อินไซด์สนามข่าว กกต. พลิกตำรากฎหมาย รับมือศึก “เลือกตั้ง”

อินไซด์สนามข่าว กกต.

พลิกตำรากฎหมาย รับมือศึก “เลือกตั้ง”

......................................

ฤดูกาลเลือกตั้ง เปรียบเหมือนช่วง Hi season ของคนข่าวสายการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่การเมืองถูกสั่งหยุดมานานถึง 4 ปี พอการเมืองเริ่มขยับอีกครั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคทยอยเข็นอีเวนต์การเมืองออกมาเพื่อชิงพื้นที่ข่าว พลอยทำให้คนข่าวการเมืองก็เริ่มมีชีวิตชีวาตามไปด้วย

เช่นเดียวกับนักข่าวประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีงานชุกเสมอเมื่อถึงช่วงเลือกตั้ง

เพราะ องค์กร กกต.เป็นองค์กรที่เปรียบเสมือนเป็น “กรรมการ” คอยกำกับให้กระบวนการการเลือกตั้งขับเคลื่อนไปตามระเบียบ - กฎหมายเป็นองค์กรที่ ชี้เป็น - ชี้ตายทางการเมืองของ “นักการเมือง” และ“พรรคการเมือง”

ดังนั้น การทำข่าวของนักข่าวสาย กกต. เพื่อรับมือกับศึกเลือกตั้ง นอกจากต้องเตรียมความพร้อมรายงานความเคลื่อนไหวของ 7 เสือ กกต.ในแต่ละวัน

@ การทำข่าวก่อนเลือกตั้ง

วิธีการทำงานของ นักข่าว กกต.จึงต้องเตรียมพร้อมในการสำรวจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในแต่ละครั้งแทบจะทุกฉบับทั้ง รัฐธรรมนูญ – พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร -  พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง -  พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง แม้กระทั่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา.ลากยาวไปถึงระเบียบสำนักงาน กกต.ที่คลอดออกมาให้สอดรับกับกฎหมายแม่

เพราะทุกประเด็นการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งช่วงนี้ ไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนนอก และ นายกฯ คนใน หรือ นายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง กินรวมไปถึงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง ที่สุดแล้วก็ต้องเกี่ยวพันกับ กกต.

นักข่าว กกต.จึงต้องกุมสภาพการทำงานใน กกต.ให้ได้

ตัวอย่างเช่น กรณีป้ายหาเสียงเลือกตั้ง – บัตรหาเสียงเลือกตั้งที่ไม่มีโลโก้บนบัตร ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ จะต้องรู้ที่มาที่ไป ป้ายหาเสียงเลือกตั้งที่จะไม่มีการติดป้ายบนท้องถนน ตามเสาไฟฟ้าเหมือนทุกครั้งเพราะอะไร เป็นหน้าที่ที่ นักข่าว กกต. ก็ต้องทราบว่า อยู่ในกฎหมายตัวไหน กฎหมายฉบับใด

ก็เพราะมาตรา 71 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 กำหนดไว้ว่า  “กกต.จะกําหนดให้ต้องทําตามหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกําหนดก็ได้  โดยคํานึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค  และความเที่ยงธรรมของผู้สมัคร และพรรคการเมือง”

กกต.จึงต้องออกหลักเกณฑ์สำหรับหาเสียงเลือกตั้งขึ้นมาบังคับใช้กับนักการเมือง และ พรรคการเมือง หรือจะต้องรู้ว่า ใบเหลือง – ใบแดง – ใบส้ม มีชื่อเรียกจริงๆ ว่าอย่างไร กระบวนการเป็นอย่างไร แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่อง “เบสิก” สำหรับการทำข่าว กกต. เพราะการแถลงข่าวบางครั้ง ผู้แถลงไม่ได้บอกว่า “แจกใบเหลือง” แต่อาจใช้คำว่า “สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่”

โดยเฉพาะปัจจุบันมีลูกเล่นใหม่ๆ เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกมากมาย เช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้ง หรือ อำนาจ ของ กกต.แต่ละคนที่สามารถสั่งให้ยุติการเลือกตั้งได้ในบางเขตที่มีปัญหา เป็นกฎใหม่ที่ “นักข่าว กกต.” ที่ศึกษา

@ การหาข้อมูล

นอกจากการทำงานรูทีน ต้องแม่นยำเรื่องกฎหมาย การหาข้อมูล “ลึกๆ” เข้าถึงวงใน ของ กกต.ก็มีความจำเป็น ไม่ต่างจากนักข่าวสายอื่นๆ และผู้นำองค์กรเบอร์ 1 หรือ เบอร์ต้นๆ ถือเป็นแหล่งข่าวสำคัญของนักข่าว

ใน กกต.ก็คือ 7 เสือ กกต.ที่นักข่าวจะต้อง “เข้าถึง” บางคนเข้าถึงยากยิ่งกว่ายาก บางคนเข้าถึงง่ายยิ่งกว่าง่าย อยู่ที่บุคลิกของแหล่งข่าว นักข่าว กกต. อาจต้องศึกษาคาแรคเตอร์ของแหล่งข่าว แต่ละคน

ตัวอย่างเช่น กกต.ในช่วง 10 ปี หลัง ยุค “อภิชาต สุขัคคานนท์” อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธาน ก็จะมี กกต.สดศรี สัตยธรรม อีกหนึ่ง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ  ที่ชอบพูดกับสื่อ มากกว่า ประธานอภิชาต ที่มักเก็บตัวไม่ค่อยพูดหรือให้สัมภาษณ์ หรือ กกต.ในยุค “ศุภชัย สมเจริญ” เป็นประธาน ก็มี กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ทำงานเชิงรุก มีการเปิดไลน์กรุ๊ปกับนักข่าว กกต. โดยเฉพาะเพื่อสื่อสารข้อมูลการเมืองโดยเฉพาะ

แต่แน่นอนว่า การหาข้อมูลไม่ควรมีแหล่งเดียว เพราะฝ่ายที่ “กำ” ข้อมูลจริงๆ ทำข้อมูลจริงๆ มากกว่า  7 เสือ กกต. คือ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ระดับรองๆ ตั้งแต่เลขาธิการลงมา เพราะวัฒนธรรม กกต.ไม่ต่างหน่วยงานราชการทั่วไป ที่เจ้าหน้าที่จะเติบโตตามสายงานและกลายเป็นผู้บังคับบัญชาในอนาคตข้างหน้า ดังนั้น การสานสัมพันธ์กับบุคคลระดับเจ้าหน้าที่ที่เป็น “มดงาน” จึงมีความสำคัญ ไม่แพ้การเข้าถึงแหล่งข่าวระดับ “กรรมการการเลือกตั้ง”

เขาหรือเธอเหล่านั้น วันนี้อาจเป็นแค่ผู้อำนวยการฝ่าย วันข้างหน้าก็ขยับเป็น รอง ผู้อำนวยการสำนัก ขยับไปเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จังหวัด) ผอ.สำนัก และก้าวไปถึงรองเลขาธิการ ดูงานในด้านต่างๆ ของ กกต.

ยิ่งช่วงหลัง “คนใน” กกต. ไต่เพดานสูงถึงระดับ “เลขาธิการ” ที่ต้องได้รับการสรรหาแข่งกับบุคคลภายนอก ซึ่ง 2 คน หลัง เป็นลูกหม้อ กกต.ทั้งสิ้น

คนแรก “ภุชงค์ นุตราวงศ์” เคยเป็นรองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ส่วนเลขา กกต. คนปัจจุบัน “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” ก็เคยเป็น รองเลขาธิการ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยมาก่อน รับผิดชอบการจับทุจริตเลือกตั้ง สำนวนต่างๆ  บุคคลประเภทนี้เป็นแหล่งข้อมูลลึกๆ วัตถุดิบในการเขียนข่าว

@ การทำงานช่วงเลือกตั้ง

เมื่อถึงวันเลือกตั้ง สิ่งที่เตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้งทั้งหมดจะนำมาถูกใช้จริง ทั้ง ข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมายลูก

เพราะตั้งแต่วินาทีที่มีการหย่อนบัตร กลไกตรวจสอบการเลือกตั้งจะถูกใช้ และถูกทดสอบอย่างจริงจัง จะมีผู้ร้องคัดค้านผลเลือกตั้งแทบจะรายวัน ดังนั้น กฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ที่เคยเตรียมไว้ก่อนการเลือกตั้ง จะถูกนำมา “กางออก” เพื่อทำข่าวอีกครั้ง และถ้ามีใบแดง – ใบเหลือง เรื่องทุจริตเลือกตั้งเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ก็เป็นหน้าที่ของ นักข่าว กกต.อีกเช่นกัน ที่จะต้องไปทำข่าว เพราะนักข่าว กกต.ส่วนใหญ่จะประจำสายศาลรัฐธรรมนูญด้วย

นักข่าวใหม่ที่ เข้ามาทำงาน กกต. ประมาณ 2 ปี เล่าว่า จำเป็นต้องรู้มาก เพราะ กกต.แถลงถ้าเขาแถลงมาไม่ได้รู้กฎหมายเลยผิดหรือถูกก็ไม่สามารถคานได้ ยิ่งการเลือกตั้งปัจจุบันถูกมองว่าเป็นเครื่องมือให้ คสช. ยิ่งถ้าไม่รู้กฎหมาย ก็ไม่มีอะไรเป็นฝ่ายซักค้านได้เลย

“นอกจากนี้ การที่จะสัมภาษณ์บุคคลระดับสูงของ กกต. อย่างเช่น ตัวประธาน กกต.ไม่ได้สัมภาษณ์ได้ง่ายเหมือนนักการเมือง หรือ รัฐมนตรีตามกระทรวงที่ไปดักเจอได้ ต้องทำเรื่องขออีกขั้น บางทีได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าเยอะ เวลาประชุม กกต. ประธานก็ไม่ได้มาแถลงข่าวด้วยตัวเอง และไม่ค่อยมีภารกิจที่ไปเปิดตัวให้สัมภาษณ์เท่าที่ควร”

ส่วน”นักข่าวอีกคนหนึ่ง ที่อยู่ในสาย กกต.”มากกว่า 5 ปี บอกความยากของการทำงานข่าว ว่า สิ่งที่นักข่าว กกต.ต้องรู้เพิ่มขึ้นคือ เรื่องกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นประจำมากกว่าสนามข่าวการเมืองสายอื่น ยิ่งถ้าได้มีส่วนร่วมในทำข่าวการร่างรัฐธรรมนูญด้วย ยิ่งได้เปรียบในการเข้าใจคอนเซปต์ของกฎหมายแต่ละฉบับ ส่วนศิลปะการเข้าหาแหล่งข่าวแต่ละที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะวัฒนธรรมองค์กร กกต. ก็คล้ายๆ กับหน่วยงานราชการที่จะต้องไปประจำ แต่จะเป็นทางการมากกว่าการเข้าหาแหล่งข่าวที่เป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองจะมีความเป็นลูกทุ่งมากกว่า

ในจังหวะนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งในต้นปีหน้า นอกจากทำให้ พรรคการเมือง-นักการเมืองคึกคักแล้ว  สนามข่าว กกต. เป็นสนามข่าวที่เคลื่อนไหวคึกคัก ไม่แพ้สนามข่าวตามพรรคการเมือง