Fake News

Fake News

---วริษฐ์ ลิ้มทองกุล---


Journalism is the first rough draft of history. --- Philip Graham, The Washington Post

วารสารศาสตร์ คือร่างแรกอย่างคร่าวๆ ของประวัติศาสตร์ --- ฟิลลิป เกรแฮม, เดอะ วอชิงตัน โพสต์

ในห้วงเวลาเดือนสุดท้ายของปี 2561 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เชื้อเชิญนักข่าวชาวไทยแปดชีวิต  ให้เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาตามโปรแกรม International Visitor Leadership Program (IVLP) ในหัวข้อ การบริหารข้อเท็จจริงในยุคสื่อดิจิทัล --- โครงการสำหรับประเทศไทย (MANAGING FACTS IN THE AGE OF DIGITAL MEDIA—A PROJECT FOR THAILAND) กินระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณสองสัปดาห์

นอกจากวอชิงตัน ดี.ซีแล้ว เรายังมีโอกาสเดินทางไปยัง เมืองคลีฟแลนด์ มลรัฐโอไฮโอ และซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งโลกดิจิทัลของโลกทั้งสองแห่ง กูเกิล (Google) และ เฟซบุ๊ก (Facebook)

โครงการ IVLP กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2483 (ค.ศ.1940) หรือกว่า 78 ปี แล้ว โดยโครงการเช่นนี้ถูกออกแบบ และดำเนินการภายใต้ความมุ่งหวังในการสร้างความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯ กับบุคลากรมืออาชีพในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยทุกๆ ปี ทางรัฐบาลสหรัฐฯ จะเชิญชาวต่างชาติราว 4,500 คน ในหลากหลายสาขาอาชีพทั้งในภาครัฐ ภาคการเมือง สื่อมวลชน ภาคการศึกษา เอ็นจีโอ ศิลปิน ภาคสาธารณสุข ภาคธุรกิจการค้า ฯลฯ จากทั่วโลกเพื่อไปเยี่ยม ไปเยือน ไปพบปะแลกเปลี่ยน กับชาวอเมริกันที่ทำงานในสาขาอาชีพเดียวกัน หรือทำงานเกี่ยวข้องกัน

สำหรับหัวข้อ “การบริหารข้อเท็จจริงในยุคสื่อดิจิทัล --- โครงการสำหรับประเทศไทย” ถือเป็นหัวข้อที่ร้อนแรงและถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จากการอุบัติขึ้นและความแพร่หลายของสื่อสังคม (Social Media) โดยประเด็นนี้ยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนต่างจับจ้องในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2559 ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเหนือนางฮิลลารี คลินตัน จนทำให้คำว่า ข่าวปลอม (Fake News) กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึง และถูกยกเป็นกรณีศึกษา เป็นปัญหาที่อาจถึงขั้นเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตของปัจเจกบุคคล ความรู้สึกนึกคิด-ความเชื่อของคนในสังคม รวมไปถึงอาจมีส่วนในการชี้ขาดอนาคตของประเทศนั้น ๆ ได้เลยทีเดียว

จริง ๆ แล้วคำว่า Fake News หรือ ข่าวปลอม เป็นเพียงศัพท์ใหม่ หรือ ภาษาตามสมัยนิยมที่เพิ่งปรากฏขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้เท่านั้น แต่หากพิจารณาโดยเนื้อหาและภาพรวมแล้ว ปรากฎการณ์ข่าวปลอมควรจะใช้คำว่า misinformation (ข้อมูลที่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน) และ disinformation (ข้อมูลที่บิดเบือน) ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้นับเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ปี มากกว่า


พจนานุกรมมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แปลความหมายของคำว่า Fake News ไว้อย่างน่าสนใจว่า “คือ เรื่องราวผิด ๆ ที่เกิดขึ้นในรูปแบบของข่าว แพร่กระจายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ ใช้สื่ออื่น ๆ โดยส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจูงใจผู้คนเกี่ยวกับทัศนะทางการเมือง หรือ เพื่อเป็นเรื่องตลกขบขัน”

การอุบัติขึ้นของ misinformation และ disinformation ผ่านสื่อใหม่บนโลกออนไลน์ และสื่อดิจิทัลที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนถึงขั้นสั่นสะเทือนสังคมที่พวกเราใช้ชีวิตกันอยู่นี้ในทุกระดับ ตั้งแต่การเมืองการปกครอง การศึกษา การสาธารณสุข เรื่อยมาจนถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต

ดังประโยคที่ยกขึ้นไว้ในตอนต้นว่า วารสารศาสตร์ คือร่างแรกโดยคร่าวของประวัติศาสตร์ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ เวลานี้คือ อาชีพและศาสตร์ที่เป็นเสาหลักของสังคมอย่างสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์กำลังถูกท้าทายอย่างรุนแรง และกำลังจะส่งผลกระทบไปยังการทำความเข้าใจ และการบันทึกประวัติศาสตร์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วย

ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ ผมมีโอกาสได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ข่าว (Newseum) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2551 ในส่วนจัดแสดงหัวข้อ ประวัติศาสตร์ของข่าว (News History) บนชั้น 5 พิพิธภัณฑ์ข่าวอธิบายถึง ความล่มสลายของวงการข่าวสารข้อมูลจากเทคโนโลยีดิจิทัล (The digital disruption of news) ไว้สั้น ๆ 3 ย่อหน้าดังนี้

"นวัตกรรมอินเตอร์เน็ต และดิจิทัล เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการรายงานและเสพข่าวสารอย่างใหญ่หลวง ปัจจุบันผู้คนเสพข่าวกันตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 7 วัน ด้วยการแจ้งเตือน และความรวดเร็วแบบฉับพลันตรงสู่สมาร์ทโฟนของพวกเขา

"เฟซบุ๊ก กูเกิล และทวิตเตอร์ --- แหล่งกระจายข่าวสารแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ทรงพลัง ก่อร่างบนเครือข่ายข้อมูลอันกว้างขวางทั่วโลก แต่บริษัทยักษ์ขนาดมหึมาเหล่านี้ก็กำลังทำให้ธุรกิจสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีอายุยาวนานนับศตวรรษอ่อนแอลง รวมไปถึงธุรกิจโทรทัศน์และวิทยุด้วย

"ข่าวปลอม --- ข้อมูลที่มุ่งเป้าไปที่การโป้ปดหลอกลวง และการขยายตัวขึ้นของเว็บไซต์ข่าวที่แบ่งข้างอย่างรุนแรง (hyperpartisan news site) กำลังบั่นทอนความเชื่อถือในสื่อสารมวลชน ผู้คนหันไปหาข่าวที่ตอกย้ำอคติของพวกเขา ขณะที่ความเห็นก็กำลังปนเปไปกับความจริง การรายงานข่าวสารข้อเท็จจริงนั้นใช้ต้นทุนในการผลิตสูง แต่ ณ เวลานี้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง มากกว่ายุคสมัยใดในประวัติศาสตร์"

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ของการได้เดินสาย เยี่ยมเยือน พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนกับ คนในแวดวงสื่อในสหรัฐฯ สิ่งที่ผมและเพื่อนนักข่าวไทยทุกคนได้สัมผัสก็คือ ทุกคนรับรู้ เป็นกังวล และพยายามดิ้นรน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา Fake News และหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ความอยู่รอดของสื่อที่นับวันจะเลวร้ายลงทุกทีๆ

--------------------


อ้างอิง :

fake news ; https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/fake-news