สืบเสาะ-เลาะสนามฟุตบอล พื้นที่หาข่าวทหารยุค”ดิจิตอล”

Special Report

โดย ทีมข่าวกองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน

สืบเสาะ-เลาะสนามฟุตบอล

พื้นที่หาข่าวทหารยุค”ดิจิตอล”

 

“แหล่งข่าว” ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำข่าวเชิงลึก ซึ่งหากมีความสนิทสนม “แน่นปึ๊ก”กันมากเท่าไหร่ ข่าวที่ได้มาก็จะ“ลึก”ถึงแก่นมากขึ้นเท่านั้น  โดยเฉพาะ “แหล่งข่าว”เฉพาะสายที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นข้าราชการประจำที่มีระเบียบ วินัย จารีต กำหนดไม่ให้การนำข้อมูลภายในองค์กรไปเปิดเผยภายนอก หาก “ผู้สื่อข่าว”ไม่ได้รับความไว้วางใจจริง หรือไม่สนิทสนมมากพอก็ยากที่จะได้ข้อมูลที่สำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น ในแวดวงข้าราชการทหาร – ตำรวจ การจะเข้าถึง “แหล่งข่าว” ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการสร้างความไว้วางใจ   ซึ่งต้องใช้หลายวาระ และหลายโอกาส  ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ในการสร้างความคุ้นเคย

จึงเห็นได้ว่า ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงจะมีอายุงานพอสมควร เพราะต้องใช้เวลาในการสร้างแหล่งข่าวของตนเอง  โดยแต่ละคนก็มี “เคล็ดลับ” ในการเข้าไปล้วงลึกหาข้อมูลที่แตกต่างกันไป โดยต้องศึกษาลักษณะของทหารแต่ละคนว่ามี “ไลฟ์สไตล์” รวมไปถึง “แนวคิด”อย่างไรในการทำงาน

สำหรับวิธีการหาข้อมูล และ ข่าวเชิงลึก จาก”แหล่งข่าวสายทหารมีหลากหลายวิธี และ เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย

ในยุคหนึ่ง  นักข่าวสายทหาร อาจต้องหาแหล่งข่าวจากการ “ตั้งวง” พูดคุยละลายพฤติกรรมกัน จนสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จนกลายเป็นช่องทางหนึ่งในการได้ “หิ้น” ข่าว หรือได้ “เบื้องหลัง” ข่าว ที่ไม่สามารถนำไปเขียนได้ ถือเป็นการ “ออฟเรคอร์ด”ข้อมูล  ที่นักข่าวสามารถหาวิธีการนำเสนอ ให้สังคมได้รู้  โดยไม่ต้องอ้างชื่อ แต่นำเอาสิ่งเหล่านั้นไปขยายความในประเด็นข่าวที่มีความคลุมเครือ ให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น  จุดมุ่งหมายหลักคือต้องสื่อให้ประชาชนได้รับทราบในเบื้องต้น ว่า ใคร ทำ อะไร ที่ไหน อย่างไร รวมไปถึงเหตุผล เบื้องลึก เบี้องหลัง ของเหตุการณ์สำคัญในแต่ละช่วง

นักข่าวรุ่นเก๋า  ที่ผ่านการทำข่าวในยุคก่อนเกิดการรัฐประหารเมื่อช่วงเดือน ก.พ.2534 ที่ “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)  ฉายานายพลเสือคับ เลือด “ทหารรบพิเศษ” ล้วนต้องเจอกับ “วิสกี้ออนเดอะร็อค” ชนแก้วกันแบบ พี่ๆ น้องๆ  พร้อมยังมีผู้บังคับหน่วยอีกหลายคนจากทุกเหล่าทัพที่มักพบปะกับนักข่าวแบบ “ไม่เป็นทางการ” อยู่เป็นประจำ ซึ่งแหล่งข่าวจากนายทหารในระดับคุมกำลังช่วงนั้น ก็จะเติบโตในเส้นทางรับราชการจนกลายมาเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงในขณะนี้

พูดถึง “นายทหารรบพิเศษ อีกนายหนึ่งที่ผูกสัมพันธ์กับนักข่าวอย่างไม่เหมือนใคร  นั่นก็คือ “บิ๊กแอ้ดพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ช่วงที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก ( ผบ.ทบ.) และ มาดำรง ผบ.ทสส. ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ   ก็ใช้วิธีการของการ “เดินป่า”พักค้างแรม ละลายพฤติกรรม แลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้สื่อข่าวที่ร่วมคณะไปด้วย อีกทั้งยังมี ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับกองพัน ในพื้นที่ที่หน่วยนั้นรับผิดชอบร่วมคณะไปด้วย ซึ่งนอกจากผู้สื่อข่าวจะได้พูดคุยกับ ผบ.ทบ.แล้ว ยังผูกสัมพันธ์กับผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ และสานสัมพันธ์ต่อเป็นแหล่งข่าวเมื่อเขาเหล่านั้นเติบโตในเส้นทางราชการในลำดับที่สูงขึ้นไปเช่นกัน

และ ในยุคของ บิ๊กเจี้ยบพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก  (ผบ.ทบ.)  ที่ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย  ภายใต้นโยบาย  “smart man – smart  soldier” จนทำให้ช่วงที่ “บิ๊กเจี้ยบ”ดำรงตำแหน่ง มีความตื่นตัวในการออกำลังกายของหน่วยทหารทั่วประเทศ

อีกทั้ง พล.อ.เฉลิมชัย เองก็ชื่นชอบในการเล่นฟุตบอล และใช้เป็นกีฬาในการเชื่อมความสัมพันธ์ มาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.)จังหวัดลพบุรี จนกระทั่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. นักข่าวเองก็ต้องปรับให้เป็นไปตามสภาพการณ์ และ พื้นที่ในการสืบเสาะหาข้อมูล ก็คือบริเวณโดยรอบสนามฟุตบอลที่กองบัญชาการกองทัพบก นั่นเอง

หลังจากรับตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สนามหญ้าหน้ากองทัพบก ได้มีการปรับสภาพ ปลูกหญ้า  เพื่อรองรับการใช้เตะฟุตบอลของทีมต่างๆ  และ “บิ๊กเจี้ยบ” ก็ใช้สนามแห่งนี้ในการฟาดแข้งกับทีมในกองทัพบก และ ทีมเยือนจากภายนอกที่เป็นทั้งคนมีสี รวมถึงพลเรือน

สนามหญ้าหน้า บก.ทบ. จึงเคยเปิดรับ นักศึกษาหลักสูตรพิเศษของ สถาบันพระปกเกล้าฯ โดยในครั้งนั้นมีทั้ง "สมบัติ บุญงามอนงค์ - วีระ สมความคิด - สุภรณ์ อัตถาวงศ์" หลังจากนั้นยัง ทีทีมของ”สาธิต ปิตุเดชะ”อดีต ส.ส.ภาคตะวันออกของพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาฟาดแข้ง ไม่นับแขกวีไอพีต่างประเทศ จากสำนักงานผู้ช่วยทูตอังกฤษ – ออสเตรเลีย- มาเลเซีย และ สาธารณรัฐประชาชนลาว  รวมถึงการร่วมทีมวีไอพี ทบ.ไปแข่งแบบเยือนที่สนามไทย-ญี่ปุ่นดินแดน  สนามเอสซีจี-เมืองทอง ฯ เป็นต้น

และทุกครั้งที่ลงสนามนอกจากได้พูดคุยเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมเตะฟุตบอลอย่างเป็นกันเองแล้ว ช่วงเวลาพักครึ่ง หรือ จบเกมส์ ก็จะพูดคุยกับผู้สื่อข่าว“นอกรอบ”ภายใต้ “คอนเซ็ปท์”ว่า ไม่ใช่การสัมภาษณ์ เป็นการพูดคุยแบบพี่ๆ น้องๆ

ปรากฏการณ์ที่สนามฟุตบอลยังเป็นการบ่งชี้ถึงทิศทางและแนวโน้มของข่าวโยกย้ายนายทหารประจำปีในช่วงก่อนที่ พล.อ.เฉลิมชัย จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบกด้วย เนื่องจาก พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ลงมารับชมฟุตบอลประเพณีเตรียมทหารเลขคู่-เลขคี่ ด้วยตนเองและมอบให้ พล.อ.เฉลิมชัย เป็นประธานในงาน และขึ้นกล่าว

ไม่เพียงแต่ระดับกองทัพบก เท่านั้น ที่ใช้กีฬา “ฟุตบอล” กระชับมิตรกับผู้สื่อข่าว แต่ผู้สื่อข่าวก็ต้องใช้จังหวะเวลานี้ในการสร้างความสัมพันธ์กับแหล่งข่าว  ที่จะมีผู้บังคับหน่วยระดับรองลงไปมาร่วมงานด้วย  ซึ่งภารกิจที่สำคัญแรก คือการขอเบอร์โทรศัพท์ และ ไลน์ติดต่อ  เพราะในโลกปัจจุบันการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลล้วนใช้การ “สื่อสาร” ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารทางสมาร์ทโฟน

การแข่งขันฟุตบอล นอกจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่าง ผู้สื่อข่าว และ แหล่งข่าว แล้วยังทำให้รู้ถึงความเคลื่อนไหวในเหตุการณ์สำคัญ โดยเฉพาะการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ในยุคนั้น “บิ๊กบังพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก มีข่าวกระเซ็นกระสายมาตลอดว่าจะมีการ “รัฐประหาร” นับแต่มีการปรับย้ายนายทหารระดับผู้บังคับกองพัน โดยย้ายขุมกำลังของฝ่ายปฏิวัติเข้าไปคุมกำลังแทน รอวันยึดอำนาจจาก  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ที่เป็นนายกขณะนั้น

ผู้สื่อข่าวสายทหาร “ได้กลิ่น” การรัฐประหารแรงขึ้น  เพียงแต่ รอ วัน ว. เวลา น.ในการปฏิบัติ  ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ต่างจากเมื่อปี 2534 การแจ้งเตือนให้ “กำลังพล-ครอบครัวทหารกลับบ้านก่อนจะมีการประกาศยึดอำนาจ  ทำให้มีการแจ้งข่าวกระจายไปทั่ว

ระหว่างวันนั้น มีการแข่งขันฟุตบอลเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวสายทหารกับทหารหน่วยหนึ่ง และเมื่อดูจากปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น ทหารหลายคนรับโทรศัพท์ และเช็คข่าวกันวุ่น  จึงได้รับการยืนยันอีกทางว่ามีการ “รัฐประหาร”เกิดขึ้นแน่นอนแล้ว

แม้ในโลกยุคดิจิตอลที่เนื้อข่าวที่นำเสนอมาจากสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เพราะมีข้อมูลต่อเนื่อง สามารถตอบสนองให้กับข่าวออนไลน์ได้ทุกนานาที   แต่ข่าวเชิงลึก ที่ต้องไป “เจาะ”  ก็ยังมีความจำเป็น และเป็นแกนหลักในนำเสนอข้อมูลของสื่อให้มีความหมายในเชิงการนำเสนอข่าวเชิงลึกอยู่

เพราะถึงอย่างไร “ข่าว”ปกปิด ก็ยังต้องใช้ “ทักษะ”ของนักข่าว ในการเข้าถึงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงมานำเสนอ ในทุกสภาวการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของผู้นำอำนาจแต่ละยุคด้วย