บันทึกนักข่าวสภา 44 ปี กระจกสะท้อนเกมชิงอำนาจ ต้นกำเนิดและจุดจบรัฐบาล

บันทึกนักข่าวสภา 44 ปี กระจกสะท้อนเกมชิงอำนาจ

ต้นกำเนิดและจุดจบรัฐบาล

“เสนอคำแปรญัตติ - ขอสงวนความเห็น - 3วาระรวด”

เป็น 3 คำที่ใครอยู่ในแวดวงนิติบัญญัติย่อมต้องทราบเป็นอย่างดี เพราะเป็นถ้อยคำทางเทคนิคที่หมายถึงกระบวนการพิจารณากฎหมาย

คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักกฎหมายอาจจะไม่เข้าใจ แต่เป็นหน้าที่ของ “นักข่าวสภา” ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนจบกฎมายมาต้องทำความเข้าใจเพื่อเขียนออกมาเป็นข่าวเพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติที่กำลังตรากฎมายเพื่อมาบังคับใช้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

มาในเวลานี้ฝ่ายนิติบัญญัติกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งไม่ได้หมายถึงในแง่ของการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย แต่เป็นในแง่ของสถานที่ เนื่องจากอาคารรัฐสภาที่ตั้งตระหง่าน ณ ถนนอู่ทองในได้ ปิดตัวลงเพื่อส่งมอบอาคารและพื้นที่ให้กับสำนักพระราชวัง และเตรียมย้ายไปสู่อาคารรัฐสภาหลังใหม่อย่างเป็นทางการที่เกียกกาย

“จุลสารราชดำเนิน” ได้สนทนากับบรรดาผู้สื่อข่าวสภาอาวุโส เพื่อบอกเล่าถึงการเป็น “นักข่าวสภา” ว่ามีความท้าทายและเสน่ห์อย่างไรบ้าง

 

ทำข่าวถึงสว่างก็ต้องทำ

“อดิศร วงศ์ศรศักดิ์” หรือที่น้องๆนักข่าวสภาจะเรียกกันติดปากว่า "ป๋าเบิ้ม" จากค่ายแนวหน้าเป็นอีกคนที่อยู่ในวงการข่าวสภามาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2533 ได้เล่าถึงการทำงานในสภาไว้น่าสนใจ

"เข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2533 ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์การรัฐประหารปี 2534 และการชุมนุุมในปี 2535 ครั้งนั้นการเมืองค่อนข้างวุ่นวายมาก และการทำข่าวสภาก็ไม่ได้ทำข่าวเฉพาะในอาคารรัฐสภาอย่างเดียว แต่ต้องรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆสภาด้วย"

"อย่างช่วงการอดข้าวประท้วงหน้าสภาของร.ต.ฉลาด วรฉัตร ก็ได้รับมอบหมายให้มาติดตามการเคลื่อนไหว ถึงขั้นมีการกำชับว่าถ้าร.ต.ฉลาดโดนจับไปคุณต้องเป็นคนแรกที่รู้"

"ภาพรวมของการเป็นนักข่าวสภา คิดว่ามันมีความแตกต่างจากการทำข่าวที่อื่นนะ เพราะสภาจะเป็นสถานที่ที่หลายฝ่ายจะมาทำงานด้วยกัน เช่น พรรคการเมือง รัฐบาล ส่วนราชการ ทำให้แต่ละวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยประชุมของรัฐสภา จะมีนักข่าวสภาและนักข่าวจากที่อื่นเข้ามารายงานข่าวกันมาก ทำให้นักข่าวได้รู้จักและสนิทกันมากขึ้น"

พี่เบิ้ม บอกว่า การทำข่าวสภาส่วนใหญ่จะได้ข่าวจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1.ข้าราชการ 2.คณะกรรมาธิการ และ 3.ห้องประชุมสภา

"สมัยเป็นก่อนสำนักงานเลขาธิการ จะมีเพียงสำนักเดียว คือ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ก่อนที่จะแบ่งเป็นสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ข้าราชการโดยเฉพาะที่อยู่ประจำหน้าห้องประธานสภาจะมีความสำคัญมาก"

"เช่นเดียวกับ การประชุมคณะกรรมาธิการของสภา ซึ่งจะเป็นส่วนหลักในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ยิ่งไปกว่านั้นถ้าประธานคณะกรรมาธิการคนไหนทำงานได้ดี หากต่อไปได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะมีโอกาสเป็นถึงรัฐมนตรีกันเลยทีเดียว"

"แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การทำข่าวการประชุมสภาในห้องประชุมใหญ่ เพราะจะเป็นการประชุมพิจารณากฎหมายและการอภิปรายในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นการเขียนข่าวที่ต้องใช้สมาธิค่อนข้างมาก"

"การทำข่าวห้องประชุมเป็นการมีเสน่ห์ ต้องจดจำบุคคลที่อภิปราย เพราะบางครั้งคนอภิปรายก็ไม่ได้ขานชื่อตัวเอง ทำให้นักข่าวต้องจำหน้าคนที่กำลังอภิปรายให้ได้ว่าชื่ออะไร"

"ไม่เพียงเท่านี้ เพียงแค่การทำข่าวห้องประชุมโดยอาศัยการฟังโทรทัศน์วงจรปิดภายในของสภาอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ต้องเข้าไปฟังภายในห้องประชุมสภากันจริงๆด้วย เพื่อจะได้เก็บบรรยากาศและรายละเอียดต่างๆ เช่น ท่าทีและอากัปกิริยาของรัฐมนตรีที่กำลังถูกอภิปราย หรือ ความเคลื่อนไหวของสส. คนอื่นในห้องประชุม เพื่อเอามาเขียนให้เห็นภาพของความเคลื่อนไหว"

"ต้องรอดูว่าสภาใหม่จะขลังเหมือนสภาเก่าหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรทั้งหมดขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของสส. ถ้าทำหน้าที่ได้ดีทุกอย่างก็จะเรียบร้อย"

 

รู้ทุกเรื่อง ไม่ต้องเก่งทุกเรื่อง

“สุทธา พิมาลัย” จากนสพ.ไทยรัฐ หรือ  “ตุ้ม” เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะมาเป็นนักข่าวสภาอย่างเป็นทางการ ก็เป็นนักข่าวมาหลายที่ทั้งทำเนียบรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข กองทัพ

“การทำข่าวสภาอย่างที่ทราบกันดีว่ามีความสำคัญเพราะสภาเป็นสถานที่ในการออกกฎหมาย อย่างตอนเข้ามาเป็นนักข่าวสภาใหม่ๆ ก็มาเจอกับการพิจารณากฎหมายปฏิรูประบบราชการพอดี ประชุมกันตั้งแต่เช้าถึงดึก ยิ่งไปกว่านั้นสภายังมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการตั้งกระทู้ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงเกมการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองไปในตัว“

“นักข่าวสภาส่วนมากไม่ได้จบกฎหมายกันมา แต่เมื่อมาทำข่าวสภาแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ เรียกว่านักข่าวต้องเป็นเหมือนเป็ด ต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง อาศัยการเรียนรู้และทำความเข้าใจและทำการบ้านให้มากๆ”

“ใหม่ๆก็อาจงงๆกันอยู่บ้าง แต่เมื่อเราอาศัยระยะเวลาและการทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวประจำที่อื่นที่ไม่ใช่สภาก็ตาม”

 

สมาธิเป็นสิ่งสำคัญ

ดวงฤทัย ผ่องใส หรือ “พี่ดวง” พี่สาวคนโตของน้องๆที่สภาจากนสพ.เดลินิวส์ ที่จะมาทำข่าวที่สภาด้วยรอยยิ้มสมกับนามสกุลในแต่ละวัน บอกเล่าถึงเสน่ห์ของการเป็นนักข่าวอย่างน่าติดตามเช่นกัน

”เหตุการณ์ของสภาที่จะจำไม่มีวันลืมหลายเหตุการณ์ แต่มีสองเรื่องที่สำคัญ คือ การพิจารณาร่างกฎหมายปรองดอง ซึ่งมีความวุ่นวายถึงขนาดที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสภาต้องเข้ามาเป็นเกราะป้องกันให้กับประธานสภา รวมไปถึงการแย่งเก้าอี้ประธานในที่ประชุมเพื่อไม่ให้ประธานสภาเข้ามาทำหน้าที่คุมการประชุมต่อไปได้ และเหตุการณ์ชุมนุมปิดล้อมสภา เพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา เพราะเวลานั้นสถานการณ์รุนแรงและนักข่าวรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ในสภาต้องปีนรั้วหนีกันออกมา”

นักข่าวสภาต้องอยู่กับเรื่องกฎหมายค่อนข้างมาก และอีกอย่างการประชุมพิจารณากฎหมายแต่ละครั้งก็ใช้เวลานานมากหลายชั่วโมง แต่พวกเรานักข่าวที่ไม่ได้จบด้านกฎหมายมาก็อาศัยความเป็นนักนิเทศศาสตร์ในการเลือกเอาสาระสำคัญของการประชุมเพื่อเขียนออกมาเป็นข่าวให้มีความเข้าใจง่ายที่สุด

“เข้าใจว่านักข่าวสภาแต่ละสำนักจะมีความสนใจในข่าวสภาแตกต่างกันออกไป เช่น เน้นเศรษฐกิจ เน้นด้านสังคม เป็นต้น แต่โดยหลักแล้วจะมีแนวทางที่เหมือนกัน คือ จะเน้นกฎหมายที่มีผลกระทบกับประชาชนมากที่สุดหรือกฎหมายฉบับใดจะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากที่สุด ก็จะเน้นในเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ”

“ความยากของการทำข่าวสภาอยู่ที่พวกศัพท์ทางกฎหมาย ก็ต้องอาศัยการสอบถามแหล่งข่าวเพื่อให้คำอธิบายและสร้างความเข้าใจ แต่ทั้งหมดแล้วเราจะต้องมีสมาธิในการทำงานด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วก็จะไม่เป็นเรื่องยากเลย”

 

เรียนรู้เท่าทันเกมการเมือง

“พี่เอก” หรือ “มงคล บางประภา” จากนสพ.บางกอกโพสต์ นักข่าวสภารุ่นใหญ่อีกคนหนึ่งที่เกาะติดการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติมาเป็นเวลานาน บอกว่าตอนมาเป็นนักข่าวครั้งแรกก็งงกับกระบวนการของสภาจนเขียนข่าวไม่ได้มาแล้ว

“ทำงานที่สภาตั้งแต่ปี 2535 ตอนเข้ามาเป็นนักข่าวสภาเวลานั้นกำลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญ มาถึงสภาครั้งแรกก็งงเหมือนกัน เขียนข่าวสภาครั้งแรกตอนนั้นไม่รู้เรื่อง ต้องอาศัยเพื่อนและพี่คอยช่วย เพราะอภิปรายรัฐธรรมนูญหลายชั่วโมง”

“จากสภาพที่เกิดขึ้นบีบให้เราทำความเข้าใจกับกระบวนการของสภาให้มากๆ จำเป็นต้องรู้ว่ากระบวนการตรากฎหมายของสภาเป็นอย่างไร มิเช่นนั้นเราจะทำงานไม่ได้เลย เพราะเราไม่เรียนด้านกฎหมายมา”

”การทำข่าวสภา ถ้าให้จัดระดับความยากจากมากที่สุดตั้งแต่ A B C ข่าวสภาน่าจะอยู่ในระดับ A พอๆกับการทำข่าวทำเนียบรัฐบาลก็ได้ เพราะข่าวสภาแต่ละครั้งจะมีเอกสารค่อนข้างมาก และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาสภา นักข่าวสภาทุกคนก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับกฎหมายที่รัฐบาลส่งมาให้สภา ก่อนเขียนเป็นข่าวออกมา”

”เหตุการณ์ในสภาที่จำได้ดี เห็นจะเป็นการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงปี 2556 เพราะขณะนั้นแค่ถ้อยคำในกฎหมายเพียงคำเดียวก็ใช้เวลาการอภิปรายโต้เถียง 5-6 ชั่วโมง ฝ่ายเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยต่างไม่มีการยอมซึ่งกันและกัน จนทำให้สถานการณ์บานปลาย”

“ในแต่ละครั้งของการทำข่าวสภา จะต้องรู้ทันคน รู้ทันคณิตศาสตร์การเมือง และรู้ทันเกมการเมืองของแต่ละฝ่าย เพราะสภานอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งรัฐบาลแล้ว ยังเป็นจุดล้มรัฐบาลด้วย”

“พวกเรานักข่าวสภาที่ผ่านมาจะมีการสร้างกระบวนการประชาธิปไตยกันภายในผ่านการตั้งฉายาสภา ซึ่งจะมาจากระดมความคิดและการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก”  พี่เอกสรุป

 

อารมณ์ประธานสภาเป็นเรื่องสำคัญ

อภิมาศ พงษ์ไพบูลย์ หรือพี่เต้ย จากนสพ.ข่าวสด ที่นอกจากจะเขียนข่าวได้สละสลวยยังเล่นกีตาร์ได้ไพเราะไม่แพ้กัน ก็เล่าถึงการทำงานหาข่าวในรัฐสภาว่า ตอนมาทำงานที่สภาแรกๆช่วงปี 2534 ก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกันเพราะงานนิติบัญญัติมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ดีที่ได้รุ่นพี่ๆหลายคนช่วยเหลือและคอยสอนมาตลอด

“การมีรุ่นพี่ที่คอยให้คำแนะนำเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะเราจะได้รู้แต่ละวันงานในสภามีเรื่องอะไรที่สำคัญๆบ้าง และช่วยให้เรามีความเข้าใจในงานของระบบนิติบัญญัติมากขึ้นในแต่ละวัน”

ขณะเดียวกัน พี่เต้ย ยังบอกอีกว่าประธานสภาแต่ละคนในแต่ละสมัยก็มีความสำคัญต่อการทำข่าวเช่นกัน เพราะจะเป็นบุคคลที่ดูแลการบรรจุระเบียบวาระการประชุมทั้งหมด ซึ่งแต่ละคนก็มีบุคลิกแตกต่างกันไป ทำให้ต้องคอยหาวิธีในการเข้าถึงตัวประธานเพื่อสัมภาษณ์หรือสอบถามข้อมูลที่จำเป็นบางประการ

“โดยหลักแล้วเวลาจะสัมภาษณ์ประธานสภา จะอาศัยการประสานงานกับทีมงานของประธานสภาที่อยู่หน้าห้องเป็นสำคัญ โดยทีมงานหน้าห้องเหล่านี้จะคอยบอกว่าแต่ละวันประธานสภามีภารกิจอะไรบ้าง และมีอารมณ์พร้อมจะให้สัมภาษณ์หรือไม่ ซึ่งจะคอยบอกว่าให้นักข่าวทราบล่วงหน้า”

“ประธานสภาแต่ละยุคจะมีความแตกต่างกันไป ถ้าเป็นประธานสภาที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นนักกฎหมายก็จะทำงานที่เน้นกการพิจารณากฎหมายอย่างมาก แต่ถ้าเป็นประธานสภาที่มาจากการเป็นนักการเมืองหรือนักการเมืองท้องถิ่นก็จะไม่เน้นงานด้านกฎหมายเท่าใดนัก เพราะจะเน้นการคุมเสียงในสภาแทน”

“การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในเรื่องใหญ่ๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นเหมือนบทเรียนที่คอยสอนให้นักข่าวได้เรียนรู้และเข้าใจระบบงานของสภามากขึ้น นอกเหนือไปจากการอ่านข้อบังคับการประชุมสภา แต่การทำงานที่สภามีข้อดีที่สำคัญ คือ ความผูกพันระหว่างพี่น้องนักข่าวที่ทำข่าวด้วยกัน เพราะทุกคนมีความข่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเหตุการณ์วิกฤตการเมืองแต่ละครั้งที่มีการชุมนุมปิดล้อมสภา”