อีกเพียงไม่กี่วัน (1 ก.ค.) จะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญในประเทศจีน 3 วาระด้วยกัน
วาระแรก คือ การฉลองครบรอบ 100 ปี การสถาปนา “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน” ซึ่งปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองที่คุมอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จอยู่เพียงผู้เดียว
วาระที่สอง คือ ครบรอบ 24 ปี สหราชอาณาจักรส่งคืนฮ่องกงกลับคืนสู่จีน จุดเริ่มต้นการปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่จีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะธำรงสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกงไว้ตามเดิม
วาระที่สาม คือ ครบรอบปีแรกของ “กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ” ที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ตราขึ้นเมื่อปี 2563 ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะต่อต้านพฤติกรรม “ก่อการร้าย” หรือ “แบ่งแยกดินแดน” ในฮ่องกง พร้อมอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต
ทั้งสามวาระดูจะมาบรรจบกันเป็นเรื่องเดียวกันพอดีในช่วงสัปดาห์นี้ เมื่อสำนักข่าว “Apple Daily” สื่อหัวสีชื่อดังในฮ่องกง ต้องปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ หลังดำเนินงานมา 26 ปี เนื่องจากโดนตำรวจฮ่องกงดำเนินคดีในข้อหาละเมิดความมั่นคงของชาติ พร้อมอายัดทรัพย์สินกว่า 18 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 74 ล้านบาทไทย ทำให้บริษัทไม่สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้และต้องเลิกกิจการไปโดยปริยาย
ฝ่ายตำรวจฮ่องกงระบุว่าหนังสือพิมพ์ Apple Daily สนับสนุนขบวนการประท้วงในฮ่องกงอย่างชัดเจน และมีพฤติกรรมบ่อนทำลายความมั่นคงรัฐจีนด้วยการตีพิมพ์บทความสนับสนุนให้ต่างชาติคว่ำบาตรรัฐบาลจีน
ก่อนหน้านี้ ตำรวจฮ่องกงได้ยกกำลังถึง 500 นาย เข้าตรวจค้นออฟฟิศของ Apple Daily พร้อมกับรื้อค้นคอมพิวเตอร์และสมุดโน้ตส่วนตัวของนักข่าวอย่างไม่สนใจความเป็นส่วนตัว โดยระบุว่าเป็นการเข้าตรวจค้นเพื่อหาหลักฐาน และยังได้จับกุมตัวผู้บริหาร Apple Daily รวม 5 คน ทั้งหมดโดนตั้งข้อหา “สมคบคิดกับต่างชาติเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของจีน”
ถ้าใครจำกันได้ เมื่อปีที่แล้วตำรวจฮ่องกงก็ได้เข้าจับกุม “ไหล่จี้เย็ง” หรือ “จิมมี่ ไหล” มหาเศรษฐีเจ้าของสำนักข่าว Apple Daily ในข้อหาสมคบคิดกับขบวนการต่างชาติเช่นกัน พร้อมโดนพ่วงข้อหาฉ้อโกงอีกกระทงด้วย ปัจจุบันนายจิมมี่ยังถูกควบคุมตัวในเรือนจำ
เพื่อนร่วมอาชีพสื่อมวลชนในฮ่องกงและองค์กรสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก จึงมองวิบากกรรมของ Apple Daily ว่าเป็นการ “ปิดปาก” สื่อเจ้านี้อย่างชัดเจน เพราะ Apple Daily ติดตามรายงานการข่าวประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงหลายครั้ง และเจ้าของสื่ออย่างนายจิมมี่ก็วิจารณ์รัฐบาลจีนอย่างเผ็ดร้อนมาตลอด
สมาคมนักข่าวฮ่องกงพร้อมองค์กรพันธมิตร ร่วมออกแถลงว่ารู้สึก “โกรธแค้นและเจ็บปวด” อย่างมากที่เห็นสื่ออิสระอย่าง Apple Daily ถูกกดดันให้ปิดกิจการ พร้อมเรียกร้องสมาชิกให้สวมชุดดำเพื่อประท้วงการริดรอนเสรีภาพสื่อภายใต้รัฐบาลฮ่องกง
ด้านแอมเนสตี้ องค์กรรณรงค์สิทธิมนุษยชนชื่อดัง กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเสมือน “วันที่มืดมนที่สุดของเสรีภาพสื่อในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของฮ่องกง”
“การจับกุมพนักงาน Apple Daily รวมถึงยึดและระงับสื่อสิ่งพิมพ์ ได้สั่นสะเทือนและส่งผลกระทบต่อสื่อทุกแห่งที่ทำงานในฮ่องกง รวมถึงสร้างความตื่นตระหนกกับผู้อ่าน ว่าขณะนี้การบริโภคสื่อกำลังถูกควบคุมโดยทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับผู้คนในจีนแผ่นดินใหญ่” แถลงการณ์ระบุ
ส่วนรัฐบาลสหราชอาณาจักร อดีตจ้าวอาณานิคมฮ่องกง ก็โจมตีรัฐบาลปักกิ่งและกฎหมายความมั่นคงของจีนว่าเป็นปรปักษ์กับสิทธิเสรีภาพสื่อในฮ่องกงอย่างเห็นได้ชัด
“เป็นเรื่องชัดเจนแล้วว่าอำนาจภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพและลงโทษผู้เห็นต่าง” ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรกล่าวในแถลงการณ์
ด้านรัฐบาลจีนก็รีบตอบโต้ผ่านสื่อในมือตนเองทันที เช่น Global Times สื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ตัวเอ้ เผยแพร่ความเห็นของนักกฎหมายและนักวิชาการที่ชี้ว่า Apple Daily ไม่สมควรถูกนับเป็นสื่อ เพราะมีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายของบ้านเมืองโดยชัดเจน และการกระทำของสื่อแห่งนี้คือการอ้างความเป็นสื่อมวลชน เพื่อยุยงให้เกิดความแตกแยกเท่านั้น
นอกจากนี้ บรรดาสื่อรัฐจีนยังระบุว่า Apple Daily เป็นเพียงฉากหน้าของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ชาติตะวันตกเป็นคนชักใยอยู่เบื้องหลัง
“การปิดตัวลง [ของ Apple Daily] จะช่วยยุติความเพ้อฝันทางการเมืองของประเทศตะวันตก ที่คิดจะใช้พวกต่อต้านรัฐบาลหัวรุนแรงในการแทรกแซงฮ่องกง เพื่อยุยงให้เกิดการปฏิวัติล้มรัฐบาลในจีน” ข่าว Global Times ฉบับวันที่ 24 มิ.ย. รายงาน
แต่ไม่ว่าเจตนาที่แท้จริงของ Apple Daily และนายจิมมี่จะเป็นอย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าสถานการณ์เสรีภาพสื่อในฮ่องกงอยู่ในภาวะลำบากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนมีผลบังคับใช้เมื่อเทียงคืนของวันที่ 1 ก.ค. 2563
ทบทวนกันอีกทีว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวให้อำนาจรัฐบาลและตำรวจฮ่องกงอย่างเต็มที่ในการปราบปรามกิจกรรมใดๆ อันเชื่อได้ว่ามีลักษณะ “ก่อการร้าย” หรือ “ต่อต้านอำนาจรัฐบาลแผ่นดินใหญ่” หรือ “สนับสนุนการแยกดินแดน” และ “ร่วมมือกับกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่างชาติ”
มีบทลงโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต ตำรวจสามารถควบคุมตัวและอายัดทรัพย์สินได้โดยไม่ต้องอาศัยหมายศาล และจีนมีสิทธิ์นำตัวผู้ต้องหาไปพิจารณาไต่สวนที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ด้วย
รัฐบาลจีนยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้มีไว้เพื่อลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำผิด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวบทเขียนไว้อย่างกว้างครอบจักรวาลมากจนไม่มีใครทราบได้ว่า การกระทำใดบ้างที่จะเข้าข่ายความผิด
เช่น กรณีผู้ชุมนุมคนนึง ขี่มอเตอร์ไซค์โบกธงต่อต้านรัฐบาลผ่านแนวกั้นของตำรวจ เมื่อตำรวจวิ่งไล่ตาม จึงชนเข้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าหากเป็นเมื่อก่อน ผู้ชุมนุมคนนี้ก็คงจะถูกตั้งข้อหาจราจรและทำร้ายเจ้าพนักงาน แต่เขากลับโดนตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงทันที เนื่องจากตำรวจถือว่าเป็นพฤติกรรมเข้าข่าย “ก่อการร้าย”
เมื่อต้นเดือนพ.ค. สมาคมนักข่าวฮ่องกงก็เพิ่งเผยแพร่รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นการสำรวจกับความคิดเห็นนักข่าวและคนทำงานด้านสื่อมวลชนในฮ่องกง 367 คน ผลปรากฎว่า ดัชนีเสรีภาพสื่อฮ่องกงร่วงไปอยู่ 32.1 จากคะแนนเต็ม 100 นับเป็นจุดต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 2556
นักข่าวในผลสำรวจกว่า 98% ระบุว่าตนทำงานยากขึ้นเพราะกฎหมายความมั่นคง เนื่องจากไม่ทราบว่าข้อความใดหรือข่าวใดอาจผิดกฎหมายที่มีโทษอัตราสูง จึงไม่กล้ารายงานข่าวนั้นๆแต่แรก กลายเป็นการสร้างวัฒนธรรม “เซนเซอร์ตัวเอง”
ยิ่งเคยมีกรณีตัวอย่างมาแล้วว่า ศาลฮ่องกงได้ปฏิเสธที่จะให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติคนหนึ่ง โดยใช้ข้อความที่ผู้ต้องหาให้สัมภาษณ์สื่อเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีด้วย และผู้แทนกรมตำรวจฮ่องกงก็เคยเตือนว่า ประชาชนที่แชร์ข่าวของ Apple Daily ก็อาจจะมีความผิดด้วยเช่นกัน
แม้แต่ RTHK สื่อสาธารณะของฮ่องกง (คล้ายๆ Thai PBS บ้านเรา) ก็ยังถูกกระแสกดดันจากกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ มีการสับเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่เป็นข้าราชการที่ไม่มีภูมิหลังในวงการสื่อแต่อย่างใด (ต่างจากผู้บริหารคนก่อนๆ) พร้อมนโยบายหั่นรายการข่าวและทอล์กโชว์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยอ้างว่า “เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ”
แต่ขณะเดียวกัน แครี่ หลำ ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง กลับได้รายการพิเศษของตนในช่อง RTHK ออกอากาศถึงวันละ 4 เวลา เพื่ออธิบายนโยบายต่างๆของรัฐบาล ทำให้ฝ่ายค้านวิจารณ์กันขรมว่า กลายเป็นการเอาภาษีประชาชนมาซื้อแอร์ไทม์ให้รัฐบาลหรือไม่?
ผู้ที่รับผลกระทบไม่ได้มีแค่เพียงนักข่าวฮ่องกงด้วยเท่านั้น แต่ผู้สื่อข่าวต่างชาติก็เริ่มตกเป็นเป้าด้วยเช่นกัน เริ่มมีกรณีนักข่าวต่างชาติถูกเตะถ่วงเวลาต่อวีซ่า บางคนที่มีประวัติเขียนข่าวเชิงวิจารณ์รัฐบาลจีนถูกถอนวีซ่าไปเลยก็มี
สำนักข่าว New York Times สื่อชื่อดัง ถึงกับต้องย้ายทีมงานบางส่วนจากฮ่องกงไปเกาหลีใต้แทน เพราะไม่สามารถรับรองสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าวต่างชาติภายใต้กฎหมายความมั่นคงของจีนได้
สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ยิ่งใกล้วันครบรอบการส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน และครบรอบศตวรรษของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทางการฮ่องกงและปักกิ่งอาจยิ่งต้องมี “แอคชั่น” ที่แข็งกร้าวเพื่อกำราบผู้เห็นต่างในฮ่องกงให้ดูจุดจบของ Apple Daily เป็นเยี่ยงอย่าง ก็เป็นได้