อยากเห็นอุดมคติกลับมา การทำข่าวแบบเต็มที่กลับมา อุดมคติที่ว่า คือหัวใจของคนทำงานด้านสื่อ เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ อุดมคติเราหายไป อุดมคติเป็นนามธรรม แต่อยากให้คนทำสื่อมีอุดมคติ เหมือนนักข่าวสมัยก่อนที่มีความยิ่งใหญ่ เราคิดว่านักหนังสือพิมพ์คือตัวจุดชนวนของฮีโร่สมัยก่อน เป็นตัวแทนของความถูกต้องยุติธรรม เรายกย่องเขามาก เราอยากให้สิ่งนี้กลับมาอีก แต่มันคงยากมาก
จากสภาพการณ์ของธุรกิจสื่อในยุคปัจจุบัน ที่ต้องเจอกับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเป็นผลพวงมาจาก โควิด-19ระบาดหนักในประเทศไทย อย่างไรก็ตามแต่ "หน้าที่ของสื่อมวลชน" ที่สังคมในวงกว้างคาดหวังคือการได้เห็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับประชาชน รวมถึงการทำหน้าที่เป็น"สุนัขเฝ้าบ้าน" ที่สื่อจะต้องเฝ้าติดตาม เกาะติด และส่งเสียงเตือน ประชาชน ว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้นในสังคม
กระนั้นก็มีเสียงสะท้อนทั้งจากคนในวงการสื่อสารมวลชนและสังคมภายนอกว่าระยะหลัง การทำข่าวแบบเจาะลึกในแต่ละประเด็น ที่เป็นข่าวพิเศษ-ข่าวเจาะ-ข่าวสืบสวนสอบสวน มีให้เห็นน้อยลงในพื้นที่สื่อ โดยมีตัวชี้วัดเช่น การส่งข่าวเข้าประกวดการตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยมแต่ละปีของสื่อแต่ละแขนงเช่น สื่อสิ่งพิมพ์-หนังสือพิมพ์ ก็ส่งข่าวเข้าประกวดชิงรางวัลข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตุกลของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นทุกปีติดต่อกันมาหลายสิบปี ก็พบว่าในเชิงปริมาณ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรือที่ส่งไป เนื้อหา-คุณภาพข่าวไม่โดดเด่น-ไม่เข้มข้น เหมือนในอดีต จนมีเสียงสะท้อนว่า หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปสุดท้ายแล้วน่าเป็นห่วงว่า จะเป็นสภาพการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้างได้
ประเด็นดังกล่าว มีความเห็นจาก"สกุล บุณยทัต อดีตอาจารย์ประจำภาควิชานาฎยสังคีต คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร -เลขาธิการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย -โดยล่าสุด ปี 2563ที่ผ่านมา เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี2563" โดย อาจารย์สกุล ได้ร่วมเป็น"กรรมการตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยมของสมาคมนักข่าวฯ" มาหลายปีติดต่อกัน รวมถึงที่ผ่านพ้นไปเมื่อมีนาคม 2564 ด้วย และมาวันนี้ ได้ส่งเสียงสะท้อนความคิดเห็นถึง คุณภาพข่าวที่หายไปในช่วงหลัง ดังนี้
เริ่มต้นที่ "อ.สกุล"บอกเล่าถึงการทำงานในฐานะกรรมการตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยมฯ ในช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นกรรมการฯ มาหลายปีมาก ซึ่งที่ผ่านมาข่าวที่หนังสือพิมพ์แต่ละแห่ง ส่งเข้าประกวดแต่ละปีจะมีจำนวนมาก บางที หนังสือพิมพ์บางฉบับส่งข่าวมาประกวดหลายข่าว อันแตกต่างจากช่วงปีหลังๆ ที่การส่งข่าวเข้าประกวด หนังสือพิมพ์ส่งข่าวเข้าประกวดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
...ข่าวยอดเยี่ยมที่ได้รางวัลแต่ละปีในอดีต ก็เป็นข่าวเปิดโปง นำเสนอเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นเป็นสวนใหญ่ เป็นการเสนอข่าวแบบทะลุทะลวง ข่าวเจาะแบบถึงเลือดถึงเนื้อ แต่ช่วงสิบปีหลัง ข่าวที่ส่งเข้าประกวดไม่เจาะข่าวเหมือนเดิม ซึ่งในอดีตศักยภาพ ศักดิ์ศรีของคนทำข่าวเป็นบิ๊กเนมจริงๆ สถาบันนักข่าวเป็นสถาบันใหญ่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี แต่ระยะหลังข่าวมันอ่อนลง การเจาะข่าวก็อ่อนลง จนคนในวงการนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เอง ก็บอกว่าข่าวมันไม่สุดยอดเหมือนเดิม ยังเจาะไม่ถึง การหาแหล่งข่าวไม่ครอบคลุมไม่ครบประเด็น บางทีเสนอไปแล้วก็ไม่สุด ถอยออกมา เหมือนกับมีอำนาจแฝงเข้ามา หรือเป็นเพราะสื่อมีการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่เสนอต่อ อาจเพราะกลัวไปเอง
จนระยะหลังการตัดสินข่าวแต่ละปี การลงมติว่าข่าวใดสมควรเป็นข่าวยอดเยี่ยมเริ่มตัดสินได้ยากมากขึ้น ข่าวทุจริตคอรัปชั่นก็ลดน้อยลง ก็มีข่าวแบบอื่นๆ เข้ามาเช่นข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อม ข่าวในเชิงความเป็นมนุษย์ ก็มีบางปีได้รางวัล แต่เห็นชัดว่าช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ คุณภาพข่าวที่ส่งเข้าประกวด แย่มาก
"อ.สกุล"มองว่า สาเหตุที่ช่วงหลัง คุณภาพข่าวไม่เข้มข้นเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่ง ก็เป็นผลพวงมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจสื่อ เพราะเป็นที่รู้กันว่า กองบก.สื่อ-หนังสือพิมพ์ แต่ละแห่งน้อยลงไปมาก ไม่เหมือนในอดีต อีกทั้งสภาพการทำงาน คนในกองบก. คนหนึ่งจากเดิมที่ทำข่าวในสื่อของตัวเองอย่างเดียว ก็ไม่พอแล้ว เขาต้องไปช่วยเสริมทำข่าวช่องทางอื่นๆ ให้กับต้นสังกัดด้วยเช่น สื่อโซเชียลมีเดีย ในสำนักงานต้นสังกัดทำให้ทำงานกันไม่ไหว รวมถึงสถานการณ์สื่อ ที่บางแห่งก็มีการเลย์ออฟ-เอาคนออก ทำให้กองบก.เหลือคนทำงานน้อย
ปัจจัยข้างต้นทำให้สถานการณ์ในการทำข่าวยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า ไม่เอื้อเหมือนก่อนหน้านี้ อย่างปี 2562 ที่ผ่านมา ประเด็นข่าวที่มีการส่งเข้าประกวด topic หลายเรื่องดี แต่ไม่สามารถลงลึกได้ จนระยะหลัง พบว่าสื่อที่ส่งข่าวเข้าประกวด มีแค่ไม่กี่สังกัดเท่านั้นเช่น ไทยรัฐ-เดลินิวส์
"ประเด็นที่เราเห็นชัดคือ การทำประเด็นข่าวอ่อนล้าลง จนบางครั้ง คิดว่าคำว่า wag the dogs สุนัขเฝ้าบ้าน การล่าข่าว การฝังตัวเพื่อหาข่าวแบบในอดีต มันแทบจะไม่มีแล้ว ซึ่งเดิมมันเคยมี แต่ปัจจุบัน หากจะให้นักข่าว คนทำสื่อไปฝังตัว ก็ฝังตัวเพื่อทำข่าวแบบข่าวลุงพลในคดีน้องชมพู่ ที่มีสื่อโทรทัศน์ไปฝังตัวในพื้นที่และรายงานทุกวันว่าลุงพลวันนี้จะเดินทางไปไหน แต่ในอดีตนักข่าวไปฝังตัวเพื่อแสวงหาความจริง ที่ก็ได้อะไรมากมายมานำเสนอ จนทำให้การทำข่าว เป็นเรื่องทางวิชาการได้ เป็น academic มาก ที่คนรุ่นใหม่ควรได้ศึกษาศาสตร์แขนงนี้ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว"กรรมการตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยมฯ ระบุ
"อ.สกุล -กรรมการตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยมฯ" ให้ความเห็นต่อไปว่า นอกจากนี้ ปัจจุบัน พบว่า หนังสือพิมพ์ปัจจุบันเริ่มมีการแบ่งฝ่าย หนังสือพิมพ์ค่ายนี้ใครเป็นนายทุน โยงไปถึงตรงไหน พูดง่าย ๆก็ถูกมองว่า เป็นฉบับฝ่ายเหลืองกับฝ่ายแดง ทั้งที่สื่อควรต้องเป็นกลางด้วยความรู้สึกที่จริงต้องนำเสนอประเด็นข่าวทั้งสองด้านได้ หากคุณเป็นสื่อสารมวลชนจริงๆ ต้องเจาะข่าวไปทางใดทางหนึ่งที่เห็นว่ามันถูกต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ไม่มีในบ้านเรา มันก็มี ไม่ใช่มาบอกว่าเราเป็นสื่อเป็นกลาง แต่เราหลอกตัวเราเองว่าเราเป็นกลาง แต่เอาตัวรอดเสียมากกว่า
วันนี้สื่อสิ่งพิมพ์บ้านเรา ไม่มีใครยันสู้ขึ้นมาว่า ถ้าอ่านหนังสือพิมพ์ของเรา รอคอยหนังสือพิมพ์ที่จะออกมา คุณจะได้อ่านข่าวที่มีคุณภาพ ซึ่งผมเข้าใจว่าสื่อแต่ละแห่งก็เอาตัวรอดยาก แต่ทำไมในต่างประเทศ สื่อหนังสือพิมพ์หลายประเทศถึงยังไม่โรยรา เขายังยืนหยัดอยู่ได้ เพราะมีจุดแข็งเช่น บทความ -ข้อเขียนของคอลัมนิสต์ มันสามารถบ่งบอกอะไรได้บางอย่าง เช่น เรื่องลิเวอร์พูล หาก สื่ออย่าง เจมส์ เพียช์ นำเสนอข่าว แฟนลิเวอร์พูลทั่วโลก ก็เชื่อถือข่าวที่เขานำเสนอ
อย่างข่าวเชิงนโยบายปกติเช่น "โครงการคนละครึ่ง" ไม่ค่อยเห็นการวิพากษ์วิจารณ์กัน แม้อาจมีบ้างแต่ไม่มากเช่น ที่ออกมาวิจารณ์เรื่องจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้วได้รับสิทธิ ซึ่งหากเป็นเมื่อก่อน นโยบายแบบนี้อาจทำเป็นข่าวเจาะได้ แต่ไม่มี จนบางคนต้องไปอ่านข่าวนอกกระแสไปเลยที่วิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทยในด้านต่างๆ จนบางทียังตั้งคำถามว่า ประเทศเราเป็นแบบนี้ไปแล้วหรือ ต้องไปเสพข่าวจากข่าวนอกกระแสไปเลย ซึ่งลักษณะข่าวแบบนั้น ไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นข่าวจริงหรือข่าวไม่จริง
.....ซึ่งในอดีต เราจะมีความเชื่อมั่นในสื่อบางสำนักที่วิพากษ์วิจารณ์อะไรต่างๆ แล้วเวลานำเสนอแต่ละครั้ง ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ หนังสือพิมพ์บางฉบับก็มีคอลัมนิสต์ ระดับแม่เหล็กของหนังสือพิมพ์ที่เขียนแต่ละเรื่องต้องสะเทือน รวมถึงการพาดหัวหนังสือพิมพ์ ที่เมื่อก่อนเราถือว่าการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์คือศิลปะ ที่ชวนติดตาม แต่ทุกวันนี้ เหมือนกับเป็นข่าวรายวันไป
"สกุล"พูดปลุกเร้าการทำงานของสื่อมวลชนไว้ว่า “สื่อมวลชนต้องเป็นความหวัง สื่อมวลชนต้องเป็นความบริสุทธิ์ใจ สื่อมวลชนต้องให้ค่าต่อผู้รับสารที่สามารถนำไปปฏิบัติทางความคิดได้ในบางครั้ง” อย่างในอดีต เราเชื่อใน ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ แม้แต่ปัจจุบัน คนก็ยังพูดถึงศรีบูรพา ผมก็ตกใจเหมือนกันที่มีสื่อต่างประเทศ เคยบอกว่าในไม่ช้าไม่นาน สื่ออย่างพวกเราจะหายไป มันน่าตกใจ เพราะอาชีพนักหนังสือพิมพ์ เป็นอาชีพที่อยู่มานาน พอหนังสือพิมพ์หายไป ข้อเขียนก็จะไปอยู่ในโลกออนไลน์หมด ซึ่งบางทีเมื่อไปอยู่ในโลกออนไลน์ คนบางกลุ่มก็ขี้เกียจอ่าน เพราะมันไม่มีชีวิตเหมือนหนังสือพิมพ์
..อย่างตัวผม เดินทางจากบ้านนครปฐมเข้ากรุงเทพฯ จอดรถแวะตรงปั้มน้ำมัน มีร้านข้าวแกง มีหนังสือพิมพ์วางอยู่ ผมต้องหยิบหนังสือพิมพ์มาเปิดอ่านตลอด ที่ยอมรับว่า ข่าวในหนังสือพิมพ์มันช้า จากอดีตที่ถือว่าเร็วแต่ปัจจุบันความเร็วก็แพ้ข่าวในโซเชียลมีเดีย ตรงนี้คือโจทย์คนทำหนังสือพิมพ์แล้วว่าจะสู้ยังไง เพราะอย่างข่าวในออนไลน์ บางทีเห็นพาดหัว มีข่าวส่งมาทางมือถือแล้ว แต่รายละเอียดของข่าวอาจไม่มี เช่นเดียวกับเรื่องการทำรายงานพิเศษทำสกู๊ปของสื่อ ที่ปัจจุบันเห็นชัดว่ามีน้อยลงมาก ส่วนหนึ่งคนทำสกู๊ปเอง จากอดีตทำสกู๊ปอย่างเดียว แต่ปัจจุบันไม่ได้แล้ว เขาต้องไปทำข่าวอย่างอื่นให้องค์กรด้วย ทั้งหมดเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เพราะคนๆเดียว จะไปทำงานหลายอย่างได้ยังไง และงานเขียนเชิงวิเคราะห์ไม่ใช่ง่าย ๆ วิเคราะห์ผิด ก็เสี่ยงโดนฟ้องได้
สื่อมวลชนต้องเลือกที่จะนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ได้ยินมาว่าบางแห่ง การประชุมโต๊ะข่าวแทบจะไม่มีแล้วในปัจจุบัน น่ากลัวเหมือนกัน จากเมื่อก่อนที่เวลาประชุมโต๊ะข่าวแต่ละครั้งแทบจะเอาเป็นเอาตายในการเลือกที่จะนำเสนอประเด็นข่าว ประเด็นไหนจะเป็นข่าวลีด ข่าวลีดนำของหนังสือพิมพ์แต่ละวันจะไปทางไหน แต่ปัจจุบันมันไม่มี
“ข่าวLead หนังสือพิมพ์ที่มันLead จริงๆ Lead แล้วคนตะลึงกัน แต่ทุกวันนี้ข่าว Lead คือข่าวอะไร ข่าวประเภททรงเจ้าเข้าผี ข่าวมหัศจรรย์ต่างๆ ที่แข่งกันนำเสนอตอนใกล้วันหวยออก มันอะไรกันวะเนี่ย”
...หรือว่าสิ่งที่เห็นจะเป็นวิถีทางการเอาตัวรอดในทุกวันนี้ ผมก็อยู่ในแวดวงสื่อ จัดรายการวิทยุมา 20 กว่าปี วันนี้ก็เศร้าเหมือนกันว่าอาชีพพวกเรากำลังจะหายไปไหน มันมีหนังอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ one true thing หรือสิ่งที่มันเป็นความจริงหนึ่งเดียว หนังพยายามบอกว่าชีวิตเรามันต้องมีความจริงสักอย่าง มันคืออะไรวันนี้ในสังคมของพวกเรา
สังคมเราวันนี้กำลังอยู่ในช่วง chaos อยู่ในความสับสนวุ่นวาย สมัยก่อนนักข่าวหนังสือพิมพ์เขาสู้ เขาถึงก้าวไปได้ หลายคนมีประวัติการต่อสู้กันมาทั้งนั้น บางคนโดนจับกุม แต่ผมไม่ได้ต้องการให้คนหนังสือพิมพ์ยุคนี้ต้องไปโดนจับแบบนั้นแต่อยากให้มีทิศทางการต่อสู้ มีแนวทางการต่อสู้ มีอุดมคติที่ออกมาในการทำงาน คุณ(ผู้สัมภาษณ์)ทำงานอยู่ในแวดวง คุณเห็นไหมว่ามีใครที่ต่อสู้ ไม่เห็นมีแบบสมัยยุคเสนีย์ เสาวพงศ์ (นักหนังสือพิมพ์-นักเขียน) ที่มีสภาวะพวกนี้อยู่ เรารู้อยู่ ชัยชนะของคนแพ้ มันมีสภาวะพวกนี้อยู่ หากเราดูการต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็เห็นตัวอย่างมากมาย ที่เราเห็นได้ว่าเขาเป็น ไฟต์เตอร์ เป็นนักสู้มากกว่าที่พวกเราเป็นในขณะนี้ มันก็ลำบาก ที่พูดกันว่า"คมปากกา"ที่พร้อมจะตายด้วยคมปากกา ที่เสียดแทง แต่ปัจจุบันฝ่ายรัฐบาลก็เด็ดยอดหมด หากคมปากกาเกิดเมื่อใด ก็สร้างอาณาจักรของความกลัวขึ้นมา กระบวนการพวกนี้มันเหมือนกับบาปของนักบุญ
-การตัดสินลงมติว่าจะให้ข่าวไหน เป็นข่าวยอดเยี่ยมแต่ละปี กรรมการมีกระบวนการทำงาน ตัดสินอย่างไร กว่าจะได้ข้อสรุปออกมา?
แต่ละปี กรรมการก็คุยกันนาน กรรมการทุกคนก็จะต้องอ่านข่าวที่แต่ละองค์กรส่งมาเข้าประกวดข่าวยอดเยี่ยมประจำปี อย่างบางยุคเช่น ยุคคุณรุ่งเรือง ปรีชากุล เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ มีข่าวส่งเข้าประกวดตอนนั้นร่วม 30 กว่าข่าว กรรมการแต่ละคนก็จะได้สำเนาไปอ่านศึกษา แล้วก็มีการนัดคุยกัน จนถึงนัดประชุมรอบสุดท้าย ที่จะคัดเลือกเหลือ 5 ข่าวสุดท้าย แล้วกรรมการแต่ละคนก็จะร่วมวงอภิปรายข่าวแต่ละชิ้น
การตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยมของสมาคมนักข่าวฯ เป็นการตัดสินที่แปลก หากเป็นการประกวดด้านอื่นๆ อย่างสถาบันหรือองค์กรที่ส่งงานเข้าประกวดตัดสิน จะไม่มีสิทธิ์ที่คนในองค์กรนั้นไปร่วมตัดสิน เช่นหากการตัดสินรางวัลข่าวของสมาคมฯ อย่าง ไทยรัฐ ส่งข่าวเข้าประกวด ถ้าเป็นหลักเกณฑ์ที่ว่า ไทยรัฐ ก็ต้องไม่มีสิทธิ์ส่งคนของตัวเองไปร่วมตัดสิน แต่การตัดสินรางวัลข่าว จะไม่เป็นแบบนั้น คือหากไทยรัฐ ส่งข่าวเข้าประกวด ไทยรัฐ ก็อาจมีตัวแทนของไทยรัฐอยู่ในกรรมการตัดสินรางวัลอยู่ด้วยที่เป็นมาก่อนแล้ว อาจจะ 2-3 คน หรือเดลินิวส์ส่ง เดลินิวส์ก็มีตัวแทน แล้ววัดกันยังไงว่าข่าวไหนดีกว่ากัน ก็วัดกันตรงที่ว่า คนที่ร่วมเป็นกรรมการตัดสินที่อยู่ไทยรัฐ เขาก็ต้องยุติธรรม คุณไม่สามารถไปโจมตีเดลินิวส์ได้ คุณต้องว่ากันตามเนื้อข่าว นั่่นหมายถึง คนทำข่าวต้องสัตย์ซื่อ ข่าวไหนดีหรือไม่ดี เมื่อคุณเห็นข่าวของคู่ตรงข้ามคุณ ถ้ามันดี คุณต้องบอกว่ามันดี ไม่ใช่ว่าข่าวเขาดี แต่คุณไปบอกว่าไม่ดี แล้วจะมาคอยบอกแต่ว่าข่าวของคุณดีกว่า ก็ไม่ได้ มันก็มันส์ดี
ตอนแรก ผมก็สงสัยว่าการที่กรรมการมีโครงสร้างแบบนี้ มันก็อาจเกิดการเข้าข้างกัน แต่ในที่สุด กรรมการร่วมตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยม เขาก็บอกกันรุ่นต่อรุ่นว่า จะเข้าข้างกันไม่ได้ กรรมการต้องใช้ความเป็นสื่อมวลชนตัดสิน ถ้าข่าวไหนมันดี เซนส์ของนักข่าว ที่ตา-หู-จมูกไว ที่เป็นเซนส์ของนักข่าว ก็ต้องรู้ว่าข่าวไหนมันดี คนที่เป็นกรรมการก็ต้องยอมรับว่าแพ้เขา เช่น ข่าวไทยรัฐดีกว่าเดลินิวส์ ข่าวเดลินิวส์ดีกว่าไทยรัฐ หรือข่าวหนังสือพิมพ์เล็ก คุณภาพดีกว่าข่าวฉบับใหญ่
สิ่งนี้คือจุดดีมากของการตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยม เพราะหากเป็นการตัดสินแบบอื่น ๆถ้าโครงสร้างเป็นแบบนี้ก็อาจมีการโจมตีกัน อันนี้คือเกียรติภูมิของนักข่าว เราจะนับถือซึ่งกันและกัน หากปีไหน ถ้าถึงจุดที่เห็นชัดแล้วไม่มีข่าวที่ควรได้รางวัลยอดเยี่ยม ก็ต้องยอมรับการตัดสิน
สำหรับการประชุมตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยมแต่ละปี กรรมการตัดสินรางวัลฯ แต่ละปี ทุกคนถกกันพอสมควรในการตัดสิน แล้วก็ไปเปิดผลการตัดสินกันว่าข่าวไหนได้ที่หนึ่งข่าวยอดเยี่ยม -ข่าวอันดับรองลงมา จะเปิดเผยกันเลยตอนวันที่มีการจัดงานวันนักข่าว ตามสถานที่แต่ละแห่งที่จัดในปีนั้นๆ เช่นโรงแรมต่างๆ ที่กรรมการแต่ละคนจะโหวตความเห็นของตัวเองในซองว่าโหวตให้ข่าวไหนเป็นข่าวยอดเยี่ยม และอันดับรองลงมา แล้วก็เซ็นชื่อกำกับ แล้วกรรมการก็จะนำผลการลงมติของกรรมการตัดสินรางวัลข่าวฯ มาอ่านกันในวันที่จัดงานเลย
....ช่วงหลังที่แทบจะไม่มีข่าวยอดเยี่ยมประจำปีเลย เพราะข่าวคุณภาพไม่ถึง ซึ่งการที่กรรมการไม่ให้รางวัลข่าวยอดเยี่ยม เพราะกรรมการแต่ละคนตัดสินกันมานาน เรารู้ลิมิต ไม่ใช่ว่าอคติอะไร เพราะด้วยสภาพปัจจุบัน นักข่าวยุคปัจจุบันต้องทำหลายอย่าง ไม่ได้ไปนั่งเฝ้าข่าวแบบเดิมได้แล้ว เพราะการไปฝังตัวเพื่อทำข่าวเช่น ทำข่าวเรื่องการทำเหมืองแร่ มันต้องใช้เวลามาก เพื่อศึกษาข้อมูลว่าการทำเหมืองแร่ เป็นอย่างไร มีการล้ำที่หรือไม่ แต่ยุคนี้ ไม่มีทางที่นักข่าวจะไปใช้เวลาฝังตัวนานขนาดนั้นได้ ต้องถูกเรียกไปทำข่าวอย่างอื่นด้วย ทำให้ดูแล้วต่อไปคงยากมากที่จะมีข่าวยอดเยี่ยมถ้าสื่อยังมีสภาพแบบนี้อยู่ อาจจะมีการทำสกู๊ปอะไรต่างๆ ออกมาบ้างไม่กี่ตอน แต่ว่าไปเดี๋ยวนี้สกู๊ปเองก็แทบไม่มีแล้ว
-เมื่อข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอออกมา ภาพรวมของคุณภาพข่าวลดน้อยลงไป จะมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างไร?
กระทบแน่นอน ประชาชนจะไม่รับรู้อะไร สื่อมวลชนที่ดีต้องเสนอสิ่งที่ดีให้ประชาชนรับรู้ เช่นปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนต้องเกิดดวงตาที่ 3 ไม่ใช่ดวงตาแค่ 2 ตา ดวงตาที่ 3 third eyes สำคัญมาก เช่นทำให้ประชาชนเห็นสภาพที่แท้จริงของบ้านเรา บ้านเราเป็นแบบนี้แล้ว รวมถึงเกิด six sense ที่ไม่ใช่ sense ที่เห็นผีสาง แต่เป็น sense ที่ทำให้ประชาชนขบคิดได้เอง ว่าเรื่องที่สื่อนำเสนอเป็นความจริงหรือไม่
สังคมไหน ที่ไม่มีสายตาที่เพ่งมอง สายตาพิเศษ ก็เป็นสังคมที่ยากมาก ปัญญามันไม่เกิด บ้านเรามักสอนกันว่าอย่าไปเชื่อความรู้สึก แต่จริงๆ แล้วโดยหลักการของศิลปะ และหลักการใช้ชีวิตต่างๆ ก็ต้องเชื่อความรู้สึกให้มาก เช่นความรู้สึกว่าบ้านเมืองเราตอนนี้ไม่ปกติ อย่างเราเรียนและเชื่อกันมาตั้งแต่ยุคสมัยพ่อขุนรามคำแหง ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่ตอนนี้มันยุคปี 2020 ที่ในน้ำมีpoplusion ในนามีแต่ตึก หมู่บ้านจัดสรร
อย่างบทความของคอลัมนิสต์บางคนเช่น ซูม ไทยรัฐ สิ่งที่คุณซูมเขียนมา ย่อหน้าสุดท้ายของคอลัมน์ จะให้ข้อคิด หรือคอลัมน์ เปลว สีเงิน ในไทยโพสต์ สุดท้ายของข้อเขียน เขาก็จะต้องให้อะไรกับเรา หรือลม เปลี่ยนทิศ ในไทยรัฐ ที่ตอนท้ายของข้อเขียนพวกเขา เราจะรู้ได้ว่า เขาจะให้ข้อคิดเห็นอะไรกับเรา
สื่อยุคนี้ จากเมื่อก่อน นายทุนจะบอกไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย จะปล่อยให้กองบก.ทำงานกันไปตามอุดมคติ แต่ปัจจุบันนายทุนเข้ามาเป็นตัวกำหนด บางแห่งที่เกิดความวุ่นวายในองค์กรก็เพราะนายทุนเข้าไปยุ่ง ผมว่าสถานการณ์สื่อวันนี้หนักมากว่าจะดำรงตนต่อไปอย่างไร ผมเห็นใจพวกเขาเลย การก้าวย่างก็ลำบาก ฝืดเคืองมาก มันก้าวไปทางไหนลำบากมาก
-องค์กรสื่อแต่ละแห่ง ตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจกันไปตามกัน หลายแห่ง ก็มีคนทำงานน้อยลง มีการลดคน ก็ย่อมทำให้การเสนอข่าวทำข่าว คุณภาพก็อาจลดลงไปด้วย ?
ก็ลดลง (ตอบรับทันที) นักข่าวคนหนึ่งต่อไปก็ทำหลายอย่าง ทำออนไลน์อะไรต่างๆ ดีไม่ดี ต้องขายข่าวตัวเองให้ได้ด้วย ที่ก็อาจได้ประมาณหนึ่ง ก็เหมือนข่าวออนไลน์ปัจจุบัน ทำข่าวหนึ่งประเด็น แต่ไม่ได้สืบต่อไป ไม่ได้ทำข่าวแบบเจาะลึก ไม่ได้ search ลงไปอีก
ข่าวสืบสวนสอบสวน แบบลึกลงไปจริงๆ ต่อไปคงไม่ได้มีเวลาทำกันขนาดนั้นได้ ต่อให้ไม่ใช่ข่าวทุจริต แต่เป็นข่าวทั่วไป เช่นการระบาดรอบสองของโควิดฯในประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ก็มีหลายประเด็นให้ทำได้ หากเป็นสมัยก่อนสื่อต้องล่อแล้วเช่น การปล่อยให้แรงงานต่างด้าวหลุดเข้ามาแพร่เชื้อในประเทศไทย มีการปล่อยให้เข้ามาได้อย่างไร สื่อต้องตั้งคำถามว่าแรงงานเถื่อนเหล่านี้เขาเข้ามาได้ยังไง และเข้ามาด้วยวิธีการอย่างไร แต่ก็ไม่เห็นสื่อนำเสนอกัน แม้แต่เรื่องโควิด ฯ สื่อก็ยังไม่ทำข่าวเชิงลึก
"กรรมการตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยมฯ"ย้ำว่าสิ่งที่เขาในฐานะประชาชนคนหนึ่งอยากเห็น-คาดหวังกับการทำงานของสื่อมวลชน ก็คือ อยากเห็นอุดมคติกลับมา การทำข่าวแบบเต็มที่กลับมา อุดมคติที่ว่า คือหัวใจของคนทำงานด้านสื่อ
“เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ อุดมคติเราหายไป อุดมคติเป็นนามธรรม แต่อยากให้คนทำสื่อมีอุดมคติ เหมือนนักข่าวสมัยก่อนที่มีความยิ่งใหญ่ เราคิดว่านักหนังสือพิมพ์คือตัวจุดชนวนของฮีโร่สมัยก่อน เป็นตัวแทนของความถูกต้องยุติธรรม เรายกย่องเขามาก เราก็อยากให้สิ่งนี้กลับมาอีก แต่มันคงยากมาก”
....เด็กที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนทุกวันนี้ เขาก็ไม่ได้เรียนในเชิงอุดมคติแบบนี้ เขาอาจเรียนเชิงว่า ทฤษฎีการเสนอข่าวสารมีกี่แบบ แต่อุดมคติในการเสนอข่าวควรเป็นแบบไหน เขาอาจไม่ได้ถูกสอนมา
ผมหวังว่าสิ่งเหล่านี้ มันจะกลับมาสักวันหนึ่ง ตั้งแต่ระบบการสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่เสนอข่าวแบบปัจจุบันที่พอแค่ได้เสนอข่าว แต่ไปหวังเรื่องการเจาะลึกอะไรไม่ได้ ข้อมูลที่เป็นองค์รวมที่สุดกลับไม่มี
-เป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคต อาจไม่มีการตัดสินการประกวดข่าวยอดเยี่ยมที่จัดขึ้นแต่ละปีอีกต่อไปแล้ว ?
ใช่ครับ เพราะเห็นว่าบางค่ายก็อาจไม่ส่งแล้ว อย่างปี 2562 สู้กันแค่ไทยรัฐกับเดลินิวส์เท่านั้นเอง เหมือนกับว่าองค์กรหนังสือพิมพ์บางแห่ง เริ่มไม่เห็นความสำคัญกันแล้ว ที่เขาไม่เห็นความสำคัญอาจเพราะเขาไม่ได้ทำข่าวแบบข่าวเจาะลึกเหมือนสมัยก่อน คือทำข่าวไปวันต่อวัน ข่าวแบบเจาะลึกไม่มี นอกเสียจาก กรรมการตัดสินรางวัลข่าวยอดเยี่ยม จะยอมลดดีกรีการตัดสินลงมา แต่แต่กรรมการเองเขาลดไม่ได้ เพราะมาตรฐานการตัดสินตั้งกันไว้สูง การประกวดไม่ใช่ทำกันแค่1-2 วันแล้วตัดสิน ผมหวังว่า สุดท้ายถึงที่สุดแล้วมันจะต้องกลับมา(ข่าวยอดเยี่ยม)
"อยากให้คนทำสื่อมีความหวังว่าจะทำข่าวออกมาให้ดีที่สุด เพราะสื่อคือสุนัขเฝ้าบ้าน เป็นผู้ที่ต้องขบกัด ต้องส่งเสียงให้สังคมได้ยิน เช่น บอกสังคมว่า กำลังมีคนมาขโมยทรัพย์สินของเราแล้ว อาชีพของคนทำสื่อ ธรรมดาที่สุดเลยคือต้องทำแบบนี้ ต้องปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์ ให้เกียรติมนุษย์ ต้องแสดงความสัตย์ซื่อออกมาอย่างจริงใจและชัดเจน ผมหวังว่าสิ่งนี้มันจะกลับมาอีก เราต้องทำงานด้วยลักษณะแบบนี้ เราต้องไม่ขายจิตวิญญาณของเรา ถ้าเมื่อใดคนทำอาชีพนี้ขายจิตวิญญาณของตัวเองมันก็จบ
ข่าวยอดเยี่ยมแต่ละปี มันคือหมุดหมายของประเทศ ที่หมายถึงในปีนั้น เป็นอุทาหรณ์สำคัญว่าเราได้ทำอะไร ประชาชนคนไทยได้ทำอะไร และใครเป็นผู้กระทำ มีตัวละคนชัดเจน ว่าบุคคลคนนั้นในข่าวมีบทบาทสำคัญในสังคมได้ทำสิ่งนี้ไป และสิ่งที่เสียหายจริงๆ คือโครงสร้างประเทศชาติของเรา ซึ่งถ้าข่าวยอดเยี่ยม มันสามารถแสดงจุดยืน แสดงจิตวิญญาณตรงนี้ออกมาได้ ผมคิดว่าประชาชนจะสื่อสารอะไรกับชีวิตที่ถูกต้องได้ "
ถึงเวลา องค์กรวิชาชีพสื่อฯ เป็นเจ้าภาพสนับสนุน การทำข่าว investigative reporting
ด้านความเห็นในประเด็นเดียวกัน จากผู้มีประสบการณ์โดยตรงและอยู่ในวงการข่าว-หนังสือพิมพ์มาตลอดทั้งชีวิตอย่าง"ตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์-บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ-นักหนังสือพิมพ์อาวุโส” ที่มีประสบการณ์การเป็นนักหนังสือพิมพ์-ทำข่าว จนได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมประจำปีของการประกวดข่าวยอดเยี่ยมสองปีติดต่อกัน สมัยเป็นนักข่าวอยู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นั่นก็คือ ข่าวเปิดโปงกระบวนการทุจริตในสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ในปี 2522 และข่าวเผชิญหน้าขบวนการโจรก่อการร้ายพูโลในปีถัดไป 2523
"ตุลย์-นักหนังสือพิมพ์อาวุโส"เล่าว่าตอนที่ทำข่าวและส่งข่าวเข้าประกวดจนได้รางวัลสองปีซ้อนดังกล่าวข้างต้น จริงๆ แล้วในสองปีเดียวกันนั้น ข่าวที่ตนเองทำ ได้รางวัลทั้งข่าวยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งและข่าวอันดับสอง สองปีติดต่อกันเช่นกัน โดยข่าวทุจริตรพช. ที่ได้รางวัลในปี 2522 ข่าวที่ได้ที่สอง คือเรื่อง "ปลอมหมายศาล" ที่เป็นข่าวที่สร้างผลกระทบกระเทือนมาก กับวงการกระบวนการยุติธรรม เป็นข่าวที่ทำ-นำเสนอแล้วภาคภูมิใจเพราะเป็นข่าวที่ทำยาก ทำจากประสบการณ์การทำข่าว เป็นเรื่องนักโทษค้าเฮโรอีน โดนจำคุก 24 ปี แต่พอติดคุกสักพัก ก็มีหมายบ่อยตัวออกไป ต้องใช้เวลานานกว่าจะติดตามตัวมาได้ ที่ตอนนั้นคนติดตามตัวมาได้คือ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ที่เป็นสารวัตรหาดใหญ่ในช่วงนั้น จนภายหลังสอบสวนแล้วพบว่า ออกมาได้เพราะมีการปลอมหมายศาลเพื่อให้เรือนจำปล่อยตัวทั้งที่ยังไม่ได้สิทธิ์ปล่อยตัว ทำให้ต่อมากระบวนการยุติธรรมต้องมีการปรับปรุงการทำงานครั้งใหญ่ ทั้งด้านงานของกรมราชทัณฑ์และระบบการทำงานของศาลยุติธรรม
และต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ก็ได้รางวัลข่าวยอดเยี่ยม จากการทำข่าว เผชิญหน้าขบวนการโจรก่อการร้ายพูโล และในปีเดียวกันก็ยังได้ข่าวที่ตัวเองทำและส่งประกวดอีกหนึ่งข่าวคือการทุจริตในรพช.ที่ได้รางวัลที่สอง ที่เป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาในวงการกระทรวงมหาดไทยมาก
สำหรับการทำข่าวของสื่อยุคปัจจุบันโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์"ตุลย์-นักหนังสือพิมพ์อาวุโส"บอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพราะสื่อมวลชนปัจจุบันถูกสื่อดิจิตอล -โซเชียลมีเดีย -สื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่ ที่ไปได้ทั้งภาพและเสียง เป็นสื่อยุคใหม่ ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนก็เปลี่ยนไปจากอดีตมาก เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป สื่อจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยตามกาลเวลา อย่างการประกวดข่าว-ภาพข่าวยอดเยี่ยมของสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์-หนังสือพิมพ์ที่เคยทำกันมาหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน มองว่าอาจจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งการทำต้องยึดหลักการทำข่าวแบบ investigative reporting ที่เป็นจุดกำเนิดของการประกวดรางวัลการทำข่าวยอดเยี่ยมของวงการสื่อทั่วโลก ที่เรียกกันว่า รางวัลพูลิเซอร์ ซึ่งวงการสื่อมวลชนทั่วโลก สนับสนุนให้มีการรายงานข่าวแนว investigative reporting หรือข่าวสืบสวนสอบสวน และต่อมา กรรมการสมาคมนักข่าวฯในประเทศไทยในอดีต ก็เคยหยิบยกเรื่องนี้มาหารือและสนับสนุนให้สื่อมวลชนไทยทำข่าว investigative reporting นำเสนอต่อสังคม โดยเฉพาะการจัดให้มีการประกวดทั้งข่าวยอดเยี่ยมและภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี
"ตุลย์-นักหนังสือพิมพ์อาวุโส" กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ ได้ล้มหายตายจากกันไป ตามสภาพสังคมในยุคการเปลี่ยนแปลง แต่ผมเห็นว่า การประกวดรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ภาพข่าวยอดเยี่ยม ควรจะต้องมีอีกต่อไปเรื่อยๆ เพราะแม้สภาพสังคมการทำงานของสื่อมวลชนยุคนี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แต่หน้าที่และจิตวิญญาณของสื่อไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ สื่อมวลชน นักข่าวต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น ต้องศึกษาให้มากขึ้น ทำงานให้มากขึ้น ต้องยอมทุ่มเท ทำงานเหนื่อยมากขึ้นเพื่อที่จะได้รายงานข่าวเพื่อให้มีการนำข้อเท็จจริงตีแผ่ออกมา เพื่อทำความจริงให้ปรากฏแม้จะยากลำบาก แต่มันคือความท้าทายของนักข่าวที่ต้องขวนขวายเรียนรู้
..หากถามผมว่าวิธีการประกวดรางวัลข่าวยอดเยี่ยมต่อไปควรทำอย่างไรในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ ผมเห็นว่าองค์กรวิชาชีพสื่อ คือตัวสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ควรต้องมานั่งคิดเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรายงานข่าวประเภทนี้ อย่างมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ก็ควรมีกองทุนก้อนหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการทำงานของนักข่าว-สื่อ ในลักษณะว่าควรจะมีการทำข่าว นำเสนอข่าวบางประเด็น ที่เป็นข่าวแบบ investigative reporting เพราะต้องยอมรับว่าการทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวน จำเป็นต้องมี"ทุน-ค่าใช้จ่าย" ในการ invest หรือการลงทุน ที่องค์กรต้นสังกัด ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์-โทรทัศน์-วิทยุ เจ้าของสื่อ ผู้บริหารองค์กร ต้องสนับสนุนเพราะเป็นการทำข่าวที่ต้องใช้ทุนในการทำข่าว เช่นการค้นหาข้อมูลต่างๆ -ต้องมีการไปสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยต้องมีการนำเสอนข้อมูลอย่างหนักแน่นจริงจัง เพื่อให้ข่าวออกมามีคุณภาพ
ขณะที่นักข่าว-กองบก. ต้องมีทักษะ มีลักษณะเป็นคนชอบตั้งข้อสังเกตุ ตั้งข้อสงสัยในปรากการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ว่ามีเงื่อนงำอะไรหรือไม่ แล้วสื่อ ก็ต้องทำหน้าที่"คลี่เงื่อนงำ"ออกมาเสนอต่อสังคม ให้เห็นว่า สิ่งไหนถูก-ผิด อะไรจริง-ปลอม แล้วก็ตามข่าวไปเรื่อยๆ แบบอดทน ทุ่มเท ถึงจะประสบความสำเร็จได้
ที่สำคัญเจ้าของสื่อ องค์กรต้นสังกัดของนักข่าว ตลอดจนองค์กรที่ให้ทุน ก็ต้องสนับสนุนการทำข่าวอย่างจริงจังด้วย อย่างไรก็ตาม นักข่าว-กองบก. เอง หากข่าวชิ้นใด ประเด็นไหน หากทำข่าวนั้นไปได้สักพัก แล้วเห็นชัดว่า ประเด็นข่าวมันเดินต่อไปไม่ได้ ก็อย่าไปฝืน อันนี้พูดจากประสบการณ์การทำข่าวในอดีต เพราะหากทำข่าวประเด็นไหนไปแล้วสักระยะดูแล้วไปต่อไม่ได้ ก็ไม่ควรฝืนเพราะหากฝืนแล้วไปต่อไม่ได้ ก็จะเสียเวลา ไม่ได้อะไร แต่หากประเด็นไปต่อได้ ก็ต้องตามต่อเนื่อง แล้วก็จะประสบความสำเร็จในการทำข่าว
..ผมเห็นว่า สมาคมนักข่าว ฯ องค์กรวิชาชีพสื่อ อาจต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพเองในอนาคตในลักษณะการส่งเสริมให้นักข่าวทำข่าวแบบ investigative reporting เอง จากปัจจุบันที่สื่อแต่ละแห่ง พอทำข่าวอะไรมาแล้วเห็นว่า ข่าวพอส่งเข้าประกวดได้ก็ส่งมา แต่ต่อไป สมาคมนักข่าวฯ ก็อาจต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพตรงนี้เอง เพราะต้องยอมรับว่าสื่อบางลักษณะวันนี้มันไม่มีพลังแล้ว กาลเวลามันเปลี่ยนไปแล้ว แต่จิตวิญญาณของสื่อยังอยู่ สมาคมนักข่าวฯยังอยู่ องค์กรวิชาชีพสื่อยังอยู่ องค์กรต้นสังกัดสื่อยังอยู่ ก็อยากเห็น กรรมการในองค์กรวิชาชีพสื่อ และคนทำสื่อนั่งคุยกันว่า สื่อควรจะเดินต่อไปอย่างไรในยุคปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมอาชีพนี้ให้เขาทำหน้าที่แล้วเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เราควรต้องทำอย่างไร ควรมานั่งคิดร่วมกัน ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบเช่น เมื่อเกิดประเด็นอะไรขึ้นมาในสังคม แล้วก็มานั่งคุยกันว่า เรื่องนี้มีอะไรน่าสงสัย ใครพูดจริงหรือพูดโกหก จากนั้นต้องส่งเสริมให้นักข่าวไปสืบค้นมานำเสนอ ที่แน่นอนว่า การทำข่าวลักษณะดังกล่าว ต้องใช้เวลาในการทำ ต้องมีทุนพอสมควร และคนทำต้องมีจิตใจที่ยึดมั่นในการค้นหาความจริง อย่างตอนนี้ผมก็อายุมากแล้ว หากผมยังหนุ่มๆ ก็มีบางประเด็นข่าวที่ผมเห็นตอนนี้แล้วผมก็อยากเข้าไปทำข่าวเหมือนกัน
-มีเสียงสะท้อนว่า ข่าวที่เข้าประกวดรางวัลข่าวยอดเยี่ยมระยะหลัง คุณภาพข่าวลดลงไปจากอดีตมาก ?
ผมไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรเรื่องนี้ เป็นเรื่องของการพิจารณาของคณะกรรมการตัดสินรางวัลแต่ละปีว่าจะมีการให้รางวัลกันอย่างไร และหลังจากนี้จะมีแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนการทำข่าวอย่างไร เป็นเรื่องของผู้เกี่ยวข้องจะพิจารณา แต่อยากให้กำลังใจซึ่งกันและกันกับคนที่ทำงานข่าวปัจจุบันเพราะการทำข่าวคือการทำงานเพื่อสาธารณชน ที่สื่อก็ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสมกับกาลเวลาและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาประเด็นข่าวแต่ละข่าวว่ามีประเด็นที่มีเงื่อนงำอย่างไร และข่าวนั้นมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร แล้วทำความจริงให้ปรากฏออกมา เพื่อให้สังคมเข้าใจ
หลายเรื่องที่ มูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้ทำไว้กับวงการสื่อ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี และหลังจากนี้ มูลนิธิอิศรา อมันตกุล ควรเข้ามาส่งเสริมการทำข่าวสืบสวนสอบสวน หลังสถานการณ์สื่อวันนี้เปลี่ยนแปลงไป โดย มูลนิธิอิศรา อมันตกุล กับสมาคมนักข่าวฯ อาจเข้ามาเป็นเจ้าภาพมากขึ้นในการส่งเสริมการทำข่าว ประกวดข่าว ประเภทสืบสวนสอบสวน เช่นจัดหางบประมาณสำหรับการทำข่าวสืบสวนสอบสวนเช่น หากมีกองบก.ที่ใด เสนอเรื่องไปยังสมาคมนักข่าวฯหรือมูลนิธิอิศรา เพื่อขอทุนในการทำข่าวบางประเด็น กรรมการสมาคมนักข่าวหรือมูลนิธิอิศรา ไปพิจารณาดูเพื่อจัดงบประมาณไปสนับสนุนการทำข่าว investigative reporting โดยเฉพาะเลย
"ตุลย์-นักหนังสือพิมพ์อาวุโส"กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ต้องยอมรับว่า สื่ออยู่ในภาวะลำบาก อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ ทุกวันนี้แทบไม่มีกำไร เลยทำให้สื่อก็ต้องพยายามหาทางปรับตัว เช่นลดค่าใช้จ่ายลง รวมถึงดิ้นรนไปสู่สื่ออื่นๆ เช่น สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย อันเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการดิ้นรน ปรับตัวของสื่อ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ยังไง คนก็ยังต้องติดตามข่าวสาร ยังต้องการความรู้ ข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ แต่ขึ้นอยู่กับคนทำสื่อ นักข่าว กองบก. จะต้องมีความมุ่งมั่น อดทน ในการค้นหาความจริงและนำเสนอความจริงออกสู่สังคม เพราะสื่อมีหน้าที่รับใช้สังคม
"ตุลย์-นักหนังสือพิมพ์อาวุโส"ย้ำไว้ตอนท้ายว่า สิ่งสำคัญคือไม่ว่าจะสื่อจะปรับตัวไปอย่างไร แต่จิตวิญญาณความเป็นสื่อต้องคงอยู่ ต้องไม่หายไปจากสังคม เป็นจิตวิญญาณของคนที่อยากทำความจริงให้ปรากฏ ดำรงความเป็นสื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไป
ซึ่งความสำคัญของสื่อมวลชนมีมาก เห็นได้จากที่บางคน จัดให้สื่ออยู่ในส่วนหนึ่งของฝ่ายกระบวนการยุติธรรม เพราะหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม หากสื่อมวลชนไม่นำเสนอข้อเท็จจริงไม่รายงานข่าวออกมา ประชาชนก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงมีการพูดกันว่า ในแวดวงวิชาการระดับสากล ว่ากระบวนการยุติธรรมต้องมีสื่อมวลชนรวมไว้ด้วย เพราะถ้าสื่อมวลชนไม่นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้น สังคมก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้
ครั้งหนึ่งในการอบรมหลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง ของศาลยุติธรรม เคยมีการพูดกันว่า ในหลักวิชาการทางสากล สื่อมวลชน คือหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมด้วย เพราะสื่อคือผู้นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งกระบวนการยุติธรรม ก็คือการค้นหาความจริง หากสื่อไม่นำเสนอประชาชนย่อมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม และข้อเท็จจริงคืออะไร
“อำนาจอธิปไตยของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีอยู่สามอำนาจ คือนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ แต่มีอำนาจหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับสามโครงสร้างอำนาจดังกล่าว คือสิทธิในการรับรู้ของประชาชนหรือ Right to know ซึ่งคนทำหน้าที่นำเสนอเรื่องราวต่างๆให้สังคมรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เช่นฝ่ายบริหาร ทำงานผิดพลาดอย่างไร หรืออำนาจฝ่ายตุลาการ พิพากษาคดีไปแล้ว เป็นการให้ความเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน มีลักษณะการเอื้อประโยชน์ให้กับใคร คนทำหน้าที่นี้คือสื่อมวลชนที่สะท้อนเรื่องราวข้อเท็จจริงต่างๆ ออกมานำเสนอต่อประชาชน”
......................................................
ปล.เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2564 ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย