“ภัทระ คำพิทักษ์” ไม่ว่าวันไหน “ผมคือนักข่าว”

จุลสารราชดำเนิน :
"ภัทระ คำพิทักษ์"
ไม่ว่าวันไหน "ผมคือนักข่าว"

 

"นักข่าว คือ อาชีพที่ถูกจ้างให้ไปหาความรู้ แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้ ไปแบ่งปัน หรือ ถ่ายทอด เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม"

คงไม่มีใครค้านกับ ประโยคข้างต้น เพราะวิชาชีพของ "สื่อมวลชน" เป็นไปในรูปแบบนั้นจริงๆ แม้ตอนนี้คนที่ทำอาชีพนี้จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

กับที่มาของประโยคข้างต้น หากบอกว่า เป็นของ "โม่ง- ภัทระ คำพิทักษ์" สื่อมวลชนระดับบริหารในเครือโพสต์พับลิชชิ่ง ที่เพิ่งพ้นตำแหน่ง "กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" หรือ 1ในสายของแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดจาก "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ - คสช." เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา จะยังมีใครเปลี่ยนมุมมอง กับประโยคแรกนั้นหรือไม่?

เอาเข้าจริง การวิจารณ์ความเหมาะสมว่า "สื่อมวลชน" ไม่ควรเข้าไปคลุกคลีกับพวกขั้วอำนาจของรัฐ ​ งานการเมือง เพราะจะกระทบต่อการทำหน้าที่ โดยเฉพาะงานด้านตรวจสอบ เกิดขึ้นมานานพอสมควรในแวดวงสื่อมวลชน แต่ไม่มีใครสรุปได้แบบเชิงประจักษ์ว่า กระทบต่อหน้าที่จริงหรือไม่

แต่ สำหรับงาน ร่างกติกาใหญ่ของประเทศ อย่าง "รัฐธรรมนูญ" แม้จะมีเสียงวิจารณ์บ้างกับบทบาทของ "ภัทระ" แต่สิ่งที่เขาได้ทำมาเกือบ 3 ปี ทำให้เห็นว่า คุณค่าของสื่อมวลชนมีมากกว่าแค่รายงานข่าว เสนอข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 



"ก่อนที่จะได้รับเลือกให้เป็น กรธ. ยอมรับว่ามีบทบาทเป็นตำแหน่งบริหารในเครือโพสต์พับลิชชิ่ง และพยายามแก้ไขวิกฤตสื่อที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนัก ตอนนั้นผมคงเปรียบเหมือนเป็นสถาปนิกที่ออกแบบให้สื่อในเครือพ้นสภาพวิกฤตสื่อที่​คุกคามวงการสื่อมวลชนอย่างหนัก ทั้งการทำเว็ปไซต์ ที่มียอดคนดูเพียง 3หมื่น ไปเป็น 3 ล้านคน เราสนุกกับสิ่งที่ทำ แต่พอผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือขอให้ไปช่วยทำรัฐธรรมนูญ ไม่เคยคิดและฝันว่าจะมีโอกาสนั้นในชีวิต รวมถึงไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ดี เมื่อได้ไปรับหน้าที่แล้วถึงรู้ว่าวิชาที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์เป็นสื่อมวลชนกว่า 30ปี ที่ขอเรียกว่า สหวิชา เป็นสิ่งที่ถูกไปต่อยอดและช่วยออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้"

แต่จาก คนในวงการสื่อมวลชน ที่ไม่มีดีกรีเป็นนักศึกษาปริญญาเอก หรือ จบ ดร. เหมือน กรรมการรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ ข้อเสนอและความเห็นของ "ภัทระ" ถูกยอมรับ

เป็นเพราะ ความเกรงใจ? ว่าเป็นคนสนิทของ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ แม่ทัพร่างรัฐธรรมนูญ หรือ เกรงกลัวว่า​ "บิ๊กสื่อฯ" คนนี้จะนำความไปฟ้องสาธารณะ

ซึ่ง 2 ความสงสัยนั้น "​ภัทระ" บอกว่า ไม่มีสิ่งที่ถูก และสิ่งที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่สุด คือ เขาอาศัยความร่วมมือจากองค์กรสื่อมวลชน และ เครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ให้ข้อมูลและประเด็นไปสะท้อนต่อที่ประชุม แต่ถึงขนาดนั้นแล้ว กว่าจะถูกยอมรับ ไม่ใช่ของง่าย เพราะต้องใช้การอธิบายให้ กรธ. เข้าใจกับสถานการณ์ในอดีต และความเป็นไปในอนาคต จนพวกเขายอมรับในสิ่งที่นำเสนอ และบางประเด็นใช้เวลาอธิบายจนนาทีสุดท้าย



"อย่างมาตราว่าด้วยสื่อมวลชนที่ยึดในหลักการว่าสื่อมวลชนต้องกำกับกันเอง ไม่ใช่ให้กฎหมายใดมาควบคุม ผมอาศัยการหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และหากใครตามสถานการณ์ก่อนที่ กรธ. จะมาทำรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นมีร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 1 ฉบับ โดยมี อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นหัวโต๊ะ และตอนนั้นผมฐานะประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมต่อสู้กับองค์กรสื่อฯ คัดค้านการออกกฎหมายเพื่อควบคุมสื่อ ไปยื่นหนังสือกับสภาปฏิรูปประเทศ และทำข้อเสนอเรียกร้องต่างๆ และเมื่อมาทำหน้าที่ในกรธ. ผมยังยึดหลักนั้น แต่ กรธ. ท่านอื่นๆ ไม่ได้เห็นด้วยกับผม ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือ การอธิบายยกเหตุการณ์ในอดีต สถานการณ์ปัจจุบัน และความน่าจะเป็นในอนาคต มาพูดเพื่อให้กรธ. ยอมรับ"

แม้ในการต่อสู้ของบทบัญญัตินั้น จะได้สิทธิของสื่อมวลชนที่กำกับ ควบคุมกันเอง นั่นหมายถึง ยังมีเสรีภาพการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ไม่ตกภายใต้ความกลัวว่า "รัฐ" จะใช้ "กฎหมาย" กดหัว แต่ความจริงข้อหนึ่งที่ปฏิเสธ คือ สิทธิที่ได้ มาเพียงครึ่งใบ!! เพราะ "สื่อมวลชนที่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ" ถูกกำกับให้เสริฟข่าวที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานต้นสังกัดตามความต้องการ-นโยบายของต้นสังกัด

"เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายตามที่บอก แต่ประเด็นนี้ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า สื่อของเอกชนยังต้องทำตามนโยบายและทิศทางของต้นสังกัด ดังนั้นสื่อของรัฐต้องทำหน้าที่ให้รัฐ แต่การทำงานทั้งหมดถูกวางกรอบทำงานไว้บนฐานของจริยธรรม หากทำงานโดยไม่ขัดกับจริยธรรม ถือว่าไม่มีปัญหา" ภัทระ ระบุ

กับคำกล่าวข้างต้น สะท้อนความตามมุมมองของ "อดีต กรธ." ด้วยว่า การเขียนกติกาที่มีผลกับสังคมต้องคำนึงถึงความเป็นจริง พอๆกับการสร้างสังคมในอุดมคติด้วย โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญนั้น ย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกแบบโลกในอุดมคติ ผ่านการเขียนบทบัญญัติของกฎหมาย



แต่สิ่งที่ เขาช่วยได้ระดับหนึ่ง คือการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อบทบาทสำคัญ อาทิ การมีส่วนร่วมทางการเมือง, การตรวจสอบรัฐ ซึ่งทั้งหมดคือพื้นฐานที่จะทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตย เป็นสังคมที่สุจริต และโปร่งใส โดยคำตอบที่ให้มา คือ หลักการสำคัญของวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ "ภัทระ คำพิทักษ์" ยึดถือ

กับวันนี้ อนาคตของ "อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ" จะไปทางไหน หลังพ้นตำแหน่ง "กรธ." และการกลับเข้าไปเป็นทำงานสื่อมวลชนภายใต้ บริษัทสื่อฯ โพสต์พับลิชชิ่ง ยังรอกระบวนการพิจารณาของบอร์ด เขายกคำพูดของ "ป้าวิภา สุขกิจ" อดีตบรรณาธิการหญิงของหนังสือพิมพ์มติชน ที่เคยบอกกับเขาว่า "ไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งหรือสถานะไหน ความเป็นนักข่าวจะอยู่กับเรา" พ่วงกับคำพูดของ "อ.ป๋อง - พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร" ที่เคยสอนเขาว่า "ความเป็นนักข่าว ต่อให้อายุงาน 1 วัน กับ อายุงาน 10 ปี ความเป็นนักข่าวนั้นเสมอกัน และวิชาชีพนี้ไม่มีใครพรากไปจากตัวตนได้ ยกเว้นเราจะละทิ้งมันเอง"

"บทสรุปที่ได้ คือ วันนี้ผมยังไม่ล้มเลิกกับอาชีพนี้ แม้จะมีคนมองว่าผมไปข้องแวะเรื่องทางการเมืองเป็นครั้งคราว ยอมรับมีคนชวนไปทำงานการเมือง ผมบอกเลยว่าไม่สนใจ ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง"

กับคำถามส่งท้ายที่ใครหลายคน อยากถาม ถึงตัวตนของ "ภัทระ" หลังจากร่วมงานกับ "กรธ." และเป็นที่รู้จักมักคุ้นกับแวดวงคนมีอำนาจ และถูกมองว่า เขาคือ "บิ๊กสื่อฯ" คือ นักข่าวที่มีพาวเวอร์ มีอำนาจ แต่เขากลับมองในบทบาทของตัวเองว่า คือ ผู้สื่อข่าว

"ในวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำมา เราไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งเราจะมีโอกาสใช้วิชา ความรู้ที่ได้จากการสะสมมาตลอดการทำงานไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง บางคนอาจไปเป็นครู ไปเป็นอาจารย์สอนพิเศษ ไปบรรยายให้ผู้คนได้ฟังตามสิ่งที่เราทำมาในวิชาชีพ ไปช่วยชุมชน ไปช่วยมูลนิธิ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนัก คือบทบาทของตนเอง คึอ ความเป็นสื่อมวลชน ต่อให้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน บทบาทอะไร ความเป็นวิชาชีพของเรา คือ ทำสิ่งเดียวกัน คือ แบ่งปันความรู้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม"

กับคำตอบทิ้งท้าย ในท้ายสุด เขาบอกว่า "มีคนเคยบอกว่า นักข่าวคืออาชีพพิเศษ ที่มีตั๋วเดินทางไปทั่วโลก เพื่อเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ คือ จ้างให้ไปหาความรู้ แล้วนำมาแบ่งปันกับสังคม เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม"

ซึ่ง "ภัทระ" เอง ได้ทำสิ่งนั้น ในวันที่โอกาสถูกหยิบยื่น เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในสถาปนิก ที่ออกแบบสังคมให้เป็นไปตามอุดมคติ และอิงกับความเป็นจริง.