เปิดเบื้องหลัง สื่อออนไลน์ 4 สายพันธุ์ ทักษะอะไรสำคัญที่สุด (4)

 

 

เปิดเบื้องหลัง 

สื่อออนไลน์ 4 สายพันธุ์ 

ทักษะอะไรสำคัญที่สุด (4)

 

ปิดท้ายที่ วิน สุรรังสรรค์ ตำแหน่ง Multimedia Journalist หรือที่เรียกว่า MJ ของ Voice Online เรียนทางด้านดนตรี แต่จับพลัดจับผลู มาทำงานด้านมัลติมีเดีย ในสไตล์แบคแพค มีหน้าที่คือต้องทำทั้งคิดประเด็น หาข่าว เขียนข่าว ถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ ทำกราฟฟิค และส่งข่าว รวมถึงเป็นโปรดิวเซอร์ควบคุมงาน คิดรูปแบบการนำเสนอ และดูแลด้านโปรดัคชั่น ทั้งหมดนี้อยู่ในตัวคนคนเดียว เพราะงานในส่วนของ MJ วอยซ์ ออนไลน์ จะไม่เน้นแค่การทำวิดีโอ แต่รวมถึงงานเขียน ภาพนิ่ง งานกราฟฟิคด้วย  ขึ้นอยู่กับการตีความว่าคอนเทนท์นั้นๆ ควรสื่อสารในฟอร์มแบบใด นอกจากนี้ยังมีงาน support ที่ต้องไปช่วยนักข่าวปกติทำ เช่น ถ่ายงาน หรือรับวัตถุดิบ มาดีไซน์การนำเสนอ  และยังมีรายการที่ต้องทำ เช่น ในส่วนของเขา ชื่อ คำผกากับการเมือง นำภาษาคำเมืองมาอธิบายกับการเมือง

 

“ผมคิดว่า 5 ทักษะที่คนทำสื่อออนไลน์ด้านมันติมีเดียควรมี อย่างแรก คือ ด้านการถ่ายภาพ ไม่ใช่แค่ถ่ายเป็น แต่เราต้องรู้ว่ากล้องทำงานยังไง เลนส์ทำงานอย่างไร เพราะมันจะเชื่อมโยงไปถึงทักษะที่ 2 คือ Pre-production กระบวนการเตรียมก่อนเริ่มถ่ายทำ การออกแบบการนำเสนอ ที่มันต้องคิดมาเป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่แรก ว่า Content นี้ เราหวังว่าจะไปได้เจออะไรและเราจะจับเอาจุดไหนมาใช้ในการออกแบบการนำเสนอตั้งแต่แรก  ต้องใช้กล้องแบบไหน เลนส์แบบไหนมันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ บางอารมณ์เราสามารถทำจบได้ในสตูดิโอ เช่น เอาบุคคลมาพูดประเด็นนี้  เพื่อสื่อสาร ต้องรู้ว่าฉากแสง mood and Tone ของการถ่ายทำจะต้องเป็นอย่างไร ส่วนทักษะที่ 3 คือ Post Production หรือ กระบวนการทั้งหมดหลังถ่ายทำเสร็จแล้ว ตัดต่อ การทำสี วางวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งมันจะสอดคล้องมาตั้งแต่ทักษะที่ 2 ที่เป็นการออกแบบวางแผน และทักษะที่ 4 ทักษะของการเป็นนักข่าว จับประเด็น สัมภาษณ์ เขียนข่าว และ 5 ทักษะเชิงบรรณาธิการในตัวเอง ต้องสามารถประเมินเรื่องของช่วงเวลาในการเชื่อมโยง ในการเล่นประเด็นได้  ทั้งงานที่ทำไปแล้วและกำลังจะทำอยู่ เพราะการนำเสนองานออกไป  มันต้องมีจังหวะของเวลาที่จะเล่นด้วย  กาละได้ไหม เทศะได้ไหม  บางครั้งมันอาจมีสถานการณ์เกิดขึ้นด่วนๆ และ Content นั้นอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความเข้าใจของสาธารณะ  เราก็ต้องหยุดไว้ก่อนต้องเข้าใจสถานการณ์ของข่าวในปัจจุบันด้วย ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ในส่วนของเราแล้วจบ”

วินบอกว่าความท้าทายของการทำงาน MJ คือการคิดเทคนิคการเล่าเรื่องให้สนุก  เพราะทุกคนย่อมมีประสบการณ์ของความขำในมุมของตัวเอง  จึงต้องคิดให้ได้ว่าเรื่องนี้ ควรจะเป็นยังไง จะใส่มุกอะไร หรือไม่ใส่อะไร  ทุกวินาทีต้องมีเหตุผลในการนำเสนอออกไป เพื่อดึงคนให้ดูจนจบ แม้กระทั่งเพลงที่เลือกใช้ เหมือนเป็นการทดลอง  ต้องพยายามคาดการณ์  อาจจะถูกบ้างไม่ถูกบ้าง และไม่ใช่ว่าทุกชิ้นงาน จะประสบความสำเร็จหรือได้รับความนิยมไปทั้งหมด

ความยากในการทำงาน เขาบอกว่าสิ่งสำคัญ คือ ความคิดของตัวเอง  หลายคนอาจจะรู้สึกว่าการที่ไม่มีพื้นฐานทำสื่อออนไลน์มาก่อน จะทำให้ทำอะไรไม่ได้  แต่เขามองว่า ทุกคนต้องมองหาจุดดีของตัวเองให้เจอ และดึงมันมาใช้ให้เป็น  ส่วนทักษะด้านการเป็นนักข่าว และเชิงบรรณาธิการ เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่ม และอาศัยเวลา เพราะเป็นเรื่องของประสบการณ์


งานที่จัดว่าเป็นชิ้นโบว์แดงของตัวเอง ส่วนตัวผมคิดว่า มี 2 ชิ้น  ชิ้นแรก คือ ประเทศกูมี ที่ทำออกมาช่วงวันแรกๆเลยที่มีกระแส  อันนี้เป็นความภูมิใจและสนุกมาก ยอดวิวใกล้ล้าน แต่มันสุดขีดตรงที่เรารู้ว่าจะต้องทำสิ่งนี้ตอนห้าโมงเย็น  บก.สั่งมา ต้องได้ ทำทั้งคิดประเด็นคำถาม ออกแบบโปรดักชั่น ต้องใช้กล้องกี่ตัว  ไฟจะจัดยังไง วิธีเล่าจะเป็นยังไง ความยาวต้องเท่าไหร่  คิดแล้วก็ติดต่อแหล่งข่าวไปด้วย เริ่มถ่าย 2 ทุ่ม จนจบงาน 10 โมงอีกวัน  นั่งสัมภาษณ์กัน 3 คน  เลือกจัดแสงให้มันดูไม่เห็นหน้าชัดเจน เพราะตอนนั้น เราไม่รู้ว่าถ้างานออกไปจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเขาไหม  เป็นงานที่ไฟลุกมาก  โดยตัดสินใจว่าจะปล่อยมันยาวเต็มๆ 30 นาที เพราะตอนนั้นเหตุผลของศิลปินกลุ่มนี้ ยังไม่เคยถูกอธิบายอย่างชัดเจน  จึงต้องการสร้างความเข้าใจกันไปเลยในคลิปนั้นว่าเขาคิดอะไรอยู่ ซึ่งพองานออกไป คนดูรวมแล้วเกือบล้าน แสดงให้เห็นว่า งานออนไลน์ ถ้ามันโดน ต่อให้ยาว คนก็ดู


อีกชิ้นหนึ่งที่ประทับใจก็คือ อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชื่อโจทก์ว่า คนจะอดตายอยู่แล้ว มาจากการแถลงนโยบาย อ.ชัชชาติ พูดถึงความล้มเหลวทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เราคิดว่าข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจที่ อ.พูด มันทำให้คนเห็นภาพว่ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆกันแน่ เพราะที่ผ่านมาคนบอกเศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้  แต่มันมีอะไรที่เป็นข้อมูลแบบ fact   พอเราฟังข้อมูลตรงนี้ ก็เลยคิดว่า การที่อาจารย์ชัชชาติพูด กับสิ่งที่รัฐบาลพูดมาตลอด 4 ปีกว่าทุกสัปดาห์ อะไรมันอิมแพคกว่ากัน พอตัดออกมาเป็นคลิป 4 นาทีกว่า แล้วลองดูว่าคนจะเก็ทไหม ปรากฏว่าการสื่อสารมันก็ทำงาน  มีคนเข้ามาคอมเมนท์ว่าฟัง 4 ปีกว่าไม่ได้อะไรเลย แต่ฟัง 4 นาทีกว่า เห็นภาพอนาคต ”


“ถ้าถามถึงข้อดีของการทำ MJ  ผมมองว่ามันคือการย้อนกลับไปสู่การทำงานแบบ “สื่อปัญญาชน”   อาจจะไม่สามารถเป็นปัญญาชน ที่ดึงปรัชญาอะไรของตัวเองมาได้ขนาดนั้น แต่การทำสื่อ Multimedia มันทำให้เราสามารถออกแบบการสื่อสาร ตั้งแต่ต้นจนจบ มีพื้นที่ที่จะนำเสนอความคิด โยนประเด็นลงไปในสาธารณะได้มากกว่าการทำสื่อแบบเดิม  มันเป็นความสนุก และท้าทาย....ส่วนข้อเสีย  ก็อาจจะเป็นการที่ต้องทำหน้าที่ Support งานของผู้สื่อข่าวปกติด้วย เพราะบางทีงานของคนหนึ่ง ถ้าให้อีกคนหนึ่งไป support อาจจะทำให้เกิดการตีความ “ความคิด” ของเขาผิด แต่ในข้อเสียนี้ มันก็จะย้อนกลับไปที่ตรงจุดเริ่มว่า สุดท้ายแล้วนักข่าวทุกวันนี้ ควรจะมีทักษะมากกว่า 1 อย่าง เพื่อให้สามารถผลักดัน ความคิดของตนเอง ในฐานะปัญญาชนสาธารณะ โดยที่ตัวคุณเอง จะสามารถ support งาน ของตัวเองได้จนจบทุกขั้นตอน ด้วยความคิดของตัวเองได้เต็มที่ ”