“เห็นใจนักข่าวทุกคนที่ต้องเสี่ยงในการทำงานลงพื้นที่ เราอยากให้มีอะไรที่มันมากกว่านี้ ที่จะช่วยดูแลในสิ่งที่เราควรจะได้รับ หนูไม่รู้หรอกว่ามันจะมากหรือน้อย แต่มันน่าจะช่วยต่อชีวิตเราได้ ไม่มากก็น้อย”
วิกฤตโควิดกระทบกับทุกวงการ สื่อมวลชนเป็นอาชีพเสี่ยงต้องลงพื้นที่รายงานความจริง ในช่วงสถานการณ์โควิด มีผู้สื่อข่าว ช่างภาพ จำนวนไม่น้อยที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม แม้จะป้องกันตัวเองรัดกุมแต่ก็อาจไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว จนติดเชื้อโควิด หลายคนต้องกักตัว อีกหลายคนต้องไปตรวจเชื้ออยู่หลายรอบ
วัชรินทร์ กลิ่นมะลิ "โน้ต" ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม นสพ.เดลินิวส์ เป็นอีกหนึ่งผู้สื่อข่าวที่ติดเชื้อโควิดในช่วงสงกรานต์จากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าวตระเวนในช่วงค่ำ ผลจากการติดเชื้อทำให้ครอบครัวเขาทั้ง 6 คน ภรรยา ลูกเล็กอีก 2 วัย 1 ขวบและ 3 ขวบ รวมถึงพ่อและแม่ที่พักอาศัยอยู่ด้วยกัน ได้รับเชื้อโควิดทั้งหมด จนถึงขณะนี้แม้จะผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่โน้ตยังนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลในห้องไอซียู เขาทรุดหนัก2ครั้ง เพราะเชื้อลามลงปอด ต้องเจาะคอใช้เครื่องช่วยหายใจ หมอบอกว่า หากเขาได้ออกจากโรงพยาบาล อาจต้องใช้เวลาพักฟื้นอีก 6 เดือน ปอดถึงจะกลับมาปกติ
แต่ อาการของโน้ตทำให้ไม่มั่นใจว่า ในอนาคตเขาจะกลับมาเป็นผู้สื่อข่าวได้เหมือนเดิมหรือไม่...
“โน้ต” เป็นหัวใจของทีมข่าวอาชญากรรมนสพ.เดลินิวส์ เขามีผลงานข่าวสืบสวนเรื่อง “ล้มบอลไทยลีก ฉีกหน้าขบวนการจ้างนักเตะ-กรรมการ" จนได้รับรางวัลชมเชยอิศรา อมันตกุล เมื่อปี 2560 และขึ้นไปรับรางวัลร่วมกับหัวหน้าข่าวเดลินิวส์
เรื่องราวของ "โน้ต" ถูกพูดถึงในวงการเพื่อนนักข่าวร่วมกันส่งกำลังใจให้ครอบครัว ขณะที่ภรรยาเขาจากแม่บ้านเลี้ยงลูกสอง เมื่อสามีกำลังหลักของครอบครัวต้องล้มป่วย ทำให้ตัวเธอที่วันนี้หายจากโควิดแล้ว ต้องมาเป็นเสาหลักแทน เป็นตัวอย่างความยากลำบากของครอบครัวนักข่าวที่ได้รับผลกระทบติดเชื้อโควิดจากการปฏิบัติหน้าที่
ปฏิมา สุวรรณดา อายุ 32 ปี ภรรยาโน้ตถ่ายทอดเรื่องราวให้ “จุลสารราชดำเนิน” ฟังว่า สามีเธอน่าจะติดเชื้อโควิดเมื่อครั้งลงพื้นที่ทำข่าวเหตุการณ์ไฟไหม้ตึกถล่มย่านทวีวัฒนา เกาะติดพื้นที่ติดต่อกัน 3-4 วัน จากนั้นมา มีไข้ต่ำ แรกไปที่รพ.บางบัวทอง หมอบอกอาจติดเชื้อหวัด ให้ยาลดไข้มากิน หลังจากโน้ตกลับบ้านก็กักตัวในห้องจนอาการหนักขึ้นมา ไปตรวจอีกครั้งที่รพ.เกษมราษฎร์ ทราบผลว่าติดโควิด-19 วันที่ 13 เม.ย. ไปรักษาตัวที่ รพ.บางบัวทองอยู่ 2-3 วัน แต่การมีโรคประจำตัวเบาหวานทำให้รักษายากขึ้น จนย้ายไปรพ.พระนั่งเกล้า แต่อาการก็ทรุดอีกเพราะเชื้อลงปอดหายใจเองไม่ได้ ก่อนจะไปรักษาที่รพ.วชิระในปัจจุบัน
เธอบอกว่า วันนี้อาการของสามีดีขึ้น แต่ยังอยู่ในไอซียูมาเกือบเดือน ยังต้องเจาะคอ หายใจผ่านเครื่อง ระวังการติดเชื้อ ไม่ให้ลงปอด หมอบอกว่า ถ้าคนไข้หายใจเอง ขับของเสียได้ถึงจะให้กลับบ้าน
“นับแต่ที่ปะป๊า (โน้ต) เข้าโรงพยาบาล เราไม่สามารถไปเยี่ยมได้ แต่ส่งคลิปวีดีโอลูกให้กำลังใจ เขาบอกคิดถึงลูกมาก เห็นภาพลูกก็ร้องไห้ ตอนแรกที่ตรวจเจอเชื้อ ปะป๊าบอกว่า ไม่อยากเข้าโรงพยาบาลเลย เพราะกลัวจะไม่ได้เจอลูกอีก แต่หนูยังเชื่อว่า ถ้าเขามีกำลังใจ เขาก็พร้อมสู้กับโรคนี้”
เธอเล่าเหตุการณ์ที่เชื้อไวรัสโควิดแพร่เข้าสู่ครอบครัวว่า หลังจากสามีตรวจพบเชื้อ วันต่อมาทางครอบครัว ทั้งหมด 5 คน ก็รีบไปตรวจพบว่า แม่ของโน้ตติดก่อนแล้วก็ทำการรักษาที่รพ.บางใหญ่ จากนั้นไม่กี่วันลูกคนโตเริ่มมีไข้พาไปตรวจกันทั้งหมดอีกรอบวันที่ 19 เม.ย. เจอเพิ่มเป็นตนเองกับลูกคนโต จึงต้องไปรักษาที่ รพ.บางบัวทอง และฝากลูกคนเล็กที่ยังไม่พบเชื้อไว้กับปู่เขาที่บ้าน ต่อมาวันที่ 20 เม.ย.ลูกคนเล็กมีไข้สูง ต้องโทรไปประสานรถโรงพยาบาลไปรับลูกคนเล็กมารักษา สุดท้ายตรวจเจอเชื้อโควิดพร้อมกับปู่ นำไปสู่การรักษาตัวทั้งบ้านตั้งแต่นั้นมา
สำหรับเธอไม่ค่อยมีอาการมาก แค่เหนื่อยและไอ เธอเล่าว่า ตอนอยู่โรงพยาบาลต้องดูลูกทั้งสองเพราะติดด้วยกันหมด วันที่ 3 พค.หายออกจากโรงพยาบาลได้มากักตัวต่ออีก 14 วันที่บ้าน แต่เกิดช่วงลำบากอีกเพราะลูกคนเล็กท้องเสียกลางดึก ต้องขับรถหอบลูกไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ถูกปฏิเสธ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพอรู้ว่า เคยมีประวัติรักษาโควิด จึงไม่รับรักษา ปล่อยให้ไปอุ้มลูกรออยู่นอกโรงพยาบาล จะขอเข้าห้องน้ำก็ไม่ได้ ตอนนั้นอารมณ์เคว้ง เหมือนลอยอยู่กลางทะเลกับลูก ไม่มีใครสนใจ ณ เวลานั้น มีเงินก็ทำอะไรไม่ได้จนหมอมาบอกว่า ให้เด็กรักษาไม่ได้เพราะเคยมีประวัติโควิด ต้องไปรักษาที่ต้นสังกัด คือ รพ.บางบัวทอง สุดท้ายพาลูกกลับบ้าน ดูแลกินยาตามสภาพ ลูกเป็นไข้สูง 39 อยู่ 3 วัน คอยเช็ดตัวที่บ้าน กระทั่งอาการดีขึ้น
เธอบอกว่า ยังไม่รู้ว่าสามีจะลับมาเป็นนักข่าวได้เหมือนเดิมหรือไม่ ตอนนี้แค่หวังให้ออกจากไอซียู กลับมาใช้ชีวิตตามปกติก่อน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายเขา แต่หมอบอกว่า ปอดอาจกลับมาไม่ได้ 100% เพราะปอดโดนเยอะ ต้องใช้เวลาฟื้นฟูนาน อาจทำงานหนักเหมือนไม่ได้ ปกติแฟนทำงานผู้สื่อข่าวตระเวน กะเช้า กะบ่าย กะดึก อดนอน พักผ่อนไม่มาก
“ตอนที่ปะป๊า (โน้ต) ไม่สบาย มีพี่ๆนักข่าว โทรมาให้กำลังใจ ช่วยค่านมน้อง พี่นักข่าวบางท่านก็หวังดี จะขอเปิดบริจาค แต่หนูไม่ประสงค์อย่างนั้น เพราะหนูยังมีกำลัง มี 2 มือ ยิ่งตอนนี้ทุกคนก็ลำบากกันหมด ภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ เราไม่ต้องการไปเบียดเบียนใครอยู่แล้ว ส่วนที่ออฟฟิศ และก็มีพี่โบน หัวหน้าที่เดลินิวส์โทรมาตลอดคอยประสานทุกเรื่องทั้งที่โรงพยาบาล และ ที่บริษัท ช่วยวางแผนถ้าออกจากไอซียู ควรทำอย่างไร ถึงแม้ตอนนี้ยังเป็นการรักษาไม่เสียค่าใช้จ่ายเพราะอยู่ในระบบของรัฐ แต่การดูแลในระยะยาว ถ้าต้องรักษาต่อเนื่องจะทำอย่างไรในเรื่องค่ารักษา”
เธอสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันรวดเร็วมาก กระทบทุกอย่าง จิตใจ ความสูญเสีย ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จากที่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก มีความฝัน แต่วันนี้คงต้องมาเป็นเสาหลัก เพราะที่ผ่านมาสามีเป็นทุกอย่างดูแลทั้งพ่อแม่เขา ค่าใช้จ่ายครอบครัวและลูกๆในแต่ละเดือน ผลกระทบมันหนักมาก ความรู้สึก ทุกสิ่งทุกอย่าง คิดเสมอจากนี้จะเอาเงินที่ไหนมารักษาสามี ค่าใช้จ่ายดูแลครอบครัว มันอยู่ในหัวเราตลอด เราไม่สามารถแบมือขอใครได้ และไม่สามารถบอกได้ว่า เราไม่มีเงิน สิ่งที่เราทำได้ คือ ทำทุกอย่างให้เต็มที่
“ถึงแม้เรายังมีกำลังใจจากพี่ๆ คนรอบข้าง แต่สุดท้ายก็คือ ตัวเราเองที่ต้องคิดหาทางให้ลูก เหตุการณ์ครั้งนี้เปลี่ยนชีวิตไปเลย จากที่เราเคยอยู่พร้อมหน้า มีความสุข มันทำลายครอบครัวหนู ทำลายทุกอย่าง ความฝัน ความสุขที่เรามี มันทำให้เราไม่เหลืออะไรเลย ... แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีที่ปะป๊ายังอยู่กับเรา มันยังมีความหวังที่ปะป๊าจะหายแล้วกลับมาหาลูก แม้แต่จิตใจของลูกเขาก็รับรู้ได้ เขาถามหาพ่อเขาทุกวัน ทำไมพ่อเขาไปทำงานนานจัง เราต้องยอมบอกเขาว่า ปะป๊าไม่สบาย อยู่กับลุงหมอ วันหนึ่งปะป๊าก็กลับมาหาเรา เราทำอะไรไม่ได้ นอกจากภาวนา สวดมนต์ทุกวัน ถึงแม้ปะป๊ากลับมาไม่ได้ 100% แต่เราก็พร้อมกลับมาอยู่ข้างๆ กัน และสู้ต่อเท่านั้นเอง” เธอกล่าวน้ำเสียงสั่นเครือ
สำหรับวัชรินทร์ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าวที่ได้รับผลกระทบจากการลงพื้นที่ เหตุการณ์ม็อบกปปส. เมื่อปี 2557 ตอนนั้นเขาเป็นผู้สื่อข่าวอาชญากรรม นสพ.สยามรัฐ เขาถูกประทัดยักษ์ปาใส่บาดเจ็บต้องส่งโรงพยาบาล หลังไปทำข่าวการชุมนุมและเกิดการปะทะกันที่สะพานมัฆวานรังสรรค์
ปฏิมา บอกว่า นักข่าวเป็นอาชีพเสี่ยงที่ควรมีสวัสดิการ การดูแลรักษาความปลอดภัย อย่างน้อยเมื่อเกิดเหตุ จากผลกระทบควรได้รับความคุ้มครอง เพราะทุกคนมีครอบครัว หรือมีลูกเล็กๆอย่างเรา กรณีสามีเพียงประกันสังคม ประกันโควิดที่ทำเอง ไม่ได้ทำประกันชีวิตเพราะราคาสูง ต้องเอาเงินไปซื้อประกันให้ลูกแทน
“เห็นใจนักข่าวทุกคนที่ต้องเสี่ยงในการทำงานลงพื้นที่ เราอยากให้มีอะไรที่มันมากกว่านี้ ที่จะช่วยดูแลในสิ่งที่เราควรจะได้รับ หนูไม่รู้หรอกว่ามันจะมากหรือน้อย แต่มันน่าจะช่วยต่อชีวิตเราได้ ไม่มากก็น้อย เราอยู่กับเขา เห็นการทำงานของเขา มันเสี่ยงที่จะไม่ปลอดภัย เพราะเขาตระเวนหลายที่ แต่เรายังดีมีพี่โบน หัวหน้าที่ดี คอยทำเรื่องประสานบริษัทเป็นระยะ ก็ยังไม่รู้ว่า ระยะยาว ถ้าออกจากโรงพยาบาลแล้ว จะเป็นอย่างไร”
ด้าน นพปฎล รัตนพันธ์ “โบน” ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารนสพ.เดลินิวส์ อดีตกรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้างานของโน้ต กล่าวว่า โน้ตน่าจะติดเชื้อระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก่อนช่วงสงกรานต์ หลังกลับบ้านเชื้อได้แพร่ไปสู่ แม่ ลูกคนโต เมีย ลูกคนเล็กและพ่อ ส่วนพนักงานขับรถของบริษัทที่ไปกับโน้ต ก็ติดเชื้อด้วยและแพร่ต่อให้ลูกสาว ภรรยา ตอนนั้นช่วงสงกรานต์เขากลับบ้าน เอาเชื้อไปติดที่ต่างจังหวัด แต่คนขับรถ อาการไม่หนัก รักษาหายเป็นปกติแล้ว
“ตอนที่โน้ตติดเชื้อใหม่ๆ ช่วงนั้นเกิดเรื่องสายด่วน เตียงไม่พอ รถไม่มีบริการ ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่า ให้รออีก 2 วัน กักตัวที่บ้านไปก่อนเพราะไม่มีรถมารับ สุดท้ายก็ต้องประสานหารถกันเองจนได้เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามก่อน แต่อาการโน้ตไม่ดีขึ้น เชื้อลงปอด เข้าไอซียู เขาทรุดอยู่สองรอบ”
นพปฎล เล่าว่า เท่าที่คุยกับหมอ ได้รับแจ้งว่า ถ้าเชื้อหมดจากร่างกายต้องรอสร้างภูมิขึ้นมา แต่โน้ตต้องใช้เวลาฝึกหายใจอย่างน้อย 6 เดือน เพราะปอดถูกทำลายไปเยอะ ยังต้องฝึกกล้ามเนื้ออีก ในส่วนการดูแลของบริษัท ได้ประสานผู้บริหารให้ช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษเพราะป่วยจากโรคระบาด ในอนาคตถ้ามีค่ารักษาเพิ่มเติม ได้เสนอผู้บริหารให้ทางมูลนิธิ “แสง - ไซ้กี เหตระกูล” ของเดลินิวส์รับเข้าไปดูแล ถ้าได้ก็จะช่วยแบ่งเบาได้ในระดับหนึ่ง
รักษาการหัวหน้าข่าวอาชญากรรมฯ กล่าวว่า โน้ตเป็นผู้สื่อข่าวที่เดลินิวส์ 4 ปี ก่อนหน้านี้อยู่สยามรัฐ 12 ปี ช่วงก่อนมาเดลินิวส์ เขาเป็นรองนายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย สำหรับภาระหน้าที่ที่เดลินิวส์ของโน้ตคือ รับผิดชอบข่าวอาชญากรรม หรือ “นักข่าวโรงพัก” เขาเป็นที่พึ่งของน้องๆ ในภาคสนามเพราะมีประสบการณ์มานาน และเป็นตัวหลักของเดลินิวส์เช็คข่าวสืบสวนสอบสวนในคดีใหญ่ๆ ยังหนึ่งในทีมที่ทำข่าวเปิดโปง “คดีล้มบอล” ที่เดลินิวส์เปิดประเด็นข่าวจนเกิดกระแสและส่งประกวดจนได้รางวัลชมเชยของมูลนิธิอิศรา อมันตกุลปี 2560