เปิดเบื้องหลัง
สื่อออนไลน์ 4 สายพันธุ์
ทักษะอะไรสำคัญที่สุด (2)
ขณะที่ “ปาล์ม” ภานุมาศ สงวนวงษ์ ผู้ก่อตั้ง Thai news pix หรือ TNP สำนักข่าวที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและประเด็นข่าว ด้วยภาพถ่าย วีดีโอ และสื่อมัลติมีเดีย ในรูปแบบ News Photo Provider บอกว่า ทักษะที่สำคัญของคนทำงานสื่อออนไลน์ ด้านภาพ และวีดีโอ คือ การสื่อสาร 5 ด้าน ได้แก่ 1. สื่อสารด้วยภาพนิ่ง ภาพต้องเล่าเรื่องเป็นข่าวได้ และนำมาใช้ประกอบการนำเสนอได้ มีประเด็น มีองค์ประกอบของภาพ และมีคุณภาพ 2. สื่อสารด้วยภาพเคลื่อนไหว หรือ การถ่ายวิดีโอ ซึ่งควบรวม ถึงการตัดต่อ เพื่อการนำเสนอด้วย 3.งานเขียน ช่างภาพต้องเขียนสคริปต์ หาข้อมูลประกอบภาพได้ด้วย แม้ความลึกอาจจะไม่เท่ากับคนที่เป็นนักข่าวโดยตรง แต่การฝึกการจับประเด็นในการเขียน เป็นสิ่งจำเป็น เพราะบางครั้งไปคนเดียวไม่มีนักข่าว ก็จะต้องเขียนด้วย 4. ภาษาอังกฤษ ต้องสามารถสื่อสารกับลูกค้า แปลงานได้ เขียนงานเป็นภาษาอังกฤษได้ 5 การสื่อสารด้านธุรกิจ ต้องเข้าใจลูกค้า เข้าใจธุรกิจในวงการสื่อ เพื่อตอบสนองได้ตรงเป้าหมาย ยิ่งเป็นบริษัทแบบสตาร์ทอัพ ทำกันเองไม่กี่คน ทุกคนต้องทำได้หลากหลาย และต้องรู้การทำงานด้านธุรกิจเบื้องต้น ตั้งแต่การขายงาน การทำสัญญาเอกสาร ธุรกิจจะนำไปสู่เรื่องของการผลิตชิ้นงาน การแข่งขัน การวางแผนงาน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
“ทั้ง 5 ทักษะนี้ ถ้ามีครบ มันหมายถึงโอกาสที่จะตามมา โดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษ สำคัญมากในการทำสื่อออนไลน์ยุคนี้ จะทำให้เรามีโอกาสที่จะมีรายได้มากขึ้น ขายงานให้กับเอเจนซี่ต่างประเทศหรืองานโกอินเตอร์ได้ เพราะด้วยพื้นฐานแล้ว สกิลของการเป็นช่างภาพข่าวไทยกับฝรั่ง ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่จุดอ่อนของช่างภาพไทยที่ไม่สามารถก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์ได้ เพราะพูดหรือเขียนคำบรรยายภาษาอังกฤษไม่ได้ มันตัดโอกาสที่จะทำงานกับองค์กรระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งการคุยเพื่อรับงานตั้งแต่แรก ถ้าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ไม่รู้จะรับงานยังไง ภาษาถือเป็นประตูเปิดโอกาส และจะขยายฐานความรู้เราได้ เพราะสกิลแต่ละอย่างมันถูกพัฒนามาจากต่างประเทศ ถ้าเรารู้ภาษา เราก็สามารถไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆเพิ่มได้”
ส่วนงานข่าวชิ้นโบว์แดงที่สร้างชื่อและทำให้ TNP เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น คืองาน “ถ้ำหลวง” ซึ่งเบื้องหลังมาจากการประเมินสถานการณ์ที่ถูกต้อง
“พอทราบว่ามีการส่งหน่วยซีลลงพื้นที่ เราก็ตัดสินใจส่งคนไป เพราะประเมินว่าข่าวนี้เริ่มมีคุณค่าของข่าว มีความหนักและใหญ่ของเคส ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ถูก เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีสื่อใหญ่ลงไปเท่าไหร่ โอกาสในการทำงานของเราจึงสูง ตอนนั้นยังสามารถเข้าไปพื้นที่ชั้นในของถ้ำได้ ทำให้เราได้ภาพที่คนอื่นยังไม่ได้ และสามารถขายภาพให้เอเจนซี่ต่างประเทศได้หลายเจ้า จุดที่เราคิดว่าประสบความสำเร็จในงานชิ้นนี้ มันไม่ใช่แค่ตัวเลขจากการขายภาพ แต่มันเป็นการทำให้งานภาพของ TNP มีคุณค่าในสายตาของลูกค้า โดยเฉพาะในระดับโลก เขาเริ่มเห็นว่าเราเป็น photo provider เป็นเอเจนซี่ ที่เขาสามารถมาซื้อภาพจากเราหรือติดต่อเราเพื่อจ้างงานได้ มันทำให้ตัวตนของเรามีความชัดเจนมากขึ้นและสร้างโอกาสที่ต่อเนื่องมาจากงานนั้น จากการที่เราอธิบายตัวเราเอง ด้วยผลงานที่ออกมา”
แต่ในความท้าทายของงานสื่อออนไลน์ด้านภาพ ก็ยังมีข้อดีข้อเสียที่ต้องปรับตัวเช่นกัน
“ ข้อดีของการทำงานออนไลน์ แบบ startup คือ ความคล่องตัว ยืดหยุ่นได้มากกว่า ไม่ต้องเร่งนำเสนอ เลือกเฉพาะงานที่จะขายได้ เป็นข่าวที่น่าสนใจ หรือไปต่อยอดอะไรได้ ต่างกับสื่อทั่วไปที่จะต้องมีข่าวตลอดเวลา ตัวแพลตฟอร์มที่เราทำอยู่มันอยู่บน Facebook เป็นหลัก ส่วนในเว็บไซต์ จะเป็นลักษณะคล้ายๆ Stock photo มากกว่า งานที่ออกมา จึงมีความหลากหลาย
ข้อเสีย คือด้านเงินทุน มันเป็นจุดอ่อนปกติของการทำธุรกิจขนาดเล็ก บางครั้งต้องควักเนื้อ เพราะงานภาพมีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์สูง และระบบงานที่มีอิสระมาก ใช้การพูดคุยกันแบบพี่แบบน้อง เพราะเรามีทีมแค่ 4 คน ในอีกมุมหนึ่งมันก็ทำให้งานไม่เป็นระบบ เพราะทุกคนคือช่างภาพ ไม่มีคนรับผิดชอบงานด้านอื่นๆที่ชัดเจน ทุกอย่างต้องอาศัยใจในการทำงานเหมือนกัน แต่จุดอ่อนเหล่านี้ สามารถปรับแก้พัฒนาได้เมื่อเรามีผลงาน มันจะค่อยๆเข้ามาถมให้ตื้นขึ้น เห็นได้จาก 2 ปีที่ผ่านมา หลายๆส่วนก็ดีขึ้นตามลำดับ การทำสื่อออนไลน์อิสระ มีหลายๆอย่างที่เราต้องเรียนรู้แล้วก็พัฒนา”
อ่านต่อโปรดติดตาม