เสียง “คนข่าว” กับ 5 หลักสูตร ติดอาวุธวิชาชีพ ฝ่าวิกฤตสึนามิดิจิทัล

เสียง “คนข่าว” กับ 5 หลักสูตร

ติดอาวุธวิชาชีพ ฝ่าวิกฤตสึนามิดิจิทัล

..........................

คำถามคำโตที่ไม่มีใครสามารถให้คำตอบ หรือ พยากรณ์อนาคตได้ชัดว่า ปลายทางของวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ อาชีพนักข่าว ไม่ว่า หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ นิตยสาร วิทยุ จะอยู่รอดปลอดภัย ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีแบบนี้ได้นานแค่ไหน

เมื่อสื่อมวลชน ในฐานะเป็น “ตัวกลาง” ในการส่งสาร ถูกลดบทบาทลงทุกวัน ผู้บริโภคหันมาเสพความเคลื่อนไหวรอบตัวจาก โซเชียลมีเดีย เข้ามาทำหน้าที่แทนสื่อมวลชนกระแสหลัก

ทางเลี่ยง – ทางรอด จากหายนะสึนามิเทคโนโลยี นอกจากองค์กรสื่อแต่ละองค์กรต้องปรับตัวแล้ว หนีไม่พ้น “คนข่าว” จะต้อง “ติดอาวุธ” เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ให้ตนเองยืนหยัด สร้างตัวตนใหม่บนเส้นทางแห่งอนาคตที่อันท้าทายนี้ได้

เมื่อไม่นานมานี้ “สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ได้จัดโครงการอบรม 5 หลักสูตร เพื่อ “ติดอาวุธ” ให้คนข่าว คือ 1.อบรมพื้นฐานการทำธุรกิจ 2.ใอบรมการทำไลน์สติกเกอร์ 3.อบรมดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง  4,อบรมการขายออนไลน์ และ 5.อบรมการถ่ายทอดสอดออนไลน์

“จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง” รองเลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ เล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการมาจากการระดมสมองของคณะกรรมการสมาคม ที่คิดกันว่าในยุคที่ออนไลน์เข้ามาจนส่งผลกระทบต่อวิธีการทำงานของนักข่าว แต่ในนั้นมีโอกาสที่ให้นักข่าวเพิ่มทักษะตนเอง เพิ่มช่องทางทำมาหากินให้มากขึ้นได้ โดยนำทักษะนักข่าวที่มีอยู่มาเพิ่มทักษะออนไลน์มากขึ้น ตั้งแต่พื้นฐานธุรกิจ ทำสติ๊กเกอร์ไลน์ซึ่งอยู่ในกระแส ทำดิจิทัลมาเก็ตติ้ง การขายของออนไลน์ เมื่อสุดท้ายเรารู้ช่องทางในการนำเสนอสิ่งต่างๆ แล้วก็นมาสู่การถ่ายทอดสด

“ถ้าวันหนึ่งเราขี้เกียจเป็นนักข่าว หรือ อยากทำอาชีพเสริมเกี่ยวกับขายของออนไลน์เราก็อยู่ต่อในอาชีพนี้ได้ โดยนำสิ่งที่อบรมมาต่อยอดทำอย่างไรให้คนเข้าถึงข่าวของเรามากขึ้น หรือ การนำมาใช้ในงานข่าว เช่น วันหนึ่งต้องไปรายงานข่าวคนเดียวแล้วจะทำอย่างไรให้สู่โลกออนไลน์ได้ โดยที่ให้คนมาสนใจ รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงข่าวของเราได้ อย่างน้อยทำให้เราอยู่รอดในวิชาชีพนี้ได้”

“อีกประการคือ บริษัทลดต้นทุน ถ้านักข่าวหนึ่งคนสามารถทำอะไรได้มากกว่าหนึ่งอย่าง อย่างน้อยก็เป็นตัวเลือกที่เขาจะไม่จิ้มเราออกจากงาน”

ตลอดโครงการ 5 สัปดาห์ มีคนที่สนใจเข้าร่วมอบรมแต่ละหลักสูตร 70-80 คน บางรายให้ความสนใจทุกหลักสูตร มาประจำไม่ขาดระยะ

หลายคนมาไกลจากต่างจังหวัด ต้องนั่งรถทัวร์ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันเสาร์ เพื่อมาให้ทันการอบรมในเช้าวันอาทิตย์ตอน 9 โมงเช้า

“กัญธนา ซาวงค์”  จากร้อยเอ็ดทีวี เธอนั่งรถทัวร์จากร้อยเอ็ด มาถึง กทม.ตอนเช้าตรู่ นั่งรอที่สถานีขนส่งหมอชิตจนฟ้าสางแล้วค่อยนั่งรถมาที่สมาคมนักข่าว

เธอ เล่าถึงความมุ่งมั่นที่ร่วมอบรมหลักสูตรของสมาคมนักข่าวว่า  สื่อทุกวันนี้ถ้าไม่ปรับตัวจะทำงานลำบาก การถ่ายทอดสดเฟซบุ๊กใครๆ ก็ไลฟ์ได้ก็จริง แต่ถ้าใครอยากใส่ซีจี ตัดต่อ ใส่ตัวอักษร ต้องมาเรียนรู้ว่าการถ่ายทอดสดการจะใส่โลโก้ช่อง หรือ บาร์วิ่ง เหมือนทีวีช่องๆ หนึ่งจะทำอย่างไร เทคโนโลยีเอื้อให้เราถ่ายทอดสดได้ทันทีเหมือนมืออาชีพ

“ทุกหลักสูตรของสมาคมทั้ง 5 หลักสูตร ล้วนแต่เสริมสร้างศักยภาพนักข่าวมืออาชีพ เพิ่มช่องทางในการนำเสนอ ที่มาเรียนไม่ได้เรียนขายออนไลน์สินค้าทั่วไปอย่างเดียว แต่การขายออนไลน์หมายถึงขายข่าวตัวเอง มีช่องทางเผยแพร่ทางไหนบ้าง ควรสร้างคอนเทนท์อย่างไร เขียนอย่างไร ตั้งค่ากลุ่มเป้าหมายอย่างไรให้คนมองเห็น ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่สุด”

“ผู้สื่อข่าวบางคนอาจเก่งคอนเทนท์ เก่งสนามข่าว แต่เรื่องดิจิทัลน้อยคนที่จะทำได้ หากไม่เรียนจริงๆ ถือเป็นการเริ่มต้นและกระตุ้นให้สื่มวลชนมาสร้างคอนเทนท์และช่องทางในการเผยแพร่ข่าวของตนเอง”

 

ไม่ต่างกับ “ศิริทรัพย์ พืชโพธิ์งาม” บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามพอเพียง และเพจเมาท์เมามันส์โพสต์ แห่ง จ.ระยอง เธอบอกว่าเธอไม่เก่งคอมพิวเตอร์ เมื่อออนไลน์รุกคืบเข้ามา จึงต้องปรับตัว 180 องศา

“คิดว่าหนังสือพิมพ์ในสมัย 4.0 ต้องทันกับโลกและทันเหตุการณ์ ทั้งหนังสือพิมพ์และออนไลน์ควรผนวกเข้าด้วยกัน จึงตัดสินใจอบรม ความรู้ที่ได้จากการอบรมในด้านออนไลน์ การขายออนไลน์ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และการถ่ายทอดสด ไม่เคยจับมาก่อน ดังนั้น จึงจะนำสิ่งที่อบรมไปปรับใช้กับเพจเมาท์เมามันส์โพสต์ ในการถ่ายทอดสดออนไลน์ การทำโฆษณา ด้านประชาสัมพันธ์ของจังหวัดระยอง”

 

ส่วน “บุรอร ชุ่มชื่น” อดีตนักข่าวอาวุโสแห่งวิทยุ จส.100 ที่มาเรียนแทบครบทุกหลักสูตร บอกว่าได้ความรู้และได้เทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และการขายออนไลน์ รวมถึงการถ่ายทอดสดออนไลน์ เป็นเรื่องที่อยากรู้และได้รู้ ในการที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า เพราะโลกเปลี่ยนเร็วทุกวินาที

“การทำข่าวในเวลานี้วิธีการนำเสนอขึ้นอยู่กับความครีเอท ความสร้างสรรค์ จริงๆ แล้วไม่ต่างกันกับในอดีต แต่ต่างกันช่องทางนำเสนอต่างหากที่ต่างกัน มันอยู่ที่ช่องทาง ยุคนี้เป็นยุคของแชนเนล จึงมาเรียนเพื่อเข้าใจในการใช้ช่องทางให้ถูกต้องตามลักษณะของงาน”

 

ต้องยอมรับว่า กระแสเทคโนโลยีทำลายล้าง ใช่ว่ากระทบแต่นักข่าว นักเขียน จนต้องปรับตัวเท่านั้น แต่ช่างภาพหนังสือพิมพ์ด้วย “ประเสริฐ ขวัญมา” ช่างภาพหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ยอมรับว่า ต้องปรับตัว เพราะต้องเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพวีดีโอ ตัดต่อวีดีโอ นำสื่อที่เราทำไปใช้ในช่องทางออนไลน์อย่างไร ช่างภาพต้องมีความสามารถด้านวีดีโอเพิ่มเข้ามา เพราะหลายครั้งอย่างแอดโฆษณาบางครั้งก็ขายไม่ได้ บางทีเขาก็อยากจะซื้อผ่านรายการทีวี ส่วนใหญ่ก็ต้องซื้อผ่านรายการทีวี เราก็ต้องไปถ่าย ดังนั้น การอบรมถ่ายทอดสดที่ใช้โทรศัทพ์เพียงเครื่องเดียว สามารถนำมาประยุคต์ใช้ในการขายได้ หรือไปใช้ในงานข่าวได้

“จีรพงษ์” ปิดท้ายว่า หากนักข่าว เพื่อนสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ คนไหนมีโครงการที่จะเสนอแนะ สามารถติดต่อได้ทุกช่องทางของสมาคมนักข่าว หากเจอตัวกรรมการในสมาคมสามารถบอกได้เช่นกัน เพราะเสียงเสียงหนึ่งก็มีความสำคัญที่จะทำให้ “คนข่าว” อยู่รอดในโลกที่กำลังผันผวน