เสียงสะท้อน จาก”คนข่าว”ภาคสนาม ในวันที่ “ภาระค้ำบ่า” และ”หน้าที่ค้ำคอ”

รายงานพิเศษ

โดยกองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน

เสียงสะท้อน จาก”คนข่าว”ภาคสนาม

ในวันที่ “ภาระค้ำบ่า” และ”หน้าที่ค้ำคอ”

เหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือนกว่าก็จะสิ้นปีปฏิทิน  2561 เข้าสู่ปี  2562 โดยคนหลากหลายอาชีพก็เริ่มวางปฏิทินตัวเองกันแล้วว่า สิ้นปีนี้ จะเดินทางไปท่องเที่ยวปีใหม่ เติมพลังให้กับชีวิตอย่างไร

ด้าน”นักข่าว-คนทำข่าว-กองบรรรณาธิการข่าว”หลายสำนัก  ก็เริ่มลุ้นกันว่า สิ้นปีนี้ องค์กรต้นสังกัดจะมีโบนัสให้หรือไม่ และหากมีจะได้เท่าใดหรือจะไม่ได้เหมือนทุกๆปีที่ผ่านมา  รวมถึง ในปีหน้า จะมีการขึ้นเงินเดือนให้หรือไม่ หลังหลายแห่งไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนมาหลายปีแล้ว แต่คนสื่อบางสำนักก็เริ่มทำใจ คิดไปว่า อย่าว่าแต่ได้โบนัส-ขึ้นเงินเดือนเลย เอาแค่ให้ไม่ตกงาน องค์กรอยู่รอดได้ไปอีกหนึ่งปีก็พอใจแล้ว เพราะเข้าใจดีถึง สถาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซาต่อเนื่องโดยเฉพาะธุรกิจสื่อ ที่ยังเจอปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า จนองค์กรสื่อหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุน รายได้จากแหล่งต่างๆ เช่น ค่าโฆษณา หายไปจำนวนมาก

 

ในวันที่รายได้สวนทางความเหนื่อย แต่คนข่าว โดยเฉพาะ”นักข่าวภาคสนาม”ต้องตกอยู่ในภาวะ”ภาระค้ำบ่า”ครอบครัวต้องดูแล และ”หน้าที่ค้ำคอ” เพราะต้องทำหน้าที่สื่อของตัวเอง โดยที่การปรับตัวของ”นักข่าว-องค์กรผลิตข่าวสาร”เพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน  ยังคงดำเนินต่อไป

สิ้นปี2561    ที่กำลังใกล้จะผ่านพ้นไป กับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและการทำงานของนักข่าว มีเสียงสะท้อนจาก”คนข่าว-นักข่าวภาคสนาม”หลายสำนัก ที่ส่วนใหญ่เป็น”นักข่าวสายการเมือง” ซึ่งด้วยเนื้อหาที่ต้องมีการพาดพิงถึงองค์กรต้นสังกัด ดังนั้น จึงต้องขอ”สงวนนาม-ไม่เปิดเผยชื่อ”ของนักข่าว-คนข่าวที่ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเพจจุลสาราชดำเนิน

 

ใกล้เลือกตั้ง-การเมืองคึก

คนข่าวงานโหลด แต่สู้ไม่ถอย

เริ่มที่”นักข่าวสาวสื่อหัวยักษ์ย่านวิภาวดี”ที่เริ่มต้นกล่าวถึงการทำงานสื่อในยุคปัจจุบันกับการปรับตัวของนักข่าวและสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ว่า ในแง่ของการทำงานอาจไม่กดดัน แต่งานนั้นเยอะขึ้น ในขณะที่คนน้อยลง แต่งานเพิ่ม ต้องวิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะสายการเมือง เพราะช่วงนี้พรรคการเมืองเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้เรามีภาระที่รับผิดชอบงานเพิ่มมากขึ้น ยังไม่นับงานอื่นอีก เช่น ต้องเข้าออฟฟิศไปจัดรายการลงยูทูปเขียนคอลัมน์ มันกลายเป็นต้องทำงานหลายๆอย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกัน แต่ก็เข้าใจผู้บริหาร แต่บางทีงานมันหนัก เราก็อยากได้เงินเพิ่มอีกสักหน่อย หรือสิ้นปีมีโบนัสให้ เราทำงานมาทั้งปีมันก็เหนื่อย ก็ถือเป็นรางวัลตอบแทน

“พูดตรงๆว่ารายได้ที่มีอยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่พอใช้เลย เพราะหลายคนที่ทำงานก็อยู่ในช่วงวัยสร้างเนื้อ สร้างตัว ต้องส่งบ้าน ส่งรถบางคนมีภาระ มีครอบครัว มีพ่อแม่ มีลูกต้องดูแล รายได้อาชีพนักข่าวอย่างเราไม่พออยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะให้ไปหารายได้เสริมทางอื่น ส่วนตัวคงไม่มีเวลา เพราะทำงาน6วัน หยุดวันเดียว ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว”

นักข่าวสาวสื่อหัวยักษ์ย่านวิภาวดี”กล่าวอีกว่า

ก่อนหน้านี้ ก็เคยไปสอบราชการแต่ว่าไม่ผ่าน แล้วก็เคยคิดจะทำงานเอกชนอื่นๆ หรือรัฐวิสาหกิจ  แต่ด้วยความที่วงการสื่อ เป็นงานที่ไม่ต้องเข้างานตายตัว เรายังติดใจการทำงานตรงนี้อยู่ ไม่ต้องถูกกดดันมากจากข้างใน เพราะเราทำงานข้างนอก ไม่ต้องอยู่ในออฟฟิศ แรงกดดันก็ปะทะมาจากหัวหน้าข้างในก่อนแล้วที่จะมาถึงเรา แต่ถ้ามีโอกาสมีช่องทางที่ดีกว่าก็จะไป  แต่ที่จริงในใจก็อยากจะทำอยู่ในวงการนี้ต่อไปจนถึงที่สุด แบบสุดท้ายจริงๆ ที่บริษัทเจ๊ง แล้วค่อยตัดสินใจ แต่อาชีพนี้ถ้าจะใช้เลี้ยงชีวิต ก็คงเลี้ยงได้แต่ตัวเราเองคนเดียว แต่ถ้าวันข้างหน้ามีครอบครัวก็อาจจะไม่ได้

ถัดมาที่”นักข่าวหนุ่มไฟแรงจากสื่อ-หนังสือพิมพ์แนวการเมืองเข้มข้นสะท้อนว่า ช่วงที่ผ่านมา สวัสดิการอะไรที่เคยได้ เคยมี ก็ยังได้อยู่ครบทุกอย่าง เรื่องเลี้ยงไปต่างจังหวัด หรือค่าเขียนงานอะไรยังคงมีเหมือนเดิมไม่มีลดหรือหายไป ซึ่งมันก็เป็นเงินจำนวนไม่มากนัก และตัวเราเองอะไรบางอย่างถ้าช่วยบริษัทประหยัดได้ก็จะช่วย ไม่ค่อยได้เบิกอะไรมาก

....แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือคนไม่พอ เมื่อมีคนออก ก็จะไม่มีการรับคนใหม่เข้ามา การทำงานของคนที่เหลือก็ต้องโหลดบ้าง เพราะต้องกระจายงานในส่วนของคนที่ออกไป ให้กับคนที่ทำงาน ส่วนปัญหาเรื่องการเงินส่วนตัวยังไม่มี ติดก็แค่ปีที่ผ่านมาไม่มีโบนัส จากที่เคยมาทุกปี ซึ่งเราก็เข้าใจสถานการณ์ แต่ในปีนี้ ก็แว่วๆมาว่าน่าจะมีโบนัส เห็นเขาว่ากันอย่างนั้น เพราะเริ่มมีโฆษณาเข้ามาบ้าง ขณะที่เงินเดือนไม่มีปรับขึ้นมาประมาณ 2 ปีแล้ว

 

“นักข่าวหนุ่มไฟแรงจากสื่อ-หนังสือพิมพ์แนวการเมืองเข้มข้น”สะท้อนความรู้สึกให้ฟังอีกว่า จากสภาพการณ์ข้างต้น สิ่งที่เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นคือต้องวิ่งหมายหลายที่ ต้องไปในสายเราไม่เกี่ยว กลายเป็นเหมือนสายจเรไปเลย ซึ่งก็ยอมรับว่ามีส่วนทำให้งานต้องเสียไปบ้าง เพราะสายที่อยู่ประจำไม่ค่อยได้เข้าไป ก็ไม่ค่อยได้คุยกับแหล่งข่าว กลายเป็นเราต้องตกข่าว เลยกลายเป็นปัญหาต่อเนื่อง คล้ายว่าเราต้องวิ่งสายนู้นสายนี้แบบสะเปะสะปะ ตรงนี้คือข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น

...การทำงานของกองบก. จะไม่ค่อยจู่จี้จุกจิก มอบหมายมาแค่วันนี้เราต้องไปไหน แต่ไม่ถึงกับโฟกัสมาว่าต้องการแบบไหน หรือสั่งให้เราตั้งคำถาม หรือวางประเด็นอะไร ซึ่งถ้ามองในมุมของการทำข่าวถือว่าผิดวิธี เพราะบางทีเด็กที่ไปก็ไม่รู้อะไรเลย แม้บางคนจะมีภูมิคุ้มกัน มีฐานข้อมูลมาก่อน แต่บางคนก็มาแบบจบมาใหม่ๆ ไม่รู้หน้ารู้หลังว่าจะเจออะไรบ้าง แต่ถ้ามองอีกมุม มันก็มีข้อดี ที่เป็นโอกาสดีที่นักข่าวจะต้องเตรียมตัวทำการบ้าน รู้จักสร้างประเด็นเอง วางโครงได้ว่าหมายที่ไป ต้องเจอกับอะไรบ้าง

...ถ้าถามว่ารายได้แต่ละเดือนทุกวันนี้พออยู่หรือไม่ บอกกันตรงๆว่าเงินเดือนหมื่นกว่าบาท มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำวุฒิปริญญาตรีนิดหน่อยแทบจะไม่พอเลย ซึ่งส่วนตัวก็มีรายได้เสริมอยู่บ้าง จากการเขียนงาน และช่วยงานเว็บไซด์ของเพื่อนที่รู้จักกัน แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรงานที่เขียนเดือนหนึ่งตก1-2 ชิ้น แต่ก็ถือเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นมานิดหน่อย

....ยอมรับว่าเคยมีความคิดที่จะหาช่องทางไปทำงานด้านอื่น ที่เป็นบริษัทเอกชน แต่เมื่อทบทวนดูแล้ว ถ้าจะออกจากตรงนี้ไปต่อยอดงานอื่นในวัยที่อายุเราเพิ่งยี่สิบต้นๆแบบนี้ เงินเดือนที่ได้ก็คงไม่ต่างจากที่เป็นอยู่สักเท่าไหร่นัก ซึ่งถ้ารวมกับรายได้เสริมอื่นๆที่มีตอนนี้ มองแล้วว่ามันไม่คุ้มกัน ถ้าจะเปลี่ยนงานในตอนนี้ แต่ในวันข้างหน้าช่วงอายุสามสิบต้นๆ ถ้าเราย้ายงานตอนนั้น มันก็อาจจะมีค่าประสบการณ์ ซึ่งเชื่อว่ารายได้น่าจะประมาณ27,000 - 29,000 หรืออาจจะถึง 3 หมื่น เชื่อว่าน่าจะคุ้มกว่า แต่ก็ใช่ว่าเราจะปิดช่องทาง รอเวลาอย่างเดียว ช่วงไหนที่หน่วยงานราชการมีเปิดสอบ ก็จะไปลองสอบทิ้งไว้ และถ้าเราผ่าน ก็พร้อมที่จะไปทันที แต่ในบริษัทเอกชนยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่ไปแน่โดยเฉพาะวงการสื่อด้วย

...ถ้ามองกลับไปสื่อหลักอย่างเราต้องปรับตัวขนานใหญ่โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ที่ส่วนตัวเชื่อเลยว่าต้องตายแน่ๆ แต่ว่าตายช้า ระยะเวลาก็อาจจะอีกนาน ถึงไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เรารับรู้ได้คือมันกำลังค่อยๆซูบลงไป  ดังนั้นเราต้องทำยังไงก็ได้ให้สู้กับพวกออนไลน์ได้ ซึ่งตลาดโลกออนไลน์ส่วนใหญ่จะไม่ชอบเรื่องอะไรที่ลึก แต่นิยมเนื้อหาที่หวือหวา มีรูปที่ไม่จำเจ ใช้ภาษาที่เข้าถึง ซึ่งเราจะเห็นว่ามีเพจเกิดใหม่ขึ้นมากมาย และหลายเพจก็ตอบโจทย์ตรงนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยอดคนติดตามจะเพิ่มขึ้นอยากรวดเร็ว ซึ่งก็จะมีคำถามตามมาว่า หากตามใจโลกออนไลน์ จะกลายเป็นว่าจรรยาบรรณ หรืออุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์ที่มีมายาวนาน จะหายไปหรือไม่

แนะต้องใช้ทรัพยากร-ข้อมูลข่าว

สร้างสินทรัพย์-เพิ่มรายได้

ส่วนอีกหนึ่งความเห็นจาก”นักข่าวสายการเมือง-คนข่าวคุณภาพ จากนสพ.คุณภาพ” ที่ทำข่าวมาหลายปี บอกว่า ทุกวันนี้ตัวนักข่าวภาคสนามเองจะต้องมีงานมากที่ขึ้น ที่นอกจากแค่สัมภาษณ์และเขียนข่าวแล้ว ไม่ว่าจะต้องถ่ายรูป หรืออัดคลิปเอง ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะนักข่าวต้องปรับตัวของเราเองให้ทันเทคโนโลยี ถ้าคุณไม่ปรับตัวมันก็จะตาย และส่วนตัวเข้าใจที่ออฟฟิศให้งานเพิ่ม เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลง และแม้รายได้จะไม่เพิ่มตามงานที่เพิ่ม แต่ก็เต็มใจที่จะทำ เพราะถ้าเราไม่ทำมัน เราจะตามเขาไม่ทัน และเราก็จะตกขบวน

...สิ่งที่องค์กรรัดเข็มขัดคือ ถูกตัดค่ารถออกไปจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด ตัดมาประมาณ3 ปีแล้ว ส่วนโบนัสนั้นไม่มีมาหลายปีแล้ว มองว่าได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ส่งผลให้ชีวิตดีขึ้นสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าอาชีพนักข่าวจะเป็นอาชีพที่มั่นคงหรือไม่ ลำพังเงินเดือนที่ได้อยู่ ก็พอเลี้ยงตัวเองได้ แต่ไม่สามารถจะมีครอบครัวได้ เพราะเราคงเลี้ยงเขาไม่ได้ ถ้าตัวคนเดียวก็พออยู่ได้ไม่ลำบาก แต่เงินเก็บไม่มีทางแก้ง่ายที่สุดคือหางานใหม่ บางคนเข้ามาเป็นนักข่าวได้ไม่นาน พอรู้ว่าเงินเดือนได้เท่านี้ เขาก็ไปหางานใหม่

อีกทางก็คือเราต้องขวนขวายหารายได้เสริม หลักๆที่พอจะทำได้คือเขียนงานลงนิตยสาร แมกกาซีนต่างๆ   ก็พยายามเขียนให้มากๆ เพราะถ้าจะให้ไปทำอย่างอื่น ไปขายของอะไรแบบคนอื่น ก็คงจะไม่ถนัด รวมๆรายได้ทั้งหมดที่ได้ ตอนนี้ก็ยังพออยู่ได้ ไม่กดดันอะไร แต่ถ้าอายุเรามากขึ้น ก็คงต้องเริ่มคิดแล้ว เราจะอยู่ยังไงในอีก10-15 ปีข้างหน้า ก็คิดมาตลอดว่าต้องหาอะไรที่ดีกว่า ที่มั่นคงกว่าทำในวันข้างหน้า คิดมานานแล้วแต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร

สิ่งที่อยากฝากถึงองค์กรก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเราต้องปรับตัว ทั้งองค์กรสื่อ และตัวนักข่าวเอง เราต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงกับเทคโนโลยี ที่มีหลากหลายขึ้น เราต้องรู้ว่าคนอ่านของเราต้องการอะไร และเราต้องนำเสนออะไร นอกจากนี้องค์กร ก็ปรับตัวให้เล็กลง ลดคนลง จะทำให้ใหญ่โตเหมือนแต่ก่อนคงไม่ได้ เพราะยุคนี้ใครๆก็เป็นสื่อได้ คนเสพข่าวเขาก็ไม่จำเป็นต้องเสพข่าวจากสื่อหลักอีกแล้วโฆษณาก็น้อยลงเพราะต้องกระจายออกไป จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปรับตัวให้เล็กลง และนำเสนอในสิ่งที่คนยุคใหม่เขาต้องการ แต่ก็เข้าใจว่าการที่เป็นองค์กรใหญ่มันเป็นเรื่องยาก ในการจะเอาคนออก เราก็เข้าใจเขา เพราะไม่ได้อยู่ในแท่นของผู้บริหาร ก็ไม่อาจจะรู้ว่าเขาบริหารกันยังไง

“ในสำนักข่าวหนึ่งๆ มีวัตถุดิบเยอะมาก แต่เราทำไม่เป็น นั่นหมายความว่าเราตามเทคโนโลยีไม่ทัน เรามีของ เรามีคลังข่าว มีคลังภาพคลังคลิป บทความดีจากนักวิชาการ แต่พอนำเสนอไปมีคนมากดไลค์แค่สองคน ครงนี้ถือว่าคุณผิดพลาดในการนำเสนอแล้ว มันต้องมีอะไรที่ผิดไปสักอย่าง ทั้งที่บทความน่าสนใจมากเวลาเราลงหนังสือพิมพ์ แต่พอลงโลกออนไลน์มีคนกดไลค์สองคน นั้นหมายความว่าคุณนำเสนอไม่เป็น มันผิดที่ผิดทาง ทั้งที่เป็นของดี”

ปิดท้ายที่”นักข่าวรุ่นใหม่จากสื่อยักษ์มากเครือข่าย”ให้แง่มุมว่า การปรับตัวขององค์กรในช่วงที่ผ่านมา ถ้าเป็นเรื่องตัวเงินยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะเขาก็พยายามพยุงอยู่ ไม่ให้มีตัดอะไรออกไป สวัสดิการที่เคยได้ ก็ยังเป็นเหมือนเดิม เขาก็พยายามช่วยเต็มที่ แต่ว่าภาระเราก็ยังเยอะอยู่ กับค่าใช้จ่ายในภาวะเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้  อะไรๆมันก็เพิ่มขึ้นตลอด แต่สิ่งที่เราไม่คาดหวังคือโบนัส เพราะหายไปประมาณสามปีแล้ว แต่ยังดีที่การปรับเงินเดือนยังมีให้บ้าง ซึ่งอยู่ที่การประเมินของหัวหน้างาน แต่ละคนจะขึ้นมากน้อยไม่เท่ากัน

...การทำงาน นอกจากสัมภาษณ์ และเขียนข่าวส่งแล้ว หน้าที่อีกอย่างคือการเขียนรายงาน ในภาวะที่เรามีคนน้อย ภาระตรงนี้จึงตกอยู่กับคนที่ต้องตามแหล่งข่าวที่มักลงพื้นที่ เช่น นายกฯ นอกจากต้องตามภารกิจ ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางแล้ว ยังต้องเจียดเวลาไปเขียนรายงาน ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน จะไม่สะดวก หรือลำบากยังไง ก็ต้องทำให้ได้เพราะเป็นหน้าที่ แม้ไม่มีค่าเขียนให้ ก็ถือว่าภาระน้อยลงบ้างกว่าเมื่อก่อน เพราะก่อนนี้ นักข่าวเราต้องส่งคลิป ส่งรูป โฟนอิน ยิงทวิตเตอร์  แต่ตอนนี้เรามาเน้นที่ออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้กดดัน หรือบังคับว่าต้องเร็ว หรือต้องก่อนใคร ก็ขึ้นอยู่กับเราที่จะวางเองว่าอันไหนควรเร็วแค่ไหน อันไหนควรเล่นเป็นข่าวสั้น หรือข่าวไหนจะขึ้นข่าวต้นชั่วโมงก่อน แต่ก็มี บ้างที่กองบก.จี้มา ว่าต้องการอะไร เราก็ใช้วิธีบอกประเด็นไปก่อน

...ส่วนผลตอบแทนที่ได้รับ ในภาวะแรงกดดันเศรษฐกิจเช่นนี้ ส่วนตัวโชคดีที่วางแผนการเงินได้ลงตัวในระดับหนึ่ง จึงไม่ได้รู้สึกว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน กับรายได้ที่ได้รับ มันจะห่างกันมาก ก็ถือว่าพออยู่ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องหาลู่ทางในการสร้างรายได้เพิ่ม

“ผมใช้วิธีการเอาเงินไปลงทุน เช่น การซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้าจะฝากไว้ในธนาคารเฉยๆดอกเบี้ยมันก็ไม่เท่าไหร่ เราต้องก็ต้องเอาเงินไปวางในช่องทางที่มันได้ผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งตรงนี้ก็มีหลายช่องทางให้เลือก แต่ก็ควรที่จะศึกษาให้ดีก่อน”

“นักข่าวรุ่นใหม่จากสื่อยักษ์มากเครือข่าย”ย้ำว่าเรื่องการบริหารงานองค์กร  เข้าใจดีว่าทางผู้บริหาร ผู้ใหญ่ เขาก็ทำหน้าที่ของเขาอยู่ ต้องยอมรับว่าการเป็นองค์กรใหญ่ มันมีความเสียเปรียบตรงที่มันเทอะทะ จะหันซ้ายที ขวาที มันก็มีผลกระทบ ซึ่งถ้าเราปรับให้มันทำอะไรได้คล่องตัว มันน่าจะไปได้เร็ว และดีกว่า ซึ่งต้องกลับดูที่โครงสร้าง การเป็นองค์กรใหญ่จะเสียเปรียบตรงนี้ แต่สิ่งที่เราได้เปรียบคือเรามีสื่อในเครือหลากหลาย ถ้าทำให้มันเป็นเอกภาพ ก็จะเป็นจุดเด่นที่อาจจะได้เปรียบคนอื่นเช่นกัน นอกจากนี้ สิ่งที่สื่อหลักต้องมี คือความถูกต้อง กับความน่าเชื่อถือควรมาควบคู่กันแม้ในยุคที่มีเพจ หรือเฟซบุ๊ค เกิดขึ้นมากมาย แต่หลักนี้จะทำให้เราสู้เขาได้ ซึ่งเชื่อว่าสื่อหลักแบบเรา มีหลักการทำงานของเขาอยู่แล้วเพียงแต่ปรับการทำงาน ว่าจะเสนอแบบไหนเท่านั้นเอง

ทุกเสียงสะท้อนข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้”นักข่าว”หลายคน จะบอกว่า ต้องเจอกับสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด แต่หัวใจการทำงานของพวกเขา ไม่มีคำว่า ถอยหรือยอมแพ้

..........................

ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซด์

https://www.thebangkokinsight.com

https://www.springnews.co.th