สงครามโรคระบาด บทเรียนทำข่าวยุคโควิด “ความตาย…ที่มองไม่เห็น”

“เรากำลังต่อสู้กับสิ่งที่ไม่มองไม่เห็น เราจะได้อยู่รอด ...เราเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง เราไม่ต้องเสี่ยง ถ้าประเมินแล้วไม่ปลอดภัยเราก็ไม่ต้องเข้าไป แต่สำคัญ คือ เราต้องได้ภาพ ที่อื่นอาจใช้วิธีโทรสัมภาษณ์ แต่ถ้าเราดูแล ป้องกันตัวเองดีก็ลงพื้นที่หาความจริง ไม่ประมาท ยังไงเราก็ปลอดภัย”

อโนทัย สกุลทอง ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี


สถานการณ์การระบาดโควิดระลอกสามตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กระทบต่อการทำงานต่อบุคลากรสื่อที่ต้องลงพื้นที่เสี่ยง จุลสารราชดำเนินพูดคุยกับ นักข่าว ช่างภาพ ถึงการปรับวิธีการทำงาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด

อโนทัย สกุลทอง ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี อายุงาน 10 ปี เธอลงพื้นที่รายงานสดสถานการณ์โควิดตั้งแต่เมษายนปีที่แล้วในการระบาดรอบแรกจนถึงรอบสามปัจจุบัน ถือเป็นผู้สื่อข่าวที่เกาะติดพื้นที่ทำข่าวการระบาดมากที่สุดของค่ายเนชั่น ผลจากการลงพื้นที่ทุกวันทำให้เธอต้องไปตรวจผลโควิดรวมไป 9 ครั้ง กักตัวอีก 3 ครั้ง ในรอบปีเศษ

เธอบอกว่า  การรายงานสดส่วนใหญ่จะไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ต้องการความช่วยเหลือ  รวมถึงทำรายงานพิเศษสะท้อนปัญหามุมมอง การจัดการในพื้นที่ ส่วนการทำงานก็ยากลำบาก ทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะ ทั้งการทำข่าว หรือ การหาภาพ เก็บข้อมูล การเข้าพื้นที่  บางครั้งการสัมภาษณ์แหล่งข่าวต้องใช้วีดีโอคอลแทน ส่วนการปรับลดรายได้ก็มีบ้างในช่วงระบาดรอบแรก แต่พอสถานการณ์กลับมาปกติ บริษัทก็จ่ายเงินตามเดิม

อโนทัย สกุลทอง ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี

0 สงครามโรคระบาด เปิดประสบการณ์ทำงานใหม่

ประสบการณ์ช่วงลงพื้นที่ รอบแรกผลจากการระบาดที่อู่ฮั่น จะไปทำข่าวที่ชลบุรี  สัตหีบ ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ รอบสองอยู่ที่คลัสเตอร์สมุทรสาคร 24 วัน วางแผนวันต่อวันกับช่างภาพจะไปจุดไหนที่ยังไม่ได้แก้ปัญหา ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานข้ามชาติ การสื่อสารก็อาจลำบากบ้าง  ช่วงนั้นจะใช้อุปกรณ์ป้องกันเต็มที่ ใส่หน้ากากอนามัยสองชั้น ใส่ถุงมือ ส่วนรอบสามจะหาชุดป้องกันหลวมๆ มาเพิ่ม เช่น ชุดกันฝน หมวกคลุมผม แอลกอฮอล์จะใช้มากกว่าทุกรอบซึ่งบริษัทจัดหาให้ส่วนใหญ่

การทำงานรอบสาม เราจะเน้นในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างในกทม. มีชุมชนที่เข้าไม่ถึงการตรวจเชิงรุก หรือ เข้าไม่ถึงวัคซีน เราก็ไปถามเขาจะเลือกไปในพื้นที่ที่มีปัญหา เช่น คลองเตย แคมป์คนงานหลักสี่ ชุมชนแออัดอื่น เช่น วัดญวน คือ ทุกที่ที่เป็นคลัสเตอร์ใหม่ในต่างจังหวัดก็จะไป

กลัวติดเชื้อไหม?   .... เธอบอก ก็กลัวแต่พอผ่านการทำข่าวที่สมุทรสาครมาแล้วและไม่ได้ติดเชื้อก็มาถอดบทเรียนตัวเอง เพราะอะไร ได้คำตอบว่า เพราะเราดูแลตัวเองดีในระดับหนึ่ง การใส่หน้ากากอนามัยสองชั้นจะไม่ถอดหน้ากากในพื้นที่เสี่ยงและใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ตลอดเวลา ใส่ถุงมือด้วยพอลงพื้นที่เสร็จภารกิจก็จะถอดทิ้งทันที

เธอบอกว่า ผลจากการลงพื้นทำให้ต้องกักตัวไป 3 รอบ เช่น รอบแรก ช่วงกลับจากสมุทรสาคร มารู้ภายหลังว่า จุดที่ไปทำข่าวมีคนติดเชื้อสูงถึง 500 คน ออฟฟิศก็ให้กักตัว ที่เนชั่นดีอย่างจะหาสถานที่กักตัวทางเลือกที่ ASQ 14 วัน แต่พอรอบสองหลังกลับจากสมุทรสาครเราก็มุ่งหน้าไปกักตัวเลย ตอนรอบสามจะลำบากเพราะ ASQ เต็มหมด และตอนนั้นมีข่าวว่า น้องไปที่ข่าวด้วยกันติดโควิด ความลำบาก ก็คือ การไปหาสถานที่ตรวจโควิด เพราะไม่รู้จะไปตรวจที่ไหน ประสานที่โรงพยาบาลของประกันสังคม เขาก็รับแค่ไม่กี่ร้อยคนต่อวัน สุดท้ายไปตรวจที่สนามไทยญี่ปุ่นดินแดง นั่งรถสาธารณะไปตรวจเองเพราะไม่มีรถส่วนตัว แต่พอผลไม่ติด ทำให้เรามั่นใจเรื่องการดูแลตัวเองของเรา

“ตอนกักตัวที่โรงแรมทุกครั้งก็ทำงานด้วยใช้วิธีวีดีโอคอล สัมภาษณ์ ผ่านโทรศัพท์ช่างภาพ พอสัมภาษณ์เสร็จ เราก็บอกช่างภาพ ให้ช่วยหาภาพอะไรบ้างในการทำสกู๊ป เวลาลงเสียงสกู๊ปก็จะลงจากโทรศัพท์แล้วก็ประสานออฟฟิศในการตัดต่อ”

สำหรับเธอการทำข่าวยุคโรคระบาด ได้ช่วยเปิดประสบการณ์การทำงานรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเจอ สิ่งสำคัญ เป็นการทำข่าวที่ต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย 

อโนทัย สกุลทอง ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี

“ถ้าให้นิยาม คือ เรากำลังต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็น เราจะได้อยู่รอด ...เราเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง เราไม่ต้องเสี่ยง ถ้าประเมินแล้วไม่ปลอดภัยเราก็ไม่ต้องเข้าไป แต่สำคัญ คือ เราต้องได้ภาพ ที่อื่นอาจใช้วิธีโทรสัมภาษณ์ แต่ถ้าเราดูแล ป้องกันตัวเองดีก็ลงพื้นที่หาความจริง ไม่ประมาท ยังไงเราก็ปลอดภัย”

รายงานสดมาหลายสถานการณ์ หากให้เปรียบการทำข่าวยุคโควิดกับยุคม็อบ เธอว่า เป็นสงครามคนละแบบ อันนั้นเป็นสงครามความเห็นต่าง การต่อสู้ แต่อันนี้เป็นไวรัสสิ่งมีชีวิตที่เรามองไม่เห็น เราก็ไม่รู้จะเข้ามาหาตัวเองเมื่อไร แต่ถ้าเรามีเกราะป้องกันตัวเองดีเมื่อไร มันน่าจะช่วยป้องกันตัวเองได้

เธอฝากถึงเพื่อนๆ พี่ๆนักข่าวว่า ไม่ว่าเราจะไปทำข่าวที่ไหน อยากให้ป้องกันดูแลตัวเองให้ดี ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท อย่าคิดว่า ตรงนั้นไม่มีคนติด  คนที่ไปลงพื้นที่เสี่ยงแล้วป้องกันตัวเองก็ไม่ติด  บางคนที่ติด บางทีเขาไปในสถานที่ที่คิดว่า อาจไม่มีคนติดโควิด เขาก็จะดูแลตัวเองในระดับหนึ่ง แต่อาจไม่ได้ดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ


0 คิดประเด็นยากขึ้น หวาดกลัวแต่ก็ต้องปลอดภัย

ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม ช่างภาพข่าวสำนักข่าว THE STANDARD ประสบการณ์ทำงาน10 ปี ให้สัมภาษณ์กับเราขณะกักตัวว่า การทำงานในช่วงสถานการณ์วิกฤตเป็นเรื่องไม่ง่าย กระทบกันหมดทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ช่างภาพนิ่ง ทีวี นักข่าวภาคสนามเหมือนกัน อย่างเราช่างภาพต้องลงพื้นที่ในจุดที่เกิดเหตุจริง อย่างช่วงโควิดปีที่แล้วเราเบ่งประเด็นกันเต็มที่ พอมาเจอการระบาดระลอกสอง มันก็ยากขึ้นเพราะมีแต่มุมเดิมๆ เป็นประเด็นซ้ำๆ ไม่ว่า การล็อคดาวน์ การห้ามกินที่ร้าน เหมือนเราไปถ่ายงานเดิมๆ แล้วมาเล่าใหม่

“ช่างภาพข่าวไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศ ทุกครั้งที่เราออกไปทำงาน เราเจอคนมากมาย เราไม่รู้ว่าไปรับเชื้อจากใครมา การเซฟตัวเองอย่างเดียวไม่พอ ยังต้องเซฟคนอื่นด้วย ข้อจำกัดในการทำงานจึงมีมาก”

ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม ช่างภาพข่าวสำนักข่าว THE STANDARD

การระบาดรอบสาม ความหวาดกลัวมันต่างจากครั้งแรกมาก เราจะไม่เข้าไปใกล้เพื่อนๆ หรือใกล้แหล่งข่าวเหมือนที่ผ่านมาค่อนข้างจะป้องกันตัวเอง รีบทำงานให้เสร็จในแต่ละวัน คือ พอเพียงกับการสะท้อนเรื่องราวในพื้นที่และก็รีบกลับบ้าน ทำความสะอาดตัวเอง จะไม่อ้อยอิ่ง หาประเด็นหามุมถ่ายไปเรื่อยมาต่อยอดเหมือนแต่ก่อน เช่น เคสปิดแคมป์คนงานก่อนสร้าง เคสตลาดสด แต่ก่อนเรายังกล้าเดินคุยกับคนในพื้นที่ถามถึงผลกระทบ ความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือไม่ แต่ตอนนี้แตกต่างสิ้นเชิง เพราะเราไม่รู้ใคร แม้กระทั่งตัวเราเป็นพาหะหรือไม่

ชาติกล้า กล่าวว่า ปัญหาโควิด คนสนใจมาก เพราะมันคือความเดือดร้อนที่ใกล้ตัวไม่เหมือนความขัดแย้งทางการเมือง จำนวนคนที่เข้ามาอ่านในสำนักข่าว หรือ แชร์ ก็มีมาก การคิดหาประเด็นภาพข่าว  กองบรรณาธิการจะประชุมร่วมกันว่า เรื่องไหนที่นำเสนอแล้วแตกต่างจากสำนักข่าวอื่น หรือ สังคมได้สาระมากที่สุด จะไม่บอกว่า แคมป์คนงานถูกปิด ไปถ่ายรูปมา แต่เราจะนำเสนอหาวิธีป้องกันด้วย  อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการทำงานในช่วงโควิดที่มากขึ้น เราคิดว่า มันควรจะได้เนื้องานที่มากกว่านี้ 

ประสบการณ์ที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด ชาติกล้า เล่าว่า เจอมาแล้วสองครั้ง ที่สมุทรสาครได้เข้าไปถ่ายภาพช่วงที่คนงานต่างชาติเข้ามาตรวจ แหย่จมูก ตอนแรกเห็นอยู่แค่ 4 คนพอเลี้ยวไปดูอีกมุม เห็นเป็นพันคนในตรอกนิดเดียว ก็ตกใจเราประเมินแล้วไม่รู้จะติดเชื้อหรือไม่ สิ่งแรกที่ทำคือ โทรกลับไปบอกกองบก.ว่า เจออย่างนี้ เสี่ยงแน่นอนแล้ว กองบก. ก็บอกให้กลับ และรีบกักตัว

อีกเรื่อง หลังศาลปล่อยตัวแกนนำราษฎร “รุ้ง-ปนัสยา” ออกจากเรือนจำ พอผ่านไป ปรากฏว่า รุ้ง ประกาศติดโควิด ซึ่งเราไปถ่ายภาพช่วงปล่อยตัวก็ต้องรีบไปตรวจเชื้อแล้วก็กักตัว เพราะพ่อแม่ พี่สาวรุ้งเขาติดหมด ช่วงกักตัวเราก็ช่วยออฟฟิศทำงาน ดูหมายงาน จัดการรูป เห็นเรื่องไหนน่าสนใจก็จะแจ้ง

0อย่าให้พนักงานต้องเสี่ยง นายจ้างต้องดูแลให้เหมือนลูกตัวเอง

เขาเล่าว่า ในหมู่ช่างภาพทราบว่า มีเพื่อนๆ และ พี่ๆ จากสำนักอื่น ได้รับผลกระทบติดเชื้อโควิดบ้าง และเข้าสู่การรักษา เท่าที่รู้ประมาณ 3 คน บางเรื่องก็รู้สึกไม่สบายใจขณะที่ทุกคนระมัดระวังตัว  แต่ก็มีช่างภาพรายหนึ่งไปอยู่ในกลุ่มที่มีการติดเชื้อ ก็ยังออกมาทำงาน ก็เลยโพสต์ในโซเชียลส่วนตัว ทำไมยังไม่กักตัว มองเป็นเรื่องเล็กหรือ 

“หลายบริษัท ไม่ให้ความร่วมมือกันจริงจัง ถ้าให้นักข่าว ช่างภาพ ไปทำงานในจุดเสี่ยงก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้เขาไปลงพื้นที่  เช่น ซื้อชุดป้องกันระดับหนึ่ง  จัดหาหน้ากากอนามัย สนับสนุนเขา และก็ต้องให้กักตัวเมื่อกลับมา แต่หัวหน้างานบางคนกลับให้ไปทำงานต่อ กลับมาถ่ายรูปเหมือนเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

...ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องสามัญสำนึก ความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า ถ้าไม่มีใครสำนึก ก็ต้องมีบทลงโทษออกมา ผมอยากให้บริษัทใหญ่ๆ มองว่า คนที่ทำงานภาคสนามเป็นลูกของคุณเอง  เป็นคนในครอบครัวคุณเอง บางทีบริษัทก็มองที่ผลงานมากกว่า ความปลอดภัยของพนักงาน

...บางบริษัท เราเข้าใจ ช่างภาพมีน้อย กักตัวหนึ่งคน กระทบกับการทำงานทั้งกองไปเลย   บางที่เขาใช้รถคันเดียวกัน มีช่างภาพนิ่ง มีนักข่าว หรือ ผู้ช่วยรวม 2  คน เวลาไปไหนไปด้วยกันตลอด บางคนเราเห็นตอนเขาไปสัมภาษณ์ รุ้ง พอรุ้งติดโควิด แต่เขาก็กักตัวแค่คนเดียว ไม่ได้กักทั้งทีม  ผมว่ามันไม่เกิดประโยชน์เพราะในเมื่อไปด้วยกันทั้งหมดด้วยรถคันเดียว แต่ก็เข้าใจเขาว่า ถ้าเขากักตัวทั้งหมด ออฟฟิศเขาก็ไม่มีคนทำงานเลย”

เมื่อให้นิยามการทำงานยุคโควิด  ชาติกล้า บอกว่า  “มันเป็นความตายที่เรามองไม่เห็น อย่างตอนทำงานม็อบ ความเสี่ยงเราประเมินด้วยความรู้สึก เช่น มีการเคลื่อนตัว แต่ยุคโควิด เรามองไม่เห็นเลยว่า เมื่อไรเราจะติดเชื้อ หรือตอนนี้เราก็ไม่รู้ว่า เราติดเชื้อแล้วหรือยัง


0ความเสี่ยงที่ไม่รู้ใครเป็นพาหะ งานที่ต้องปะปนกับผู้คน

กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ช่างภาพสำนักข่าว Thai News Pix  กล่าวว่า  อาชีพช่างภาพถือว่ามีความเสี่ยงแต่ก็ทุกอาชีพที่ออกไปที่สาธารณะล้วนเสี่ยงหมด การระบาดรอบแรก ต้องสลับกันทำงานเพื่อลดความเสี่ยง ทีมงานประเมินกันทุกวันว่า เราควรไปถ่าย ลงพื้นที่จุดไหน ที่ไม่เสี่ยงเกินไป ถ้าเสี่ยงสุดก็น่าจะเป็นพื้นที่ชุมนุมส่วนใหญ่ที่มักต้องไปทำข่าวซ้ำๆ และปะปนกับผู้คน รวมถึงพื้นที่ที่เป็นตลาด แคมป์คนงาน

กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ช่างภาพสำนักข่าว Thai News Pix 

“ภาพข่าวของการระบาดระลอกแรกจะเป็นภาพเมืองร้าง อาชีพที่ได้รับผลกระทบ พ่อค้าแม่ค้าที่เราเป็นปากเป็นเสียงให้เขา หรือ ภาพการลงทะเบียนคนจนที่เขาไม่มีสมาร์ทโฟน สต๊อกภาพพวกนี้เราถ่ายเก็บเรื่อย รวมถึง ภาพการฉีดวัคซีน ขวด เข็ม ใช้เป็นภาพประกอบข่าวได้”

กฤษณ์ กล่าวว่า ความเสี่ยง คือ เราไม่รู้ว่าแต่ละคนผ่านสถานที่เสี่ยงที่ไหนบ้าง เช่น การที่ไปเราต้องไปถ่ายภาพการชุมนุม ก็ไม่รู้มวลชนแต่ละคนไปที่ไหนมาบ้าง เราแยกแยะไม่ได้ อย่างเรื่องการปล่อยตัวแกนนำราษฎร พอพบว่า เขาติดโควิด เราก็ต้องไปตรวจเชื้อด้วยและก็หยุดงาน และยิ่งเราอยู่กับแม่และตาก็ต้องออกมากักตัวเอง หรือ แม้แต่เพื่อนรุ่นพี่ช่างภาพก็นั่งคุยกันข้างๆตามปกติที่กองปราบ แต่พอเขาไปตรวจเชื้อก็พบว่า ติดโควิดตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ กลายเป็นว่า เราเป็นผู้ที่ความเสี่ยง ต้องกักตัว แล้วก็ไปตรวจเชื้อ

สำหรับผลกระทบของบริษัท  กฤษณ์ กล่าวว่า Thai News Pix  มี2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นงานข่าว กับ ส่วนที่งานลูกค้า ส่วนหลังนี้งานหาย รายได้ลดลง การระบาดระลอก1-2 ยังมีงานเข้ามาบ้าง แต่พอระลอก 3 งานอีเว้นท์ลดลงระดับหนึ่ง แต่งานข่าวไม่ได้ลดลง เราก็ต้องประเมินว่า งานไหนลูกค้าพอจะใช้ภาพได้ ก็จะไปถ่ายภาพเก็บเป็นสต๊อกเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง