อาชีพเสริม-งานใหม่ คนข่าว-สื่อฯ รับมืออนาคตไม่แน่นอน เป็นรปภ.-ขายผ้าพันคอ-ทำบราวนี่

รายงานพิเศษ

โดย กองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน

....................................

อาชีพเสริม-งานใหม่ คนข่าว-สื่อฯ รับมืออนาคตไม่แน่นอน

เป็นรปภ.-ขายผ้าพันคอ-ทำบราวนี่

ปี 2561 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป หากจะบอกว่าเป็นปีที่คนที่ทำงานสื่อมวลชนทุกแขนง ต้องผจญกับวิกฤตพิษฟองสบู่ดิจิตอลอย่างหนักหน่วง สื่อบางสำนัก ต้องปิดตัว เลิกกิจการ และอีกหลายแห่ง ปรับโครงสร้าง ลดจำนวนคน- ไม่ขึ้นเงินเดือน ไม่มีโบนัส ตัดสวัสดิการ   เพื่อความอยู่รอดขององค์กร  โดยใช้วลีที่สวยงาม เช่น การลาออกโดยสมัครใจ - มีการเออรี่รีไทร์ หรือการจิ้มชื่อให้ออก  แม้จะมีการให้เงินเยียวยา เป็นค่า “ตกใจ”

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวกับแวดวงคนข่าว-สื่อมวลชน  คาดว่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกพอสมควร จนหลายคน แม้ต่อให้อยู่ในองค์กรสื่อขนาดใหญ่ ก็เริ่มไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเอง หลังเห็นเพื่อนร่วมวิชาชีพ ทั้งองค์กรเดียวกันและองค์กรอื่น ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ -การทำงานกันโดยถ้วนหน้า

ช่วงที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เห็นเกิดขึ้นอย่างชัดเจน คือ”การทำอาชีพเสริมของคนข่าว” เมื่อหลายคนมองว่าอาชีพสื่อในปัจจุบันไม่ได้มีความมั่นคงอย่างที่เคยเป็นเสียแล้ว  บวกกับสภาพเศรษฐกิจ การมีรายได้ จากเพียงแค่อาชีพเดียว อาจไม่เพียงพอ

ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนินของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”เห็นความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเพื่อนพ้องวิชาชีพ แวดวงคนข่าว ที่ทำอาชีพเสริม ทำงานอดิเรกให้มีรายได้ เลยไปสอบถาม พูดคุยกันมา

เริ่มที่” รุ่งฟ้า  ทรัพย์พร้อม ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายการเมือง สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 “ที่มีประสบการณ์ทำงานข่าวมา 17 ปี  เป็น 1 ในคนข่าวภาคสนาม ที่หันมาเริ่มทำอาชีพเสริม สร้างรายได้เพิ่ม  โดยเธอเลือกขายผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ่านทางเฟสบุคของตัวเอง Rungfa Sapprom เริ่มขายมาตั้งแต่เดือนตุลาคม  มีรายได้เพิ่มเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000-2,000 บาท  เป็นรายได้เสริมที่ดี  และยังให้ความสนุกด้วย

“จุดเริ่มทำอาชีพเสริมของเรา ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นตอนที่มีกระแสการเลิกจ้างคนในวงการสื่อ แต่คิดมาระยะหนึ่งแล้ว ยิ่งเราอายุงานมากขึ้น เงินเดือนสูงขึ้น พี่จะคิดเสมอว่าเขาสามารถที่จะเลิกจ้างเราแล้วไปจ้างเด็กใหม่ ที่เงินเดือนน้อยกว่า  ซึ่งเด็กใหม่อาจจะสู้ไม่ได้เรื่องประเด็นข่าว หรือด้านประสบการณ์  แต่เขาจะนำหน้าเราเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ  มันทำให้เราต้องเริ่มมองตัวเอง และวางแผนชีวิตมากขึ้น เพื่อให้เราอยู่รอดได้มั่นคง และก็ไม่ประมาท”

“รุ่งฟ้า”สนทนาเรื่องนี้ต่อไปว่า   ตอนแรกอยากทำอาหารขาย แต่งานเราตรงนี้  ยังไม่มีเวลามากที่จะทำขนาดนั้น  ขณะเดียวกัน เป็นคนชอบผ้าพันคอ มันเป็นของที่ใช้ติดตัวประจำ ก็เลยคิดว่า น่าจะรับผ้าพันคอมาขายดีกว่า

รุ่งฟ้าบอกว่า ผ้าพันคอที่นำมาขาย นำเข้ามาจากประเทศจีน เนื้อผ้าคุณภาพดี  นำมาขายในราคาที่ถูกกว่าราคาขายในเว็บ  โดยเธอจะไปรับสินค้าอาทิตย์ละครั้ง ตามออเดอร์ของลูกค้า

..ข้อดีตรงนี้ คือไม่จำเป็นต้องสต๊อคสินค้ามาไว้กับตัวเองจำนวนมาก  ทำให้ลดความเสี่ยงในการลงทุน   แต่จะมีบางส่วนที่พี่จะรับมาติดรถเผื่อไว้  เวลาที่ไปทำงาน  หากมีลูกค้าสนใจ ก็สามารถขายให้ได้เลยทันที   ซึ่งการขาย  ก็จะโพสต์ขายผ่านทางหน้าเฟสบุคของตัวเอง   ไม่ได้เปิดเพจเฉพาะ  เวลามีลายใหม่ๆเข้ามา ก็จะถ่ายภาพลงไว้ในเฟสบุค  เพื่อให้ลูกค้าเลือก

...ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นนักข่าวที่เป็นเพื่อนกันอยู่แล้วในเฟสบุคมากกว่า  โดยเฉพาะสายทำเนียบ  บางครั้งเวลาไปทำข่าว  แหล่งข่าวที่รู้ว่าขายผ้าพันคอ ก็จะมีเข้ามาแซวบ้าง หรือบางคน ก็มีอุดหนุนบ้าง   แต่ส่วนใหญ่ก็ซื้อเพราะเขาอยากเอาไปใช้งาน  ไม่ได้ซื้อเพราะเกรงใจว่าเราเป็นนักข่าว  จริงๆช่วงนี้ใกล้ปีใหม่ ก็อยากจะทำเป็นโปรโมชั่นจับคู่ลดราคา แต่ตอนนี้ข่าวการเมืองกำลังร้อน เราก็ไม่มีเวลาที่จะไปจัดโปรโมชั่นหรือทำการตลาดอะไร  ก็ต้องทำงานหลักก่อน”

“ทุกวันนี้เชื่อว่านักข่าวทุกสาย  ตอนนี้ก็ทำอาชีพเสริมกันเยอะ บางคนสร้างรายได้มากกว่าเงินเดือนด้วยซ้ำ แต่ที่ยังทำงานข่าวอยู่ ก็เพราะมันเป็นอาชีพที่รัก...ตอนที่เริ่มเปิดทีวีดิจิตอล ตลาดต้องการคน  นักข่าวรุ่นใหม่ๆ บางคนเงินเดือนล้ำหน้านักข่าวรุ่นเก่า  ทำให้หลายคนสนุกสนานกับการใช้ชีวิต   ไม่ได้คิดกระตือรือร้นที่จะทำอะไรให้มันงอกเงย  แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่มีอะไรแน่นอน  เราไม่รู้ว่าวันไหนจะถูกเลิกจ้าง  ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า หากคุณต้องตกงานจะทำอย่างไร อยากให้ทุกคน มองอนาคต คิดเผื่อไว้  เราอาจจะเริ่มจากสิ่งที่เราชอบ หรือสนใจก่อนก็ได้...ถ้าไม่มีวิกฤต อย่างน้อยเงินในส่วนนี้ก็จะเป็นเงินที่เราสามารถเก็บหอมรอมริบได้” รุ่งฟ้า ให้ข้อคิดส่งท้าย


ทำบราวนี่-โฮมเมด

สูตรเฉพาะ คนข่าวเนชั่น


อีกหนึ่งนักข่าว ที่ทำอาชีพเสริมโอฬาร เลิศรัตนดำรงกุล ผู้สื่อข่าวสายการเมือง เครือเนชั่น-คมชัดลึก” ทำงานสายสื่อสารมวลชนมา 11 ปี  ก็เป็นอีกหนึ่งคน ที่ใช้ความชอบของตัวเอง มาต่อยอดสร้างรายได้  โดยทำขนม “บราวนี่” ชอคโกแลต  ขาย  แม้จะดูขัดกับบุคลิกและรูปร่างบึกบึนของคนทำ แต่เขาบอกว่า ความแตกต่างตรงนี้ กลับเป็นเอกลักษณ์ ที่เขาใช้สร้างเป็นจุดขาย ทำให้คนจดจำ นอกเหนือจากรสชาติความอร่อยของบราวนี่ที่ทำแบบ โฮมเมด

,,,ผมเลือกขายบราวนี่ เพราะมันกินได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ตั้งชื่อแบรนด์ขนมว่า Brownie Boy  ง่ายๆไม่ซับซ้อน  มันเริ่มจากการจับพลัดจับผลูมากกว่า เห็นรุ่นพี่ที่สนิทกันทำเบเกอรี่ขายเป็นรายได้เสริมอยู่แล้ว  ก็คิดว่าน่าสนใจดี  เลยไปขอให้เขาสอน ไว้เป็นวิชาติดตัว  ซึ่งตอนแรกใครๆก็มองว่า ผู้ชายกับเบเกอรี่มันดูไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่เพราะความที่ดูไม่น่าจะเข้ากันนี่แหละ ผมว่ามันดูเป็นจุดขาย และยิ่งทำให้น่าสนใจ

หลังใช้ระยะเวลาเรียนเดือนเศษ  รู้ขั้นตอนกระบวนการทำ และสูตรความอร่อย  แต่เมื่อคิดต่อ ว่าจะนำมาทำขาย ก็ปรับสูตรรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้บราวนี่ที่ทำ เป็นสูตรเฉพาะของเขาเอง  จุดเด่น คือ เนื้อเนียน หนึบ หอม อร่อย โดยเขาบอกว่าขั้นตอนที่ยากที่สุด คือตอนผสมตีแป้ง ต้องให้อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม หากตีนานเกิน แป้งจะฟูไป และตอนนำไปตุ๋น จะต้องใช้ไฟอ่อนๆ เพื่อไม่ให้ขนมไหม้

“เอกลักษณ์ของผม คือ เป็นเบเกอรี่โฮมเมด ทำเองและพิถีพิถัน ทุกขั้นตอน  ไม่ว่าจะไปเดินเลือกซื้อวัตถุดิบต่างๆ  กล่องก็ซื้อมาตัดเอง หรืออัลมอนด์ซื้อมาหั่นสไลด์เอง  เพราะสีสันเวลาอบออกมาแล้ว มันดูน่าทานมากกว่า  คืออยากให้ได้ความรู้สึกของการเป็นเบเกอรี่โฮมเมด และอยากให้ขนมที่ออกมาเป็นรสชาติเฉพาะของเราจริงๆ  ”

โอฬาร-คนข่าวค่ายเนชั่น บอกว่า การขายบราวนี่ เขาจะทำตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น  ถ้าเหนื่อยจากงานหลัก ก็จะไม่รับออเดอร์  นอกจากการเรียนรู้สูตรขนมแล้ว ยังได้นำความรู้ที่เรียนปริญญาโท ด้านบริหารสื่อการตลาด มาปรับใช้ จัดวางการตลาดสร้าง  Brand ให้กับสินค้าของตัวเองด้วย

“ผลตอบรับที่ออกมาดีมาก  อาทิตย์หนึ่ง จะขายได้ประมาณ 10-20 กล่อง เริ่มมีลูกค้าประจำ จากการบอกปากต่อปาก สิ่งสำคัญคือเราใช้ความเป็นตัวเอง แล้วก็ให้เห็นขั้นตอน กระบวนการวิธีทำ จะถ่ายภาพลงเพจตลอด และจะไปส่งขนมด้วยตัวเองทุกครั้ง ไม่ว่าจะไกล แค่ไหน ค่าส่งคิดราคาเดียว 50 บาท  สาเหตุที่ต้องไปเอง เพื่อจะได้เก็บฟีดแบคจากลูกค้า  แต่สิ่งสำคัญต่อให้การตลาดดีแค่ไหน รสชาติขนมจะต้องคงที่ ต้องทำตามสูตรที่กำหนดไว้อยู่แล้ว ลูกค้าบางคนไม่กินหวาน บอกว่าขอให้ลดหวานหน่อย ผมจะบอกเลยว่าลดให้ไม่ได้ เพราะมันเป็นสูตรตายตัว ถ้าลดหวาน  เนื้อบราวนี่จะไม่หนึบ  แต่ก็จะแนะนำลูกค้าว่าให้เอาไปแช่ตู้เย็น  เนื่องจากแป้งจะเซ็ทตัวใหม่ ทำให้ความหวานน้อยลง”

“หลายคนอาจจะกล้าๆกลัวๆ ที่จะเริ่มทำอาชีพเสริม เพราะแค่งานประจำก็หนักอยู่แล้ว แต่ผมอยากให้คิดกลับกันว่า ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ หากทำแล้วมันไม่ใช่  เราก็จะได้หาอย่างอื่นที่มันเหมาะกับตัวเราจริงๆ  มันไม่มีอะไรเสียหาย  อย่างที่เห็นอาชีพคนสื่อตอนนี้ระส่ำระสาย วันหนึ่งเราอาจจะโดนให้ออกจากงานแบบไม่รู้ตัวก็ได้  อย่างน้อยการเริ่มต้น คือการได้ลงมือทำ ถ้ามันล้ม มันก็ดีกว่าไม่ได้ทำ  แต่ถ้ามันดีล่ะ? เราก็จะได้เริ่มก้าวไปก่อนคนอื่น”

ทั้ง”รุ่งฟ้า-โอฬาร”คือคนข่าวภาคสนามที่ยังอยู่ในสายงานข่าว ที่เตรียมพร้อมกับความไม่แน่นอนของชีวิตคนทำสื่อ แต่จริงๆแล้วหากย้อนกลับไป  วิกฤตของวงการสื่อสารมวลชน ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น  คนในวงการสื่อไม่น้อยที่เคยเจอกับภาวะที่ต้องตกงานมากกว่า 1 ครั้ง

 

ชีวิตต้องสู้ อดีตคนข่าวการเมืองรัฐสภา

กับงาน จนท.รักษาความปลอดภัย


อย่างกรณีของ “วีระพันธ์ วุฒิบุญญะ  อดีตบรรณาธิการข่าวต้นชั่วโมง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย-อดีตผู้สื่อข่าวสายการเมือง ประจำรัฐสภาเป็น 1 ในคนข่าว ที่เคยเผชิญกับวิกฤตคนข่าวมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่สิ่งที่ทำให้ตั้งหลักและผ่านไปได้ คือ “สติ” และการ “ไม่ดูถูก” อาชีพที่สุจริต  โดยปัจจุบันนี้ เขาทำงานเป็น “พนักงานรักษาความปลอดภัย อยู่ที่ บริษัท Samco Thailand”

“วีระพันธ์-ตุ่น“เล่าเส้นทางชีวิตไว้ว่า เริ่มทำงานข่าว มาตั้งแต่ประมาณปี 2536   ทำงานผู้สื่อข่าว ที่หนังสือพิมพ์ Thailand Time เป็นหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษในเครือวัฏจักร  จนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ทำให้ต้องออกจากงานแบบไม่ได้ตั้งตัว  ตอนนั้นไปทำงานเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ ของโรงงานน้ำยาง ที่หาดใหญ่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานข่าวเลย แต่ก็มีช่วงที่ได้ใช้ทักษะจากการทำงานข่าวมา Apply คือทักษะการพูดคุย เพราะช่วงนั้นมีปัญหาคนงานลาออกจำนวนมาก จึงลงไปช่วยแก้ปัญหา พูดคุยเจรจากับคนงาน จนยอดคนลาออกลดลง

...หลังจากนั้น ได้มีโอกาสหวนกลับมาทำงานข่าวอีกครั้ง ปี 2547 ในตำแหน่งบรรณาธิการข่าวต้นชั่วโมง เป็นพนักงานอยู่กับบริษัทเอกชน ที่เข้ามาทำหน้าที่ร่วมผลิตข่าวให้กับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  อยู่ในตำแหน่งนี้นานถึง 12 ปี  จนกระทั่งบริษัทหมดสัญญา มีบริษัทใหม่เข้ามาแทน  และให้คนที่ทำงานอยู่  ไปเขียนใบสมัครกับบริษัทใหม่  เพื่อคัดเลือกคนที่เงินเดือนไม่สูงมากนัก  แต่ตัวเขาฐานเงินเดือนสูง ทำให้มีการต่อรองลดเงินเดือนลง ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ทำงานต่อ

“ครั้งที่สองที่ต้องออกจากงานข่าว คือปี 2559 ช่วงแรกที่ออกไป ผมไปทำหน้าที่ด้านประชาสัมพันธ์ให้กับมูลนิธิฯแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดสงขลา  แต่ทำแล้วรู้สึกไม่ใช่ตัวเอง  จึงตัดสินใจลาออก และกลับขึ้นมากรุงเทพฯ ก่อนจะไปสมัครงานเป็น รปภ.  ที่บริษัท แซมโก้  เป็นบริษัท ที่ให้บริการด้านการจัดบุคลากรรักษาความปลอดภัย ไปลงตามหน่วยงาน  ร้านค้า หรือสถานที่ต่างๆ สอบถามข้อมูลมาจากรุ่นน้อง และเดินเข้าไปกรอกใบสมัครและเลือกตำแหน่งนี้เอง  ตอนนั้นคิดว่าต้องการหารายได้และอยากเรียนรู้งาน  รปภ.  เพื่อจะเอาไปเขียนเป็นเพจ เขียนหนังสือ เพราะเป็นอาชีพที่ไม่เคยทำ”

เขาเล่าว่างานจะทำเป็นกะ กะละ 12 ชั่วโมง คือ 8 ชั่วโมงปกติ และอีก 4 ชั่วโมงเป็นโอที  หยุดอาทิตย์ละ 1 วัน  แต่ถ้าร่างกายไหว ก็จะทำงานเพิ่ม เพื่อให้มีรายได้มากขึ้นอีก  โดยเฉลี่ยรายได้ต่อเดือน ประมาณ 16,000 ถึง 20,000 บาท  มีสวัสดิการทั่วไปอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

...อาชีพที่ผมทำอยู่ตอนนี้ อาจจะดูแตกต่างมากกับที่เคยทำมา แต่ผมมองว่างาน รปภ. ก็มีรายได้พอเลี้ยงตัว  แต่จะคิดถึงขั้นเป็นเงินเก็บ ก็คงไม่   ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ก็เป็นเพียงอาชีพหนึ่งที่ประคองตัวเราได้ ถ้าเราประหยัด ก็คงพอมีเก็บบ้าง แต่ก็อยู่ที่ร่างกายเราจะไหวหรือไม่ ทำมาจนถึงตอนนี้ 2 ปีกว่าแล้ว ยังไม่ได้มีโอกาสทำเพจอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะเวลาหลังเลิกงาน เหนื่อยก็อยากพักผ่อน แต่ก็เก็บภาพเก็บข้อมูลไว้หมด ตั้งใจไว้ว่าวันหนึ่งหากมีโอกาส ก็จะเขียน ถ้าลาออกจากตรงนี้เมื่อไหร่ก็คงได้เริ่มเขียนอย่างจริงจัง

“วีระพันธ์-อดีตผู้สื่อข่าวการเมืองประจำรัฐสภา” ยอมรับว่าคิดถึงงานข่าว เรามีจิตวิญญาณนักข่าว  แน่นอนอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้น  ก็มีคุยกับเพื่อนๆไว้บ้าง แต่ในช่วงนี้วิกฤตต่างๆอย่างที่เราเห็นข่าว  ถ้าจะกลับไป ก็ต้องดูให้ดี  เพราะบางครั้งรายได้ดี แต่ในระยะยาวความมั่นคงไม่มี ก็ไม่น่าเสี่ยงที่จะเข้าไปทำ

“ อยากให้กำลังใจสำหรับใครที่อาจจะกำลังเผชิญวิกฤตอยู่  หรือกำลังรู้สึกกังวลความมั่นคงในอนาคตของตนเอง  อยากบอกว่าในวันที่เราเป็นนักข่าวอยู่หรือทำงานในสายสื่อสารมวลชน  ช่วงไหนที่สามารถเก็บออมเงินได้ ก็ควรที่จะเก็บเงินไว้ เพราะหากมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เราอาจจะต้องการใช้เงินจำนวนนี้   และหากถ้าวันหนึ่งเราต้องกลายเป็นคนที่อยู่ในสภาวะตกงาน  อย่าท้อแท้  ให้ตั้งสติ และคิดให้รอบคอบ อยากให้สู้  อย่าไปคิดเลือกว่างานนั้นต่ำ-งานนั้นสูง  ไม่มีงานอะไรที่จะต่ำหรือจะสูง  ถ้ามันเป็นงานที่สุจริต  งานทุกอย่างก็มีเกียรติเหมือนกัน” อดีตคนข่าวรุ่นพี่ฝากข้อคิดทิ้งท้าย

แม้ “คนข่าว” แต่ละคนจะมีวิธีการรับมือกับวิกฤตของวงการสื่อสารมวลชนที่แตกต่างกัน ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยของแต่ละคนที่อาจไม่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญที่น่าจะสะท้อนและทำให้หลายคนกระตุกคิดได้เป็นอย่างดี คือไม่มีอะไรบนโลกนี้จะเป็นสิ่งที่แน่นอน

ดังนั้นการทำตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ ตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาท  เพื่อให้สามารถเผชิญและผ่านพ้นกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว  จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด  ไม่ว่าจะอยู่ในสายงานสื่อสารมวลชน ว่าอยู่ในวิชาชีพใดก็ตาม