เปิดใจนายกสมาคมนักข่าวคนใหม่ เดินหน้า 3 เป้าหมาย สร้างความเข้มแข็งวงการสื่อ ​

เปิดใจนายกสมาคมนักข่าวคนใหม่

เดินหน้า 3 เป้าหมาย สร้างความเข้มแข็งวงการสื่อ ​

ในยุคนี้ที่สื่อมวลชน​ถูกท้าทายด้วยแรงกดดันจากหลาด้าน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นับเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะร่วมผลักดันให้วงการสื่อสารมวลชนก้าวทันความเปลี่ยนแปลง พร้อมรักษาคุณภาพและมาตรฐานเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะเป็นเป้าหมายสำคัญ

 

นายมงคล บางประภา ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อดีตเลขาธิการสมาคม ซึ่งปัจจุบันได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบันนี้ ว่า ​มองย้อนหลังไปสองปีกระแสของสื่อโซเชียลเข้ามาแย่งเม็ดเงินโฆษณา สร้างความหวั่นวิตกกับวงการสื่อ​ จาก “เผาหลอก” กลายเป็น “เผาจริง” สื่อหลายสำนักยุติบทบาท บางสำนักเปลี่ยนสภาพจากสื่อสิ่ง​พิมพ์เป็นสื่อออนไลน์  ขณะที่​ทีวีก็ปรับเป็นทีวีออนไลน์มากขึ้น

“แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่การล้มหายของหัวหนังสือหรือหัวสำนัก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการค่อยๆ ลดไปของการทำหน้าที่สนับสนุนของมูลข่าวสารให้กับสังคมเราพบว่าถ้าเราจะวัดสัดส่วนจริงๆ ของข่าวสารล้วนๆ กับการเล่าข่าวหรือแสดงความคิดเห็น อย่างแรกลดจำนวนลงไปอย่างน่าเป็นห่วงทีเดียว”​

นายกสมาคมนักข่าวฯ​ มองว่า ส่วนหนึ่ง​อาจเป็นผลพวงที่มาจากเม็ดเงินโฆษณาที่หายไป​และส่วนที่สอง องค์กรสื่อยงัปรับตัวไม่ถูก หันไปแข่งขันกับสื่อโซเชียลและละทิ้งจุดเด่นของตัวเอง คือการแสวงหาข้อมูลในเชิงที่เจาะลึกและในฐานะองค์กรสื่อที่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวที่ลึกกว่า กลับทิ้งความได้เปรียบตรงนี้ อาจจะด้วยเหตุผล เมื่อเม็ดเงินโฆษณาลดลงการลงทุนเรื่องบุคลากร การลงทุนเรื่องของการแสวงหาข่าว ก็กระทบไปด้วย อันนี้คือปัญหาหลังของสถานการณ์สื่อในเวลานี้

ในฐานะนายกสมาคมนักข่าวฯ สิ่งที่สมาคมสื่อควรจะผลักดันเป็นหลักคือ 1. การคาดหวังว่าจะสามารถทำให้สังคม ได้เริ่มเห็นความสำคัญของข่าวสาร มากกว่าความคิดเห็น เพราะจากที่มีการถามหาว่าเดี๋ยวนี้หาข่าวสารที่น่าเชื่อถือได้ยากขึ้น

​        2. ทำให้เกิดการตระหนัก สร้างการรู้เท่าทันของผู้บริโภคสื่อ เมื่อผู้บริโภคสื่อรู้เท่าทันว่าสื่อบางสื่อไม่อาจเป็นสื่อ  ไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเลย เพียงแค่มุ่งเรื่องธุรกิจเหรือเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง

“ที่ผ่านมาสังคมยังเข้าใจและเหมารวมไปว่าเป็นสื่อสารมวลชนเกิดปัญหา ก็วิพากษ์รวมว่าเป็นสื่อสารมวลชน ทั้งที่เป็นแค่ผู้ใช้สื่อเพื่อผลประโยชน์​ส่วนตน ส่วนบุคคล หรือส่วนองค์กรเท่านั้น ตรงนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องแยกแยะ ให้ผู้บริโภคสื่อได้มองเห็นชัดเจน ในความแตกต่างของสื่อสารมวลชนที่จะต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายและจรรยาบรรณ​ จรรยาวิชาชีพพร้อมกัน”​

นอกจากนี้​จะมีความชัดเจนเรื่องตัวองค์กรที่สามารถมีความรับผิดชอบทางนิตินัยได้ มีกองกบรรณาธิการมีทั้งตั้งตัวเอง มีเว็บไซต์ตัวเอง กรณีสื่อมวลชนออนไลน์​มีกาจดทะเบียนนิติกรรมทั้งหลาย พูดง่ายๆ ถ้าไม่รับผิดชอบต่อข้อมูลที่เสนอไป เกิดความผิดพลาดสามรถถูกฟ้องร้องได้แตกต่างจากสื่อออนไลน์โดยทั่วไป ที่ถ้ามีการเอาผิดก็จะปิดหนี ไปเปิดในชื่ออื่น

3.หวังว่าจะผลักดันให้ธุรกิจโฆษณาที่จะเป็นนำเม็ดเงินโฆษณาไปเลือกออกสื่อได้รู้เท่าทันเช่นเดียวกันว่า ถ้าหากเขาไปเลือกลงโฆษณากับสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ สื่อเลือกข้าง ก็จะได้ไม่เท่ากับเสีย ​เช่นกรณีไปลงโฆษณากับสื่อที่ออกข่าวลวง ข่าวปลอม เฟคนิวส์ บ่อยๆ ก็จะกระทบกับภาพลักษณ์สินค้าของเขา คนก็จะแอนตี้สินค้าเขา หรือการเอาเงินไปลงโฆษณากับสื่อเลือกข้าง สิ่งที่ได้ก็จะไม่แมสอย่างที่เขาต้องการอาจได้ฮาล์ฟแมส อีกครึ่งหนึ่งเขาแอนตี้สินค้าคุณ นั่นคือสิ่งที่ไม่คุ้มค่า

“นี่คือเทรนด์ที่สังคมย้อนกลับมาถามหาสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารโดยรอบด้านครบถ้วน และมีการลงทุนเพื่อแสวงหาความถูกต้องในมิติลึกมากขึ้น มีการทำข่าวเจาะ ในต่างประทศเริ่มมีเทรนด์เหล่านี้กลับมา ในฐานะของสมาคมฯอยากมีส่วนผลักดันตรงนี้ ซึ่งหากทำสามเรื่องนี้ได้ ก็จะช่วยพยุงวงการให้แข็งแรงต่อไปได้”

นอกเหนือจากภาระการทำหน้าที่ที่ทำอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือเรื่องของ สิทธิ เสรีภาพสื่อมวลชน สวัสดิภาพ สวัสดิการสมาชิก ในส่วนของกิจกรรมที่สืบเนื่องจากกรรมการบริารชุดก่อนหน้านี้ ในฐานะที่เป็นเลขาธิการสมาคมมาก่อนหน้านี้ 3 ปี เห็นว่ากิจกรรมทุกอย่างค่อนข้างลงตัว มีการส่งไม้ต่อของกรรมการแต่ละอนุกรรมการแต่ละชุดในการทำโครงการที่มีไฟเข้มแข็งบางชุดอย่างอนุฯวิชาการมีการสลับเข้ามาระหว่างอนุกรรมการ อุปายกฯ​กลับมาช่วยอนุกรรมการ  ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะมีความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรม

อีกส่วน​หนึ่งที่มุ่งเน้นเป็นพิเศษคือการพัฒนาประสิทธิภาพของคนในวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะการอบรม Data Journalism ซึ่งเป็นเทรนด์การกอบรมสื่อในอนาคต เพ่ิมมิติเชิงลึกในการแสวงหาข้อมูลสอดรับกับ 3 ข้อที่พูดไว้ข้างต้น ​

 

นายกสมาคมนักข่าว ระบุด้วยว่า ตอนนี้กำลังมีการก่อตั้งชมรมผู้สื่อข่าวเพื่อสังคม โดยหวังว่าจะได้รวบรวมบรรดานักข่าวที่ตกงาน ​คนที่มีความสามารถแต่ละด้านไว้เผื่อไปเจอกับบุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ที่่ต้องการเอาท์ซอร์ส บุคลากรที่มีความสามารถ ในวิชาชีพสื่อไม่ว่าจะเป็นการเขียนข่าว ถ่ายภาพ อินโฟกราฟฟิค เขียนสปีช ซึ่งหวังว่าจะช่วยสร้างงานให้กับนักข่าวตกงานสามารถพยุง ให้เขามีอีกช่องทางของรายได้​ และย้อนกลับวิชาชีพสื่อโดยไม่สูญหายไปจากวงการ​

ในประเด็นสำคัญอย่างเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน” นายมงคล ​อธิบายว่า  สังคมสับสนระหว่างการแยกสื่อมวลชน กับการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ส่วนตนไม่ออก ​ซึ่ง

​จะไปเพิ่มแรงผลักดันกับภาครัฐที่อยากสร้างกฎเกณฑ์ทั้งหลายมาควบคุมสื่อ นี่คือสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ต้องทำให้ชัดเจนว่า เสรีภาพของสื่อสารมวลชน เสรีภาพในการสื่อสารส่วนบุคคล เราสนับสนุน แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ

“ไม่ใช่คุณเรียกร้องแต่เสรีภาพ แล้วอาศัยเสรีภาพนั้น ไปสร้างความเสียหายกับสังคม อย่างนั้นเราไม่สนับสนุน เมื่อเรามีความชัดเจนนี้ให้กับสังคม เราจึงมีกำลัง และหวังว่าจะได้แรงหนุนจากสังคมในการป้องกันสื่อไม่ให้ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพโดยการออกกฎหมายด้วย​​ เพราะตราบใดที่สังคมตระหนักว่า สิทธิเสรีภาพสื่อนำมาซึ่งการปกป้องสิทธิในการรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนแล้ว  สิทธิเสรีภาพของสื่อจึงมีคุณค่าที่ควรปกป้อง” นายมงคลกล่าว

สำหรับบรรดากฎหมายหลายฉบับที่คาบเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่รัฐบาลกำลังจะออกมานั้น ​ทางด้านอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ มีทีมงานติดตามอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าเรายังให้เความสำคัญติดตามความเคลื่อนไหว  ขณะที่กฎหมายหลายฉบับยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะผลักดันออกมารูปแบบไหน ซึ่งปลายรัฐบาลนี้มีแนวโน้มที่จะออกกฎหมายไม่ทัน แต่ก็หวังว่าจะไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ผลักดันกฎหมายออกมา

ดังนั้น คิดว่าเมื่อไปถึงรัฐบาลหลังเลือกตั้ง การพิจารณากฎหมายต่างๆ จะไม่ง่ายเหมือนอเดิมเพราะมีฝ่ายค้านคอยทำหน้าที่ร่วมตรวจสอบ ​เราก็จะมีแนวร่วมมากขึ้นในการป้องกันการถูกคุกคาม เพราะแม้แต่พรรคการเมืองก็ตระหนักรู้่ว่าเมื่อสื่อถูกคุกคามก็จะเป็นโอกาสของการสืบทอดอำนาจนิยม ​​

ส่วนประเด็นการตรวจสอบกันเองของการทำหน้าที่สื่อนั้น นายมงคล กล่าวว่า เรื่องนี้สมาคมนักข่าวทำได้เพียงแค่สมาชิกซึ่งเป็นส่วนของบุคคลไม่ใช่องค์กร โดยสมาชิกที่เป็นส่วนขององค์กรจะเป็นส่วนของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ซึ่งในส่วนที่ไปเป็นกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ก็จะมีการกระตุ้นทุกครั้งที่มีการพิจารณาประเด็นการตรวจสอบกันเอง ให้เกิดความจริงจังในการปฏิบัติให้มีรูปธรรมชัดเจน ​

นายกสมาคมนักข่าวฯ มองว่า ในส่วนของนักข่าวสูงอายุ ส่วนตัวอยากให้พื้นที่บทบาทกับผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ ทั้งจุลสารรดำเนิน หรือหนังสือประจำปี ​ให้มีการถ่ายทอดบทบาทประสบการณ์ของท่านทั้งหลายเหล่านี้ หรือช่วงวิกฤติสื่อ การปฏิวัติ การคุมคามสื่อ เพื่อให้ข้อมูลในอดีต มาเป็นกระจกสะท้อนปัจจุบันได้ด้วย ​นอกเหนือไปจากกิจกรรมชมรมผู้สื่อข่าวสูงอายุที่จะเสนอเข้ามาอีกที

ในแง่การมีส่วนร่วมของนักข่าวในพื้นที่ นายมงคล กล่าวว่า อาจต้องรอฟังฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ว่ามีโครงการอะไรออกมาบ้าง  ซึ่งเป้าหมายของสมาคมแล้ว นักข่าวไม่ว่าสายไหน ยินดีต้อนับอยู่แล้ว สิ่งที่อยากต้อนรับมากขึ้นคือนักข่าวออนไลน์ ​ปกติเรามีเกณฑ์ในระเบียบบริหารสมาคมซึ่งแก้ไขเมื่อ ปี 2560 ว่าสำหรับสำนักข่าวออนไลน์จะต้องมี มีเว็บไซต์ตัวเอง จดทะเบียน ชัดเจน มีการนำเสนอข่าวสารเป็นปกติ เราอยากได้นักข่าวกลุ่มนี้ซึ่งอนาคตจะเป็นกระแสหลัก เข้ามาร่วมกับสมาคมมากขึ้น ในวันหนึ่งข้างหน้า หนังสือพิมพ์แปลงสภาพ

ต่อไปอาจมีการแก้ไขระเบียบบริหารชุดต่อๆไปอีกหลายๆรุ่น อาจต้องเปลี่ยนแปลงให้นักข่าวสังกัดออนไลน์​​ทีวีวิทยุมาเป็นกรรมการบริหารสาคมได้ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของสมาคม ​แต่เบื้องต้น​ได้เชิญชวนนักข่าวออนไลน์ สำนักข่าวออนไลน์เข้ามาร่วมกับสมาคมนักข่าวเยอะๆ​

​“เราอยากเห็นความร่วมมือความเข้าใจ เสียงวิพากษ์วิจารณ์เราเคยได้ยินแต่เมื่อคุยกับผู้วิพากษ์วิจารณ์แล้วก็มักจะพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า​ผู้วิจารณ์ไม่ได้เข้ามาสัมผัส จริง ส่วนใหญ่ฟังกันเอง วิพากษ์วิจารณ์กันเอง ทั้งที่สมาคมเปิดรับ  ในการรับสมาชิกใหม่ทุกครั้งผมในฐานะเลขาฯ ก็จะบอกสมาชิกว่าอยากฟังกาารประชุมให้มานั่งฟังได้เลย เรายินดีให้มาสังเกตการ์ได้ประชุมลับจริงมีไม่กี่ครั้ง​ ​เพราะฉะนั้น ถ้าอยากวิจารณ์ไม่เป็นไร ขอให้เข้ามาฟัง แล้วค่อยวิจารณ์ ทำความรู้จัก หรือที่คาดหวังมากที่สุดคือเข้ามาร่วมงาน ถ้าเข้ามาร่วมจัดไม่ได้ ก็เข้ามาร่วมกิจกรรมที่เราเปิดให้สัมผัสก่อน เราพร้อมรับคำแนะนำว่าอยากให้ปรับยังไง” นายมงคลกล่าวทิ้งท้าย