เปิดเบื้องหลัง สื่อออนไลน์ 4 สายพันธุ์ ทักษะอะไรสำคัญที่สุด (3)

 

เปิดเบื้องหลัง

สื่อออนไลน์ 4 สายพันธุ์

ทักษะอะไรสำคัญที่สุด (3)

 


 

ขณะที่ พริสม์ จิตเป็นธม ตำแหน่ง Video journalist สำนักข่าวบีบีซีไทย  และอดีต Digital journalist ที่ Workpoint จากประสบการณ์ทำข่าวออนไลน์ด้าน Digital Content 2 ปี  เขาบอกว่าในเนื้องานไม่แตกต่างกันเท่าไหร่  แต่งาน บีบีซีไทย จะเน้นวีดีโอเป็นหลักมากกว่า และทักษะที่คนทำข่าวออนไลน์ในสายวิดีโอ จะต้องมี 5 อย่าง คือ

“ อย่างแรกเลย คือ ความคิดสร้างสรรค์ เพราะออนไลน์ทุกวันนี้ เราไม่สามารถเล่าเรื่องแบบเดิมได้แล้ว คนต้องการที่จะเห็นลูกเล่นใหม่ๆจากการเล่าเรื่องของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาพใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ มิติใหม่ในการสัมภาษณ์แหล่งข่าวหรือการคิดประเด็น  การนำเสนอให้ดูใกล้ตัวขึ้น เล่าเรื่องยากๆให้สนุก เข้าใจง่าย ไม่เครียดเกินไป  ซึ่งผมมีวิธีหาไอเดียด้วยการดู Reference ต่างประเทศเยอะๆ  นำมาปรับใช้ จะดึงจุดไหนของเรื่องมาเล่า จะเปิดเรื่องอย่างไร  การทำคลิปความยาวไม่ควรจะเกิน 4 นาที  เพราะค่าเฉลี่ยของตัวคลิป คนแทบจะดูไม่ถึง 30 วินาที  สิ่งสำคัญต้องดึงคนให้ได้ตั้งแต่ใน 5 วินาทีแรกของคลิป ซึ่งผมจะเน้นการทำให้คนเข้าใจเร็วที่สุดว่าเรากำลังจะพูดเรื่องนี้  ถ้าคุณสนใจคุณต้องติดตามมาฟังกับเรา อันนี้เป็นเทคนิคที่ง่ายในการสื่อสาร

 

2. จรรยาบรรณ ความถูกต้อง คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม เพราะสิ่งที่เราทำมันเป็นการเผยแพร่เนื้อหาข่าวสารสู่สาธารณะเหมือนสื่อมวลชนทั่วไป สิ่งที่เราจะพูดออกไป เป็นข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน จะส่งผลเปลี่ยนแปลง  ผลักดันหรือสะท้อนอะไรได้บ้าง  เราควรจะตั้งเป็นวัตถุประสงค์ไว้ตั้งแต่เริ่มทำงาน  มีเป้าหมายว่างานของเรา จะต้องทำให้คนฉุกคิดในเรื่องนี้ได้ เพราะมันจะทำให้ชิ้นงานของเรามีความน่าสนใจและมีคุณค่า 3. เรื่องของเทคนิค 'Multi-Skills' จำเป็นมาก  ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ การตัดต่อ การทำกราฟฟิก ดูเสียง ดูแสง โลกการทำงานตอนนี้เราไม่ควรจะมีแค่สกิลเดียวแล้ว การมีทักษะที่ทำได้หลายอย่าง โดยเฉพาะด้านงาน Production ควรจะเป็นสกิลที่อยู่ในนักข่าว 1 คน  มันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเราเองด้วย  4.  มนุษยสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก  เพราะเราต้องประสานกับคน  ติดต่อสัมภาษณ์  คุยตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดาไปจนถึงระดับอธิการ เราต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี รู้วิธีการสื่อสาร การเข้าหา จะตั้งคำถามอย่างไรให้แหลมคม  เพราะคำถามที่จะใช้ถามชาวบ้านกับรัฐมนตรีก็ไม่เหมือนกัน  ต้องรู้วิธีการดึงให้เขาอยากเล่า รู้วิธีทำให้เขาอธิบายอะไรออกมาง่ายๆได้  และอย่างที่ 5 สุดท้ายที่ควรมี คือ ความอยากรู้รอบด้าน คนเราไม่จำเป็นที่ต้องมีความรู้รอบด้าน แต่เราต้องมีความ “อยากรู้” รอบด้าน มันจะทำให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะหาเรื่องราวที่เราจะเล่าให้ครบและครอบคลุมยิ่งขึ้น”

ส่วนงานชิ้นโบว์แดงที่ทำออกมาแล้วได้รับความสนใจและถือว่าประสบความสำเร็จมาก  คือ “ยาชุด” ซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวคน โดยเป็นผลงานตอนที่ทำอยู่ออนไลน์ ของ Workpoint ยอดวิวมากกว่า 10 ล้านครั้ง และยอดแชร์กว่า 2 แสนครั้ง

 

“มันเริ่มมาจากไปสัมภาษณ์หมอคนหนึ่ง  แล้วคุณหมอพูดถึงการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลของคนไทย ที่กินพารากันบ่อย เราแค่อยากทำประเด็นว่าเราไม่ควรกินยาเยอะเกินไป แต่พอสัมภาษณ์แล้วหมอก็พูดว่าชาวบ้านยังกินยาชุดกันอยู่  ร้านโชห่วยต่างจังหวัดยังมีขาย  คนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า ไปซื้อยามากินตอนเช้า ให้ขาหายปวดจะได้ยืนทำงานได้ทั้งวัน เราก็รู้สึกว่าเอ้ยประเด็นนี้น่าสนใจ  เราไม่เคยรู้ว่ามันยังมีแบบนี้ และมันผิดกฎหมายถ้าขายตามร้าน แม้แต่เภสัชขายเองก็ถือว่าผิดกฎหมาย เราก็บอกหมอว่าถ้าเจอเคสที่เป็นคนไข้จากยาชุด ติดต่อเรามาให้หน่อย เพื่อจะมาทำเรื่องนี้ต่อ หมอหายไป  2 อาทิตย์ แล้วติดต่อมาว่าได้เคสแล้ว เป็นคุณลุงคนหนึ่ง กระดูกสะโพกพัง เพราะการกินยาชุด แต่คุณลุงมองโลกในแง่ดีมาก และมีความตลกในการเล่าเรื่อง  มันเลยออกมาเหมือนการคุยกันมากกว่าสัมภาษณ์ทางการ และหมอที่ตรวจลุงก็วัยรุ่นและตลกมาก ในคลิปเราเลี่ยงการใช้คำวิทยาศาสตร์อธิบายน้อยที่สุด  จะเล่าแค่อันตรายและข้อกฎหมาย ไม่เล่าอะไรที่เข้าใจยาก หลังงานออกไป มีคนพูดถึงกันมาก จนถึงตอนนี้งานผ่านไปปีกว่าๆก็ยังมีการแชร์และส่งต่อกันอยู่ รวมทั้งมีเพจหมอ เพจเภสัช นำคลิปของเราไปบอกต่อกับคนไข้  มันตอบโจทย์เป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ คือให้เกิดการฉุกคิดอันตรายของยาชุด”

“ข้อดีของการทำงานแบบวีดีโอ journalist คือเราเห็น effect ของงานเราได้ชัดเจน  เราสามารถเห็นตัวชี้วัดได้เลยว่าคนที่เข้ามาคอมเมนท์กับเรา เขาแชร์และอยากรู้อะไรต่อ เพราะมันจะมี comment ที่เป็นประเด็นให้เราสามารถทำต่อ  และสามารถเอามาปรับปรุงงานของเราได้  ส่วนข้อเสียของงานนี้ คือ การแข่งขันกันที่ความเร็ว เมื่อแข่งความเร็ว ตัวข้อมูลที่นำเสนอ มันก็อาจจะลึกไม่พอ และการที่เราออกไปทำงานคนเดียว ถ่ายเอง สัมภาษณ์เอง  ความเป็น Professional หน้างาน อาจจะดูมีน้อยลง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้มันดูมีเยอะขึ้น เพื่อให้แหล่งข่าวรู้สึกว่าเราทำได้จริงๆ  เคยมีแหล่งข่าว แซวกลับมา โห น้องทำคนเดียวเหรอ  กางขากล้องไป ชวนแหล่งข่าวคุยไป  เราต้องเตรียมความพร้อมเยอะขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง และองเก็บงานมาให้รอบด้าน  เพราะไปคนเดียวไม่มีคนมาเตือน  ต้องคิดตลอดว่าขาดอะไรอีกไหม ก็ถือเป็นการได้ปรับพัฒนาตัวเอง”

 

อ่านต่อโปรดติดตาม