หมอวิพากษ์บทบาทสื่อในภาวะวิกฤต สิ่งที่ต้องถามในสถานการณ์โควิด?

“การสื่อสารของรัฐบาลไม่อาจชี้นำสังคมและไม่อาจสร้างความจริงให้สังคมรับรู้ได้  ถ้าองค์กรสื่อรวมตัวกันดีๆ มีการประชุมคุยกันในกลุ่มสื่อใหญ่ๆ หรือร่วมกับ องค์กรวิชาการ  องค์กรภาคประชาชน เชื่อว่า องค์กรสื่อจะชี้นำสังคมแทนรัฐบาล ตอนนี้สื่อเป็นเพียงผู้ตาม แต่ถ้ารัฐบาลไม่ฟัง เราก็ต้องนำคู่ขนาน ” 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

วิกฤตโรคระบาด ประชาชนเกิดความเครียดรอบด้านทั้งสถานการณ์ที่เผชิญอยู่จากยอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่น ระบบสาธารณสุขถึงจุดอิ่มตัว  การเสพข้อมูลโซเชียลที่มากเกินพอดี รวมถึงข่าวสารของสื่อสำนักต่างๆ ล้วนไปในทิศทางตอกย้ำความสูญเสีย ชะตากรรมที่ไร้ความหวัง ขณะที่ประเทศยังขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมือง

จุลสารราชดำเนิน พูดคุยกับบุคลากรสาธารณสุข ฝ่ายปฏิบัติ ด่านหน้าในการแก้วิกฤตชาติ มองบทบาทสื่อในสถานการณ์โควิดอย่างไร หลังสื่อถูกตั้งคำถามว่า ไม่สามารถชี้นำสังคมในภาวะวิกฤตได้เหมือนในอดีต?

0 สื่อตามแต่ข้อมูลภาครัฐข่าวเจาะมีน้อย อย่าก๊อปโซเชียลมาเล่น

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า  ในภาพรวมสื่อนำเสนอข่าวตามที่รัฐบาลชงเป็นส่วนใหญ่ คือ ยอดคนเจ็บ คนเสียชีวิต การแถลงข่าวของ ศบค.และ หน่วยงานของรัฐ โดยที่ยังขาดข่าวสืบสวน เช่น  วัคซีนแอสตร้าเซเนกา  ประเทศไทยจะได้กี่โดสในข้างหน้า  สัญญาที่รัฐบาลทำกับบริษัทแอสตร้าฯ เป็นอย่างไร  กว่าสื่อจะตรวจสอบได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน สุดท้ายพบว่า รมว.สาธารณสุข เคยประเมินความต้องการวัคซีนแค่ 3  ล้านโดสต่อเดือนตามที่สำนักข่าวอิศราเปิดเผย  กล่าวโดยสรุป ข้อเท็จจริงในสังคมมันเดินเร็วและถูกปล่อยโดยภาครัฐ ขณะที่ฝ่ายสื่อซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสามารถสูงสุดในประเทศในการเจาะข่าว หาความจริง แต่ก็ยังทำได้น้อยไป

“สังคมต้องการข่าวเจาะ ไม่ใช่ข่าวที่ไปก๊อบเฟสบุ๊ค หรือ เอาวีดีโอที่ปรากฎในโลกโซเชียลมาเผยแพร่ต่อ อย่างนั้นเป็นการทำข่าวที่ง่ายเกินไป เราต้องการข่าวที่ชี้นำสังคม”

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา

นพ.สุภัทร กล่าวว่า คำถามที่สื่อควรถามมากที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้มี 2 เรื่อง 1.ควรมองให้ไกลถึงอนาคตอันใกล้ เดือนหน้าจะเป็นอย่างไร  รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดอะไรบ้างเพื่อให้สถานการณ์โควิดดีขึ้น ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหารายวัน นั่นหมายถึงการวางแผน การเตรียมตัว การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม  2. คำถามสำคัญอาจไม่ใช่เรื่องโควิดทีเดียว  แต่อาจเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เกี่ยวข้องยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เช่น การจัดซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ  หรือ การเยียวยาผู้คนทำดีหรือยัง   เปิดภูเก็ตแล้วเป็นอย่างไร แหล่านี้มีมุมที่ต้องการสะท้อนความเป็นจริง

ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ที่สื่อนำเสนอปัญหาความยากลำบากของผู้เจ็บป่วยในการหาเตียง การติดเชื้อในบ้านกระทั่งเสียชีวิต ไม่ใช่เรื่องดราม่าตามที่มีการวิจารณ์ แต่เป็นการสะท้อนความจริงในสังคมเพื่อให้ภาครัฐแก้ปัญหา เช่น การต้องไปเข้าคิวตรวจเชื้อโควิดตั้งแต่ตี3-4 ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน  ความตายข้างถนนที่ไม่มีใครมาจัดการทันท่วงที

0รัฐสื่อสารล้มเหลว เน้นปลีกย่อย ไม่สร้างความจริงให้สังคมรับรู้

การสื่อสารภาครัฐภาวะวิกฤตที่ถูกวิจารณ์ว่า เป็นไปคนละทิศละทาง ประชาชนสับสน นพ.สุภัทร กล่าวว่า เห็นด้วย เรียกได้ว่า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเพราะเอาแต่สื่อสารประเด็นปลีกย่อย เช่น วันนี้ตายกี่คน  แต่ละเคสเป็นอย่างไร  โรงงานตรงนี้เป็นอย่างไร หรือ คอยแก้ข่าวประเด็นเล็กๆ  บอกเรื่องตัวเลขยาวเป็นปี ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร การสื่อสารภาวะวิกฤตต้องชี้ให้เห็นความหวังของสังคมบนความจริง เช่น เดือนนี้วัคซีนจะมีน้อยแค่ 6 ล้านโดสแล้วจะทำอย่างไร ประชาชนจะได้เข้าใจ นี่คือ การสื่อสารที่สังคมรอฟังเพราะจะได้เห็นทิศทางและเข้าใจ เพราะถ้าสื่อสารชัดก็จะนำมาสู่ความร่วมมือของประชาชน แต่ถ้าไม่ชัดเจน สังคมก็จะต่อว่ากันไปมา

“ทีมสาธารณสุขต้องกล้านำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง กล้าที่จะคัดง้างกับรัฐบาลให้มากกว่านี้ ในหลายๆ กรณี ข้อมูลกระทรวงก็มีมากแต่กลับพยายามพูดในทิศทางที่รัฐบาลกำหนดให้  เช่น ยอดวัคซีนที่จะเข้ามา กระทรวงรู้อยู่ แท้จริงจะได้เท่าไร แต่ก็พูดไม่ได้ รอศบค. พูด แต่ศบค.ก็พูดไม่รู้เรื่อง พูดแต่ตัวเลขไกล ๆ ปีนี้เราจะมีวัคซีน 100 ล้านโดสแล้วใครจะเชื่อเพราะเหลืออีก 5 เดือน มันเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ” นพ.สุภัทร กล่าว

ภาพจากเพจชมรมแพทย์ชนบท

นพ.สุภัทร กล่าวว่า การสื่อสารของรัฐบาลไม่อาจชี้นำสังคมและไม่อาจสร้างความจริงให้สังคมรับรู้ได้  ถ้าองค์กรสื่อรวมตัวกันดีๆ มีการประชุมคุยกันในกลุ่มสื่อใหญ่ๆ หรือร่วมกับ องค์กรวิชาการ  องค์กรภาคประชาชน เชื่อว่า องค์กรสื่อจะชี้นำสังคมแทนรัฐบาล ตอนนี้สื่อเป็นเพียงผู้ตาม แต่ถ้ารัฐบาลไม่ฟัง เราก็ต้องนำคู่ขนาน โดยเฉพาะสื่อเป็นองค์กรที่มีความหมายมากน่าจะชี้ทิศทางที่ควรจะเป็นของสังคมได้ ผู้คนก็สนใจและเชื่อถือ

ข้อมูลที่มากมายทั้ง ผู้มีอิทธิพลทางโซเชียล หรือ Influencer  ยูทูปแบอร์ เพจต่างๆ แสดงความเห็น วิจารณ์รัฐ  ปัญหาการจัดสรรวัคซีน แม้แต่บุคลาการแพทย์ก็มีหมอจำนวนไม่น้อยออกมาโพสต์ทางเฟสบุ๊คและสื่อนำไปขยายความ หลายคนมองว่า เป็นเสรีภาพ อีกด้านก็ทำให้สังคมมึนงงตื่นตระหนกกังวลกับภาพความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น   สำหรับ นพ.สุภัทร ซึ่งมีเพจชมรมแพทย์ชนบท ออกมาโพสต์ชี้นำกระแสในหลายๆครั้ง  มองว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องแปลก

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท (ภาพจากเพจชมรมแพทย์ชนบท)

“เราก้าวมาสู่ยุคที่ผู้คนสามารถสื่อสารเองได้ เพราะทุกคนมีมือถือเป็นดาราได้  ทุกคนเป็น speaker ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี หมายถึงการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสังคม  คนที่พูดก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูด ตรงนี้จะค่อยๆ สร้างภูมิของสังคมในการรับสื่อ  เพราะวันนั้นเราคงไม่สามารถปฏิเสธการพูดของผู้คนได้อีกต่อไป แต่เราจะจัดการการกรอง การรับรู้อย่างไร ซึ่งก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว”

นพ.สุภัทร กล่าวว่า การใช้โซเชียลมีเดียของหมอก็ถือว่า หมอเป็นปุถุชนธรรมดาและแต่ละคน ควรเอาความรู้ทางวิชาการของตัวเองมาบอกกล่าวสังคมอย่างกลั่นกรอง  แน่นอนความเห็นเหล่านั้นย่อมมีมุมมองที่แตกต่างแต่ใครนำเสนออะไรก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าเผยแพร่แล้วผิด ใส่ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง สังคมก็จะจัดการกับความเห็นนั้นเอง สำหรับ เพจชมรมแพทย์ชนบทของเรากว่าจะเขียนข้อมูลลงสักชิ้นต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างหนักเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สุด  เราไม่ได้ปล่อยทุกวันเพื่อต้องการยอดไลค์ ไม่งั้นเราจะเสียหาย  เราต้องการให้ข้อมูลที่ออก คือ ความจริงที่ใช่และสอดคล้องกับสถานการณ์

0 ความเห็นหลากหลายดี  แต่อย่าใส่อคติ-ขยายความกลัวเกินจริง

นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การนำเสนอของสื่อบางแห่ง เต็มความเห็น ชี้แนะ บางเรื่องแม้จะหวังดีแต่ก็ไปขยายความน่ากลัวของเหตุการณ์จนเกินจริง  บางสื่อก็เติมอคติเข้าไปอีก เพราะโดยข้อเท็จจริงบางเรื่องของสถานการณ์โควิดที่เราเผชิญอยู่ก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้วเพราะมันเป็นเรื่องชีวิตผู้คน นี่คือ ความน่าห่วง  การชี้แนะต้องวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่จะออกมาด้วย บางเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของคน คนฟังก็เชื่อทันทีเกิดผลเสียต่อชีวิตได้   ส่วนการนำเสนอเรื่องความตายของผู้ติดเชื้อในบ้านก็ถือทำถูกแล้ว สื่อก็ต้องนำเสนอด้วยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กทม. สาธารณสุข ทำอะไรอยู่  เรื่องการขาดเตียง ตัวเลขเป็นอย่างไร ทางออกจะทำอย่างไร 

“ประชาชนคนรับสื่อ บางคนก็มีความเป็นกลาง บางคนก็เอนเอียง เลยเกิดความสับสนหมด ทั้งผู้ให้ข่าว ผู้รับข่าว สุดท้ายจะเกิดความสุดโต่งจนมันควบคุมไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่เราต้องไปจำกัดสื่อมวลชน เพราะข้อเท็จจริงบางอย่างก็เป็นประโยชน์ ความเห็นที่หลากหลายก็เป็นเรื่องดี  แต่อยากให้ประชาชนรับฟังข้อมูลด้วยแยกแยกวิเคราะห์ให้ถูกต้อง”

นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นพ.ดิลก ยกตัวอย่างสิ่งที่สื่อนำเสนอและอาจสร้างความสับสน เช่น  สูตรสลับการฉีดวัคซีน ซึ่งข้อเท็จจริงได้มีการศึกษาไปแล้ว แต่สื่อกลับเสนอไม่ครบ และแย้งว่า ที่หมอคิดมาเพื่อต้องการเหมาเอาวัคซีนไม่ดีมากวาดใช้  ถ้าสื่อไม่เห็นด้วยไม่เป็นไรแต่ขอให้เอาข้อมูลมาแสดง หรือ เรื่องการจัดหาวัคซีน mRNA ที่สื่อตั้งคำถามซึ่งหลายคนก็อยากรู้ทำไมภาครัฐถึงหามาไม่ได้ สื่อก็ต้องตามหาข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นตอ เช่น ทำเต็มที่หรือยัง ใช้กลไกการทูตหรือยัง

0 ต้องช่วยเสนอทางออกปมวัคซีนทำประชาชนสับสน

“ที่น่าเศร้า สภาพปัจจุบัน บางเรื่องพอเราหนุนข้อมูลของสื่อฝั่งนี้กลายเป็นเราอยู่ฝั่งหนึ่งของความขัดแย้งการเมืองไป  มันทำให้เราเหมือนปิดตารับรู้ข้อมูลอีกด้าน น่าเสียดายมาก  ถ้าสื่อบอกประชาชนว่า ต้องฟังข้อมูลสองฝ่าย  สื่อเองก็ต้องหลุดจากตรงนั้นให้ได้เหมือนกัน ถ้าด้านดี มันก็ต้องดี ไม่ใช่บอกว่า ไม่ดี”

“สื่อต้องนำเสนอข้อเท็จจริง ตรงไปตรงมา ทำโทนการนำเสนอให้เกิดประโยชน์ ต้องช่วยตามข้อเท็จจริงที่ยังไม่ปราฏด้วย ถ้าสื่อช่วยกันเสนอแนวทางแก้ปัญหา หรือ สื่ออาจช่วยกันสร้างเครือข่ายช่วยผู้ป่วย ในสังคมเราต้องช่วยกัน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาตัวที่บ้าน สื่อควรลงมาสัมผัสปัญหาจริงๆ จะได้เข้าใจ และจะได้สื่อเชิงบวก และนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ถ้าเราด่าเฉย ๆ แล้วให้คนในสาธารณสุขทำทุกอย่าง มันก็ตายแน่ อย่าง รพ.ธรรมศาสตร์ราต้องวางระบบเอง ส่งอาหาร ทำโปรแกรมระบบส่งยา ตรงนี้ใช้ส่วนสังคมมาช่วย เพื่อลดการเสียชีวิตในบ้าน”

สิ่งที่สื่อควรถามมากที่สุดขณะนี้  นพ.ดิลก  มองว่า  คำถามแรกควรเป็นเรื่อง ปัจจัยหลักที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากสถานการณ์โรคระบาดคืออะไร แล้วทุกคนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร  เช่น บางคนอาจตอบเรื่องการจัดหาวัคซีน แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น กระทรวงสาธารณสุขบอกกำลังจัดหา แล้วเราจะทำอะไรมากกว่านั้นได้ไหม ภาคเอกชน กระทรวงการต่างประเทศจะช่วยตรงนี้ได้อย่างไร ถ้าทุกคนลงมือช่วยหากันหมดแล้ว และมันไม่ทัน ก็ต้องยอมรับ   อีกคำถามคือ เราจะรักษาชีวิตคนระหว่างนี้ได้อย่างไร การขยายบริการจะเปลี่ยนระบบได้แค่ไหนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

แล้วประเด็นที่สื่อควรลดการนำเสนอมากที่สุด? …..  “คือ ความเห็นที่ไม่ได้คัดกรอง เช่น เรื่องวัคซีน การนำเสนอของสื่อบางครั้งกระพือข่าวเรื่องผลข้างเคียงทำให้คนไม่มาฉีดวัคซีน ทั้งที่น่าเสียดายมาก เพราะสื่อทำให้เกิดความไม่เชื่อให้กับคนที่เขาทำงานโดยบริสุทธิ์ใจไปด้วย คนเลยแยกแยะไม่ถูก

0 ชี้นำสังคมด้วยข้อเท็จจริง  ทำเพื่อส่วนรวม อย่ามีวาระซ่อนเร้น

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด่านหน้าในการชี้แจงข้อมูลกับประชาชนและสื่อมวลชน กล่าวว่า  ภาพรวมสื่อส่วนใหญ่มีความตั้งใจดี แต่อาจมีส่วนน้อยที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา สื่อเองก็มีจรรยาบรรณเพราะเป็นวิชาชีพ  สื่อมีหน้าที่ให้สร้างความรู้ ความเข้าใจ แสวงหาข้อเท็จจริง ให้ประชาชนเข้าใจ ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง  ภารกิจสำคัญ การติดตามกำกับ ตรวจสอบ ให้ทิศทางของการทำงานเป็นไปในทิศทางที่ดีกับประเทศชาติ และเป็นเสาหลักคานอำนาจในสิ่งที่ไม่ดี รวมถึงสื่อมีหน้าที่ให้คำแนะนำ คือ  ความรับผิดชอบ แต่ไม่ใช่มุ่งการทำลายล้างเป็นตัวตั้ง

 โฆษกกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  การทำงานสื่อ ต้องเกิดประโยชน์กับส่วนรวม บางครั้งเสนอข่าวไป อาจไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำยังเกิดผลร้ายด้วย มีบางส่วนที่มุ่งประโยชน์ส่วนตน อัตตา พวกพ้อง ส่วนตัว นำเสนอข่าวไม่ตรงไปตรงมา อีกเรื่องคือ ข้อเท็จจริงไปไกลแล้ว แต่ยังเอาเรื่องเดิม มานำเสนอ วนไปวนมา เช่น ข้อมูลวัคซีน ที่สื่อเอาข้อมูลเก่ามานำเสนอมุ่งโจมตีกัน  หรือ เอาข้อความเก่ามาตัดต่อแล้วมาลงในอินโฟกราฟฟิค แล้วเลือกข้อความที่สื่ออยากสื่อสารมีเจตนาบิดเบือนตามเป้าประสงค์ของสื่อ 

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิดเราจะเห็นข่าวแบบนี้เยอะมาก แม้กระทั่งการบิดเบือน แบ่งพวกแบ่งข้าง บางค่ายนำเสนอมีเป้าทำลายชัดเจนถึงตัวบุคคล และหน่วยงาน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดี  ประชาชนไม่ได้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ ที่เจอโดยตรง คือ  มีการใช้มือถือ  ถ่ายภาพ ทำคลิปตัดต่อ มุ่งเป้าประสงค์ และไปขายให้แหล่งที่เขาจะโจมตี  คนที่ทำไม่ดีอย่างนี้ถือว่าเป็นเหลือบ เห็บ ริ้น ไร 

“ผมไม่ขอนับญาติเป็นสื่อมวลชนกับคนกลุ่มนี้ซึ่งมีเป็นส่วนน้อย เหมือนหมอก็มีจรรยาบรรณต้องทำเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย องค์กรวิชาชีพสื่อต้องออกมาต่อต้านคนที่ทำอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่โดยสุจริตจะได้รับความเดือดร้อน ถูกตราหน้าว่า นักข่าวไม่ดี ซึ่งมันไม่จริง”  

คำถามที่สื่อควรถามมากที่สุดตอนนี้คืออะไร?  ..... โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ตอบว่า  “ข้อเท็จจริง”   

“บางครั้งต้องยอมรับว่า ด้วยบริบบทการทำงานมันขาดข้อเท็จจริง เช่น ตอนนี้ฝ่ายที่แก้ปัญหาทำอะไรอยู่บ้าง แล้วมันจะตอบสนองต่อสถานการณ์ในอนาคตหรือไม่ รวมถึง the next มันจะเกิดอะไรในอนาคต หรือมีทางเลือกอื่นอีกไหม มิเช่นนั้น มันจะเกิดปัญหาที่เรียกว่า เลือกแบบไม่มีการไตร่ตรองให้ดี ไม่ได้ใช้หลักวิชาการที่จะเข้ามากำหนดนโยบายสู่มาตรการ

อีกประเด็น คือ คำถามเรื่องการบริหารจัดการ สื่อมีบทบาทสำคัญที่จะตรวจสอบ เช่น  เราทำเรื่องหนึ่งมีเจตนาดี แต่ก็อาจไม่พอ เพราะต้องทำด้วยพื้นฐานความถูกต้องของระบบ การปฏิบัติ การมีส่วนร่วมที่ดี แม้แต่การจัดซื้อจัดจ้าง ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ  บางครั้งฝ่ายปฏิบัติทำเรื่องดีๆ แต่มันไม่ประหยัด สิ้นเปลือง ไม่เหมาะสม    

“เรื่องการจัดซื้อวัคซีน สื่อมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่สื่อก็ต้องมีข้อมูลทางวิชาการที่ดีพอด้วยและรู้เท่าทันกัน  เช่น เราบริหารวัคซีนขณะนี้ มันไม่สามารถจัดซื้อวัคซีน mRNA ได้ เพราะไม่มีคนขายให้ตอนนี้ แต่ไม่ใช่สื่อมาพุ่งเป้าทำไมไม่ซื้อยี่ห้อนั้นนี้ที่มันดีกว่าและโหนกระแสไป อันนี้อาจจะไม่ถูกต้อง และถ้าเราเข้าใจบริบท  ภาครัฐได้ติดต่อตามไทม์ไลน์  แต่เขาไม่ขาย  ถ้าสื่อไล่ตามไลน์ก็จะเห็นฝ่ายบริหารจัดการไม่ได้ผิด  ไม่ใช่มาพุ่งว่า วัคซีนตัวนั้นดี แล้วทำไมประเทศไทยไม่เอามา แล้วค้างประเด็นอยู่อย่างนี้”  

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ถ้าสื่อเข้าใจภาพรวม และความถูกต้อง การนำเสนอก็จะเป็นอีกแบบ ประชาชนก็จะรับข่าวสารที่มีคุณภาพ

“บางเรื่องที่สื่อนำเสนอเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ได้จริงทั้งหมด แม้กระทั่งข่าวอีกฝั่งที่บอกว่า ติดต่อซื้อวัคซีนมาแล้ว แต่พอพิสูจน์แล้วว่า ไม่จริง แต่คุณนำเสนอไปแล้ว แต่สื่อก็ไม่มีตามต่อว่าเพราะอะไร นี่คือ จุดอ่อน”  

เขา กล่าวว่า สถานการณ์โควิดตอนนี้  ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะต้องพูดความจริง ถ้าไม่มีเตียงก็ต้องบอก เพื่อให้ประชาชน รัฐเตรียมตัว หรือ ยอดคนไข้วันนี้  เดือนหน้าอาจจะเป็น 2 หมื่น ฝ่ายคนที่ดูแลก็ต้องบอกความจริงในจังหวะและเวลาและโทนที่เหมาะสม แต่ถ้าบอกประชาชนว่า เราคุมได้ สุดท้ายมันระเบิดตูมออกมา ก็ไม่ได้อีก ฝ่ายปฏิบัติก็ต้องยึดความถูกต้อง

“หัวใจของสื่อ คือ กำกับ ตรวจสอบ ประเมิน เสนอแนะบนพื้นฐานความถูกต้อง ประเทศเราจะเจริญ รุ่งเรืองหรือไม่ สื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญในการชี้นำสังคม  ย้ำอีกทีมีสื่อส่วนน้อย ที่เป็นเห็บ ไร ริ้น มาบ่อนทำลายพี่น้องสื่อมวลชนและสังคมไทย”

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวทิ้งท้าย