แพลตฟอร์มข่าวใหม่ Apple News Plus “กอบกู้” หรือ “ฆ่า” หนังสือพิมพ์

แพลตฟอร์มข่าวใหม่

Apple News Plus

กอบกู้หรือ ฆ่าหนังสือพิมพ์

 

เปิดตัวไปแล้วอย่างเกรียวกราวที่สหรัฐสำหรับ 4 บริการใหม่ของ  Apple Inc.  ที่เขย่าทั้งวงการฟินเทคไปจนถึงสตรีมมิ่ง ทว่า สำหรับวงการสื่อสารมวลชนทั่วโลกแล้ว คงไม่มีอะไรน่าสนใจไปมากกว่า Apple News Plus แพลตฟอร์มข่าวรูปแบบใหม่ของค่าย Apple ที่กำลังถูกจับตาว่า จะมา ช่วยหรือ ฆ่า” Journalism กันแน่



Apple News+ คือแพลตฟอร์มที่รวบรวมเว็บไซต์ข่าวสารและนิตยสารมากกว่า 300 แห่ง มารวมไว้บนที่เดียว โดยให้เราสมัครสมาชิกรายเดือน เดือนละ 9.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 320 บาท เพื่อเข้าไปอ่านคอนเทนต์ของทุกฉบับได้แบบบุฟเฟต์ ตั้งแต่หนังสือพิมพ์  Wall Street Journal (WSJ), Los Angeles Times ไปจนถึงนิตยสารชื่อดังอย่าง The New Yorker, Time, Vogue และ The Atlantic ซึ่งการรวมคอนเทนต์แบบบุฟเฟต์เหมาจ่ายที่สะดวก และที่สำคัญคือ “ถูกกว่า” เมื่อเทียบกับการสมัครแยกของแต่ละฉบับ ทำให้รูปแบบที่ได้ฉายาว่า Netflix of News อาจกลายเป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ของยักษ์เทคโนโลยี ที่เข้ามาเขย่าวงการสื่อทั่วโลกครั้งใหญ่อีกครั้งนับตั้งแต่ Facebook เป็นต้นมา

 

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวัง” “ความหวาดหวั่นและ ความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นไปตามที่ฝั่ง Apple หรือฝั่งสื่อมวลชนมองกันเอาไว้

ที่จริงแล้ว Apple News Plus เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้มีนวัตกรรมใหม่อะไรเลยมาให้ประหลาดใจ แต่เป็นเพียงการใช้ความเป็นแบรนด์ใหญ่ของ  Apple ที่มี devices หลากหลายผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ไปจนถึงแล็ปท็อป เปิดพื้นที่แพล็ตฟอร์มขึ้นมาเพื่อรวบรวมสื่อสิ่งพิมพ์ที่คัดมาแบบ ”พรีเมียม” หรือส่วนใหญ่คือสื่อที่ “ไม่ฟรี” เข้ามาไว้ด้วยกัน และ ”เก็บค่าหัวคิว” จากการใช้พื้นที่และแบรนด์ของ Apple ที่มีสาวกอยู่หลายล้านคนทั่วโลก

เดิมทีนั้น บริษัทเองก็มีแอปพลิเคชันอ่านข่าว  Apple News  อยู่ก่อนแล้ว คล้ายกับรูปแบบของ Flipboard แต่แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นของฟรีและไม่สามารถทำเงินได้ แตกต่างจาก Google และ Facebook ที่มีโซเชียลมีเดียในมือ และทำให้สามารถกินรวบเป็น 2 ยักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งโฆษณาออนไลน์ได้ถึง 60% จึงทำให้นำไปสู่การเปิดแพลตฟอร์มใหม่ที่คิดค่าสมาชิกรายเดือน  Apple News Plus ขึ้นมา โดยผสานกับส่วนนิตยสารหลายร้อยฉบับหลังจากที่ Apple เข้าซื้อ Texture หรือแอปพลิเคชันให้บริการอ่านนิตยสารออนไลน์มาเมื่อปีที่แล้ว Apple จึงคาดหวังว่าแพลตฟอร์มใหม่ที่รวมข่าวและนิตยสารแบบ “พรีเมียม” จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ทั้งกับตนเอง และสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังต้องดิ้นรนกันในยุคดิจิทัลวันนี้

ในเมื่อวงการเพลงและบันเทิงยังประสบความสำเร็จมาแล้วบน Apple Music และ Netflix ที่ต่างก็ต้องสมัครสมาชิกจ่ายค่ารายเดือนเพื่อเข้าไปดูหนังและฟังเพลงได้แบบบุฟเฟต์ แล้วทำไม ข่าวจะใช้รูปแบบธุรกิจเดียวกันไม่ได้

ค่าสมาชิกรายเดือนแบบอ่านได้หมดทุกอย่างทางดิจิทัลสำหรับ WSJ อยู่ที่ราว 39 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และสำหรับ L.A.Times อยู่ที่ราว 8 ดอลลาร์/เดือน ยังไม่นับรวมนิตยสารชื่อดังอีกหลายฉบับที่ส่วนใหญ่คิดค่าสมาชิกเดือนละ 10 ดอลลาร์ขึ้นไปทั้งสิ้น ทำให้แพลตฟอร์มใหม่ของ Apple ย่อมดึงดูดผู้อ่านในแง่ของราคา แถมยังแชร์ข่าวให้คนในครอบครัวได้แบบไม่ถูกคิดเงินเพิ่ม

หากมองในลักษณะนี้  Apple News Plus ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มข่าวแบบเหมาจ่ายรายเดือน ที่อาจทำให้เกิดการเปิดแพลตฟอร์มแบบเดียวกันนี้ขึ้นมาอีก เหมือนกับที่หลายบริษัทเริ่มเข้ามาทำธุรกิจสตรีมมิ่งแข่งกับ Netflix มากขึ้นแล้ว

 

อย่างไรก็ดี ผลตอบรับจากแวดวง หนังสือพิมพ์ นั้นกลับออกมา เย็นชา กว่าที่คาด เพราะสามารถดึงดูดหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ชื่อดังที่นำมาพูดออกสื่อได้เพียง 2 ฉบับ คือ  WSJ และ L.A.Times และทำให้หนังสือพิมพ์แทบจะไม่ถูกชูขึ้นมาขายเลยด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับนิตยสาร สวนทางกับชื่อแพลตฟอร์มที่ใช้

แวดวงสื่อและหนังสือพิมพ์ในสหรัฐส่วนใหญ่ต่างมองว่า  Apple News Plus ไม่ได้มาช่วยหนังสือพิมพ์ แต่กลับจะยิ่งบ่อนทำลายธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่กำลังดิ้นรนปรับตัวในยุคดิจิทัลกันอยู่ เพราะนอกจากจะไม่มีอะไรรับประกันว่าจะทำให้มี Traffic และรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องถูกหักค่าหัวคิวไป 50% จากรายงานข่าวที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ และที่สำคัญก็คือ หนังสือพิมพ์ก็จะไม่ได้รับการแบ่งปัน Data จาก Apple ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปวิเคราะห์หา Insight นำไปพัฒนาต่อยอดหนังสือพิมพ์เองด้วย

เว็บไซต์เท็คครันช์ ระบุว่า สิ่งที่จะทำให้หนังสือพิมพ์ประสบความสำเร็จก็คือ การได้รับความสนใจ รายได้ และดาต้า แต่ Apple News Plus จะได้ทั้ง 3 สิ่งนี้ไปแทน หนังสือพิมพ์จะไม่ได้ข้อมูลอีเมลผู้อ่านเพื่อสอบถามความเห็นหรือข้อมูลทางการตลาด จะไม่ได้ข้อมูล Cookies สำหรับการทำโฆษณาแบบเจาะจง หรือทำเนื้อหาแบบเจาะจงผู้อ่าน และไม่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิตเพื่อนำไปพัฒนาเรื่องช่องทางการขายต่อ

เหล่านี้เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่หนังสือพิมพ์รายใหญ่ เช่น The New York Times (NYT) และ Washington Post (Wapo) ปฏิเสธที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Apple โดยมาร์ก ทอมป์สัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ NYT ระบุว่า การที่แพลตฟอร์มเต็มไปด้วยบุฟเฟต์ข่าวจากหลายแห่งนั้นทำให้ยากที่ผู้บริโภคจะรู้ได้ว่ากำลังอ่านข่าวจากสำนักไหนอยู่ ขณะที่โฆษกของ Wapo ให้เหตุผลว่า บริษัทกำลังมุ่งโฟกัสที่ฐานสมาชิกของหนังสือพิมพ์ตนเองเป็นหลัก และไม่สนใจข้อเสนอแพลตฟอร์มรวมดังกล่าว

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ยังลังเลก็คือ การได้รับบทเรียนที่ยังเป็นแผลสดมาจาก Facebook โดยในครั้งนั้นสื่อทั่วโลกต่างคาดหวังว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันดับ 1 ของโลกจะช่วยกระตุ้นทราฟฟิก และนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในแง่โฆษณาและยอดสมาชิก ก่อนที่ในอีกหลายปีต่อมาจะต้องสะดุ้งตื่นขึ้นจากความฝันมาพบกับความจริงว่า Facebook  ไม่ใช่ฮีโร่ ทราฟฟิกหรือยอดการเข้าถึงคอนเทนต์ไม่ได้แปรเป็นตัวเงิน หรือรายได้อย่างที่คาดหวังเสมอไป แม้ Facebook จะพยายามออกฟีเจอร์ใหม่ เช่น Instant Article มารองรับข่าวโดยตรงก็ตาม ในทางตรงกันข้าม โฆษณาออนไลน์กลับยังคงถูกผูกขาดอยู่กับรายใหญ่เพียงแค่ Facebook และ Google

 

เบื้องต้นนั้น Apple News Plus สามารถดึงดูดยอดสมาชิกได้มากกว่า 2 แสนราย ภายใน 48 ชั่วโมงแรกของการเปิดตัว โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นแรงดึงดูดจากการเปิดให้ทดลองใช้ฟรี 30 วัน แต่หลังจากนั้น จะเป็นบทพิสูจน์ของจริงว่า แพลตฟอร์มข่าวที่ยังไม่ได้ความเชื่อใจมากพอจากคนทำข่าว จะกลายเป็นอนาคตใหม่ของสื่อหรือจะเป็นอีกหนึ่ง Disruptor ที่เข่ามาเขย่ารูปแบบธุรกิจข่าวหนังสือพิมพ์อีกครั้งหลังจากนี้