รายงานพิเศษ
โดยกองบก.จุลสารราชดำเนิน
................................................
สำนักข่าวอิสระ และ เพจทางเลือก
โอกาส และความท้าทาย ของ “คนสื่อ” ยุคใหม่(1)
…......................................................
ปรากฏการณ์ “คนทำสื่อ” หันมาเปิดเพจ ทำเว็บไซต์ สร้างสำนักข่าวกันเอง กลายเป็นเทรนด์ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของเทคโนเลยี ที่เอื้ออำนวยให้ทุกอย่างสะดวกขึ้น
บางคนแค่ต้องการพื้นที่ปล่อยของ หลายคนหวังสร้างรายได้เสริม หลายคนกระโดดมาลองผิดลองถูกเพราะเห็นเป็น “โอกาส” และ “ความท้าทาย”
จากเว็บไซต์ และเพจ นับสิบนับร้อยเจ้าที่เปิดขึ้นราวกับดอกเห็ด บางแห่งไม่เป็นที่สนใจ บางแห่งต้องม้วนเสื่อปิดตัวไปแบบเงียบๆ แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถยืนหยัดฝ่าคลื่นลมพิสูจน์ตัวตนจนเป็นที่ยอมรับ
ความสำเร็จของพวกเขาอาจไม่ได้วัดกันเพียงแค่ ยอดวิว ยอดฟอลโลว์ แต่ยังหมายรวมถึงการสามารถ “เปิดประเด็น” จนสื่อกระแสหลักต้องหยิบยกไปอ้างอิง และตามต่อ
เพจบางเจ้ากลายเป็น “ที่พึ่ง” ทั้งรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือเป็นช่องทางการส่งผ่านข้อมูล ให้คนหันมาสนใจและแก้ไขปัญหา ในยามที่ไม่อาจพึ่งพิงกลไกปกติที่มีอยู่ในสังคม
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายกับการแทรกตัวเป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ในยุคที่ใครๆก็เป็นสื่อได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยากจนดูมืนมนไร้หนทาง
ทีมข่าว”จุลสารราชดำเนิน”สนทนากับผู้ทำเพจต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงจุดกำเนิด-รูปแบบการทำเพจและเป้าหมายที่วางไว้
เริ่มที่เพจด้านวงการฟุตบอล ซึ่งมีแฟนคลับอยู่จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะ”กองเชียร์หงส์แดง-ลิเวอร์พูลในเมืองไทย”นั่นก็คือ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องฟุตบอล แต่ยังนำเสนอมุมมองความคิด หยิบยกเรื่องกีฬาเชื่อมโยงไปถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว ด้วยข้อมูลที่อัดแน่นอันเป็นเอกลักษณ์ แถมยังสามารถหักล้างทฤษฎีที่ว่ากันว่าพฤติกรรมคนสมัยใหม่โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ชอบอ่านอะไรสั้นๆ นั้นไม่เป็นความจริงเสมอไป
มีเด็กมัธยม มาถามผมบ่อยว่าทำเพจยังไงให้ปัง ผมก็แนะนำไปสองข้อ หนึ่งอย่าสะกดผิด ทันทีที่คุณสะกดผิดหนึ่งตัว บทความทั้งบทความคุณก็ไม่น่าเชื่อถือแล้ว แค่คำง่ายๆ ยังสะกดผิดแล้วมาเขียนเรื่องยาวๆ จะน่าเชื่อถือแค่ไหน มีความรู้จริงหรือเปล่า และอีกข้อคือหาสิ่งที่ชอบจริงๆ ก่อน ถ้าสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ทำได้ไม่นาน
“วิศรุต สินพงศพร” อดีตนักข่าวที่คร่ำหวอดในแวดวงกีฬามานานกว่า 12 ปี ผ่านงานมาหลายที่ทั้งฐานศรษฐกิจ คิกออฟ ผู้จัดการ นิตยสาร Mars สยามกีฬา และปัจจุบัน ประจำการอยู่ที่ เวิร์คพอยต์ ที่อุทิศเวลาว่างมาผลิตผลงานที่ตัวเองอยากเขียนวันละเรื่อง ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาจนมียอดคนติดตามเกือบ 1.6 แสนคน
“ตอนนั้นเริ่มเปิดเพจควบคู่กับการทำงานประจำที่สยามกีฬา ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อเรามีค่าย มีขีดจำกัด บางครั้งก็ไม่ง่ายที่จะเขียนในบางเรื่อง เพราะบางอย่างที่เราอยากเขียนพอจะเอาไปลงในหนังสือพิมพ์ก็ไม่รู้ว่าจะเวิ่นเวอร์หรือเปล่า แต่ถ้าเป็นพื้นที่ของเราเองเราก็สามารถเขียนอะไรก็ได้ที่อยากเขียน”
วิศรุต กล่าวว่า ตอนลองเปิดเพจก็เขียนไปเรื่อยๆ เพราะพูดถึงกีฬาคนส่วนใหญ่มักจะพูดถึงหรือวิเคราะห์กัน ถึงผลแพ้ ชนะ เสมอ แต่จริงๆ แล้ว กีฬา มันมากกว่านั้นมันอยู่ในวิถีชีวิต ความรัก ความรู้สึก ประวัติศาสตร์
เป็นจุดเริ่มต้นให้เลือกหยิบในส่วนที่คนอื่นไม่คิดจะเล่า มาเล่าให้คนอื่นฟัง ตอนที่ทำก็ไม่ได้คิดว่าคนจะสนใจ หรือมีคนอ่านเยอะหรือเปล่า แค่อยากทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ เปิดเพจมาปีแรกคนไลค์ 4 พัน แต่ก็เขียนต่อทุกวัน ช่วงแรกคนอาจยังไม่เก็ต
“เคยมีคนบอกว่าสมัยใหม่ คนชอบอ่านอะไรที่สั้น กระชับ ฉับไว ใช้ภาพวีดีโอ การเขียนอะไรยาวๆให้คนอ่านมันเอาท์แล้ว แต่ว่าเราจะเลือกเชื่อมั่นในการเขียน เรารักในการเขียน รักในการอ่าน จึงเขียนมาเรื่อยๆจนถึงจุดหนึ่งผ่านไปปีหนึ่ง คนก็เริ่มเก็ตแนวทางเรา จนเร่ิมแชร์ไปเรื่อยๆ ค่อยๆไต่จากหลักหมื่นเป็นหลักแสน”
ถามว่าท้อไหมในช่วงแรก วิศรุต ยอมรับว่า ตอนแรกบางเรื่องตั้งใจเขียนมาแต่คนไลค์ 50 คนก็รู้สึกเสียใจบ้าง มาดูว่าปัญหาคืออะไรกันแน่ เวลาเราเขียนไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งเราจะรู้เอง ว่าเขียนยังไงคนจะชอบ เขียนยังไงคนจะ ไม่ค่อยอ่าน
“ผมเชื่อว่าอะไรที่มันดี มันก็ต้องดี วันนี้เขาอาจจะไม่เข้าใจ ถึงจุดหนึ่งเขาอาจจะเข้าใจ อยู่ที่ความสม่ำเสมอ ไม่ใช่ท้อแล้วหยุดขาดความต่อเนื่อง เพราะพอเขียนต่อคนก็เร่ิมตาม พอเห็นก็ย้อนกลับไปอ่านงานที่ผ่านมา”
วิศรุต เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการทำงานว่า เขาเป็นคนทำคนเดียวทั้งหมด เขียนเอง ทำรูปเอง ติดต่อโฆษณาเอง โดยหวังว่าเพจของเขาจะทำให้คนหันมารักการอ่านมากขึ้น โดยจะรู้สึกดีใจมากเวลามีเด็กมัธยมส่งข้อความมาบอกว่าปกติไม่เคยอ่านอะไรยาวๆ แต่ก็อ่านงานของเขาจนจบ และเป็นกำลังให้ทำงานต่อ
สำหรับที่มาของชื่อเพจ วิเคราะห์บอลจริงจัง “วิศรุต” อธิบายว่า มันคนจะมีพื้นที่ที่ให้คนได้มีความจริงจังกับชีวิตบ้าง ทุกวันนี้คนทำอะไรก็เล่นไปหมด คนชอบติดคำว่าขำๆ ทำอะไรก็คิดว่าง่ายไปซะหมด เล่นไปหมด แต่ส่วนตัวเชื่อว่าในสังคมมีคนที่อยากสนใจอะไรจริงๆจังๆ ไม่เล่น จึงเป็นที่มาของเพจนี้
ในแง่เทคนิคหรือกลวิธีการเลือกประเด็นนั้น จะต้องอ่านกระแสว่าปัจจุบันเรื่องอะไรมาแรง อย่างเช่น เรื่อง เซเรนา วิลเลียมส์ กับ นาโอมิ โอซากา มีคำถามว่าทำไม นาโอมิ ถึงต้องร้องไห้ ในรอบชิงรายการยูเอสโอเพน เขาต้องการคนที่จะมาอธิบายให้เขาฟัง เราก็เลือกเรื่องนี้ หรือกับบางเรื่องที่ไม่ต้องอิงเวลาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ก็จะมีนำเสนอคละกันไป
“การเขียนเรื่องยาวๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้skillการร้อยเรื่อง มันมีความเป็นศิลปะ เอาข้อมูลทั้งหมดมาวางเป็นสตอรีบอร์ด พล็อตเรื่องก่อน แล้วค่อยเขียน ต้องมีจินตนาการ นิดหนึ่ง ถึงจะทำห้ให้คนเริ่มอ่านตั้งแต่แรกไล่อ่านไปจนจบ ซึ่งมันก็ไม่ง่ายที่จะทำ”
วิศรุต อธิบายว่า เราถูกหลอกว่าคนไม่อ่านอะไรยาวๆ แต่ลองสมมติ ว่า หากเขายอมเสียเวลาอ่านอะไรยาวๆ 10 นาที ถ้างานเราห่วยเขียนไม่รู้เรื่อง เขียนกระจอก เขาก็จะเสียดายว่าไม่น่าอ่านเลย หากเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเขาก็จะไม่อ่านอีกแล้วเพราะรู้ว่าคงไม่เวิร์ค
“ก่อนเราจะเผยแพร่ออกไปทุกครั้งก็ต้องดูว่าเราเขียนโอเคใช่ไหม อ่านทบทวนก่อน คือ ไม่ทำให้เขาเสียเวลาในการอ่าน คนอ่านต้องได้อะไร ไม่ความรู้ ก็ต้องได้ข้อคิด หรือความสนุก ถ้าอ่านแล้วไม่ได้อะไรเลย เราไม่เขียนดีกว่า และคนก็รู้อยู่แล้วว่าผมเขียนยาว อ่านที่นี่ต้องใช้เวลา และผมมีกิมมิคเขียนแค่วันละชิ้นไม่ปล่อยมั่ว เพราะฉะนั้นหนึ่งชิ้นที่เราเลือกมาต้องคุ้มค่ากับการอ่าน”
วิศรุต เล่าว่า ระยะเวลาในการทำงานเฉลี่ยต่อเรื่องอยู่ที่ 5 ชั่วโมง แต่บางเรื่องก็เคยใช้เวลา 3-4 วัน บางทีเขียนไป90 % แต่หาตอนจบไม่ได้ ก็พักไว้ก่อน จนมีไอเดียเข้าหัวค่อยกลับมาเขียนใหม่ หรือบางทีหาข้อมูลได้จบไม่ลงก็มี บางที ไม่รู้จะให้ข้อคิดอะไรกับคนอ่านได้ เมื่อให้คำตอบกับคนอ่านไม่ได้ว่า งานเรามีประโยชน์กับคนอ่านอย่างไร ก็ไม่ควรเผยแพร่ ต้องรอจนถึงจุดที่คิดได้ว่างานเรามีประโยชน์อะไรกับคนอ่าน ถึงค่อยปล่อย
“เราไม่ได้แข่งอะไรกับใครอยู่แล้ว งานเขียนเป็นงานที่ต้องเสพ แต่ถ้างานข่าวเป็นอะไรที่ต้องเร็วก็ต่างกันอยู่แล้ว เราต้องอุทิศตัว คนอ่านเขารู้นะว่าเราจริงจังกับงานเขียนของเราแค่ไหน เราจะเขียนแค่ให้มันผ่านไปหรือเปล่า หรือ ใส่ความรู้สึกเข้าไปจริงๆ ตอนทำงานที่สยามกีฬาผมก็เลิกดึกอยู่แล้ว เลิก 5-6 ทุ่มกลับมาบ้านเขียนถึง 6 โมงเช้า ทำให้มันเป็นรูทีน เขียนได้ไม่ได้ก็ลองนั่งหน้าคอม ลองเขียนดูก่อน ไม่ท้อ”
สำหรับเป้าหมายของเพจวิเคราะห์บอลจริงจังนั้น วิศรุต บอกว่า เรื่องรายได้ไม่ได้คิด เพราะตั้งใจไม่รับโฆษณาจากเว็บพนัน ในวงการกีฬามีเพจสองแบบคือ สายมืดรับพนันเต็มรูปแบบ จ่ายเยอะ จ่ายง่าย โอนเข้าบัญชีเลย แต่ส่วนตัวเน้นรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับพนัน เป็นสายสะอาด ได้เงินน้อยกว่าสายมืด ใช้เวลานานกว่าจะได้เงิน แต่ก็เป็นทางที่เราเลือก
นอกจากรายได้จากโฆษณาแล้ว ปัจจุบัน วิศรุติ ออก
หนังสือของตัวเองเรื่อง “sport like” โดยออกกับสำนักพิมพ์แซลมอน
“เรื่องที่แม้จะเขียนในออนไลน์ ก็ไปสู่ออฟไลน์ได้ ต่ถ้าคนชอบสำนักพิมพ์เขาก็ติดต่อมาทั้ง ซีเอ็ด นายอินทร์ แซลมอน เราก็เลือกว่าอยากให้คาแรคเตอร์ของหนังสือเราออกมาอย่างไร ดังนั้นจะเขียนยาวหรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็นงานเขียนที่ดีสุดท้ายก็มีช่องทางนำมาซึ่งรายได้อยู่แล้ว”
ทำเพจอย่างไรให้เปรี้ยง?
วิศรุต แนะนะว่า นักข่าวหรือคนที่จะทำเพจส่วนตัวว่า ไม่ควรจะออกจากงานประจำเพื่อมาทำเพจอย่างเดียว เพราะไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร เฟสบุ้คจะปรับยอดเข้าถึง หรือไม่ จะล่มสลายหรือไม่ งานมันไปด้วยกันได้ไม่จำเป็นต้องเดิมพันชีวิตกับการสร้างเพจ
ที่สำคัญ การเป็นนักข่าวก็เป็นประโยชน์เพราะอยู่ใกล้แหล่งข่าว ใกล้เพื่อนนักข่าว สร้างคอนเน็คชั่นได้ และจะพัฒนางานเขียนเราได้ด้วย อย่างตอนออกจากสยามกีฬา ข้อมูลหลายๆ อย่างก็หายไป แม้จะมีเวลามากขึ้นแต่ทำงานยากกว่า เพราะเราอยู่ไกลจากแหล่งข่าว ถ้าเป็นนักข่าวอยู่แล้วก็เป็นจุดที่ดี ไม่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เพราะเพจมีเป็นร้อยเป็นพันจะมีสักกี่เพจที่ปัง ต้องมีคาแร็คเตอร์ ของตัวเองที่ชัด
“มีเด็กมัธยม มาถามผมบ่อยว่าทำเพจยังไงให้ปัง ผมก็แนะนำไปสองข้อ หนึ่งอย่าสะกดผิด ทันทีที่คุณสะกดผิดหนึ่งตัว บทความทั้งบทความคุณก็ไม่น่าเชื่อถือแล้ว แค่คำง่ายๆ ยังสะกดผิดแล้วมาเขียนเรื่องยาวๆ จะน่าเชื่อถือแค่ไหน มีความรู้จริงหรือเปล่า และอีกข้อคือหาสิ่งที่ชอบจริงๆ ก่อน ถ้าสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ทำได้ไม่นานหรอก อย่างผมชอบกีฬา จะให้ไปเขียนเรื่องหนังก็คงได้แค่ครั้งคราวเพราะไม่ใช่เรื่องที่ถนัด” วิศรุตกล่าว
ที่มา-จุดกำเนิด เพจสืบจากข่าว
การจะตรวจสอบคนอื่น ตัวเองต้องตรวจสอบตัวเองด้วย เมื่อก่อนกินเหล้าเจอด่านตำรวจไม่กลัว แต่พอมาทำเพจก็ต้องเลิกหมด ระวังตัวไม่ให้ทำผิด หรือจะไปคุยกับใครต้องดูว่า ไปคุยเรื่องข่าวหรือผลประโยชน์ ผมไปคุยกับเจ้าของบ่อน ซ่อง ถ้าเขาพร้อมจะคุยเรื่องตำรวจรับเงินเขา ผมไป แต่ถ้าไปคุยให้เขาเลี้ยงเฮฮาเป็นเพื่อนกันผมไม่ไป
ถัดมาที่เพจ”สืบจากข่าว” ทีมข่าว”จุลสารราชดำเนิน” พูดคุยกับ สุวิทย์ บุตรพริ้ง ผู้ก่อตั้งเพจ “สืบจากข่าว” เล่าย้อนถึงที่มาก่อนจะออกมาเปิดเพจทำสำนักข่าวของตัวเองว่าที่ผ่านมาผ่านงานข่าวมาหลายสำนักตั้งแต่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สปริงนิวส์ และรายการวิทยุ อสมท. 100.5 ซึ่ง เดิมจัดรายการชื่อ “สืบจากข่าว” อยู่ทางสถานี 100.5 แต่ถูก กสทช. เรียกไปคุยเพราะนำเสนอข่าวแรงซึ่งถือเป็นการบีบให้ อสมท.ต้องถอดรายการนี้
“เขาบอกว่าสืบจากข่าวแรงมาก โจมตีคสช. ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ผมรับไม่ได้เพราะคุณดูถูกอาชีพสื่อขนาดนี้ ผมก็เลยขอพูดบอกผม จบวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทำข่าวที่ไทยรัฐ ได้พูลิตเซอร์ ได้รางวัลที่หนึ่ง ภาพถ่าย สกู๊ปข่าว เกือบทุกสมาคมอยู่ กอรมน. ศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพบก ได้เหรียญพิทักษ์เสรีชน อยู่ อสมท. ทำอาชีพนี้มา 30 ปี ไม่มืออาชีพตรงไหน ผมถามเขากลับ ก็ไม่มีใครตอบได้”
สุวิทย์ กล่าวต่อว่า พอเริ่มรู้ว่าไปไม่รอดก็หาทางไปสื่ออื่น ซึ่งมีบางสือที่จะไปเขาจะไม่เอาคำว่า “สืบจากข่าว” จะไปแนวเล่าข่าวสนุกสนาน ซึ่งไม่ใช่ตัวตนของเรา เลยตัดสินใจมาทำเพจของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาผ่านงานมาเยอะแล้ว จะได้เอาความรู้ประสบการณ์มาใช้ ซึ่งคนดูจะเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ขอให้ได้เอาความคิด ข้อมูลที่ได้มานำเสนอ จนทุกวันนี้มีคนเห็นสี่ล้านคน คนติดตามแสนกว่าคน
การทำเพจของตัวเองมีจุดเด่นตรงความเป็นอิสระ เพราะสื่อทั่วไปอาจมีข้อจำกัด เจ้าของธุรกิจรู้จักกับคนนั้น พอไปทำข่าวกระทบก็ไม่ได้ออกอากาศ ซึ่งข่าวสไตล์เรา ที่เรารู้สึกว่าเป็นประโยชน์กับสังคม เปิดโปงการทำผิด บุกรุกป่าสิ่งแวดล้อม เปิดบ่อน เปิดซ่อง บางทีเราเจาะข่าวมาได้ โปรโมทไปแล้ว 5 นาที เทปไม่มีอะไรเพราะคนที่สูงกว่าเราเข้าไปเกี่ยวพัน
แน่นอนว่าการเริ่มต้นก็ต้องมีความยากบ้าง โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย ซึ่งวัยเราเลยยุคมาแล้ว สมัยอยู่สปริงนิวส์ เราก็ให้รุ่นน้องทำ พอมาทำเองก็ต้องเรียนรู้ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่ยาก มันมีอิสระมาก อย่างสกู๊ปทีวีเรื่องสำคัญ หากเป็นทีวีก็จะถูกกำหนดทั้งเวลา แต่เป็นเพจเราจะเล่นยังไงก็ได้ แล้วแต่ข้อมูลที่เราได้มา
“กลายเป็นตัวตนของผมตั้งแต่สมัยทำข่าวที่ไทยรัฐ แก่นของมันคืนการตรวจสอบการทำงานภาครัฐ สืบจากข่าวก็เหมือนต้นไม้เริ่มจากแก่นก่อนคอนเทนต์คือการตรวจสอบอำนาจรัฐ ข้อเท็จจริง การทุจริตเอาเปรียบประชาชน ส่วนกระแสที่เป็นเปลือกก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ที่ทำได้ไม่เยอะเพราะคนไม่พอ ทำให้ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง”
ถามว่าพฤติกรรมคนอ่านในโซเชียลมีเดียชอบข่าวการตรวจสอบไหม คนจำนวนไม่น้อยชอบนะ ทุกวันนี้ถึงมีคนอย่าง มาร์ค พิตบูล หรือ อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ อย่าง อัจฉริยะ เขาก็บอกว่าเขาเกิดจาก “สืบจากข่าว” สมัยก่อนเป็นวิศวกรรับเหมาก่อสร้าง มีปัญหากับตำรวจจนประกาศไปฆ่าตัวตายที่สตช. แต่ไม่มีคนสนใจ จนมีตำรวจคนหนึ่งโทรหา จึงเอาเรื่องนี้มาออกอากาศ ทางสถานี100.5 พอได้รับการแก้ปัญหา อัจฉริยะก็เป็นตัวประสานพาคนอื่นมาเรื่อยๆ ก่อนจะพัฒนาเป็นชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม
“กลายเป็นการปลุกให้เกิดการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบ สิ่งที่เราภูมิใจไม่จำเป็นต้องไปโชว์ว่าได้มีคนดู 5ล้าน 10 ล้าน เป็นเพจอันดับหนึ่ง แต่คือเราสร้างคนในสังคมที่ไม่ยอมรับความไม่ถูกต้อง เห็นควาไม่ถูกต้องแล้วกล้ารุกขึ้นมาต่อสู้”
“ผู้ก่อตั้งเพจสืบจากข่าว” เล่าว่า ทุกวันนี้มีนักข่าว 5 คน นำเสนอข่าวที่หลากหลายทั้งอาชญากรรม เศรษฐกิจ และประเด็นฮิวแมนอินเทอเรส ซึ่งนักข่าวทุกคนจะต้องทำทุกอย่าง เป็นช่างภาพ ตัดต่อ ได้ ไม่เหมือนทีวีที่แยกกันทำ ซึ่งส่วนตัวเคยมีประสบการณ์ทีวีกับสปริงนิวส์ก็เคยผ่านหน้าจอมาบ้าง แต่พอเป็นเพจ ก็จะไม่มีระเบียบเรื่องภาษา เวลา ทำให้อิสระและทำงานสบายขึ้น
“เรื่องพรีเซนต์ถามว่าสู้เด็กได้ไหม ก็คงสู้ไม่ได้ เราก็พยายามเอาข้อมูลมาสู้ เราแก่แล้ว หน้าตาก็แก่กว่า เด็กเขาใช้ภาษาคล่อง แอคชั่น ออกหน้าจอดีกว่า แต่เราก็เชื่อมั่นในคอนเทนต์ ส่วนการลงพื้นที่ทำข่าวเจาะ ข่าวซีฟ พอเป็นเพจนยิ่งทำได้ง่ายขึ้น เพราะใช้แค่โทรศัพท์ เข้าพื้นที่ห้ามถ่ายไปไหนมาไหน คล่องตัว”
ที่ผ่านมา “สืบจากข่าว” นำเสนอเปิดประเด็นหลายเรื่องที่มีสื่อกระแสหลักต้องหันมาเล่นตาม ทั้งประเด็นเรื่อง อี-ทิกเก็ต ของ ขสมก. หรือ ทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่ตำรวจบอกแก้ไขสำเร็จ แต่เราสะท้อนภาพว่าเป็นความล้มเหลวและจะเป็นปัญหาระยะยาว ซึ่งตอนนี้ก็เห็นชัดว่า จีนไม่มาเที่ยวไทย หรือ เรื่องตำรวจตีผู้ต้องหา ที่สื่ออื่นไม่เล่นเราก็นำเสนอซึ่งต้องระวังเพราะกระแสตอนนั้นไปทางตำรวจ
สุวิทย์ ย้ำว่า ในการทำข่าวลงเพจต้องยึดตามหลักวิชาชีพ ยิ่งเสนอข่าวแรงเท่าไหร่ หากไม่มีหลักทั้งหลักวิชาชีพ หลักกฎหมาย ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าสื่อดิจิตอลหรือสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะเราตัวเล็ก ไม่มีแบ็คอัพ เขาจ้องอยู่แล้ว ดังนั้นต้องมีหลักในการเขียนข่าว ต้องหาข้อมูล ต้องเช็คบาลานซ์ เช่นการเสนอข้อมูลที่จะเห็นต่างก็ต้องมีข้อมูลชัด ดังนั้นข่าวอาจจะไม่ถูกใจใครบ้างแต่ก็ไม่ผิดกฎหมาย
ในแง่ของอนาคตสำนักข่าวออนไลน์ นั้น สุวิทย์ มองว่า สำหรับสื่อกระแสหลักแล้วระยะาวจะลดความนิยมลง เพราะไม่ได้ยืนอยู่ข้างประชาชน ดังนั้น อย่าไปโทษ เทคโนโลยีว่า 5G จะเข้ามา แต่เพราะคุณไปทำข่าวรัฐมนตรี อธิบดี พูด เป็นประชาสัมพันธ์ให้เขา แต่เรื่องความเดือดร้อนข่าวชาวบ้านไม่มี การทำข่าวต้องมีทั้งบนลงล่างและล่างขึ้นบนบาลานซ์กัน
“จากที่ทีวีดิจิตอลเคยเป็นขวัญใจประจำบ้าน แต่พวกคุณทำร้ายกันเอง สังเกต ข่าวอาชญากรรมตำรวจคนเดียวแถลงเป็นข่าวทั้งวัน ขณะที่อีก 2 แสนคนไม่มีเสนอเลย ปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้ยังไงเหมือนมีของดีแต่บริหารไม่เป็น สุดท้ายทีวีดิจิตอลก็เสื่อมเพราะใช้อาวุธไม่เป็น ไม่มีใจให้ความถูกต้อง มันขาดตรงนี้ ถ้าเพจยืนอยู่ข้างประชาชนก็จะเป็นช่องทางให้สู้กับสื่อกระแสหลักได้ เห็นไหมทำไม มาร์ค พิตบูล อัจฉริย มีคนตามมากกว่าทีวีดีจิตอลหนึ่งช่อง”
ส่วนในแง่รายได้เวลานี้ เพจสืบจากข่าวมี โฆษณาเข้ามา 3 ตัว และเริ่มติดต่อเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เราก็พยายามเลือก อย่างประเภทกึ่งสถานบันเทิงเริงรมย์ก็ไม่เอา หรือธุรกิจที่ต้องไปจ่ายเงินให้ผู้มีอำนาจเราก็ไม่เอา เพราะสื่อเราลงทุนไม่เยอะเลยสามารถเลือกได้ โดยขณะนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น กระแสตอบรับดีขึ้น ปีหน้าคงมีการตอบรับอีกหลายเท่าตัว
สุวิทย์ กล่าวว่า สำหรับคนที่อยากจะทำเพจของตัวเองต้องถามตัวเองเรื่องความแตกต่างกับคนอื่น เช่นทุกคนมีคลิปอุบัติเหตุเราจะไปเสนอคลิปในมุมอื่นก็ไม่แตกต่าง แต่ต้องอยู่ที่เนื้อหา ทุกวันนี้เราต้องแข่งกับคนหลายล้านคนไม่เหมือนแต่ก่อนที่แข่งกับทีวีแค่ 20 กว่าช่อง ทำยังไงถึงจะดึงคนมาอยู่กับเราซึ่งไม่ง่ายต้องครบเครื่อง เรียนอะไรมาต้องใช้หมด ทั้ง การสื่อสาร จริยธรรม จรรยาบรรณ อุดมการณ์ ซึ่เพจเปลี่ยนแปลงเร็วมากและพลาดไม่ได้พลาดครั้งเดียวหายเลย
“เวลานี้เหมือนไต่เส้นลวดอยู่ริมหน้าผา การจะตรวจสอบคนอื่น ตัวเองต้องตรวจสอบตัวเองด้วย เมื่อก่อนกินเหล้าเจอด่านตำรวจไม่กลัว แต่พอมาทำเพจก็ต้องเลิกหมด ระวังตัวไม่ให้ทำผิด หรือจะไปคุยกับใครต้องดูว่า ไปคุยเรื่องข่าวหรือผลประโยชน์ ผมไปคุยกับเจ้าของบ่อน ซ่อง ถ้าเขาพร้อมจะคุยเรื่องตำรวจรับเงินเขา ผมไป แต่ถ้าไปคุยให้เขาเลี้ยงเฮฮาเป็นเพื่อนกันผมไม่ไป”
สุวิทย์ ประเมินว่า ปีหน้า ระบบ 5G จะเข้ามา สื่อกระแสหลักที่ทุกวันนี้เจอปัญหาอยู่แล้ว เม็ดเงินโฆษณาไม่ได้เข้าไปทีวีดิจิตอล เพราะไปสื่อโซเชียลมากขึ้น ต่อไปก็อาจมีการปลดพนักงานจำนวนมาก ดังนั้นต้องหาช่องทางของตัวเอง คนที่อยากทำสื่อเหมือนเดิม ก็อาจต้องเริ่มทำเพจตัวเอง หาความต่าง และมีอาชีพอื่นประกอบ เพราะจะหวังรายได้จากโฆษณาอย่างเดียวอาจไม่พอ