อีกเพียงไม่ถึงสัปดาห์ จะถึงวันเลือกตั้ง 2562 หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งล่วงหน้า 17 สิงหาคม ซึ่งมีผู้ที่ออกมาใช้สิทธิอย่างล้นหลาม บางพื้นที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าทั้ง 100 เปอเซนต์ของผู้ที่ลงทะเบียนไว้
นอกจากความตื่นตัวของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้ง สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นครั้งนี้ คือวิวัฒนาการของการหาเสียงการเลือกตั้ง ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมามาก ในยุคแรกของการหาเสียง ภาพการเดินเท้าเคาะประตูบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการหาเสียงแบบคลาสสิคที่สุด เป็นสิ่งที่หลายๆคนคุ้นชิน ถัดมาเป็นยุคการไฮปาร์ค การตั้งเวทีปราศรัย รถขยายเสียง ไปจนถึงเริ่มมีการใช้สื่อหลัก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เข้ามาช่วยในการประชาสัมพันธ์หาเสียง ไม่รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถือว่ามีบทบาทมานานแล้ว และมาเป็นยุคของการสื่อสารไร้สาย โทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ท ที่เพิ่งเริ่มเข้ามา จนถึงในยุคปัจจุบัน การหาเสียงยุค 4.0 แบบดิจิตอล โซเชียลมีเดียถูกมองว่าเข้ามามีบทบาทกับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ชีวิตติดจอ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. ได้มีการออกกฎเหล็กต่างๆ ในการควบคุมการหาเสียงทางสื่อออนไลน์อย่างเข้มงวด
สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ “Digital Disruption” นี้ ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องมีการปรับตัวเพื่อสู้ศึกกันอย่างหนัก เพื่อให้สามารถครองเก้าอี้ในพื้นที่เลือกตั้งของตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน ความเติบโตของดิจิตอล ก็ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ขึ้นมา นั่นคือ หลักสูตรหาเสียงเลือกตั้งออนไลน์สำหรับนักการเมืองไทยหรือ Digital Tools for Thai Politician
“จุดเริ่มคือผมเคยไปฝึกงานที่สหรัฐอเมริกา และเขาพาไปดูหลักสูตรนี้ว่ามันเป็นมาอย่างไร ได้เห็นว่าการหาเสียงในประเทศไทยก็คล้ายๆกับในอเมริกา เลยเกิดความคิดที่จะริเริ่มหลักสูตร Digital tools ให้กับนักการเมืองไทย โรงเรียนไทยแลนด์ดิจิทัลเวิลด์ เป็นโรงเรียนเดียวและโรงเรียนแรกของประเทศไทยที่มีหลักสูตรสำหรับนักการเมืองในการทำการตลาดหาเสียงโดยใช้ Digital Tools และโซเชียลมีเดีย มีการอนุมัติจากหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ”
ดร.สุรินทร์ บำรุงผล ผู้จัดทำหลักสูตรการหาเสียงดิจิตอลให้กับนักการเมือง สถาบัน โรงเรียนไทยแลนด์ดิจิทัลเวิลด์ เล่าถึงที่มาของหลักสูตร มาจากการถอดบทเรียนการเลือกตั้งของนักการเมืองในต่างประเทศ โดยเฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐ ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบารัคโอบามา หรือนายกรัฐมนตรีของอินเดียที่ชนะเลือกตั้งปี 2014 เพราะได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่มีทีมงานด้านโซเชียลมีเดียอย่างเป็นระบบ แสดงให้เห็นว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างอเมริกากับไทย ก็มีความแตกต่างกันเล็กน้อย คือสังคมอเมริกาจะใช้ทวิตเตอร์เป็นหลัก ส่วนไทยจะใช้ Facebook กับ Line เป็นหลัก การออกแบบหลักสูตรจึงต้องจับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย
รูปแบบการเรียนการสอน เขาบอกว่า ในช่วงแรกที่เปิดสอนสดตามสถานที่ในจังหวัดใหญ่ๆ แต่ก็มีปัญหาที่ไม่ได้คิดมาก่อน คือคนที่เรียนร่วมห้องกัน มักเป็น “คู่แข่ง” ในสนามเลือกตั้ง ทำให้อึดอัดไม่สะดวกที่จะเรียน จึงพัฒนาเพิ่มเป็น “คอร์สออนไลน์” เป็นวีดีโอสามารถเปิดดูเป็นการส่วนตัวเมื่อไหร่ก็ได้ แค่มีอินเตอร์เน็ต
“ในหลักสูตรจะมีการสอน ทั้งการสร้างตัวตนผ่านสื่อออนไลน์และแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook , Line , YouTube รวมถึงการสร้างเว็บไซต์ รวมทั้งหมด 5 ชั่วโมง โดยจะลงรายละเอียดทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎี เช่น คุณมีบัญชี Facebook ในเขตของคุณมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 100,000 คน คุณจะทำอย่างไรให้มียอดผู้ติดตาม มากกว่า 50,000 คน ควรจะโพสต์ข้อความกี่ครั้งต่อวันที่จะไม่มากไปหรือน้อยไป รวมถึงการอัพเดทข้อมูลในเว็บ อัพคลิปวีดีโอ เพื่อให้โซเชียลทั้งหมดสอดคล้องกัน ประชาชนที่ไม่ใช้อินเตอร์เนต กับ ประชาชนที่ใช้อินเตอร์เนต หรือสมาร์ทโฟน ควรวางแผนหาเสียงไปในกลุ่มไหน มากน้อยเท่าไหร่ เป็นต้น”
นอกจากนี้ยังมีการสอนวิธีการตอบคำถามจากผู้ติดตาม การสอนวิเคราะห์คู่แข่ง แม้กระทั่งการดูว่าคู่แข่งแต่ละคนมีส่วนร่วมกิจกรรมภาคประชาสังคมอะไรบ้าง รวมถึงการชิงผู้ติดตามของคู่แข่งให้มาเป็นของเรา และการฝึกทำโพลเพื่อให้เข้าใจประชาชนในกลุ่มที่จะเข้าไปเสนอนโยบาย และมีการสอน พ.รบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 , กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการห้ามใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเชิญอดีต กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร มาให้ความรู้เรื่องกฎหมายเลือกตั้งด้วย”
จากเดิมที่ต้องเดินไปเคาะประตูบ้านตามตลาดสด ซึ่งในยุคนี้ คงไม่สามารถทำได้ครบทุกหลัง ก็หันมาใช้เทคโนโลยีอย่างโซเชียลมีเดีย เพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการหาเสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ละทิ้งการเดินหาเสียงแบบเดิม เพียงแต่นำโซเชียลมีเดียมาเป็นตัวช่วย เรียกว่า Digital Present สำหรับนักการเมือง
เมื่อถามถึงกระแสตอบรับหลังเปิดหลักสูตรนี้จากนักการเมือง เขายอมรับว่ายังไม่แพร่หลายนัก เพราะมีเวลาน้อย เนื่องจากใช้เวลาค่อนข้างนานในการขอรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นช่วงที่กระชั้นชิดกับการเลือกตั้งครั้งนี้พอดี ปัจจุบันมีผู้เรียนประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนนักการเมืองระดับชาติอย่าง ส.ส. ก็พอมีบ้าง เช่น จากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ มีทั้งที่มาเรียนเอง และให้คนใกล้ชิดมาเรียน เช่น ให้ผู้ช่วยผู้สมัคร เพื่อนำไปใช้ในการหาเสียง และยังสามารถสอนทางออนไลน์ ไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่จังหวัดไหนก็ตาม สามารถนัดเวลาและประเด็นพร้อมกันทางออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ไปสอนสดทุกพื้นที่ แต่มั่นใจว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หลักสูตรนี้น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น
“การใช้เทคโนโลยี ดิจิตอล โซเชียลมีเดียกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมมองว่ามีความจำเป็นมาก ถึงมากที่สุด ขอให้ดูจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ดี คนที่ใช้สื่อออนไลน์เป็น กับคนที่ใช้ไม่เป็น คะแนนจะต่างกันอย่างแน่นอน หลายคนที่ยังติดภาพการหาเสียงแบบเก่า เลือกตั้งครั้งนี้อาจมีการพลิกล็อคเกิดขึ้น ในบางเขตเชื่อว่าอาจถึงขั้นล้มยักษ์
“จริงๆแล้วนักการเมืองก็ไม่ต่างกับอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น สื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับที่ปิดตัวไป หากคุณจำได้สมัยก่อนพรรคการเมืองจะต้องไปจองเวลาออกอากาศทางโทรทัศน์ แต่ปัจจุบันคนหันมาอ่านเรื่องต่างๆทาง LINE บ้าง Facebook บ้าง การเสพสื่อของคน ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียหมดแล้ว ถ้านักการเมืองไม่หันมาปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เขาก็จะสูญเสียไม่ต่างกับสื่อที่ต้องปิดตัวลง”
ในขณะที่นักการเมืองไทย ปรับตัวเชิงรุกในการหาเสียง เพื่อที่จะสร้างการจดจำ ทั้งตัวบุคคล และนโยบาย นำไปสู่การได้รับคะแนนเสียงจากผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ในอีกด้านหนึ่งประชาชนเอง ที่เป็นผู้เสพข่าวสาร รับสื่อไม่ว่าจะแบบเก่าหรือแบบใหม่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้รู้เท่าทันสื่อด้วยเช่นกัน
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าเรื่องของการฝึก หรือการสอนการหาเสียงในอดีตจะมีการฝึกอบรมเป็นการภายใน เช่น กรณีของพรรคที่มีรากฐานอันยาวนาน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะมี ยุวประชาธิปัตย์ มีการอบรมการหาเสียงและการลงพื้นที่พบปะประชาชนในช่วงการรณรงค์เลือกตั้ง รวมถึงการฝึกอบรมนักการเมืองใหม่และหัวคะแนน
แต่ในยุคนี้ที่เป็นยุคดิจิตอล ต้องทำความเข้าใจเรื่องของสื่อดิจิตอลในการสื่อสารมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทุกการอบรมและการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องดูว่าจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร เพราะการสื่อสารมี 2 ด้าน ทั้งด้านสว่างและด้านมืด ด้านมืด เช่น ข่าวปลอมหรือปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ IO
“ส่วนประเด็นที่มีการมองกันว่า โซเชียลมีเดียทำได้เพียงแค่การให้ภาพลักษณ์ที่ดี แต่ไม่ได้มีส่วนที่จะส่งผลไปถึงการทำคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. ผมมองเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในยุคของ Social Media ซึ่งต้องดูจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นตัวตอบได้ว่าการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียให้แค่ภาพลักษณ์แต่ไม่ให้คะแนนจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามโซเชียลมีเดียก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสื่อสารได้ดี ในยุคที่คนจำนวนไม่น้อยอยู่ในโลกออนไลน์
โซเชียลมีเดียสามารถแสดงความคิดเห็นได้ 2 ทาง ในขณะที่สื่อดั้งเดิมส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารทางเดียวเป็นหลัก นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคสื่อนั้นๆ หากเรานำมาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง หากผู้บริโภคเห็นด้วยและเชียร์ จากแค่ผู้ที่ดูเฉยๆ ก็อาจจะกลายเป็นเหมือนหัวคะแนนให้กับพรรคการเมืองนั้นๆได้ด้วย เพราะเขาสามารถที่จะแชร์และส่งต่อได้”
นักวิชาการที่คร่ำหวอดด้านสื่อสารมวลชน ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มว่า ปัจจุบันนี้โซเชียลมีเดีย สามารถทำได้มากกว่าการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของพรรคในระยะสั้นๆ แต่สามารถที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ แล้วนำกลับมาเสนอเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ของประชาชนแต่ละกลุ่ม รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการผลักดันกิจกรรมเชิงนโยบายต่างๆได้อีกด้วย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละพรรคจะใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเพียงแค่เฉพาะหน้าหรือจะใช้ระยะยาว ไม่ว่าพรรคตนเองจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่
“สิ่งที่สำคัญคือประชาชนเอง จะต้องเรียนรู้ที่จะตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ยิ่งช่วงใกล้เลือกตั้ง ข่าวสารต่างๆ จะยิ่งมีความอ่อนไหว มีการโจมตีปล่อยข่าวปลอม รวมถึงปฏิบัติการจิตวิทยา มุ่งหมายให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบ ประชาชนเองจึงต้องใช้สติในการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่าเพิ่งรีบเชื่อ รีบแชร์ หรือรีบแสดงความคิดเห็น ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ รวมทั้งในส่วนของสื่อมวลชน ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างระมัดระวังก่อนนำเสนอ ผมยังคงฝากความเชื่อมั่นไว้ที่สื่อกระแสหลักในการกรองข้อมูลชั้นหนึ่ง ข้อมูลที่บิดเบือน เพื่อโจมตีพรรคการเมือง สิ่งสำคัญที่สุดของสื่อมวลชนกระแสหลัก คือ ความน่าเชื่อถือ หากสื่อหลักทำลายความน่าเชื่อถือของตนเอง ก็เท่ากับทำลายตัวเองไปด้วย” ดร.มานะกล่าวทิ้งท้าย
แม้จะยังไม่สามารถตอบได้ว่า การหาเสียงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย จะทำคะแนนเสียงในสนามเลือกตั้ง ให้ผู้สมัคร ส.ส. เท่ากับที่สร้างคะแนนนิยม แต่สิ่งที่แน่นอน คือ การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 1 เสียงของประชาชน ที่ออกไปเลือกตั้ง จะมีส่วนร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศไทยได้ หลังจากที่คนไทยไม่ได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศการเลือกตั้งมานานถึง 8 ปี