สหภาพแรงงานผู้ช่วย“นักข่าว” ปกป้องสิทธิ-สวัสดิการ“เป็นธรรม”

 


 

 

สหภาพแรงงานผู้ช่วย“นักข่าว”

ปกป้องสิทธิ-สวัสดิการ“เป็นธรรม”

---ชุลีพร อร่ามเนตร ---

 

 


1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ ประเทศในแถบยุโรปจะนับว่า วันเมย์เดย์ (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ในหน้าเกษตรกรรม มีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงเพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้การปลูกพืชเป็นไปด้วยดี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมในหลายๆ แห่งได้ถือว่าวันนี้เป็นวันหยุดตามประเพณี เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์ต่างๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ปี 2433 ประเทศทางแถบตะวันตก ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงานสากล ทำให้ในหลายประเทศได้เริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแรงงานเป็นขึ้นครั้งแรก ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นกัน 1 พฤษภาคม เป็นวันหยุดของแรงงานเช่นกัน

ในวงการวิชาชีพสื่อ มีสหภาพแรงงานขององค์กรสื่อดูแล สิทธิ สวัสดิการ สวัสดิภาพแตกต่างกันออกไป อาทิ สหภาพแรงงานเครือเนชั่น  สหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และมีสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ทำหน้าที่ ดูแลสิทธิ สวัสดิการ สวัสดิภาพ ประโยชน์ที่จะได้รับ เราไปดูกันว่าแต่ละองค์กรเขามีความเป็นมากันอย่างไร รวมทั้งการทำหน้าที่ในปัจจุบัน

 


 

1.

“การดูแลสื่อในภาวะวิกฤตต้องอยู่บนข้อเท็จจริงถ้าองค์กรอยู่ได้ทุกคนอยู่ได้”สุวิทย์ มิ่งมล


เริ่มกันที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจ ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2553 ทำให้สหภาพสามารถดำเนินการได้ในหลายส่วน เป็นไปตามวัตถุประสงค์การก่อตั้งเพื่อดูแลสมาชิก หรือคนทำงาน ทั้งในเรื่องของสวัสดิการ สวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ให้เป็นไปตามผลประกอบการ และทำหน้าที่ประสาน ตรวจสอบฝ่ายบริหารอสมท. ให้เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ต่อคนทำงาน ให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน มีกฎระเบียบต่างๆ

สุวิทย์ มิ่งมล ประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าอสมท. เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นสื่อของรัฐ หลายรัฐบาลพยายามให้มีการนำเสนอข่าวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เป็นประโยชน์ต่อรัฐนั้นๆ สหภาพแรงงานฯ จะรักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ เกิดนโยบายที่จะไม่กระทบต่อการทำงานด้านสื่อ สวัสดิการ สวัสดิภาพ ความปลอดภัยของคนทำงาน ผู้สื่อข่าว นักข่าว และช่างภาพ ไม่มีคำว่าสีนั้นสีนี้ ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายใด แต่คงไว้ซึ่งการทำงานสื่อสารมวลชนตามจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพสื่ออย่างแท้จริง

ทำงานสหภาพมา 11 ปี ดำรงตำแหน่งประธานมาหลายครั้ง ซึ่งขณะนี้มีข้อตกลงกับฝ่ายบริหาร และตามพ.ร.บ.ทำให้มีคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ที่มีทั้งตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ทั้งบอร์ดอสมท. ฝ่ายบริหาร และฝ่ายพนักงานคือสหภาพ เพื่อนำเรื่องต่างๆเข้าสู่การประชุม หารือ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเดือนละครั้ง โดยการทำงานของคณะกรรมการกิจกรรมสัมพันธ์ ไม่มีปัญหาในการทำงาน เรื่องไหนที่มีเป็นปัญหาต่อพนักงานทางสหภาพก็จะเป็นสื่อกลางในการอธิบายทั้งทางด้านฝ่ายบริหารและพนักงาน

หน้าที่ของสหภาพแรงงานฯ อสมท. ไม่ใช่เพียงออกแถลงการณ์ ช่วยเหลือ รับฟังเรื่องต่างๆ เท่านั้น แต่เป็นเพื่อนสื่อ เป็นกลางในการทำประโยชน์ และรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของพนักงาน เพราะด้วยสภาพปัจจุบัน สื่อขาดทุน ฝ่ายบริหารได้ขอความร่วมมือต่างๆ ทำให้กฎระเบียบบางอย่าง เรื่องค่าล่วงเวลา ค่าต่างๆ อาจจะจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ไม่เต็มที่ เปลี่ยนรูปแบบการจ่าย ซึ่งทางพนักงานก็เข้าใจและเป็นไปตามความสมัครใจของพนักงาน

อนาคตจะเห็นได้ว่าเกิดวิกฤตสื่อต่างๆ แต่เชื่อว่าอสมท. ยังไม่ได้เอาใครออกเหมือนที่ผ่านมา เพราะรูปแบบการทำงาน การอยู่ร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร และพนักงาน จะเป็นไปในลักษณะพี่น้อง ซึ่งสหภาพจะทำหน้าที่ในการประสาน ชี้แจงให้ทั้งฝ่ายบริหาร และพนักงานเข้าใจตรงกัน และเห็นด้วยถึงมาตรการต่างๆ ทั้ง 2 ฝ่ายเจอกันครึ่งทาง เพราะถ้าองค์กรอยู่ได้ ทุกคนอยู่ได้ และการดำเนินการดูแลพนักงานในภาวะวิกฤตสื่อต้องอยู่บนข้อเท็จจริงมากกว่าถ้าองค์กรอยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ ตอนนี้พี่น้องสมาชิกของสหภาพ คนทำงานทุกคนยังอยู่สุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับบทบาทหน้าที่ของสหภาพแรงงานฯ อสมท. ไม่ว่าจะเป็นที่ผ่านมาไปจนถึงอนาคต สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า จะมุ่งเน้นดูแลสิทธิ สวัสดิภาพ สวัสดิการของสมาชิกและจะทำมากกว่ากฎหมายกำหนด โดยร่วมมือกับฝ่ายบริหารในการดำเนินการ มาตรฐานการต่างๆ ตามบทบาทหน้าที่ เพื่อให้องค์กรพ้นไปได้ วิกฤตสื่อ ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในอาชีพการทำงาน เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่าไม่มั่นคงเหมือนอดีต หลายคนอาจจะไม่ได้กินข้าวมากคำเหมือนอดีต แต่ก็ทำให้อยู่รอด

ฉะนั้น คนทำงานสื่อ นักสื่อสารมวลชนทุกคนต้องยอมรับในหลายๆ อย่างที่มีการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก คนทำสื่อต้องปรับให้ทัน ต้องสร้างเนื้อหาที่มีความสำคัญ มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน อย่าเน้นเพียงเนื้อหาฉาบฉวย เพราะต่อให้เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่เนื้อหามันดีก็จะทำให้คนสนใจอยู่ดี พี่น้องสื่อมวลชนต้องทำให้กระจ่าง แข่งขันกันด้วยเนื้อหาที่ดี

 

 


 

2.

”สหภาพแรงงาน เป็นตัวแทนพนักงานเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องต่างๆ”นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์

 

ขณะที่ นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ ประธานสหภาพแรงงานเครือเนชั่น กล่าวว่าสหภาพแรงงานเครือเนชั่น เกิดจากความพยายามรวมตัวกันของพนักงานบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จนเป็นผลสำเร็จ ในปี 2551 ซึ่งเดิมใช้ชื่อ “สหภาพแรงงานสื่อสารมวลชนไทย” เนื่องจากเนชั่นกรุ๊ป มีกิจการในเครือทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี ออนไลน์ โรงพิมพ์ ฯ จึงต้องจดทะเบียนในประเภทกิจการงานสำนักข่าว ซึ่งจะสามารถดูแลพนักงานได้ครอบคลุม

โดยแต่ก่อนจะมาเป็นสหภาพแรงงานเครือเนชั่น หรือ สหภาพเนชั่น บริษัทในเครือเนชั่นได้นั้น มีคณะกรรมการฝ่ายลูกจ้าง ทำหน้าที่ดูแลสิทธิและสวัสดิการให้พนักงานทั้งหมด ซึ่งในปีที่ก่อตั้งสหภาพฯ(2551) ได้มีกรณีผู้บริหารต้องการลดเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลง แต่ในที่สุดคณะกรรมการลูกจ้างกับกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ได้เคลื่อนไหวคัดค้านประเด็นนี้จนเป็นผลสำเร็จ

ทั้งนี้ ในจัดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกของสหภาพเนชั่น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ผู้ที่ได้รับเลือกจากพนักงานให้เป็นประธานสหภาพฯ คนแรก คือ เสด็จ บุนนาค บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์คมชัดลึก และมีคณะกรรมการ จากสื่อต่างๆ ในเครือ รวมกัน 7 คน ปัจจุบัน

สหภาพเนชั่น เข้าสู่ปีที่ 11 โดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนพนักงานจากแต่ละบริษัทในเครือ รวมกัน 12 คน มีพนักงานกว่า 1,200 คน

“ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาพนักงานรุ่นพี่ที่ก่อตั้งและทำงานสหภาพเนชั่นฯ ได้ดำเนินกิจกรรมมาเป็นระยะๆอย่างเข้มแข็ง ทั้งประเด็นสิทธิและสวัสดิการของพนักงาน ถือเป็นการวางแนวทางทำงาน ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน โดยเน้นเวทีการเจรจาเป็นหลัก ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีบางกรณีที่พนักงานได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร หรือช่วงที่เจรจาเรื่องการจ่ายอีอาร์ เลิกจ้างพนักงานที่มากกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งในที่สุดก็ตกลงกันได้ในระดับที่พนักงานรับได้ สหภาพแรงงาน เป็นตัวแทนพนักงานในการเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องต่างๆ ตามกลไก ตามกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ ที่กฎหมายรองรับ โดยใช้วิธีเจรจาต่อรอง” .นิภาวรรณ กล่าว

สิ่งที่สหภาพฯ พยายามจะทำ จึงเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่เป็นเรื่องสำคัญ ก็คือทำความเข้าใจกับพนักงาน ทั้งที่เป็นสมาชิกและที่ยังไม่เป็นสมาชิก เพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน เพราะนี่คือพลังที่แท้จริงของการเป็นสหภาพ ที่จะขับเคลื่อน ผลักดันประเด็นต่างๆ ร่วมกัน โดยไม่ฝากความหวังไว้ที่สหภาพให้ไปทำหน้าที่แทน ซึ่งก็รวมถึงการช่วยอัพเดทความรู้ เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาแกนนำสหภาพแรงงานหลายองค์กร ก็มีการขับเคลื่อน เสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นสิทธิ์ต่างๆ ระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง เป็นเรื่องใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญ อยากให้พนักงานเข้าใจเข้าใจด้วยว่า ข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อผู้บริหาร ก็ควรจะเป็นไปในลักษณะ บริษัทอยู่ได้ พนักงานก็อยู่รอด ด้วยการเข้าใจและยอมรับเหตุผลซึ่งกันและกัน เพราะความมั่นคงของบริษัทก็คือความเสี่ยงของพนักงานที่จะได้รับผลกระ ทบกับสภาพการจ้าง สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่าง ๆ เช่นกันนิภาวรรณ กล่าว

นอกจากนั้น อยากให้ผู้บริหารเข้าใจและตระหนักให้มากเช่นกันว่า ธุรกิจสื่อ ซึ่งถือเป็นวิชาชีพ ที่ควรมีเรื่องจริยธรรม คุณธรรม มากำกับดูแล ฉะนั้น พนักงานเองก็มีสิทธิ์เต็มที่ที่จะโต้แย้งหรือคัดค้าน หากผู้บริหารไม่ว่าชุดใดก็ตาม มีนโยบายที่ผิดเพี้ยนไปจากแนวปฏิบัติของเรา ที่เรียกว่า เนชั่นเวย์ ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานของคนข่าวเนชั่นอยู่เสมอ  “ธุรกิจสื่อจะอยู่รอดได้”ก็ด้วยความเป็นมืออาชีพที่สังคมให้ความยอมรับและเชื่อถือ

 

 


 

3.

”สหภาพแรงงาน เข้มแข็งและมีพลังในการต่อรองต้องเกิดจากการรวมกลุ่ม”กิตติ โสวัฒนสกุล

 

กิตติ โสวัฒนสกุล ประธานสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่าสหภาพแรงงานฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2525 ซึ่งขณะนั้นเกิด ปัญหาเรื่องการเลิกจ้างพนักงาน ลูกจ้างอย่างไม่ธรรม จึงเกิดการรวมตัวของกองบรรณาธิการ ฝ่ายผลิตในการจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ ขึ้นเพื่อจะได้ดูแล ให้ความช่วยเหลือ ทั้งเรื่องของสิทธิ สวัสดิการ สวัสดิภาพ และการเลิกจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมให้แก่พนักงานทุกคน โดยบทบาทหน้าที่หลักๆ ของสหภาพแรงงานฯ จะเป็นการดูแลสมาชิกให้มีความมั่นคง ปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งปัจจุบัน พนักงานในเครือหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประมาณ 90 % เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน โดยเมื่อมีปัญหา หรือข้อร้องเรียนต่างๆ สหภาพแรงงานจะเข้าไปช่วยเหลือดูแลตามขั้นตอน ตามระเบียบข้อบังคับ

หลังจากรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ ก็จะมีการเปิดให้ยื่นข้อเรียกร้อง มีการออกระเบียบข้อบังคับที่ทำให้พนักงานทุกคนมีความมั่นคงในการทำงาน ซึ่งหากพนักงานถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดนกล่าวหาว่าทำผิด พนักงานสามารถยื่นข้อเรียกร้องมายังสหภาพแรงงานได้ พร้อมทั้งต้องมีการแจ้งไปยังหัวหน้างาน และจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาดูแลพนักงาน เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น ในการทำงานของสหภาพแรงงาน จะให้การดูแล ประสาน และคุ้มครองพนักงานให้เป็นตามกฎหมาย”กิตติ กล่าว

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าการจะดูแลพนักงานให้ดีเท่ากับในอดีตอาจจะไม่ได้เหมือนเดิม อย่าง การดูแลหลักเกษียณอายุ ถ้าเป็นพนักงานบางกอกโพสต์ที่ทำงานมาตั้งแต่ก่อนปี 2554 จะได้ค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุไปอีก 10 ปี แต่พนักงานใหม่จะไม่ได้รับในส่วนนี้ หรือการลาพักร้อน ถ้าเป็นพนักงานเดิมจะได้ลาพักร้อน 14 วัน แต่เป็นพนักงานใหม่ วันลาพักร้อน จะเป็นไปตามอายุงาน เป็นต้น

ในการทำงานของสหภาพนั้นยังคงเป็นหน่วยงานพยายามให้พนักงานทุกคนได้รับการดูแลที่ดี มีความมั่นคงในการทำงาน แต่สหภาพแรงงานจะเข้มแข็งและมีพลังในการต่อรองนั้น จะต้องเกิดจากการรวมกลุ่มของสหภาพหลายๆ แห่งเข้าด้วยกัน และนักข่าว นักหนังสือพิมพ์เองก็ต้องมาเป็นสมาชิกของสหภาพด้วย ถึงจะมีพลังในการต่อรองเรียกร้องสิทธิ สวัสดิการสวัสดิภาพที่ควรจะได้รับ สหภาพแรงงานควรตัวกัน เพื่อรักษา และคุ้มครองผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ จึงอยากฝากนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ คนในวงการสื่อให้มาเป็นสมาชิกและเมื่อมีการรวมกลุ่มหรือมีการประชุมใดๆ ก็อยากให้ทุกคนเข้าร่วมด้วย กิตติ กล่าว

 

 


 

4.

“การปกป้องสิทธิ สวัสดิการ สวัสดิภาพ กรรมกรข่าวอยู่ที่พลังของนักสื่อสารมวลชน นักข่าวเอง”สุเมธ สมคะเน


ด้าน สุเมธ สมคะเน เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยกล่าวว่า สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนของไทย เกิดขึ้นภายหลังการเรียกร้องของนักข่าวภาคสนามช่วงเจอวิกฤตการเมือง ซึ่งขณะนั้น มีปัญหาไม่ก้าวหน้าเรื่องสวัสดิการ สวัสดิภาพของนักข่าว หลังจากนั้น จึงได้มีการจัดตั้งของสหภาพแรงงานฯ ขึ้น ภายใต้องค์กรวิชาชีพด้านแรงงานสื่อมวลชนทั่วประเทศ ที่จะช่วยดูแลสื่อมวลชนที่องค์กรไม่มีสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรมสื่อ โดยทุกคนที่เป็นสื่อมวลชนไม่ว่าจะตำแหน่งไหน บริษัทใด สามารถเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฯได้

ประเทศไทยมีสหภาพแรงงานขององค์กรสื่อ คือ เนชั่นฯ บางกอกโพสต์  อสมท. ไทยพีบีเอส และมีสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย แต่ในสื่ออื่นๆ นั้น ยังไม่มี สหภาพแรงงาน ดังนั้น บทบาทหน้าที่ของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย จะเป็นไปเพื่อคุ้มครองแรงงานอุตสาหกรรมสื่อทุกคน แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ไม่ได้มีเพื่อนสื่อมวลชนเป็นสมาชิกมาก ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าบริษัท หรือองค์กรต่างๆ ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย20 % ของพนักงานในองค์กรนั้นๆ แต่ขณะนั้น องค์กรอย่าง เดลินิวส์ มติชน เป็นสมาชิกสหภาพน้อยมาก ไม่ถึง 20% เมื่อมีปัญหา จึงทำได้เพียงช่วยเหลือในบางส่วน หรือให้คำปรึกษา ให้ข้อมูล ความรู้ ตระหนักเรื่องสิทธิแรงงาน ไปคุ้มครองตามกฎหมาย”สุเมธ กล่าว

ขณะนี้อยากให้เพื่อนสื่อมวลชน ที่ทำงานอยู่ในองค์กร บริษัท ที่ไม่ได้มีสหภาพแรงงานมาเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เพื่อสหภาพแรงงานฯ ได้ช่วยคุ้มครอง ดูแลตามกฎหมาย อย่างเต็มที่ เพราะไม่เช่นนั้น เมื่อเกิดการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สหภาพแรงงานไม่สามารถเข้าไปช่วยเจรจาหรือไกล่เกลี่ยได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจ ทำได้เพียงที่ปรึกษาให้คำแนะนำเท่านั้น

"อยากฝากเพื่อนนักข่าวทุกคน การทำงานในฐานะ ฐานะคนทำงาน นักข่าวต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อดูแล ปกป้องในเชิงสิทธิ สวัสดิภาพ สวัสดิการที่ควร สมาชิกต้องร่วมด้วยช่วยกัน ฉะนั้น การจะปกป้องสิทธิ สวัสดิการ สวัสดิภาพตามแรงงาน กรรมกรข่าวมากน้อยขนาดไหน อยู่ที่พลังของนักสื่อสารมวลชน นักข่าวเอง”สุเมธกล่าว