ความท้าทาย และบทพิสูจน์ กลไกตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชน

ความท้าทาย และบทพิสูจน์

กลไกตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชน

……

กระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อการนำเสนอข่าวและรูปภาพที่หมิ่นเหม่ต่อหลักจริยธรรม และกรอบมาตรฐานทางวิชาชีพ กำลังปลุกให้เกิดการตั้งคำถามถึงกลไกการควบคุมและตรวสอบกันเองของสื่อมวลชนว่ายังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

โดยเฉพาะกับช่องทางรับเรื่องร้องเรียนที่ถือเป็นต้นทางสำคัญ ที่จะนำไปสู่การตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุดนั้น เวลานี้เป็นที่รับรู้ หรือสามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนทั่วไปแค่ไหน


นายเสด็จ บุนนาค ผู้จัดการโครงการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะผู้ประสานงานเรื่องการร้องเรียน กล่าวว่า ปัจจุบันช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป แต่อีกด้านเราก็พยายามให้คนทั่วไปที่ถูกละเมิดสามารถร้องไปยังต้นทางคือหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ โดยตรงแทนที่ทุกอย่างจะต้องมาที่สภาการหนังสือพิมพ์ทั้งหมด

ทั้งนี้ ที่ผ่านสภาการหนังสือพิมพ์วางโครงข่ายรับเรื่องร้องเรียนใหม่ โดยให้สมาชิกทั่วประเทศตั้งกรรมการรับเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรหรือOmbusman โดยค่ายใหญ่ๆ ทั้ง ไทยรัฐ เดลินิวส์ เนชั่น ผู้จัดการ ฐานเศรษฐกิจ ได้ตั้งคณะกรรมการของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ในต่างจังหวัดก็มีการตั้งคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนภายในเช่นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางภาคตะวันออก ภาคใต้ ซึ่งเป็นการรวมตัวของสมาชิกภาย ในภูมิภาคนั้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการนั้น ตามข้อบังคับกำหนดให้ องค์ประกอบของคณะกรรมการอย่างน้อย 3 คน ต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 1 คนจาก 3 ด้าน คือ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน กฎหมาย และคุ้มครองผู้บริโภค

ส่วนช่องทางนี้จะทำให้กลไกการตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชนดีขึ้นเรือไม่นั้น นายเสด็จ มองว่า ในรายละเอียดได้กำหนดเงื่อนไขกรอบเวลาการพิจารณาของคณะกรรมการไว้ไม่เกิน 30 วัน สมมติ มีการส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามา ทางสภาการหนังสือพิมพ์ ก็จะส่งเรื่องไปยังหนังสือพิมพ์นั้นๆ ซึ่งคุณจะต้องใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 30 วัน และจะต้องแจ้งผลกลับมาเพื่อให้เราแจ้งกลับไปยังผู้ร้องต่อไป

"หากพิจารณาตามโครงสร้างมันก็ควรจะดี แต่บางครั้งพอเราส่งเรื่องไปแต่เขาพิจารณาไม่ทันตามกรอบ 30 วัน เราก็กระตุ้นทวงถามเข้าไปอีกครั้งบางทีเกิน 30 วันเราก็ขยายเวลาให้อีก 30 วัน หรือถ้าไม่คืบหน้าเราก็ดึงเรื่องกลับมาให้สภาการฯพิจารณาเองว่าถูกผิดยังไง นี่คือขั้นตอน ที่ผ่านมาเรื่องหลายรื่องที่ค้างอยู่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ หรือหลายเรื่องก็มีความคืบหน้า เช่น กรณี ดร.ยิงตัวเอง หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไปลงรูปปืนจ่อหัว เราก็เตือนเขาไปเขาก็ไปตักเตือนในองค์กรของเขาเอง"

นายเสด็จ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าการลงโทษทางจริยธรรมนั้นทำได้แค่การเตือน หรือหนักที่สุด คือการให้ลงขอโทษในหนังสือพิมพ์ของตัวเอง เราไม่มีโทษทางอาญา ไม่มีโทษปรับ ทำได้แค่นี้  ซึ่งนานๆ ทีถึงจะมีให้ลงขอโทษ  ในอดีตที่สมัยเป็นอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ก็เคยมี 2 กรณี ที่ขอให้ลงขอโทษ ทั้ง เนชั่น และ ผู้จัดการ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแค่การออกจดหมายตักเตือน

"เวลานี้เราก็กำลังคิดพยายามคุยกับกรรมการว่าเป็นไปได้ไหมที่เมื่อมีการรับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะเผยแพร่เรื่องร้องเรียนลงในเฟสบุ้คของสภาการฯ เพื่อแจ้งให้คนรู้ว่ามีคนร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามา เช่น ก่อนหน้านี้ อ.วรัชญ์ เคยร้องเข้ามาว่าไทยรัฐลงภาพศพในหน้าหนึ่ง เราก็อาจแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนและกำลังส่งเรื่องไปยังไทยรัฐ

... เรื่องนี้เคยคุยกันแต่ก็ยังแย้งกันอยู่ว่าบางครั้งเราลงอะไรไปก่อนที่จะมีการพิจารณาว่าผิดหรือไม่ผิดก็อาจเป็นการไปพิพากษาเขาไปแล้ว หรืออาจกลัวว่าจะมีการกลั่นแกล้งกัน เกรงจะเกิดปัญหาเลยถูกเบรกไว้ก่อน ซึ่งก็เคยอยากให้ทางสภาการฯ ทำเพราะอย่างน้อยคนจะได้รู้ด้วยว่าสภาการฯ มีเรื่องอะไรร้องเรียนเข้ามาและอยู่ในกระบวนการไหน"

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้าสู่ระบบของสภาการหนังสือพิมพ์ประมาณ 4-5 เรื่อง เช่นเดียวกับปีนี้ ที่มี 5-6 เรื่อง ซึ่งมีทั้งส่งมาทางไลน์ เช่น อ.ธาม เชื้อสถาปนศิริ ก็คอยส่งเรื่องที่เห็นว่าไม่เหมาะสมและขัดต่อแนวปฏิบัติ เช่น เรื่องใบห้วย ที่มีทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ หากดูว่าผิดก็จะส่งหนังสือเตือนไปยังสื่อนั้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราเห็นอยู่แล้วว่าผิดกับแนวปฏิบัติ ควรสามารถเสนอขึ้นโซเชียลมีเดียได้เลยถ้ามีคนร้องเข้ามา

ในฐานะผู้ประสานงานรับเรื่องร้องเรียนของสภาการ เวลานี้ในเว็บไซต์ของสภาการหนังสือพิมพ์ได้อัพเดทให้ข้อมูลและช่องทางการร้องเรียนของสื่อแต่ละแห่งได้โดยตรง ทั้งชื่อคนติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ เว็บไซต์ อีเมล์ ซึ่งจะทำให้การร้องเรียนทำให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น หรือหากจะส่งมายังสภาการฯด้วยก็จะช่วยติดตามอีกทางว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว ซึ่งเว็บไซต์ของสภาการฯก็มีระบบที่ทำเตรียมพร้อมไว้รองรับ

http://www.presscouncil.or.th/%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD/

คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรหนังสือพิมพ์ ... www.presscouncil.or.th สำนักเลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 538/1 ถนนสามเสน เขต ...


"ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือสภาการไม่ได้ครอบคลุมสื่อทั้งหมด เช่นโทรทัศน์ก็จะดูได้แค่กลุ่มของเนชั่น หรือไทยรัฐทีวี แต่หากเป็นช่องนิวส์ของเดลินิวส์เขาบอกว่าไม่เกี่ยวกัน หรือ อีกส่วนที่ไม่ใช่สมาชิก อย่างเครือมติชน เราก็ไม่สามารถไปสั่งอะไรเขาได้ แต่เราก็ใช้วิธีขอความร่วมมือ เช่น กรณีการพาดหัวทำนองน้องอินขับรถไปหาแฟนทอมเราก็ขอความร่วมมือ ให้ระมัดระวังในการใช้คำ"

ส่วนกรณีการนำเสนอภาพและข่าว ของ โอ-วรุฒ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมออนไลน์อย่างมากนั้น นายเสด็จ กล่าวว่า แม้จะมีการโพสต์วิจารณ์ในหลายที่แต่ก็ไม่มีเรื่องร้องเรียนส่งมายังสภาการฯโดยตรง หากส่งมาสักนิดเราก็จะได้มีอะไรไปดำเนินการต่อได้ หรือเรามีคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ที่จะหยิบขึ้นมาพิจารณาเองได้โดยไม่ต้องรอการร้องเรียน แต่ก็ยังไม่มีการประชุมพูดคุย ซึ่งเชื่อว่าหากมีการประชุมคงจะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา

"ในแง่ช่องทางร้องเรียนเวลานี้มีแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้คนทั่วไปเขารับรู้ว่ามีช่องทาง หากเจอเรื่องแบบนี้ร้องมาได้เลย แต่บางคนอาจไม่ทันใจเห็นอะไรปุ๊บก็โพสต์เฟสบุ้คก่อน แต่จะให้เราไปดึงเรื่องมาทำเลย บางทีก็ดูลอยไปนิดหนึ่ง อยากให้มีการร้องเรียนเข้ามาถึงสภาการฯหน่อย ผมก็อ่านตามโพสต์เขียนเรื่องทำนองนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า องค์กรวิชาชีพว่าไง แต่ผมเองก็จะเก็บข้อมูลไว้ให้คณะทำงานทั้งหมดเวลามีประชุม ถึงจะไม่รวดเร็วทันทีทันใดแต่อย่างน้อยก็ได้เอามาดูตรวจสอบ"

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังขึ้นอาจสะท้อนปัญหากลไกการตรวจสอบกันเอง จนถูกหยิบยกไปเป็นข้ออ้างสู่การควบคุมสื่อมวลชนจากผุ้มีอำนาจในอนาคตหรือไม่ นายเสด็จ กล่าววว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มันไม่ทันใจคนที่บริโภคสื่อหรอก คือถ้าจะให้ทันใจต้องพูดไปเลย ใส่ไปเลยในโซเชียลมีเดีย แต่เรื่อง โอ-วรุฒ เราไม่มีใครมาร้อง แต่เชื่อว่าต่อไปจะถูกหยิยกขึ้นมาพิจารณาในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ

"ถ้าจะบอกว่า มันช้าไหมก็อาจจะต้องบอกว่ามันไม่ทันใจคนที่คิดว่า มันต้องเดี๋ยวนั้น ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่เหมาะ หรือต้องเทคแอคชั่นเลย คงไม่ทันใจ เราทำงานเป็นลักษณะคณะกรรมการ เอาเข้าไปสุ่การพิจารณา เหมือนจะออกแถลงการณ์ ก็ต้องร่าง ต้องดู ต้องพิจารณา"

ทั้งนี้ ยอมรับว่า  การประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนยังไม่ทั่วถึง ยังไม่สามารถให้คนที่ได้รับผลกระทบร้องเรียนมาได้ตามช่องทางที่เราวางไว้ แต่ส่วนหนึ่งคนก็อาจจะชอบไปโพสต์อะไรในโซเชียลมีเดียมากกว่าเพราะโพสต์แล้วมีฟีดแบ็คเร็วกว่า มีคนมาช่วยถล่มใหญ่ เวลาด่าสื่อแล้วรู้สึกสะใจมาก แต่ถ้าจะให้เกิดประโยชน์เกิดการเปลี่ยนแปลงแท้จริง นอกจากการระบายในโซเชียลมีเดียแล้ว อยากให้มาร้องเรียนมาในช่องทางร้องเรียนด้วย

 

ด้าน  ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  ขณะนี้ยังพูดได้ลำบากว่ากลไกการตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชนทำงานได้เต็มที่เพียงแค่เริ่มต้นในการตรวจสอบกันเอง ส่วนหนึ่งเพราะช่วงนี้สื่ออาจคำนึงถึงการอยู่รอดของตัวเองเป็นหลัก ส่วนจริยธรรมอาจเป็นประเด็นรองที่ให้ความมสำคัญ สังเกตจากรรมการหลายชุดในสื่อมวลชนที่ตั้งเป็น Ombusman  ซึ่งบางแห่งยังไม่มีเรียกประชุม หรือประชุมไม่กี่ครั้ง ไม่มีกระบวนการดำเนินการอย่างเจตจำนงที่สภาการหนังสือพิมพ์ตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสมาชิกส่วนใหญ่ตั้ง Ombusman เกือบหมด ทั้งค่ายใหญ่หรือในภูมิภาค ที่รวมตัวกันตั้ง  แต่รูปแบบการทำงาน กลไกการทำงานยังทำได้ไม่เต็มที่ ส่วนหนึ่งต้องให้เจ้าของสื่อเห็นถึงความสำคัญก่อน ถ้าเจ้าของหรือผู้มีอำนาจสูงสุดไม่ได้ให้ความสำคัญ ผู้มีอำนาจเบอร์สอง เบอร์สามรองลงมาคงดำเนินการลำบาก ถ้าคำนึงถึงยอดขายอย่างเดียวไม่คำนึงเชิงจริยธรรมก็ขยับยาก ต้องให้เจ้าของมีความชัดเจนตรงนี้ก่อน

“กระบวนการทำงานสื่อมีความผิดพลาดได้ตลอด อย่างสื่อสิ่งพิมพ์รายวันแต่ผิดแล้วได้พูดคุยทำความเข้าใจกันเองของกองบรรณาธิการ หรือ กรณีที่ส่งผลต่อกระทบต่อผู้อื่นได้ชี้แจงทำความเข้าใจหรือขอโทษเขาหรือเปล่า หรือเงียบเฉยหายไปกลับมาใหม่ทำผิดซ้ำอีก ถือเป็นปัญหาที่กระบวนการ  แต่ถ้าเริ่มต้นทำผิดแล้วกลับมาพูดคุยกับคนทำในฐานะผู้ผลิต  เช่นพาดหัวข่าวมีเงื่อนไขเรื่องเวลาจำกัด พื้นที่การคิดคำ หากชี้แจงสาธารณะและกองบรรณาธิการเห็นเป็นบทเรียนไม่ให้ทำผิดซ้ำครั้งต่อไป ตรงนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ”

ในแง่ของมาตรการที่ทำได้เพียงแค่ว่ากล่าวตักเตือนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหนนั้น  ดร.มานะ มองว่าตรงนั้นไม่สำคัญเท่ากับ “เบอร์หนึ่ง” หรือ “เจ้าของ” จริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน หากเป็นเจ้าของว่ากล่าวตักเตือนด้วยตัวเองเรียก บก. หัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งมาเตือน  มันก็อาจจะมีผลให้เขาระมัดระวังตัวต่อไป  หรือแสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อจริยธรรมมากกว่าการอยุ่รอด หรือยอดขาย เรตติ้ง ตรงนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

“ในระยสั้นมันอาจจะดี เรตติ้งดี ยอดขายมาก  แต่มันจะมีผลในระยะยาวต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร แบรนด์ ซึ่งสะสมมานานจะถูกทำลายไป ตอนนี้ เริ่มเห็นผลประชาชนเริ่มตั้งคำถาม กับสื่อมวลชนหลายประเด็น และประชาชนมีเครื่องมือแสดงความเห็นตอบโต้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้เลย ดังนั้น หากทำอะไรไม่ถูกต้องเหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆ  เครดิตความน่าเชื่อถือก็จะหายไปและตรงที่ทวงคืนได้ลำบาก”  ดร.มานะ กล่าว

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มองว่า กรณี การเสนอข่าว โอ-วรุฒ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น เกิดขึ้นเพราะตัวคนทำงานสื่อยังไม่แคร์พลังผู้บริโภค มีคนส่วนหนึ่งชอบอ่านแบบนี้ ก็ยังขายได้อยู่ ทำแล้วมีคนชอบ ก็ยังทำแบบนี้  มองเรื่องจริยธรรมรองลงไป  ถามว่าเขารู้ไหมว่าสิ่งที่ทำผิดหรือไม่เหมาะ  ส่วนมากรู้ แต่ยังทำ เพราะมันขายได้ หรือมีคนสนใจ  อย่างเรื่องหวยทำแล้วมีคนสนใจก็ขายได้  แต่ระยะยาวผลที่ตามมาคือความน่าเชื่อถือซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

“หากละเลยเรื่องเหล่านี้ก็เหมือนกับการฆ่าตัวตาย เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจเข้ามาควบคุมดูแล  เวลานั้นจะมาเรียกร้องเสรีภาพสื่อมวลชน  ประชาชนเขาก็ไม่ได้เป็นแบ็คอัพแล้ว การป้องกันคือต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่วางกรอบกติกาควบคุมดูแลกันเอง ไม่ต้องให้คนอื่นมาออกกติกาให้”

ดร.มานะ  กล่าวว่า เรื่องโอ-วรุฒ แม้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในโซเชียล แต่ก็ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามาใน Ombusman ของไทยรัฐ  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องไปดูในเรื่องกระบวนการ ซึ่งหลักการคือต้องเปิดช่องให้ร้องเรียนง่าย หรือบางเรื่องไม่จำเป็นต้องร้องเรียน สามารถดึงเรื่องขึ้นมาพิจารณาได้เองว่าผิดหรือไม่ผิด โดยไม่ต้องรอคนมาร้องเรียน  ที่ผ่านมาสภาการฯ ก็มีแอคชั่นในหลายเรื่อง แต่ก็อาจไม่ได้ผลในเชิงปฏิบัติจริง หรือกรอบกติกาข้อตกลงที่มีนั้น หากตัวสื่อไม่เห็นความสำคัญก็นำไปใช้จริงอะไรไม่ได้มาก

“สิ่งสำคัญคือสื่อตระหนักเองไหม หากไม่ตระหนักพูดไปแก็แค่นั้น คนในค่ายซึ่งไม่ว่าจะอยู่ค่ายใดค่ายหนึ่ง ถามว่าซีเรียสไหม ซีเรียสแล้วดำเนินการอย่างไร  หรือไม่ซีเรียส สังคมว่ายังไงก็ช่าง เมื่อปัญหาหมักหมมก็เตรียมรับผลแล้วกัน”  ดร.มานะกล่าว

ขณะที่ นายมานิจ สุขสมจิต  กรรมการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า ไทยรัฐมีมาตรการควบคุมดูแลโดยมีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนภายใน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจาก 3 ฝ่าย ตามแนวทางของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คือมีทั้งเจ้าของ คนทำงานและนักวิชาการจากภายนอก  ซึ่งเมื่อมีคนร้องเรียนเข้ามาก็จะดำเนินการสอบสวนต่อไป

นอกจากนี้ ภายในไทยรัฐเองยังมีการจัดอมรมให้กับคนทำงานทั้งหมดในเครือไทยรัฐ ทั้ง ออนไลน์ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ทุกระดับตั้งแต่ระดับบก. หัวหน้าข่าว นักข่าว โดยอบรมทุกวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ทะยอยทีละ 20-30 คน ไปเรื่อยๆ เพื่อให้รู้ถึงกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม มีตัวอย่างการกระทำผิดจริยธรรม

นายมานิจ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ก็มีการตักเตือนไปยังคนเขียน เขาก็รู้สึกผิด โดยไม่อยากลงรายละเอียดว่าเป็นเรื่องไหน แต่เป็นเรื่องที่เขียนถึงคนต่างชาติ ไม่มีเจ้าทุกข์มาร้อง แต่เรารู้สึกกันเองว่าไม่เหมาะสมก็เตือนเขา เขาก็ยอมรับคำเตือนรู้ว่าผิด

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายังคณะกรรมการนั้นมีไม่มาก เพราะหากเป็นกรณีผิดกฎหมาย หมิ่นประมาทก็ไม่เยอะ กรณีผิดกฎหมาย หมิ่นประมาท ก็ฟ้องร้องเป็นคดีสู้กันทางกฎหมาย ส่วนการผิดจริยธรรมถึงจะใช้การสอบสวนกันภายใน

กรณีเรื่อง โอ-วุรฒ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น ที่ผ่านมาไม่มีการร้องเรียนเข้ามายังคณะกรรมการของไทยรัฐ  ซึ่งประเด็นนี้ก็ถือเป็นมุมมองของแต่ละคนที่เห็นแตกต่างกัน บางคนเห็นว่าข่าวซึ่งลงว่าเขาเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพซึ่งบรรดาญาติให้สัมภาษณ์มานั้น  บางคนก็มีความเห็นว่าไม่ควรไปลงข่าวซ้ำเติมผู้เสียชีวิต

“ตรงนี้เป็นความเห็นของผู้โพสต์แสดงความเห็นขึ้นมา อาจจะถูกก็ได้ ผิดก็ได้ จะมีคนเห็นด้วยก็ได้ ไม่เห็นด้วยก็ได้เป็นเรื่องปกติ  เราดูแล้วเป็นเรื่องความเห็นส่วนตัว แต่ถ้าเรื่องไหนที่เราเห็นว่าหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพเราก็ตักเตือน  ตอนอบรมเราจะเอาข้อตำหนิขึ้นมาฉายให้ดูกันว่าทำอย่างนี้เขาวิพากษ์ วิจารณ์ แต่บางเรื่องทำไปแล้วมีความคิดเห็นว่าไม่เหมาะสมนั้น อาจจะผิดก็ได้ถูกก็ได้” นายมานิจกล่าว

นายมานิจ กล่าวว่า เชื่อว่าการกำกับกันเองเช่นนี้จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่เชื่ออย่างนั้นก็คงไม่ทำ ซึ่งในฐานะที่เป็นประธานอนุกรรมการยกร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วนตั้งขึ้นมาและอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 นั้น จะมีสภาวิชาชีพขึ้นมาดูแลเรื่องการส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพ สื่อมวลชน

ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 35 ซึ่งระบุว่าบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดความเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ  โดยองค์ประกอบของสภาวิชาชีพจะมาจาก จากคนทำสื่อ 5 คน นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ  4 คน  ซึ่งในสภาวิชาชีพจะมีคณะกรรมการหลายคณะ รวมถึงคณะกรรมการจริยธรรมเข้ามาพิจารณาเรื่องร้องเรียน และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนจะทำผ่านองค์กรวิชาชีพ อย่าง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ของกลไกการตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชน ที่ต้องช่วยกันประคับประคองเพื่อให้สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย  “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”