ความท้าทาย-สิ่งคาดหวัง สื่อกับข่าวเลือกตั้ง’62

 

สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (SEAPA) จัดเวทีสาธารณะ เรื่องการเลือกตั้งกับการรายงานข่าวในประเทศไทย ความท้าทายและโอกาสในการขยายกรอบวาทกรรมสาธารณะ

ทั้งนี้ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ จากMedia Inside Out  ได้นำเสนองานวิจัยกรณีศึกษาบทบาทสื่อต่อการนำเสนอข้อมูล 3 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองจากการดูหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับ จากข่าวและบทนำ ประกอบด้วย การแก้ไข รัฐธรรมนูญในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ปี 2550 การเลือกตั้งครั้งสุดท้าย 2 ก.พ. 2557  และการรัฐประหาร คสช. 2557 กลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษา ประกอบด้วย ไทยรัฐ คมชัดลึก มติชน ไทยโพสต์ เอเอสทีวีผู้จัดการ ไทยพีบีเอส Voice TV ไทยพับลิก้า ททบ.5

งานวิจัยพบว่า สื่อ เช่น คมชัดลึก ไทยรัฐ จะไม่สนับสนุนหรือคัดค้านการแก้ไข รัฐธรรมนูญครั้งนั้น จะมีเปิดพื้นที่บ้างในบทความ แต่ในข่าวที่คัดค้านจะเป็นคมชัดลึก ไทยโพสต์ เอเอสทีวี ยังพบว่า การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสื่อมีไม่มาก มีเพียงมติชนที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นประชาธิปไตย ส่วนเหตุผลความไม่ชอบธรรมในการแก้ เช่น เป็นการช่วยเหลือทักษิณ ชินวัตร

ถัดมาการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557  ผลวิจัยพบว่า กลุ่มที่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง คือ มติชน VoiceTV ประชาไท กลางๆ คือ บางกอกโพสต์ ไทยพีบีเอส  ที่ไม่สนับสนุน คือ ไทยรัฐ ททบ.5  ต่อมาเกิดการรัฐประหาร ผู้ที่แสดงตัวเป็นสุนัขฝ้าบ้านชัดเจน คือ ททบ.5 และยังเผยแพร่ข้อมูลของ คสช.  ส่วนไทยรัฐอาจดูคลุมเครือ แต่บทนำกลับสนับสนุน กลุ่มที่ไม่สนับสนุน คือ มติชน VoiceTV  ประชาไท ซึ่งต่อมาก็ถูกตักเตือนจากคสช. ส่วนบางกอกโพสต์จะเป็นกลางๆ แต่บทนำเขียนทั้งสองอย่าง คือ ไม่มีทางออกอื่นจึงต้องรัฐประหารกับไม่เห็นด้วย ขณะที่ ไทยพับลิก้า ตอนแรกเฉยๆ ต่อมาก็คัดค้านการรัฐประหาร

 

การเลือกข้างทางการเมือง

เกมของชนชั้นนำ

อุบลรัตน์ กล่าวว่า จากงานวิจัยชี้ว่า สื่อจำนวนหนึ่งไม่สนับสนุนการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตาม คือ เราจะเห็นภาพการเลือกตั้งที่กำหนดกรอบเกมกลยุทธ์แบบเดิมๆ หรือไม่ เช่น ประชาธิปไตยกำลังสู้กับทหาร หรือ การเลือกตั้งจะเป็นการเลือกระหว่างเศรษฐกิจหรือเสรีภาพ หรือ เลือกเพื่อความปรองดอง  ที่ต้องติดตามคือ โซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาทเหมือนที่มีพลังในมาเลเซียหรือไม่

อุบลรัตน์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือ การทำหน้าที่สื่อที่ต้องมืออาชีพ แต่ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน การเลือกข้างทางการเมืองกลายเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดกรอบโดยชนชั้นนำไปแล้วว่า เราต้องไม่เลือกข้าง เพราะสังคมแตกแยกมานาน แต่ความจริงเราพบว่า ในการเลือกตั้ง เราก็ต้องเลือก มีการนำเสนอประเด็น เราต้องเลือกทางการเมือง ประเทศไทยตอนนี้อยู่ในภาวะถูกสั่ง จนเราเริ่มหลงทาง สื่อก็ไม่มีอุดมการณ์คิดว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ นี่คือ ปัญหาที่พาเราหลงทางไปนาน เรากำลังกลับมาตั้งหลักใหม่ สื่อมีพลังทำตรงนี้ให้สังคมได้มาก แต่โลกสัญลักษณ์กับโลกจริง ตอนนี้โลกจริงกำลังขยับอย่างรุนแรงกว่าที่โลกสัญลักษณ์จะตามทัน  การแข่งขันตอนนี้ก็ชิงดีชิงเด่น คงไม่มีอะไรที่เป็นกลางได้ในการแข่งขัน

 

 

ขอผู้นำสื่อจัดทัพ

มอนิเตอร์ข่าวเลือกตั้ง

ฌัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่ประสานงาน Ilaw กล่าวว่า เราไม่ได้มองบทบาทของสื่อกระแสหลักต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่มันมีโจทย์ 3 ข้อก่อน คือ เราต้องสำรวจตัวเองว่ามีความคิด ความเชื่อแบบไหน เรามองเห็นปัญหาสังคมแบบไหน และเราอยากให้สังคมไทยเป็นแบบไหน เมื่อรู้ตัวถึงจะวางบทบาทตัวเองได้ ที่ผ่านมาสื่อถูกล้อมกรอบตัวเองเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งถูกตีความว่า กลางในการเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านหรือเป็นกลางทางการเมืองแต่กลางอย่างหลังนี้ เรารู้สึกว่า ไม่ว่า คุณจะมีความเชื่อ อุดมการณ์อย่างไร แต่ก็ต้องเสนอข้อเท็จจริง และมันจะเกิดการถ่วงดุลข้อเท็จจริงซึ่งและกัน คุณอาจสนับสนุนหรือไม่กับการรัฐประหาร แต่เราต้องมีหลักประกันในพื้นที่ของการถกเถียงอย่างเท่าเทียมกัน ตรงนี้ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน

ฌัชปกร กล่าวว่า ไอลอว์ ไม่ใช่สื่อ เราเป็นทั้งเอ็นจีโอ องค์กรสิทธิ บางฝ่ายมองเป็นนักวิชาการ แต่เราเป็นองค์กรที่ศรัทธาประชาธิปไตย ยึดมั่นความเท่าเทียมส่งเสริมหลักนิติธรรมนิติรัฐ สร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ เราจะทำงานเกาะติดบนพื้นฐานสองข้อ คือ ทำข้อเท็จจริงให้สมบูรณ์ก่อนเสมอ เมื่อได้แล้วก็เอาประเด็นมาตั้ง โดยไม่ตัดสินว่า สิ่งนี้มันถูกผิด และถึงจะโยนให้สังคมถกเถียง

“ช่วงเลือกตั้ง เราพูดถึงนโยบายที่มาจากพรรคการเมืองน้อยมาก แง่หนึ่งเราถูกล้อมกรอบเรื่องการเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่ แต่สื่อไม่มีใครโฟกัสเรื่องนโยบายเท่าที่ควร ก็อาจมีข้อจำกัดว่า สื่ออยู่ภายใต้คำสั่งประกาศ คสช.  แต่ก็ไม่ใช่ทุกสื่อยอมขังตัวเองในบริบทอย่างนั้น เช่น วอยซ์ทีวีก็ยังมีแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ รวมถึง เวิร์คพ้อยท์ที่ติดตามกระบวนการเลือกตั้งได้อย่างดีเยี่ยม”

ฌัชปกร กล่าวว่า บางครั้งสื่อวิ่งตามกระแส ไม่เหมือนเอ็นจีโอที่เราไม่ต้องหวั่นไหวกับตลาดหรือสังคม แต่เราก็เสียเปรียบคือ ความเป็นมืออาชีพหรือทักษะในการนำเสนอ และภาคประชาชนก็ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมเท่ากับสื่อที่เขามีต้นทุนทำได้ ข้อเสนอคือ เราต้องการผู้นำสื่อที่มีวิสัยทัศน์เพื่อจัดทัพการมอนิเตอร์ในช่วงการเลือกตั้งนี้

 

 

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในทางอุดมการณ์เราคาดหวังสื่อให้นำเสนอข้อมูลรอบด้าน แต่สื่อก็เป็นพลเมืองย่อมมีความชอบไม่ชอบ  อย่างไรก็ตามในความเป็นวิชาชีพสื่อจึงถูกคาดหวังมาก ซึ่งช่วง 5 ปี ประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้ง สังคมจึงคาดหวังว่า สื่อจะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ประชาชนมากกว่าแค่การเลือกตั้ง แต่ทำอย่างไรประชาชนจะเข้าใจในความเป็นประชาธิปไตยและเสียงของประชาชนควรเป็นอย่างไร

“บทบาทของสื่อช่วงนี้ ดูจะเกร็งว่าจะเสนอข่าวได้แค่ไหน หลายสำนักก็เชียร์พรรคใดที่ตัวเองชอบก็ถือว่าเป็นสิทธิ แต่ถ้ามองประชาชนที่ได้รับข่าว มันมีผลต่อการตัดสินใจของชาวบ้านด้วย เราได้ยินเรื่องความเป็นกลางมาก สื่อต้องแยก สื่ออาจชอบใครก็ได้ แต่ต้องเสนอข้อมูลข่าวสารทั้งสองฝั่งและชี้ให้เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ จะได้รับผลกระทบอย่างไร”

อังคณา กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเราพบว่า ในทางการเมืองมีการเอาเรื่องเพศมาวิจารณ์เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือ ทำให้เสื่อมเสีย ตรงนี้ต้องแยกแม้จะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่เขาก็มีความเป็นส่วนตัวที่ต้องเคารพเหมือนกัน เมื่อปีที่แล้วมีการร้องเรียนเรื่องการคุกคามทางเพศสื่อของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง มีการตั้งกรรรมการมาสอบ ผลสอบบอกว่า มันเป็นวัฒนธรรมการทำงานของผู้ใหญ่กับเด็ก ซึ่งความจริงการเคารพในความเสมอภาคทางเพศเป็นเรื่องสำคัญมาก สื่อรุ่นใหม่ต้องยึดมั่นในหลักการนี้ด้วย

อังคณา กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน ยังมีคำสั่งประกาศ คสช.ที่ระบุเรื่องความมั่นคงของชาติไว้ และสื่อก็อึดอัดในการทำงาน แต่สื่อต้องสร้างบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยให้ถูกตรวจสอบได้ หลายครั้งสื่อก็เป็นผู้ละเมิดเสียเอง ขณะเดียวกัน สื่อบางคน บางสำนักก็อยู่ในสภาพที่ถูกกคุกคาม ถูกดำเนินคดี สื่อที่รายงานการค้ามนุษย์ก็ต้องหลบไปอยู่ต่างประเทศก็มี สื่อจะรักษาสมดุลอย่างไรต่อวิญญาณเสรีภาพของสื่อ และสื่อจะมีความรับผิดชอบต่อสังคม  จะเคารพสิทธิในความเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลอย่างไร ทุกฝ่ายคาดหวังให้สื่อพัฒนาตัวเองตระหนักเรื่องจริยธรรมที่ต้องรับผิดชอบกับสังคม สื่อเป็นเสียงของผู้ที่ไร้เสียงก็อยากให้สื่อเป็นคนที่พัฒนาตัวเอง ทำงานมืออาชีพ สุจริต และหากทำงานเต็มที่  สื่อเองก็ต้องมีภูมิคุ้มกันเช่นกัน ซึ่งสมาคมสื่อก็ต้องปกป้องไม่ให้ถูกคุกคาม

“โบว์”แนะเลือกอคติ

ปรับทักษะทำงาน

ณัฎฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง หรือ “โบว์” กล่าวว่า ในฐานะที่มีหลายบทบาททั้งการเป็นทำงานแหล่งข่าวด้วย ทำให้เห็นคุณภาพสื่อชัดมากว่าถ่ายทอดได้ตรงหรือไม่อย่างไร อาจเป็นเรื่องทักษะของสื่อ คนทำงาน  ทักษะการจับประเด็น การใช้ภาษาพื้นๆ สื่อสะกดผิดเยอะมาก แม้ไม่ใช่สาระแต่ชี้ว่า คุณภาพการมันลดต่ำลงเหมือนเทียบกับสมัยก่อน

ทั้งนี้ อยากฝากสื่อ 4 ข้อ 1.มุมมองของสื่อภายใต้บริบทปัจจุบันในยุคอำนาจเผด็จการ มันต่างจากสื่อในยุครัฐบาลพลเรือน ซึ่งสื่อหลายสำนักยังไม่ได้มองตรงนี้ว่าต้องแตกต่างกัน เพราะปัจจุบัน กสทช.สามารถปิดสื่อเมื่อไรก็ได้ ขณะที่ประเทศก็ไม่มีฝ่ายค้านเป็นเวลา 5 ปี มีหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งอะไรก็ได้ ถ้าสื่อยังไม่ตระหนัก และทำงานเหมือนอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน เช่น คุยกับนายกฯ เมื่อโดนเขาด่ากลับ เหยียดหยามดูถูก สื่อยังยิ้มได้

ณัฎฐา  กล่าวว่า สื่อยังไม่ได้ตั้งหลักว่าตัวเองมีบทบาทแบบไหน ทั้งที่ควรตระหนักต่อสังคม เพราะเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ เราก็ไม่ควรทำตัวปกติ ถ้าสื่อเห็นว่า ผิดก็ต้องประท้วงกกต. เพื่อแสดงให้เห็นว่าสื่อไม่ยอมให้กสทช.  ทำเช่นนี้ มาปิดสื่อได้ ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการประท้วงก็ไม่ควรตกใจเพราะเป็นสิทธิของพลเมืองในการชุมนุมอยู่แล้ว  สื่อยอมอยู่ในสภาพแบบนี้ได้อย่างไร ถ้าเช่นนั้นก็ถือว่าไม่มีสปิริตนักต่อสู้อยู่ในตัว”

“กลุ่มคนอยากเลือกอยากแถลง ยึดหลักการชุมนุมสันติวิธี ก็จะมีสื่อพาดหัวว่า กลุ่มอยากเลือกตั้งเตรียมป่วนเมือง ก็ทำด้วยอคติ ด้วยความเคยชิน  สื่อจะยอมไหม สัปดาห์หน้ารวมตัวไปบอกกกับกกต. บอยคอตรัฐบาลสัปดาห์หนึ่ง ไม่เอาคำสั่งนี้ เราไม่ได้เรียกร้องให้สื่อเป็นกลางทางการเมือง แต่ขออย่านำเสนอความเท็จ หรือ ก่ออาชญากรรมขึ้น”

ณัฎฐา กล่าวว่า  ในบริบทบ้านเมืองที่ถูกปิดกั้น อาวุธสำคัญคือ ปัญญา สื่อมีบทบาทให้ความรู้สังคม สื่อมีความรู้มากพอหรือไม่ ถ้าดูเนื้อหา ข้อมูลข้อกฎหมาย สื่อไม่ลงรายละเอียด เช่น เรื่อง มาตรา116 คืออะไร ก็ควรให้สังคมเข้าใจ อาจจะใส่ลิงก์ในออนไลน์ให้คนอ่านรู้  แต่สิ่งที่สื่อทำ คงเพราะไม่มีทักษะ ไม่มีความรู้ หรือ อาจจะไม่มีเวลา หรือทีมงานน้อย ทำงานภายใต้ความกดดัน หรือเป็นนักข่าวใหม่ ฉะนั้นการบริหารจัดการภายในองค์กรสื่อ ก็มีส่วนสนับสนุนนักข่าวที่มีความสามารถ แต่ถ้านักข่าวไม่ได้ใช้ทักษะนั้นและไม่สามารถทำความเข้าใจกับสังคมได้ก็น่าเสียดาย

3. การให้น้ำหนักเสียงของสังคม รายการข่าวเขาปล่อยเสียงนายกฯเต็มๆ ไม่ว่าคำพูดนั้นไร้สาระหรือไม่ พอคนอื่นพูดอย่าง เช่น  ตนเอง คนเล่าข่าวเขาก็สนุกและพูดวิจารณ์ มันแปลกเพราะสื่อไม่ตระหนักว่า ทำงานภายใต้บริบทประเทศอย่างไร  การแบ่งทีมข่าว สื่อจัดสรรทรัพยากรเหมือนแมลงวัน เอาสื่อไว้อยู่ทำเนียบที่เดียวกัน บางครั้งคำถามจากนักข่าวในฝูงแมลงวันนั้น น่าสงสัยทำไมมีคนถามแค่ 2 คน ถ้าเป็นอย่างนั้นทำเป็นข่าวพูลเลยไหมแล้วแชร์ข้อมูลกัน เพราะคุณเปิดเสียงนายกฯ แทนที่จะสื่อไปสัมภาษณ์นักวิชาการ ประชาสังคมบ้าง ไม่ใช่วิ่งถือกล้องตามผู้มีอำนาจ

4. อคติและการตรวจสอบของสื่อไทยไม่มี วัฒนธรรมไทยเกรงใจกัน  เห็นสื่อบางสำนักทำผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มีสื่อไหนวิจารณ์ อย่างสื่อหลายสำนักต่อยอดอาชญากร กรณีที่เกิดขึ้นกับตนเองชัดเจน แต่ก็มีสื่อบางสำนักยอมสละยอดวิว เพื่อรักษาจรรยาบรรณ สื่อไทยยังไม่ถึงระดับวิจารณ์กันเอง  สมาคมสื่อก็ออกแถลงการณ์บ้าง แต่ไม่มีความเป็นสปิริตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เหมือนสื่อในอเมริกา ที่วิจารณ์การนำเสนอข่าวของสื่อกันเอง

 

0ความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง

อย่าติดกับดักวาทกรรมนี้

ต่อมาในช่วงบ่ายมีเวทีเสวนามุมมองจากสื่อมวลชนต่อการทำข่าวช่วงเลือกตั้ง มงคล บางประภา ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไม่ควรมี รักโลภโกรธหลง มิฉะนั้นจะถูกกีดกันในการรับข้อมูลรอบด้าน ซึ่งส่งผลต่อการสื่อประเด็นต่อสาธารณะ  ถ้าเป็นอย่างนั้น สื่อก็จะเป็นเพียงผู้นำความเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนั้น สิ่งที่สื่อถูกตั้งคำถามตลอดเวลา คือ “ความเป็นกลาง”  ส่วนตัวเห็นว่า “ความเป็นกลาง” คือการรายงานข่าวที่ต้องอธิบายเรื่องครบถ้วน ไม่ตัดตอน เล่าตั้งแต่ต้นจนจบ  ขณะเดียวกันต้องให้โอกาสทุกฝ่าย ยึดมั่นจริยธรรม ยึดประโยชน์ส่วนรวม

มงคล กล่าวว่า  วงการสื่อตอนนี้ อยู่ในภาวะฝุ่นตลบ มีการเปลี่ยนแพลทฟอร์มการนำเสนอ ในส่วนของสมาคมนักข่าวได้เปิดให้สื่อออนไลน์เข้าเป็นสมาชิกสมาคมได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขต้องมีการนำเสนอที่ชัดเจน ต่อเนื่อง สามารถรับผิดชอบทางกฎหมายได้  ไม่ใช่ตั้งมาขึ้นแล้วมาตีหัวใคร มีผลประโยชน์ซ่อนเร้นไม่เฉพาะทางการเมืองเท่านั้น แต่เพื่อธุรกิจของตัวเอง

ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักเขียนอาวุโส หนังสือพิมพ์ Khaosod English กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความจำเป็นที่สื่อต้องทำหน้าที่มากกว่าสถานการณ์ปกติ เพราะที่ผ่านมาหลายคนถูกคุกคาม  เราจึงไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลเผด็จการถูกมองเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสื่อจำนวนไม่น้อยมองว่า นี่คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ประวิตร กล่าวว่า สื่อต้องตอกย้ำว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีสภาพที่ไม่เป็นธรรม และไม่เสรี  จากกติกา สว.250 คนที่ คสช.แต่งตั้งเอง มีอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้มาตรา 44 ที่จะคงอยู่จนถึงรัฐบาลใหม่เข้าทำงาน  สื่อต้องยืนหยัด ปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพของสังคม ไม่ฉะนั้น สื่อจะทำงานอย่างมืออาชีพไม่ได้เพราะไม่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง เช่น การหายไปลึกลับของอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดชเมื่อไม่นานมานี้ แต่กลับไม่มีรายงานข่าวในหน้าสื่อเพราะมีคำสั่งไม่ให้รายงานข่าว  ขนาดตนเองเขียนรายงานเรื่องนี้และก็มีสัญญาณมาถึงว่า ไม่ควรเขียนอะไรทำนองนี้ต่อ

เอมพงศ์ บุญญานุพงษ์ บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  กล่าวว่า ยอมรับว่า ปัจจุบันคุณภาพของนักข่าวน้อยลงกว่าเดิมจริง เพราะเทคโนโลยีทำให้สื่อหาข้อมูลอะไรได้ง่ายขึ้น จึงกลายเป็นคนมักง่าย แตกต่างจากแต่ก่อน ที่เราต้องค้นคว้ามาก  ในส่วนของไทยพีบีเอส ในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ ตนก็รู้สึกกระดากอาย เพราะเพื่อนร่วมอาชีพที่เผชิญชะตากรรมความไม่มั่นคง เราจึงถูกคาดหวังสูง การทำหน้าที่ของเราจึงถูกจับตาทุกอย่าง ทุกแพลตฟอร์ม

“ผมดูข่าวของไทยพีบีเอส ดูศูนย์เลือกตั้ง ดูเว็ปไซต์ เราต้องทำเนื้อหาให้สมดุลทั้งสองด้านทั้งโดยจริยธรรมและข้อบังคับจริยธรรมขององค์กรเราเอง ถ้าไม่สมดุลเราก็จะถูกร้องเรียน  เราถูกตรวจสอบทุกแพลตฟอร์ม  ต้องนำเสนอนโยบาย เสนอข่าวให้ครบ สมดุลทุกพรรค”

บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  กล่าวว่า ในช่วงข่าวภาคค่ำ เรานำเสนอข่าวทุกพรรคหมด พรรคหาเสียงเราต้องแจ้งทุกศูนย์ข่าวว่า ต้องเสนอข่าวเพื่อความเท่าเทียมทุกพรรค ชาวบ้านทำอะไรก็ต้องมีหมด กลุ่มทางเลือกที่ทำก็ต้องมี ในออนไลน์เราต้องสัมภาษณ์คนทุกกลุ่ม ทั้งมอเตอร์ไซค์ กลุ่มเอชไอวี กลุ่มหาบเร่ เพื่อให้เห็นว่า เรามีเสียงชาวบ้าน เราสอดแทรกทุกอย่างให้สมดุลทุกสี  เพราะเราถูกคาดว่า เราเป็นสื่อสาธารณะเสียงทุกเสียงต้องมาผ่านตรงนี้

“เราดูเป็นตาสัปปะรด ทุกอย่างต้องมีหมด เหลือง แดง  ฟ้า สลิ่ม  มิฉะนั้นจะมีข้ออ้างจากท็อปดาวน์ว่า ทำไมไม่มีอันนี้ อันนี้เยอะไปหรือไม่” เอมพงศ์

พิณผกา งามสม บรรณาธิการสื่อออนไลน์ Voice TV  กล่าวว่า Voice TV ถูกสั่งลงโทษมาแล้ว 20 กว่าครั้งในรัฐบาลนี้เราถูกเรียกทุกเดือน ตอนนี้ก็ทุกสัปดาห์ เรามีสีชัดเจนแต่เราก็เป็นธรรม มีกลุ่มเป้าหมายชัด เราพยายามทำให้รอบด้าน ถ้าดูรายการของ Voice TV  สิ่งที่เรตติ้งดี คือ รายการวิเคราะห์ข่าว ซึ่งเราต้องเชิญคนทุกฝ่ายมาวิพากษ์วิจารณ์  แต่เราก็ถูกตีความแบบพิเศษว่า ไม่รอบด้านจากผู้มีอำนาจ  สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เราถูกกสทช. เรียกไปชี้แจงหาว่ารายงานข่าว กู้ดมันเดย์ทักษิณ สร้างความขัดแย้ง  และไม่ทำตามเอ็มโอยูที่เราเซ็นกับ รัฐบาลคสช. ที่กำหนด ต้องไม่ทำให้สังคมแตกแยก ซึ่งเอ็มโอยูตอนนั้น ต้องมาตีความว่า ใช้ได้ไหม เพราะถูกบังคับให้เซ็นในสภาพที่ถูกข่มขู่คุกคาม

ชูวัฒน์ ฤกษ์ศิริสุข ที่ปรึกษาสำนักข่าวประชาไท กล่าวว่า เรื่องการรายงานด้วยความเป็นกลาง เป็นวาทกรรมที่ล้าสมัยแล้ว  สื่อโซเชียล สื่อพลเมืองควรก้าวข้ามวาทกรรมนี้ อย่าตกเป็นเครื่องมือรัฐที่ตอกย้ำวาทกรรมนี้ขึ้นเพื่อทำให้คุณพูดไม่ได้ สิ่งสำคัญ เราต้องสร้างสนามแข่งขันเป็นธรรมมากกว่า