ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน สถาบันอุดมศึกษา-คณาจารย์ ไม่ปรับ ก็อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

 

 

 

 

ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน

สถาบันอุดมศึกษา-คณาจารย์

ไม่ปรับ ก็อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ทีมงานจุลสารราชดำเนิน


นอกเหนือจากนักข่าว-สื่อมวลชน-คนทำสื่อ-เจ้าของธุรกิจสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อแขนงใด สื่อใหม่-สื่อเก่า จะเป็น สื่อใหญ่-สื่อเล็ก ในยุคนี้ ต่างต้องปรับการทำงาน –จูนภูมิทัศน์ ของตัวเองและองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ในยุคสมัยปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะหากไม่ปรับ ต่อให้เป็นสื่อใหญ่-สื่อดัง ไม่ปรับตัวหรือปรับตัวช้า ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง  ก็อาจกลายเป็น “ผู้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

อีกหนึ่งบริบทที่สำคัญต่อวงการวิชาชีพสื่อสารมวลชน ก็คือ “สถาบันการศึกษา” ที่เปิดการเรียนการสอนวิชานิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน-วารสารศาสตร์ ทั้งของรัฐและเอกชน ที่สอนและผลิต นักข่าว-นักสื่อสารมวลชน-คนทำสื่อแต่ละแขนงออกมา ปีละจำนวนมาก แม้จะพบว่า ในหลายองค์กร รวมถึงคนทำสื่ออิสระ ก็จะเห็นได้ว่า ผู้บริหาร-นักข่าว-คนทำสื่อ จำนวนมาก ก็ไม่ได้จบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน กระนั้น ก็จะพบว่าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในองค์กรสื่อ จะมีผู้ที่จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ทำงานอยู่ในองค์กรในสัดส่วนที่มากกว่า คนที่ไม่ได้จบมาทางด้านนิเทศศาสตร์ ขณะเดียวกัน ยังคงมีนักเรียนสอบเข้าเรียนในสาขาด้านนิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแต่ละปีจำนวนไม่น้อย โดยหลายแห่งก็พบว่าสถิติการสมัครสอบก็ไม่ได้ลดน้อยลง

จึงย่อมแสดงให้เห็นว่า การเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ที่สอนด้านนิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์-สื่อสารมวลชน ยังมีความสำคัญอยู่ แม้ต่อให้ยุคปัจจุบัน จะมีการพูดกันว่า มีแค่โทรศัพท์มือถือ-แท็บเลต ใครๆ ก็สามารถส่งข่าวสาร แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ ได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องไปเรียนนิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน หลายปีกว่าจะจบ และจบแล้ว ก็ยังเสี่ยงต่อการตกงานในอนาคต แต่วาทกรรม-แนวคิดดังกล่าว ก็ยังมีความเห็นแย้งว่า ไม่ถูกต้อง เพราะนักข่าว-สื่อสารมวลชน –องค์กรสื่อ มีความแตกต่างจากคนปกติที่ไม่ได้เป็น ”สื่อตัวจริง-สื่อมืออาชีพ” ในเรื่องการทำงานข่าว-การสื่อสารต่อสังคม –ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งสื่อตัวจริง จะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่าในการสื่อสารและแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ

จรรยาบรรณ-ความรับผิดชอบต่อสังคม”

ในการเผยแพร่ข่าว-ความเห็นต่อสังคมในวงกว้าง ที่สื่ออาชีพ จะให้ความสำคัญและตระหนักในเรื่องนี้มากกว่าคนปกติทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป “สถาบันอุดมศึกษา-คณาจารย์” ที่เปิดสอน สอนหนังสือด้านนิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน ก็ต้องปรับองค์กร ปรับตัวเองในการสอนนักศึกษา เพื่อให้องค์กรอยู่ได้โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเอกชน  และที่สำคัญ เพื่อจะได้ผลิตนักศึกษา ออกมาทำงานด้านสื่อสารมวลชน ที่เมื่อจบมาแล้ว สามารถหางานทำได้ และที่สำคัญ เติบโตขึ้นมาเป็นสื่อมีคุณภาพของสังคม


โดยเรื่องดังกล่าว มีทัศนะที่น่าสนใจอย่างเช่น ข้อคิดเห็นของ “ดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา –อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ -อดีตเจ้าของและผู้ก่อตั้งนิตยสารคู่สร้างคู่สม –พิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดังที่อยู่ในวงการสื่อมาหลายสิบปี” ได้เคยให้ทัศนะไว้ว่าจากสภาพปัจจุบัน สถาบันการศึกษาที่สอนหลักสูตรด้านสื่อสารมวลชน ทั้งนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ควรต้องทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันได้แล้ว

“แน่นอนที่สุดต้องปรับ การปรับมีสองอย่างคือ ปรับหลักสูตร กับปรับอาจารย์ผู้สอน แต่ปรับหลักสูตรง่ายกว่าปรับอาจารย์ เพราะอาจารย์ก็คืออาจารย์ เพราะในเมื่อเวลานี้มันชัดเจนเลยว่า คนมีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว เขาก็ใช้โทรศัพท์ทำอะไรได้สารพัดอย่าง หลายคนไม่ได้เรียนวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์มา เขาก็ทำอะไรแล้วส่งเข้าไปในโซเชียลมีเดียจนประสบความสำเร็จ จะดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่เขาประสบความสำเร็จในเชิงคนดู ความนิยม"

“ดำรง” ให้ทัศนะว่า กลุ่มคนดังกล่าวข้างต้น ที่ไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์ ไม่ได้เป็นสื่ออาชีพจริง ๆแต่ใช้การเรียนรู้ด้านต่างๆ เช่น การตัดต่อถ่ายทำ ที่ปัจจุบันทำได้ง่ายเพราะเครื่องมือปัจจุบันทำให้ทำได้ง่าย สมัยก่อนเวลาจะถ่ายทอดสด โทรทัศน์ต้องส่งรถโอบีออกไป ใช้คนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และใช้กล้องหลายตัว ใช้ดาวเทียม แต่ปัจจุบันใช้แค่มือถือเครื่องเดียวก็ทำได้ โดยคุณภาพไม่ได้แตกต่างจากรถคันละ 20 ล้านบาท โดยมือถือแค่เครื่องละไม่กี่หมื่นบาทและทำทุกอย่างได้หมดเพียงคนเดียว โดยที่เขาอาจจบจากด้านอื่น ไม่ได้เรียนด้านนิเทศศาสตร์อะไรมาเลย

“ถ้าหลักสูตรนิเทศศาสตร์ไม่เปลี่ยน อาจารย์ไม่ปรับตัวเอง บัณฑิตออกมาก็จะเป็นคนละโลก คือเป็นโลกเก่าสมัยไม่มีโซเชียลมีเดีย การเรียนการสอนจึงควรต้องมุ่งเน้นไปในทางให้ คนที่เรียนต้องลงพื้นที่ภาคสนาม ไปหาประสบการณ์ มากกว่าเรียนทฤษฎี

หลานผมเขาเรียนนิเทศศาสตร์มาหนึ่งปี แล้วเขาคงไปค้นพบอะไรมาว่า สิ่งที่เขาเรียนมากับโลกความเป็นจริงในเวลานี้ เขาบอกผมว่าเขาจะลาออก แต่จนกระทั่งตอนนี้หลังจากที่เขาบอก ผมก็ยังไม่เจอเขา ซึ่งผมก็ไม่ได้คัดค้าน เพราะผมเข้าใจเขา “(ดำรง พุฒตาล-ไทยโพสต์ ธ.ค.2560)

สิ่งที่น่าติดตาม ก็คือ การปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา –คณาจารย์ ที่ทำการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์-การสื่อสารมวลชน ของรัฐและเอกชน ว่าในยุคปัจจุบัน ที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน –การบริโภคสื่อ ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แล้วสถาบันอุดมศึกษา-คณาจารย์ ได้รับรู้ถึงพลวัตรการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และมีการปรับตัวอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่เพียงองค์กรสื่อ-คนทำสื่อ ที่หากไม่ปรับตัว แล้วจะโดนทิ้งไว้ข้างหลัง “สถาบันอุดมศึกษา-คณาจารย์”ที่สอนด้านนิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน ก็อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังเช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ในวงการการศึกษา จะพบว่าหลายมหาวิทยาลัย มีการเปิดการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน แม้แต่บางมหาวิทยาลัย ที่มีชื่อเสียงในสาขาด้านแพทย์-วิทยาศาสตร์อย่าง”มหาวิทยาลัยมหิดล” ก็ยังมีการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชนเช่นกัน โดยพบว่า บางสถาบัน การเรียนการสอน ก็ไม่ได้ใช้ชื่อว่าคณะนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์-การสื่อสารมวลชน โดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างกันไป ขณะที่บางสถาบัน ก็ไปอยู่ในหลักสูตรการองค์รวม โดยมีการเปิดสาขาการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์อยู่ในคณะนั้นด้วย เช่น  คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

ทาง “กองบรรณาธิการ หนังสือ วันนักข่าว 5 มีนาคม 2562” ได้สัมภาษณ์-สอบถาม ความคิดเห็น ผู้บริหาร-คณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่ง เพื่อสอบถามถึงหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชน ของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งในสภาพการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่เปิดสอน –จำนวนนักศึกษาและคณาจารย์ของแต่ละแห่ง –การปรับหลักสูตรของสถาบันให้สอดคล้องกับสภาวะสื่อและธุรกิจสื่อในยุคปัจจุบัน –การจ้างงานนักศึกษาแต่ละสถาบันหลังจบการศึกษาไปแล้ว –ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน เพื่อให้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาวะสื่อยุคปัจจุบัน เป็นต้น

ซึ่งข้อมูลที่ กอง บก.ได้รับ ทางทีมงานได้มีการสัมภาษณ์ สอบถามความเห็นผู้บริหารและคณาจารย์หลายสถาบัน

แยกเป็น “สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ” ประกอบด้วย คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) -คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) –สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.)-คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม-คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี-คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต-วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล-คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม-คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

ขณะที่ “สถาบันการศึกษาของเอกชน” ก็มีด้วยกันหลายสถาบัน อาทิ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์-คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย-คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ-คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น

โดยทัศนะของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา-คณาจารย์ ที่สอนด้านนิเทศศาสตร์-การสื่อสารมวลชน ทั้งของรัฐและเอกชน ที่ให้ทัศนะความเห็นกับกอง บก. หนังสือวันนักข่าวฯ มีความเห็นที่แตกต่างกันไปตามความเห็นของแต่ละคนและแต่ละสถาบัน แต่สามารถสรุปประเด็นสำคัญที่สามารถสังเคราะห์ได้


เช่น ความเห็นของ” ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันที่สอนด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนมาหลายสิบปี ที่เล่าถึงสภาพการณ์ของสถาบันในเวลานี้ไว้ว่า ที่ผ่านมา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มีการปรับโครงสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับพัฒนาการความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ อุตสาหกรรมสื่อและการสื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศในศตวรรษที่ 21 มาตลอด เช่น มีการปรับตั้งแต่ชื่อหลักสูตร จากเดิม สาขาวารสารสนเทศ (Journalism and Information) เป็น สาขาวิชาวารสนเทศและสื่อใหม่โดยมีการเติมความเป็นสื่อใหม่ หรือ New Media เข้าไป ส่วนอีกหลักสูตรที่เปลี่ยนแรงมาก คือ สาขาวิชาการกระจายเสียง (Broadcadting) เปลี่ยนเป็น สาขาวิชาการออกแบบและผลิตสื่อ (Media Design and Production: MD) เป็นต้น โดยทั้งหมดเน้นที่การออกแบบและผลิตเพื่อให้สามารถใช้ได้ทุกแพลตฟอร์ม

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ให้มุมมองไว้ว่า ในตลาดแรงงาน เราจะไม่ยึดตัวเทคโนโลยีเป็นตัวผลิตเด็ก เพราะเทคโนโลยีมาเร็ว ตายเร็ว ถ้าใครติดเทคโนโลยี ก็แน่นอน โอกาสที่จะตกงาน หลุดออกจากระบบค่อนข้างสูง แต่ถ้าเกิดเราสอนให้เด็กติดที่ตัวคอนเทนต์ ออกแบบ สร้างสรรค์ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นมันอยู่กับชีวิตของเขา เขาก็จะสามารถเปลี่ยนเป็นเจ้าของที่จะออกแบบสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดกับทุกแพลตฟอร์ม ถ้าเขาสามารถคิดเป็นก็จะสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้ และอาจจะเกิดผู้ประกอบการที่เป็นอิสระมากขึ้น

“การสื่อสารไม่มีวันตาย เพียงแต่ว่ามันจะเปลี่ยนเทคโนโลยีไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ” ศ.ดร.ปาริชาต ระบุ


 

 

คนเรียนโท สื่อสารมวลชนน้อยลง

สะท้อนอะไร?

ขณะที่ทัศนะจากคณาจารย์ “คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ที่เปิดสอนมาหลายสิบปีเช่นกัน ทาง “ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ  คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ให้ข้อมูลและทัศนะสรุปได้พอสังเขปว่า ปัจจุบันทางคณะมีอาจารย์ประมาณ 40 กว่าคน สำหรับนักศึกษา หลักสูตรปริญญาตรีภาคปกติ เปิดรับปีละ 200 คน หลักสูตรภาษาอังกฤษรับ 80 คน หลักสูตรปริญญาโท ตั้งเป้าไว้ที่ ภาคปกติ 30 คน ส่วนภาคพิเศษหลักสูตรละ 45 คน และหลักสูตรปริญญาเอก 10 คน ซึ่งในตอนนี้ปริญญาตรียังคงเป็นไปตามเป้า แต่ในส่วนของปริญญาโท และ ปริญญาเอก ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ เห็นได้จากในปีที่ผ่านๆ มา การสอบเข้าของปริญญาโท ทั้ง 3 หลักสูตรและปริญญาเอก มีทิศทางที่ดิ่งลง ซึ่งพบว่าทุกมหาวิทยาลัยก็เจอปัญหานี้เช่นเดียวกัน


“สำหรับสาเหตุหลัก มาจากปัจจัยภายนอก คือ หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกด้านวารสารศาสตร์มีการเปิดเยอะขึ้น จากเดิมที่จะนึกถึงแค่จุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์ ตอนนี้ราชภัฎที่เปลี่ยนตัวเองเป็นมหาวิทยาลัย ก็เปิดหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก รวมถึงมหาวิทยาลัยเอกชนก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น ณ ตอนนี้เราอาจจะพูดก็ได้ว่า ซัพพลายมันมีมากกว่าดีมานด์แล้ว”

ผศ.ดร.วิไลวรรณ ชี้ว่า จากยอดสมัครเรียนที่ลดลงโดยเฉพาะปริญญาโท ถ้าจะมองว่าหลักสูตรมันไม่ทันสมัยหรือไม่ เราก็คิดว่าเราก็ต้องปรับให้ทันกับความรู้และเทคโนโลยีที่มันเริ่มเปลี่ยน แต่หลักใหญ่ๆ คือ ค่านิยมที่มีต่อปริญญาบัตรมันน้อยลง และการเกิดคนมันน้อยลง ทำให้ซัพพลายมากกว่าดีมานด์

พร้อมกับเปิดเผยว่า...ทางมหาลัยมีการปรับหลักสูตรทุกๆ 5 ปี รวมถึงการปรับย่อย เรามองว่าเวลาการปรับหลักสูตรเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะมีกระบวนการตั้งแต่ผ่านคณะ แล้วไปที่มหาวิทยาลัย และไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งกระบวนการมันเยอะมาก

“แต่ความจริงแล้ว การปรับที่สำคัญที่สุด ในแต่ละวิชาเรียน คือ อาจารย์ผู้สอนที่สามารถสอดแทรกความรู้ใหม่ๆ ในรายวิชาเดิม เราสามารถปรับได้ อยู่ที่ผู้สอนปรับตัวได้ทันกับการสื่อสารที่เปลี่ยนไปหรือไม่ จากที่ได้คุยกับอาจารย์ทางด้านนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหลักสูตรอย่างเดียว ปัญหาใหญ่มากคือ ผู้สอน ปรับตัวได้ทันกับความรู้ที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ตรงนี้สำคัญ ดังนั้น ในส่วนของอาจารย์ก็มีการปรับตัวเช่นเดียวกัน

ด้านสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อย่าง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เปิดสอนมาหลายสิบปี ผลิตศิษย์เก่าเข้าสู่วงการสื่อมามากมายนับไม่ถ้วน ทางผู้บริหารสถาบัน เปิดเผยสภาพการณ์ของทางคณะฯไว้ผ่าน ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยไว้ว่า อย่างปัจจุบัน ทางคณะมีการเปิดสาขาวิชาหลักสูตรการผลิตอีเว้นท์และการจัดการนิทรรศการและการประชุม โดยบอกว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็น หลักสูตรน้องใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานทั้งภายในประเทศและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุมมองความคิดใหม่ที่ไม่ได้สร้างเพียงมนุษย์งานอีเว้นท์และไมซ์ แต่เป็นครีเอทีฟ ดีไซน์เนอร์ หรือเจ้าของธุรกิจสร้างสรรค์ด้านอีเว้นท์และไมซ์ หรือ สาขาวิชาการสื่อสารตรา(Brand )เพื่อเตรียมพร้อมนักศึกษาก้าวสู่การเป็นนักวางกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์และการสื่อสารแบรนด์ การออกแบบเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์และองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ การสร้างแบรนด์ตัวบุคคล


ส่วนที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่สอนด้านนิเทศศาสตร์ กำลังประสบปัญหา มีคนเรียนน้อยลงจนมีข่าวว่าบางแห่ง อาจต้องเลิกจ้างอาจารย์หรือเปลี่ยนชื่อคณะฯ แต่เรื่องนี้ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยืนยันว่า ทางสถาบันไม่ได้ประสบปัญหา คนเข้าเรียนน้อยลง เพราะจากสถิติยังพบว่า ยอดคนสมัครเรียนยังเท่าเดิม ไม่มีตก

“จำนวนนักศึกษาไม่ลดลง  ยังคงรับนักศึกษาได้จำนวนเท่าเดิม 1,000 กว่าคน ดังนั้น ต่อให้ระยะหลังๆ มีกระแสออกมาว่าอุตสาหกรรมสื่อ วงการสื่อมวลชนอยู่ไม่รอด และเด็กน้อยลง แต่ในส่วนของคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ ซึ่งมีอัตลักษณ์ชัดเจน ในเรื่องการเรียนแบบลงมือทำ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณในการรับนักศึกษา จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ”

และย้ำว่า ทุกๆ 5 ปี ทุกคณะของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะมีการปรับปรุงหลักสูตรอยู่แล้วและในแต่ละปี ซึ่งทางคณะนิเทศศาสตร์ ฯ ก็มีการปรับรายวิชา หรือเปิดหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของวงการวิชาชีพสื่อ บุคลากรที่อุตสาหกรรมสื่อต้องการ ส่วนอุตสาหกรรมด้านสื่อ ถ้าหากมองถึงการจบแล้วมีงานทำ ต้องมองแยกเรื่องของอุตสาหกรรมสื่อที่มีการลดพนักงานเรื่อย ซึ่งนั้นเป็นเรื่องของธุรกิจสื่อ ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ เพราะนักศึกษาของคณะฯ ที่จบออกไปขณะนี้ มหาวิทยาลัยไม่ได้มุ่งผลิตเพื่อไปสู่อุตสาหกรรมสื่ออย่างเดียว เพราะปัจจุบันมีตลาดงานรองรับมากมาย

“มหาวิทยาลัยเองก็ควรเข้ามาบทบาทในการสร้างพื้นที่วิชาการ สอนนักนิเทศศาสตร์รุ่นใหม่ที่ต้องก้าวให้ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องทำให้ห้องเรียนเป็นห้องทำงาน ฝึกปฎิบัติจริง เชื่อมโยงโลกของเทคโนโลยี การสื่อสาร และความจริง องค์ความรู้ต้องไม่หยุดนิ่งเพียงในห้องเรียนอีกต่อไป”

สถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ที่เปิดสอนด้านนิเทศศาสตร์-สื่อสารมวลชน ปัจจุบันมีสภาพการเรียนการสอนอย่างไร รวมถึงแต่ละแห่งมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อ-การบริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ขณะเดียว เสียงสะท้อนของ นักศึกษา-นักข่าว-คนวงการสื่อ-นักวิชาการด้านสื่อ จะมีทัศนะ –เสียงสะท้อน ที่มีไปถึงสถาบันอุดมศึกษา-คณาจารย์ที่สอนด้านนิเทศศาสตร์ฯ อย่างไร  อ่านรายละเอียดได้ในบทถัดไปจากนี้ บนข้อสรุปสั้นๆ ได้ว่า ไม่ใช่แค่คนทำสื่อ-นักข่าว-ผู้บริหารองค์กรสื่อ ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  แต่ สถาบันการศึกษา-คณาจารย์ ก็ต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยน ตัวเอง ในด้านการเรียนการสอน ให้ไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ไม่เช่นนั้น สถาบันอุดมศึกษา-คณาจารย์ ก็อาจถูก “ทิ้งไว้ข้างหลัง” เช่นกัน

หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย