3 พ.ค.วันเสรีภาพสื่อ 2019 การทำข่าวเลือกตั้งทั่วโลก ท้าทายสุดในยุคข่าวปลอม

 

 

 

 

 

3 พ.ค.วันเสรีภาพสื่อ 2019

การทำข่าวเลือกตั้งทั่วโลก

ท้าทายสุดในยุคข่าวปลอม

---กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน---


ปี 2019 นับเป็นปีแห่งการเลือกตั้งอย่างแท้จริง เมื่อมีการเปิดคูหาในหลายสิบประเทศทั่วโลกเกือบทุกทวีป จากสเกลเล็กระดับประชามติการตั้งเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมโมโรในฟิลิปปินส์เมื่อเดือน ม.ค.  ไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปีของไทย การเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่อินเดีย การเลือกตั้งทุกระดับภายในวันเดียวครั้งแรกในอินโดนีเซีย และการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปช่วงกลางปีนี้

ทว่านอกเหนือจากความสำคัญในแง่เสียงสะท้อนของประชาธิปไตยแล้ว ปีแห่งการเลือกตั้งก็ยังมีความสำคัญและเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ นักข่าว ทั่วโลก ในยุคที่ความไว้ใจต่อสื่อถูกสั่นคลอนอย่างหนักด้วย

ในวันที่ 3 พ.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็น วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก(World Press Freedom Day) ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศตั้งแต่ปี 1993 ปีนี้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดธีมสำหรับวันเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2019 ว่า สื่อเพื่อประชาธิปไตย : การทำข่าวกับการเลือกตั้งในยุคข้อมูลข่าวสารลวง (Media for Democracy: Journalism and Elections in Times of Disinformation) เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญของสื่อที่ต่อการสนับสนุนประชาธิปไตยและสันติภาพ รวมถึงสะท้อนปัญหาความท้าทายจากการทำข่าวเลือกตั้งในยุคนี้


UNESCO ซึ่งจัดงานวันเสรีภาพสื่อโลกประจำปีนี้ที่เมือง Addis Ababa ประเทศเอธิโอเปีย ระบุว่า การเลือกตั้งนั้นถือเป็นความท้าทายของสื่อมวลชนที่จะรายงานข่าวอย่างเสรีและสะท้อนเสียงของทุกฝ่ายออกไป จึงเป็นที่มาของธีมวันเสรีภาพสื่อปี 2019 โดยจะมุ่งไปที่ปัญหาและความท้าทายต่างๆ ที่สื่อต้องเผชิญในการทำข่าวเลือกตั้งยุคปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะการรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ (Disinformation) อันเนื่องมาจากการสื่อสารยุคใหม่ที่เพิ่มขึ้นหลายช่องทาง เช่น โซเชียลมีเดีย ทำให้ง่ายต่อการบิดเบือนเนื้อหาหรือกระทั่งกุข่าวขึ้นมาในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นทั้งงานยากของนักข่าวในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องช่วงการเลือกตั้ง และยังยากในแง่ของการทำให้ประชาชนหันมาเชื่อข้อมูลที่ถูกต้องด้วย

อินเตอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทที่สุดในการเลือกตั้งทั่วโลกวันนี้ ในฐานะแหล่งข้อมูลผู้สมัครลงเลือกตั้งไปจนถึงการรายงานผลหลังปิดหีบ จึงทำให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลการใช้อินเตอร์เน็ตให้รัดกุมขึ้น ทั้งในแง่ของการให้บริษัทเอกชนกำกับดูแลตัวเอง และการกำกับดูแลจากภาครัฐที่หลายฝ่ายมีส่วนร่วม แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้น กลับพบการแทรกแซงของรัฐในหลายกรณีตั้งแต่การจำกัดเนื้อหาไปจนถึงการปิดอินเตอร์เน็ต ขณะที่การทำงานสื่อในภาพรวมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ก็ยังพบการแทรกแซงเพื่อให้เลือกข้าง

ทุกวันนี้ การรายงานข่าวที่เสรี สะท้อนความเห็นหลายฝ่ายโดยไม่เลือกข้าง เป็นอิสระ และปลอดภัยสำหรับตัวนักข่าวเองเพื่อร่วมขับเคลื่อนประชาธิปไตยนั้น ต้องเผชิญแรงกดดันหนักอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่ผลการเลือกตั้งและกระบวนการที่ตามมาหลังจากนั้นก็ยังได้รับผลกระทบและถูกกดดันจากวาทกรรมทางการเมือง และบทบาทของสื่อในกระบวนการเลือกตั้งด้วย

ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ สังคมในหลายพื้นที่เกิดภาวะวิกฤตศรัทธา ไม่เชื่อมั่นทั้งต่อพรรคการเมืองหน้าเดิมๆ และแม้กระทั่งสื่อมวลชน โดยสถานการณ์นี้มักเกิดขึ้นควบคู่กันในสังคมที่มีการใช้วาทกรรมทางการเมือง ที่คุกคามเสรีภาพสื่อและการเลือกตั้งที่สงบเรียบร้อย

UNESCO มองว่า บทบาทของนักข่าวในการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ความต้องการคอนเทนท์ข่าวที่กำลังเพิ่มขึ้นมากก็ทำให้นักข่าวต้องเร่งผลิตจนกระทบต่อคุณภาพและความเป็นมืออาชีพตามมา บทวิเคราะห์การเมืองที่มีการทำการบ้านมาอย่างดีถูกแทนที่ด้วยคอนเทนต์เน้นอารมณ์และความเห็น ซึ่งเมื่อรวมกับคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียที่เน้นอารมณ์มากกว่าหลักเหตุผล ก็ยิ่งกระตุ้นให้การเลือกตั้งมุ่งไปสู่การใช้อารมณ์ความชอบส่วนตัวมากกว่าการพิจารณานโยบายทางการเมือง

ทั้งนี้ UNESCO ได้แบ่งหัวข้อที่น่าสนใจของงานวันเสรีภาพสื่อโลก 2019 ออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. ยุคดิจิทัลส่งผลกระทบต่อการรายงานข่าวเลือกตั้งอย่างไร รวมถึงส่งผลต่อนโยบายกับระเบียบกฎเกณฑ์ของการเลือกตั้งและการติดต่อสื่อสารในแง่ของอินเตอร์เน็ต อย่างไร
  2. ความพยายามครั้งใหม่ที่จะบ่อนทำลายบทบาทของสื่อต่อการสนับสนุนประชาธิปไตย โดยการดิสเครดิตสื่อมืออาชีพ และขัดขวางการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
  3. ศักยภาพของสื่อในการสร้างวัฒนธรรมไปสู่ประชาธิปไตยและสันติภาพอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งที่ผู้แทนสื่อทั่วโลกจะร่วมกันขบคิดและเสนอแนวทางออกมาในงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนปีนี้ เพื่อปูทางไปสู่ยุคสมัยใหม่ของผู้สื่อข่าวที่สามารถทำข่าวเลือกตั้งหลังจากนี้ได้อย่างเสรีและปลอดภัย

ทว่านี่ก็เป็นเพียงแง่หนึ่งของ UN ที่ต้องการร่วมสนับสนุนการทำงานของสื่อทั่วโลกเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ภาพรวมของสื่อทั่วโลกกลับยิ่งแย่ลงทั้งในแง่ความรุนแรงต่อนักข่าว และประเทศที่ปลอดภัยสำหรับการทำงานของคนข่าวก็ยิ่งลดน้อยลง จากรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2019 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders : RSF) ซึ่งมีรายงานนักข่าวเสียชีวิตไปทั้งหมด 80 คนในปีที่แล้ว


RSF ระบุว่า ความเกลียดชังที่มีต่อนักข่าวยิ่งเลวร้ายลงกลายเป็นการใช้ความรุนแรงและสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวมากขึ้น และประเทศที่สื่อมวลชนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยมีจำนวนลดน้อยลง สื่อมวลชนถูกข่มขู่ ตกเป็นแพะรับบาป และถูกขัดขวางการทำงาน โดยการเก็บข้อมูลตลอดทั้งปี 2018 พบว่า มีเพียง 24% จาก 180 ประเทศและดินแดนทั่วโลกเท่านั้นที่ถูกจัดว่ามีสภาพแวดล้อมที่ดีและค่อนข้างดี (8% และ 16% ตามลำดับ) ในการทำงานสำหรับนักข่าว หรือลดลงจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 26%

นอร์เวย์ ยังคงครองแชมป์ประเทศที่มีเสรีภาพสื่อสูงที่สุดมาเป็นปีที่สามติดต่อกัน ตามมาด้วยฟินแลนด์ และสวีเดน สำหรับประเทศไทย ปรับตัวดีขึ้น 4 อันดับจากปีก่อนหน้า ไปอยู่ที่ 136 จากทั้งหมด 180 แต่ยังอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหา และหากเทียบในกลุ่มเพื่อนบ้านแล้ว มาเลเซียมีอันดับทะยานขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดอยู่ที่ 123 ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ 124 ฟิลิปปินส์ที่ 134 เมียนมาที่ 138 กัมพูชาที่ 143 สิงคโปร์ที่ 151 บรูไนที่ 152 ลาวที่ 171 และเวียดนามรั้งท้ายที่ 176


ขณะที่สหรัฐร่วงลง 3 อันดับไปอยู่ที่ 48 หรือหล่นชั้นจากกลุ่มที่น่าพอใจไปเป็นกลุ่มประเทศที่มีปัญหา ภายใต้สถานการณ์ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำการสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อสื่อ โดยในกลางปีเดียวกันนี้ได้เกิดกรณีการกราดยิงนักข่าวและพนักงานรวม 5 คน ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ Capital Gazette ในรัฐแมรีแลนด์ ซึ่งนับเป็นเหตุความรุนแรงต่อนักข่าวครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีของสหรัฐ