว็บไซต์ ThaiArmedForce.com เท่านั้น แต่มองว่า TAF เป็น Brand ที่เราสามารถไปทุกที่ที่คนนิยมใช้งาน ไม่ต้องยึดติดกับ Platform เดียว

เนื่องจากหัวข้อที่เราพูดคุยกันกันเป็นหัวข้อที่มีผู้สนใจในวงจำกัด และเราค่อนข้างพูดคุยกันเป็นข้อมูลเชิงลึก จำนวนผู้ที่เข้ามาพูดคุยกันจึงไม่มาก ในเว็บไซต์ในช่วงสูงสุดจะมีผู้เข้าชมราว ๆ ปีละ 16 - 17 ล้านครั้ง ตอนนี้เรามาเน้นที่ Social Network ก็มีจำนวนคนกดไล์ไม่ได้มากนักคือราว ๆ 4.7 หมื่นสำหรับ Facebook ส่วน Twitter มีคน Follow ราว ๆ 5.4 พันคน ใน Facebook ยังมี Group ไว้สำหรับพูดคุยกันอีกซึ่งมีสมาชิกราวหมื่นกว่าคน เพราะเราค่อนข้างจำกัดจำนวนคนเนื่องจากไม่ต้องการให้มีจำนวนคนมาแต่ดูแลไม่ไหว เพราะส่วนมากแล้วแอดมินจะแบ่งงานกันไปดูแลกลุ่มหนึ่งจะดูแลการสร้างเนื้อหาใน Page อีกกลุ่มจะดูแลการสนทนาใน Group ซึ่งค่อนข้างใช้พลังงานมากเพราะเรามีกฎที่ห้ามพูดคุยเรื่องการเมืองเด็ดขาด รวมถึงห้ามใช้คำหยาบหรือการกล่าวหากัน เพื่อรักษาบรรยากาศของการสนทนา

เราเคยทำการวิเคราะห์ข้อมูลของสมาชิกที่เข้ามาชมหรือร่วมพูดคุยกัน พบว่าส่วนใหญ่คนจะเข้ามาอ่านกันในช่วงสายหรือบ่าย โดยมีหลายครั้งที่มาจากเลข IP เดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นการเข้าชมจากคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศของที่ทำงาน ยกเว้นสถานการณ์พิเศษที่มีข่าวที่มีคนสนใจมากก็จะไม่จำกัดช่วงเวลา

 

0การแบ่งงาน เห็นว่าตามความถนัด ?

ทีมแอดมินนั้นเราจะเรียกตัวเองว่าคณะทำงานหรือ Working Group เพราะเราเป็นทั้งผู้ดูแล ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ลงมือผลิตงานรวมกันอยู่ในคนกลุ่มเดียว ในทีมนั้นแต่ละคนมีความถนัดต่างกัน บางคนถนัดการเขียน บางคนถนัดการทำวิดีโอ บางคนถนัดการถ่ายรูป บางคนเชี่ยวชาญเรื่องเทคนิค เรื่องยุทธศาสตร์ เรื่องภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือ หากมีการสัมภาษณ์บุคคลที่มีตำแหน่งสูง เราจะพยายามเลือกทีมงานที่มีทักษะหลากหลาย ตรงนี้แล้วแต่ว่าหน้างานจะต้องการทักษะใด ก็จะจัดคนไปให้ตรงกับงานนั้น

 

0การค้นหาข้อมูล จากแหล่งใดบ้าง การเลือกประเด็นนำเสนอ?

ในเมื่อพวกเราเจอกันด้วยอินเตอร์เน็ต ข้อมูลส่วนหนึ่งที่เราหามาได้นั้นก็มาจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์จากต่างประเทศทั้งเป็นชุมชนที่สนใจการทหารเหมือนเรา หรือ จากกลุ่มผู้ผลิตต่าง ๆในอุตสาหกรรมนี้ แต่จุดแข็งอีกด้านหนึ่งคือการที่ทีมงานTAF มีการออกภาคสนามด้วย จากความรู้ในเชิงเทคนิคจึงทำให้เราสามารถมองรูปแบบการนำเสนอภาพและข้อมูลในมุมมองที่แตกต่างไป ทั้งรายละเอียดและคุณลักษณะของยุทโธปกรณ์ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงนำออกมาสาธิต จากประสบการณ์ที่มีอยู่ทำให้ทีมงานของเราประเมินได้ระดับหนึ่งว่า เมื่อมีการนำเอาระบบอาวุธเหล่านี้มาใช้งานจริงจะมีความแตกต่างจากข้อมูลทางเทคนิคที่เป็นตัวอักษรและตัวเลขในโซเชี่ยลมากแค่ไหน และในการทำงานของเราไม่ได้จำกัดเฉพาะการทำงานในประเทศ แต่ในประเทศที่ทีมงานพอจะมีปัจจัยสนับสนุนให้เดินทางไปด้วยตัว เราจะออกเดินทางไปร่วมโดยตลอด โดยเฉพาะกิจกรรมในด้านการทหารของอาเซียน จนการทำงานของTAFเป็นที่คุ้นเคยของกองทัพหลายๆประเทศ จึงนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนข่าวสารและช่วยกันตรวจสอบข้อมูลของกลุ่มทำงานด้านการทหารอันเป็นการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน จนกลายเป็นเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการที่คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ในอีกด้านหนึ่งก็คือการสัมภาษณ์ จากการทำงานทั้งภาคข้อมูลและ การออกสนามจริงทำให้เราได้มั่นใจในการตั้งคำถามของเราว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนการตั้งคำถามในกระแสหลัก เนื่องจากเราไม่ใช่สื่อโดยตรง เราจึงตั้งคำถามในเชิงที่ว่าเหมือนคนทั่วไปอยากรู้มากกว่า โดยเน้นไปที่ข้อมูลทางเทคนิค ยุทธศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อให้มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งเพิ่มขึ้นมาในสังคม และจากเครดิตในการทำงานที่ผ่านมา ทำให้แหล่งข่าว หรือผู้ที่ให้สัมภาษณ์กับเรามีความมั่นใจในคำถามที่เราตั้งขึ้น เพราะทุกคำถาม ทีมงานจะต้องศึกษาถึงข้อมูลของกิจกรรมและบุคคลที่เป็นโจทย์ในการทำงานทุกครั้ง ในหลายๆกรณีคำถามที่ตรงประเด็น จะยิ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ให้สัมภาษณ์มีความเชื่อมั่น และมั่นใจที่จะให้ข้อมูลทางเทคนิคในระดับที่มากกว่าข่าวแจกที่ใช้ในการแถลงข่าวทั่วๆไป

 

0กรอบกติกาในการเข้าร่วม การแสดงความเห็น?

เป็นกฎตั้งแต่ก่อตั้ง ThaiArmedForce.com มาจนถึงปัจจุบันนั้นเราระบุอย่างชัดเจน ถึงการเคารพการแสดงความคิดเห็นในทุกด้าน แต่ต้องไม่มีประเด็นด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ในตอนแรกก็มีหลายคนตั้งคำถามว่าถ้าห้ามพูดเรื่องการเมืองแล้วจะสามารถพูดคุยเรื่องการทหารให้ครบมิติได้อย่างไร แต่เราก็ย้ำเสมอว่าการเมืองและการทหารนั้นแม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก แต่มันก็มีส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และยิ่งไปกว่านั้นเราสามารถพูดเรื่องการทหารให้ได้สาระโดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยเรื่องการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกก็ร่วมกันสร้างสรรค์การพูดคุยภายใต้กติการ่วมกันนี้จนมาถึงปัจจุบัน ในหลายๆกรณีที่หากมีสมาชิกบางรายพยายามโยงประเด็นทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นมา สมาชิกหลายๆคนกลับช่วยกันท้วงติงและตักเตือนกันเองก่อนคณะแอดมินจะทำงานด้วยซ้ำ  ซึ่งเราคิดว่าการที่สมาชิกของเรานั้นส่วนใหญ่ มีวุฒิภาวะ มีเหตุผล  และเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างร่วมกัน ถือเป็นจุดแข็งที่สุดที่สร้างให้ชุมชนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการทหารของบุคคลที่ให้ความสนใจในด้านนี้ทั้งที่เป็นพลเรือนและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการได้มาแสดงความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์

 

0การเติบโตของ TAF ที่ไม่ใช่แค่พลเรือน คนชอบเรื่องอาวุธ?

เราเชื่อว่า ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนโลกไปค่อนข้างมากพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงไปของสังคม แต่ก่อนถ้ากองทัพจะทำอะไร โดยเฉพาะจะซื้ออาวุธ คนก็จะบ่นว่าซื้อมาทำไม ส่วนทหารก็เอาแต่พูดว่าเป็นเรื่องของทหารทหารรู้ดีที่สุด ซึ่งมันก็คือทั้งสองคนไม่คุยกัน กลายเป็นกำแพงที่แบ่งกั้นทั้ง2กลุ่มไป ถ้ามีการเปิดข่าวโจมตีการจัดซื้อตามสื่อต่าง ๆ ก็มักจะเน้นไปที่เรื่องทุจริตอย่างเดียว ที่เราคิดว่ามันเป็นเพียงมิติเดียว อีกมิติหนึ่งควรจะเป็นการตั้งคำถามว่าอาวุธชนิดนั้นควรซื้อหรือไม่ ? ทำไมต้องเป็นยี่ห้อนี้? ประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาพภัยคุกคามของประเทศของเราหรือไม่? ข้อมูลจากผู้ใช้งานในประเทศอื่นๆเป็นอย่างไร ตรงนี้ยังแทบไม่มีใครตั้งคำถามที่เป็นคำถามเชิงลึก ซึ่งถ้าไม่มีคำถามเหล่านี้ ก็อยากที่จะก่อให้การถกเถียงในเชิงสร้างสรรค์กันได้ในวงกว้าง

แต่การมีอินเตอร์เน็ตทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วโดยไร้ขีดจำกัด สื่อก็มีช่องทางมากขึ้นในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ประชาชนมีความตระหนักถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น เริ่มรับรู้ว่าในหลายประเทศการซื้ออาวุธมันไม่ใช่แค่หาอาวุธมาให้กองทัพเท่านั้น แต่บางทีมันเป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำ หลายประเทศเศรษฐกิจไม่ดีเขาจะซื้ออาวุธให้กองทัพ เพราะอาวุธพวกนั้นมีผลิตในประเทศเขา ถ้ามีคำสั่งซื้อก็ต้องจ้างคนงาน คนก็ไม่ตกงาน มีเงินเข้าไปหมุนเวียนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจคล้ายกับการสร้างรถไฟหรือสนามบิน ประชาชนบางส่วนจึงเริ่มมีคำถามว่าทำไมประเทศเราไม่มีแบบนี้บ้าง ยิ่งข้อมูลทุกวันนี้เข้าถึงได้ง่าย ก็ยิ่งเกิดการเปรียบเทียบ เช่นประเทศนี้ซื้อเรือรบจากต่างประเทศ แต่บังคับให้จ้างอู่ในประเทศต่อเรือให้ หรือซื้อเครื่องบินรบก็บังคับให้ผู้ขายมาจ้างบริษัทในประเทศผลิตอะไหล่และให้ผู้ขายซื้อกลับไปอย่างนี้เป็นต้น เราเชื่อว่าถ้าประชาชนถกเถียงหรือตั้งคำถามในประเด็นเหล่านี้มากขึ้น มันก็จะเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลและกองทัพเกิดการปรับตัว จนก่อให้เกิดการพัฒนาต่อส่วนรวมในระยะยาวได้

ยิ่งเมื่อมีประเด็นหรือข้อสงสัยในโครงการใดของกองทัพ สมัยก่อนแค่กองทัพโทรไปคุยกับบก.ไม่กี่หัวประเด็นก็คงเงียบได้แล้ว แต่ในสมัยนี้ไม่ใช่ หลายประเด็นเกิดขึ้นจากการถกเถียงและตั้งคำถามในอินเตอร์เน็ตด้วยซ้ำ กองทัพใดถ้าปรับตัวได้และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ก็จะไม่เอาแต่มองว่าการตั้งคำถามเหล่านี้เกิดมาจากผู้เสียผลประโยชน์หรือมีการจ้างมาเพื่อบ่อนทำลายกองทัพเหมือนในยุคสงครามเย็น แต่เป็นคำถามจากประชาชนซึ่งถ้าสามารถตอบคำถามให้ประชาชนหายสงสัยไปได้ในระดับหนึ่ง โครงการก็จะดำเนินไปง่ายขึ้น เราจึงเห็นว่าในปัจจุบันกองทัพจะซื้ออะไรก็จะต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวเสมอ ยิ่งถ้าหน่วยงานใดปรับตัวได้เร็ว ก็จะใช้ช่องทาง Social Media นำเสนอข้อมูลก่อนที่จะเกิดคำถามขึ้นมาด้วยซ้ำ ส่วนหน่วยงานใดที่ยังพูดว่าตอบไม่ได้เป็นเรื่องของทหาร ก็จะถูกตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจึงไม่แถลงให้ประชาชนทราบทั้ง ๆ ที่หน่วยงานอื่นเขาก็แถลงได้ ในส่วนนี้เป็นพลวัตรของสังคมที่เปลี่ยนไป TAF อาจจะมีส่วนในแง่ที่สมาชิกของเราช่วยกันตั้งคำถามและบางทีก็ตอบคำถามกันเอง หรือช่วยกันสร้างประเด็นให้กองทัพอธิบายให้กับประชาชนฟัง ส่วนคณะทำงานเองอาจจะเน้นไปที่การนำเสนอข้อมูลเชิงลึกหรือการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตั้งคำถามที่เป็นคำถามเนื้อแท้ของการสงสัยจริง ๆ ถ้าหน่วยงานในกองทัพเข้าใจและอธิบายอย่างบริสุทธิ์ใจ กระแสมันก็อาจจะกลับเป็นการสนับสนุนจากประชาชนได้

จากประสบการณ์ที่ได้เห็นรูปแบบการทำงานของทั้งสื่อ และกองทัพของประเทศที่พัฒนาแล้ว ยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นว่าการตั้งคำถามในเชิงสร้างสรรค์  จะนำมาซึ่งการตอบข้อสงสัย ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา กลับยิ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับกองทัพนั้น เสริมภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพให้ประชาชนของเขาและต่างชาติให้ได้รับรู้กันอย่างชัดเจน  แทนที่จะคิดกันตามกรอบแบบเดิมว่าตอบมาเป็นข้อมูลทางเทคนิคนั้นบอกไปภาคพลเรือนก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจหรอกแล้วเลือกที่จะไม่ชี้แจงในประเด็นที่เป็นปัญหา ซึ่งสิ่งที่ตามมาเป็นวงจรก็คือความไม่เชื่อมั่นในองค์กรต่อกองทัพเองอันจะเป็นผลเสียที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพเองในระยะยาวมากกว่า

มันจึงทำให้เราเชื่อว่าการที่ประเทศใดมีสื่อที่มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร จะช่วยสร้างประเทศให้เป็นสังคมที่ถกเถียงบนพื้นฐานของเหตุผลจากข้อมูล แม้ TAF เราจะไม่ใช่สื่อโดยตรง และไม่ได้ทำหน้าที่ของสื่อทั้งหมด แต่เราก็คิดว่าเราควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้สังคมไทยก้าวไปในจุดที่การตั้งคำถามไม่ใช่เรื่องเสียมารยาทหรือไม่เคารพใคร แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมควรมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นในสังคม หน้าที่เราอาจจะไม่ใช่การนำเสนอในวงกว้าง แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกไม่ค่อยมีใครนำเสนอ เพื่อที่ทุกคนในสังคมจะสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการถกเถียงต่อไปได้ และมันจะไม่ลดลง แต่จะมีแต่คนสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันการตั้งคำถามของTAF ก็เหมือนเป็น คำถามของประชาชนที่ความเข้าใจในเทคโนโลยีการทหารอยากถามต่อกองทัพในกรณีต่างๆนั้นเอง

 

0ประสบการณ์ที่โดน เล่นงาน คุกคามจากผู้มีอำนาจ/ แฟนเพจจอมป่วน/ คนยึดมั่นในข้อมูลตัวเอง?

ในเมื่อหัวข้อหลักที่เรานำเสนอนั้นเป็นหัวข้อทางทหาร ซึ่งหน่วยงานราชการมักจะถือว่ามันคือความมั่นคงของประเทศไม่ควรให้ประชาชนรู้ การที่มีคนมาพูดคุยเรื่องแบบนี้ในที่สาธารณะเหมือนกับพูดคุยว่าดาราคนไหนท้องก่อนแต่งบ้างจึงอาจจะเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่หลายคน ดังนั้นถ้าถามว่าเคยถูกเล่นงานหรือเปล่าต้องตอบว่าควรจะถามว่ากี่ครั้งแล้วมากกว่าที่ถูกหน่วยงานราชการตั้งข้อหา ซึ่งมีทั้งการขึ้นบัญชีดำ การกล่าวหาว่าเราเป็นกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์จากโครงการจัดซื้อจัดหา หรือแม้แต่เราเป็นกลุ่มการเมืองที่โจมตีกองทัพ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่เป็นสิ่งที่เราจะไม่เล่าให้ใครฟังเพราะเราตระหนักดีถึงข้อเท็จจริงในเจตนารมณ์การทำงานของเราเองว่าเราทำงานนี้เพื่ออะไร

กับการทำงานในบทบาทที่กองทัพไม่คุ้นเคย การถูกตรวจสอบเราถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และยิ่งกลายเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนให้หน่วยงานที่ตั้งข้อสงสัยกับเราได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงด้วยตัวเขาเองโดยที่เราไม่จำเป็นต้องมาอธิบายให้สาธารณชนได้รับทราบส่วนวิธีรับมือนั้นก็ตามแต่สถานการณ์ ส่วนมากเราจะเน้นไปที่การอธิบาย พูดคุย เล่าให้ฟังเหมือนที่เรากำลังเล่าอยู่อย่างนี้ว่าเราเป็นใคร สมาชิกเราเป็นใคร ทำสิ่งที่ทำอยู่ไปเพื่ออะไรด้วยข้อเท็จจริง จากวิธีคิดของระบบงานด้านการข่าวของเรา จึงมีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ยากจะเชื่อว่าจะมีกลุ่มคนที่มาเสียเวลาทำอะไรแบบนี้เป็นงานอดิเรกด้วยหรือ?  เราก็พยายามอธิบายว่างานอดิเรกของคนเรามีหลากหลาย บางคนชอบดูหนัง บางคนของอ่านหนังสือ บางคนขี่จักรยาน บางคนสะสมรูปภาพดารา ส่วนเราและสมาชิกเราเป็นหมื่น ๆ คนนั้น งานอดิเรกคือการติดตามประเด็นด้านการทหารและอาวุธ ส่วนถ้าเราหน้าที่บางส่วนที่สงสัยว่าเรารับผลประโยชน์มาจากไหน มันมักจะมีคำพูดติดตลกของเราอยู่ว่าเดี๋ยวคุยกันเสร็จผมจะให้เลขบัญชีของผมพี่ไปให้หมดเลย ถ้าหาได้ว่าใครจ่ายเงินเราตรงไหนก็บอกด้วย จะได้เอาไปโป๊ะบ้านเสียที

ซึ่งถือเป็นโชคดีที่ส่วนใหญ่เมื่อพูดคุยกันสักพักเจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็จะเริ่มเข้าใจ  ผลการรายงานการตรวจสอบเมื่อส่งผ่านกลับขึ้นไปยังผู้บังคับบัญชากลายเป็นการทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงคุ้นเคยกับชื่อของเรา ได้ลองมาอ่านการทำงานของเราจริงๆจนมีความเชื่อมั่นในการทำงานของเราไป จากการต้องพบปะกับเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆบ่อยๆจนกลับกลายเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ในอีกทิศทางนำมาซึ่งการร่วมมือกัน ได้ช่วยเหลือกันก็หลายครั้ง เช่นอย่างกรณีที่ประเทศเราเคยมีความขัดแย้งด้านดินแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไปเจอข้อมูลตรงไหนที่เป็นประเด็นจากต่างประเทศเราก็ประสานส่งให้  ซึ่งการเป็นการใช้ประโยชน์จากกความสนใจเฉพาะตัวของพวกเราเองที่ติดตามข่าวสารด้านนี้จากทั่วโลก ทำให้ช่วยสนับสนุนการทำงานของหลายๆหน่วยในในยามวิกฤตได้อย่างรวดเร็วมาแล้วหลายกรณี อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนสมาชิกที่เข้ามาแสดงความเห็นนั้น แม้จะมีกลไกการคัดกรอง เลือกสมาชิกในขั้นต้นกันอย่างไรก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่มีจอมป่วนหรือเกรียนโซเชี่ยลหลุดเข้ามา เพราะในสังคมโซเชี่ยล ผู้คนในสังคมนี้มาจากหลากหลายพื้นฐาน  การแสดงความเห็นบางทีเลยไม่ต้องยับยั้งชั่งใจนัก แบบสำนวนฝรั่งที่พูดว่า On the internet, no body know you are a dog เพราะในอินเตอร์เน็ตใครจะพูดอะไรก็ได้โดยไม่มีใครรู้ว่าใครพูด ดังนั้นวิธีจัดการก็คือ การสร้าง “สังคมที่มีวุฒิภาวะ”ในโลกออนไลน์ของเรา สมาชิกทุกคนก็จะช่วยกันดูแล ใครล้ำเส้นเริ่มด่าทอกันด้วยคำหยาบหรือลากการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะเตือนกันเอง เตือนไม่ไหวก็จะช่วยกันแจ้งแอดมินให้ทำการแบน อันเป็นหนึ่งในหน้าที่ของกลุ่มแอดมิน ที่ต้องคอยทำหน้าที่กันอย่างเข้มงวด เพื่อรักษากฎแห่งการสนทนาร่วมกันของสมาชิกส่วนใหญ่ หลายๆกรณีอาจเป็นคนดังในโลกโซเชี่ยลมาแสดงความเห็นอย่างผิดกฎเกณฑ์ของกลุ่ม หากละเมิดเราจะตักเตือนตามขั้นตอน และลงมือแบนอย่างไม่ลังเลทันที กับกรณีสมาชิกที่เชื่อมั่นในข้อมูลของตัวเอง จนก้าวล่วงเสียมารยาท หรือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดต่อส่วนรวม ความชัดเจนของเราคือ การยึดตาม”ข้อเท็จจริง” ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก และเราจะใช้วิธีอธิบายข้อเท็จจริงให้เขาได้รับทราบ ตรวจทานที่มาที่ไปของข่าว ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเคสส่วนใหญ่จะจบด้วยความเข้าใจที่ตรงกันด้วยเหตุและผล แต่หากใช้วิธีก้าวร้าวหรือถ้อยคำหยาบคายต่อ ก็จะเข้าสู่กระบวนการแบนออกจากกลุ่มทันที

สิ่งที่เน้นย้ำ คือเราสนใจบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยวุฒิภาวะ มากกว่าจำนวนสมาชิก เรายินดีที่จะเป็น Group และ Page ที่มีสมาชิกหลักหมื่น ดีกว่าจะมีสมาชิกหลักล้านแต่เต็มไปด้วยการเสริมความเกลียดชังและขัดแย้งอย่างที่เป็นอยู่ในโลกชี่ยลขณะนี้

0การพัฒนาเชิงธุรกิจ?

เช่นเดียวกัน ด้วยประเด็นหลักของเราคือเรื่องการทหารนั้น ภาพลักษณ์มันแยกกับคำว่าผลประโยชน์ได้ยาก แต่เราก็อยากให้มีพื้นที่ในสังคมที่สามารถจุดประเด็นการถกเถียงได้เช่นกัน มันเลยมาถึงข้อสรุปตั้งแต่แรกของการตั้งThaiArmedForce.com ว่าในเมื่อเราเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจในการแสวงหาชื่อเสียง เพื่อการต่อยอดหวังผลทางธุรกิจใดๆเพียงแต่อยากสร้างพื้นที่ให้เกิดการนำเสนอในสิ่งที่ผู้คนเคยเชื่อว่าเป็นเรื่องลึกลับที่ไม่อาจแตะต้องได้  และเรื่องที่เราพูดนั้นคงจะเลี่ยงไม่ได้ว่าจะมีทั้งในแง่บวกและลบต่อหลาย ๆ หน่วยงานหรือหลาย ๆ องค์กร ประกอบกับว่าในสังคมไทย แนวคิดในการบริจาคเงินให้องค์กรหรือบุคคลนำเสนอข้อมูลที่มีคุณภาพโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนชมคนบริจาคหรือคนซื้อโฆษณาแบบเดียวกับสถานี PBS ของสหรัฐนั้นยังไม่ตกผลึกในประเทศไทย เราจึงใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการยืนยันการไม่รับการสนับสนุนทางการเงินใด ๆ จากผู้ใดทั้งสิ้น

นั่นทำให้ TAF เป็นงานรองของคณะทำงาน เพราะทุกคนต้องมีงานประจำทำกันเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว (แต่เรื่องตลกก็คืองานประจำพวกนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทหารเลย) เงินที่พอมีก็จะนำมาใช้ในการผลิตเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ ซึ่งต้องบอกว่าก็ค่อนข้างหนักอยู่ เพราะถ้าเราทำเป็นเชิงธุรกิจและหารายได้ได้ ถึงแม้เรามีรายจ่าย 100 บาทแต่หาได้แค่ 30 บาท ก็แปลว่าเรายังขาดทุนแค่ 70 บาท แต่ในกรณีนี้เราขาดทุน 120 บาทเลย เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวของแต่ละคนที่จ่ายกันเอง 100 บาท แล้ว มันยังเป็นเหมือนการเสียโอกาสที่แทนที่เราจะเอาเงินจำนวนนี้ไปลงทุนทำมาค้าขายหรือซื้อกองทุนเพื่อเป็นการออมให้เงินงอกเงย กลับเอามาจ่ายเพื่อผลิตเนื้อหาต่อสาธารณะชน  แต่นั้นก็เป็นสิ่งที่เราเลือกกันเอง เราก็เลยไม่ได้บ่นอะไร แต่ก็ยอมรับว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตเนื้อหาค่อนข้างมากทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในระหว่างการทำงาน ปี ๆหนึ่งอยู่ในหลักแสนแน่นอน แต่มันก็เป็นราคาที่เรายอมจ่ายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันจึงแฟร์พอที่จะบอกว่า เสียงของเราที่ดังขึ้นมาเพื่อสร้างข้อฉุกคิดนี้ไม่ได้มีเบื้องหลัง ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนใดๆมาบงการเราทั้งสิ้น เพราะหากเราชื่นชมการทำงานของใคร สังคมก็จะมั่นใจได้ว่าไม่ใช่เพราะว่าเขามาซื้อโฆษณาเรา หรือถ้าเราตำหนิใครก็ไม่ใช่เพราะว่าเราถูกจ้างจากอีกฝ่ายหนึ่งมาเพื่อดิสเครดิตทางการเมืองในกองทัพ หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจด้านการทหาร เป็นต้น

ยอมรับว่าด้วยโมเดลนี้มันทำให้ TAF ไปได้ไม่ไกลอย่างที่ควรจะเป็น งานที่ทุกคนเห็นและอ่านกันนั้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของแผนงานที่เราคิดจะทำแต่ทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากรเหล่านี้ ในอนาคตเรายังเชื่อว่าคงจะยังไม่เปลี่ยนโมเดลการทำงานไปจากนี้มากนัก เพราะถ้าถึงที่สุดแล้วเราต้องรับการสนับสนุนทางการเงิน มันก็จะเป็นในลักษณะของสถานี PBS มากกว่าการเป็นบริษัทเพื่อหากำไรอย่างเต็มที่ แต่เรายังเชื่อว่าเวลานั้นจะยังไม่มาถึงในเร็ว ๆ นี้

 

0แนวทางในอนาคต?

จริง ๆ เราอยากให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมกับ TAF มากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของโมเดลเฉพาะแบบแบบนี้ ประกอบกับคนที่มาต้องมีทั้งเวลา และมีความมั่นคงในตัวเองระดับหนึ่ง รวมถึงได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้าง และอดทนช่วยกันทำงานในระยะยาวไม่ใช่หลายเดือนแต่เป็นหลายปี เลยค่อนข้างยากที่จะหาบุคลากรมาช่วยกันเสริมการทำงาน

ส่วนเรื่องของเนื้อหาที่นำเสนอนั้น ตอนนี้ในยุคของ Social Mediaท่ามกลางการเปิดกว้างที่ทำให้ใครก็วางตัวเป็นสื่อออนไลน์ได้ ใครๆก็สามารถเสาะแสวงหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมานำเสนอในชื่อของตนเองได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  เราปรับตัวการนำเสนอข่าวและข้อมูลต่างๆในประเด็นที่แตกต่างจากความสนใจของกระแสหลักที่ทุกคนต่างนำเสนอเหมือนกันหมด การคัดกรองหัวข้อข่าวต้องมีความรอบคอบมากขึ้น แต่ต้องปรับรูปแบบให้สั้นลง ซอยย่อยมากขึ้น แต่ยังใช้รูปภาพและวีดิโอนำหน้าเหมือนเดิม และเน้นไปที่การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ค่อยมีใครทำ โดยเฉพาะเจาะประเด็นข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงกองทัพหรือจากต่างประเทศผ่านการสัมภาษณ์  การออกไปทำงานในพื้นที่จริงด้วยทีมงานของเราเองไปจนถึงการออกบทวิเคราะห์ที่เป็นความเห็นของคณะทำงานของเราเองคล้าย ๆ บทบรรณาธิการในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อแสดงความเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ให้มีจำนวนที่มากขึ้น

 

0หากเปรียบเป็นเครื่องบินรบ ที่มีอยู่ในสารบบTAFมองว่าเราคือ เครื่องบินรุ่นไหน?

ขอเป็น RC-135 (เครื่องบินสอดแนม – ข่างกรอง )ดีกว่า  ซึ่ง RC-135 เป็นเครื่องบินลาดตระเวน ก็คงคล้าย ๆ กับเราและสมาชิกที่เจออะไรในอินเตอร์เน็ตหรือมีประเด็นใด ได้ยินมาจากไหนก็จะหาข้อมูลมาพูดคุยกัน RC-135 เป็นเครื่องบินที่ปรับปรุงมาจากเครื่องบินโดยสาร ก็คงเหมือนกับคณะทำงานที่ต้องทำงานหลักอื่น ๆ เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แต่มี TAF เป็นงานที่สอง อีกอย่างเครื่องบินในตระกูล RC-135 นั้นมีแค่ 32 ลำเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ๆและหากนำไปเทียบกับแบบของอากาศยานทางการทหารแบบอื่น คงไม่มีความโดดเด่นเหมือนเครื่องบินรบที่มีชื่อเสียงอย่างF-22 F-35 ที่ภาพลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยว ทันสมัย ใครๆก็รู้จัก แต่หากต้องเข้าสู่การรบจริงถ้าหากหากขาดการเฝ้าระวัง คอยตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำมาประมวลผลเป็นข่าวกรองที่ใช้ในการเปิดยุทธการที่สำคัญอันมาจากการทำงานของเครื่องอย่างRC-135ก็ยากที่จะเกิดความสำเร็จในการปฏิบัติการนั้น  เหมือนกับกลุ่มคนที่สนใจข้อมูลทางทหารที่ไม่ได้มีจำนวนมากนัก แต่ข้อมูลที่เสาะหามาได้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้