เปิดใจ “นักข่าว-ช่างภาพ” กับหน้าที่ครั้งสำคัญ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เปิดใจ "นักข่าว-ช่างภาพ" กับหน้าที่ครั้งสำคัญ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ภายใต้ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถูกจัดขึ้นเป็นศูนย์สื่อมวลชนงาน "พระราชิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562" เพื่อรองรับสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ทำหน้าที่เผยแพร่งานพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์ กับหน้าที่ความภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งสำคัญ ซึ่งจะถูกบันทึกเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศ วันนี้ "จุลสารราชดำเนิน" พาไปคุยกับสื่อมวลชน ถึงการเตรียมความพร้อมทำหน้าที่ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต


เริ่มต้นที่ "ช้องมาศ พุ่มสวัสดิ์" ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวสตรี หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ บอกถึงการเตรียมความพร้อมให้ให้ฟังว่า ได้เริ่มทำงานตั้งแต่พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จนถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งความรับผิดชอบหน้าสตรี ต้องรับผิดชอบงานในสายพระราชสำนัก ทำให้มีความเข้าใจจากที่มีความเกี่ยวเนื่องกับงานที่รับผิดชอบโดยตรง ส่วนพระราชิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในการทำหน้าที่สื่อมวลชนทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เตรียมข้อมูลในด้านโบราณราชประเพณี ตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต โดยพยายามสืบหาข้อมูลเพื่อนำมาเก็บไว้ก่อน แต่ยังไม่ทราบรูปแบบงานว่าจะเป็นอย่างไร

จากนั้นกรมประชาสัมพันธ์ได้เรียกสื่อมวลชนเข้าไปอบรม เพื่อให้ทราบ โดยมี ดร.หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ มาให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้สื่อมวลชน ซึ่งตัวเองได้บันทึกเทปไว้เพื่อนำมาถอดเทปภายหลัง เพราะทุกอย่างเป็นความรู้ใหม่ที่เราไม่เคยทราบมาก่อน เรียกได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์ที่ไม่รู้อะไรเลย แต่ค่อยๆ เติมความรู้มาเรื่อยๆ ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมาก โดยเฉพาะรายละเอียดต่างๆ มีความหมาย และมีความสอดคล้องไปด้วยกัน ซึ่งข้อมูลที่มีจำนวนมากนั้น ทำให้เราต้องศึกษาและทบทวนในช่วงเวลาที่มีจำกัด จึงต้องวางโครงสร้างงานในงานแต่ละวันที่จะจัดขึ้น


"เหมือนเราทำโครงการ โดยเริ่มจากการวางหัวเรื่องไว้ก่อน แล้วไปเติมจุดย่อยๆ จากข้อมูลที่เตรียมไว้ บวกกับการสัมภาษณ์แหล่งข่าวเพิ่มเติม อาทิ สัมภาษณ์ฝ่ายทหารที่รับผิดชอบหน้าที่ ถึงแม้การสัมภาษณ์ทหารจะไม่เกี่ยวกับหน้าสตรี แต่อยากจะเข้าไปทราบถึงรายะละเอียดของริ้วขบวนว่ามีรายละเอียดอย่างไร เพราะอยากไปรู้ด้วยตัวเองเพื่อจะนำข้อมูลมาเขียนข่าวให้ถูกต้องในวันที่มีพระราชพิธี"

"ช้องมาศ" ยังเล่าให้ฟังอีกว่า นอกจากนี้ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ยังมีทีมงานทำสกู๊ปด้านนี้ด้วย ส่วนเราได้ทำข่าวส่งให้หน้าหนึ่ง ซึ่งจะเป็นข้อมูลด้านพิธีการต่างๆ โดยหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จะมีข่าวสารงานพระราชพิธีทุกวัน เพื่อเป็นให้คนอ่านรับรู้ ขณะที่เพื่อนๆสื่อมวลชนที่ได้ทำข่าวพระราชพิธีทุกคนก็รู้สึกดีใจ และเป็นเกียรติ เพราะทุกคนมีความตั้งใจที่จะทำหน้าที่นี้ ซึ่งความยากจุดหนึ่งคือเรื่องความถูกต้องที่ต้องสื่อสารออกมาที่จะผิดไม่ได้เลย นอกจากนี้ต้องใช้ความพยายามในการปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม ถึงจะหนักแต่ทุกคนก็สู้

"ข่าวทุกคนที่ทำมาตั้งใจทำให้ดีที่สุดอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มทำงาน ซึ่งรุ่นพี่จะสอนมาเสมอว่า การทำข่าวต้องรอบคอบ ถูกต้อง และต้องตรวจทานทุกครั้งก่อนส่ง เพราะเราเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้ทุกอย่างถูกบันทึกไว้ สิ่งที่ทำจะเป็นประโยชน์ต่อคนอ่านคนรุ่นหลังในอนาคต ในฐานะประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ เหมือนที่เราศึกษาค้นคว้าสิ่งที่คนในอดีตเคยบันทึกไว้"

"ช้องมาศ" ทิ้งท้ายด้วยว่า ส่วนความนิยมของหนังสือพิมพ์ที่บันทึกเรื่องรางพระราชพิธีฯครั้งนี้ เชื่อว่าจะได้รับความนิยมเหมือนที่ผ่านๆ มา ถึงแม้สื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมจำนวนมาก ที่สามารถนำเสนอภาพได้มากกว่า แต่ภาพของหนังสือพิมพ์จะถ่ายทอดเรื่องราวทุกอย่างภายในงานพระราชพิธีได้เช่นกัน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้อ่าน เพราะหนังสือพิมพ์ก็เป็นอีกหนึ่งบันทึกมางประวัติศาสตร์ที่ควรจะสะสมไว้

 


ขณะที่ "ปาล์ม" ภานุมาศ สงวนวงษ์ ผู้ก่อตั้ง Thai news pix หรือ TNP สำนักข่าวที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและประเด็นข่าว ด้วยภาพถ่าย วีดีโอ และสื่อมัลติมีเดีย กับหน้าที่ครั้งสำคัญในการถ่ายทอด"ภาพ" ในงานพระราชิธีบรมราชาภิเษก โดย "ภานุมาศ" บอกว่า ช่างภาพได้เตรียมพร้อมไว้ทุกๆ อย่าง คล้ายกับนักข่าว เพียงแต่ว่า ช่างภาพจะมีบัตรที่กรมประชาสัมพันธ์ออกให้เพื่อใช้สำหรับขึ้นสแตนไปถ่ายภาพ ซึ่งขณะนี้ช่างภาพทุกสำนักข่าวจะรู้จุดสำหรับขึ้นสแตนในแต่ละจุด รวมถึงความพร้อมของการแต่งกายให้ถูกต้องตามระเบียบ โดยที่ผ่านมามีการซักซ้อมช่างภาพไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งการทำงานของช่างภาพต้องวางแผนหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการดูมุมภาพในแต่ละช่วงของการซ้อมของพระราชพิธี

นอกจากนี้ต้องดูเรื่องของแสง ระยะเลนส์ที่ต้องใช้ อุปกรณ์ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมก่อนการทำงาน ซึ่งการซ้อมใหญ่เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ทราบชัดเจนเรื่องมุมการถ่ายและภาพที่คาดว่าจะได้เป็นอย่างไร รวมถึงการได้ภาพที่ดีที่สุดในมุมนั้นจะอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นมุมภาพที่จะได้แต่ละตำแหน่งในแต่ละสแตนจะพอเห็นคร่าวๆ แล้ว โดยเป้าหมายสำคัญในวันงานต้องอยู่ในจุดที่ดีที่สุดในสแตนที่เราอยู่ เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด


ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้บรีฟมาให้ทราบว่า รูปไหนจะเหมาะสม รูปไหนจะมีความสวยและสง่างามให้สมพระเกียรติ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของช่างภาพในสนาม แต่ช่างภาพที่ไม่ได้ไปถ่ายงานหรือต้องอำนวยการทำหน้าที่ Photo Editor ต้องดูภาพที่ได้มาว่าภาพไหนเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม ภาพไหนอยู่ในระเบียบหรือยังมีข้อผิดพลาดที่ไม่ควรจะเผยแพร่ ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนจะต้องมีข้อควรระวังและศึกษา เช่น การเตะเท้าแบบไหนจะถูกต้องตามหลักการของทหาร หรือระนาบของแถวเป็นอย่างไร รวมไปถึงความเข้มแข็ง ก็ต้องเป็นการเตรียมงานก่อนถึงพระราชพิธี

"เราต้องรู้ว่าแต่ละริ้วขบวนมีความสำคัญออย่างไร ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมว่าแต่ละริ้วขบวนมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการจัดผังของริ้วขบวนเพื่อจะได้ทราบว่าจะต้องถ่ายใครและบริเวณไหน ใครมาก่อนหรือหลังของริ้วขวน โดยเหตุผลสำคัญเพราะพระราชพิธีเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ นอกจากเงื่อนไขการทำงานต้องถ่ายภาพออกมาให้สวยแล้ว ต้องเก็บรายละเอียดของพระราชพิธีไว้ในอนาคต เพื่อวันใดมีการกล่าวถึงและย้อนกลับมาในเหตุการณ์ ก็จะเห็นว่าภาพเหล่านี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์"

"ภานุมาศ" บอกว่า หลายสิ่งเรามาเคยเห็นมาก่อน ทำให้ตัวภาพค่อนข้างสำคัญในทุกริ้วขบวน ยิ่งถ้าทำให้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดได้ จะทำให้ภาพถ่ายมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ ขณะที่ข่าวที่นักข่าวจะรายงานออกมานั้น จะมีภาพประกอบไปในฐานะเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ด้วย เชื่อว่าทุกคนคาดหวังจะได้ภาพถ่ายออกมาให้ดีที่สุด เพียงแต่ว่าดีที่สุดของแต่ละคนมีเงื่อนไขที่ต่างกัน หรือมีข้อมูลที่ไม่เท่ากัน หรือเรื่องของมุมภาพเมื่อขึ้นสแตนที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของพิธีการ และที่เราได้มีพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ จึงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะพยายามถ่ายทอดหัวใจของงานคือความสมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 10

ส่วนริ้วขบวนซึ่งเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ จะได้เห็นศิลปวัฒนธรรมมรดกของชาติตั้งแต่โบราณ เป็นความงดงามของริ้วขบวน เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับต่างๆ เป็นเรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามาก การถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาผ่านภาพถ่ายในการนำเสนอของสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่ต้องให้ความสำคัญค่อนข้างมาก

"เพื่อนๆ ช่างภาพที่ได้พูดคุยนั้น รู้สึกตื่นเต้นที่จะเป็นครั้งแรกในการทำงานที่สำคัญ ซึ่งทุกครั้งที่ได้ถวายงานพระราชวงศ์ก็เป็นความภูมิใจ ที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของงาน ซึ่งจากการซ้อมที่ผ่านมาช่างภาพหลายคนพยายามหามุมถ่ายให้ดีที่สุด ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีทั้งหมด เป็นความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ”

"ภานุมาศ" บอกความรู้สึกให้ฟังด้วยว่า เราได้ทำงานถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นเบื้องหลังของการเตรียมงานพระราชพิธี ประกอบด้วยคนเล็กๆ น้อยๆ จำนวนมาก แม้แต่คนที่ประดับประดาตกแต่งสถานที่ตลอดเส้นทางราชดำเนิน ก็มาจากประชาชน จิตอาสา เจ้าหน้าที่ เราก็ต้องบันทึกภาพไว้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ส่วนอีกมุมของช่างภาพต้องถ่ายภาพให้สวยงาม เพื่อเป็นบทบันทึกหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอีกบริบทหนึ่ง เช่น โลเคชั่นเปลี่ยนไป คนก็เปลี่ยนไป ศิลปวัฒนธรรมบางอย่างก็จะเปลี่ยนไป จึงเหมือนกับว่าเมื่อเปลี่ยนรัชกาลก็มีความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะมีผู้ที่อยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าที่ถูกบันทึกไว้ในภาพถ่ายอีกมุม ก็มาจากคนที่บันทึกภาพ และตัวเขาซึ่งได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ครั้งนี้ จะจดจำและภูมิใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์ด้วย

บางคนที่ทำงานกลางแดด เขาก็ไม่รู้สึกว่าเหนื่อย บางคนมาไกล แต่เขามีจิตอาสาที่อยากจะทำ ถึงจะเป็นคนตัวเล็กๆ แต่ก็ขาดไปไม่ได้ จึงคิดว่าถ้าได้ถ่ายทอดภาพเหล่านี้ออกไปจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ตลอดงานพระราชพิธี