นิเทศ ‘จันทรเกษม’ ยุคใหม่ต้องหลากหลาย ปรับหลักสูตรรับ content business

 

 

นิเทศ ‘จันทรเกษม’

ยุคใหม่ต้องหลากหลาย

ปรับหลักสูตรรับ content business

-------------

“คนทำงานด้านสื่อยังคงมีตลาดงานรองรับ เพียงแต่อาจจะเป็นการเคลื่อนย้ายถ่ายเทลักษณะการทำงานเท่านั้น สื่อก็เหมือนปลาวาฬ ตอนนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาของการพลิกตัวเหมือนกันหมดและพร้อมๆกัน ย่อมเกิดผลกระทบเป็นคลื่น แต่ไม่ทำให้ตาย แต่ต้องเปลี่ยนวิธีว่ายใหม่ แต่เชื่อว่าเมื่อตกตะกอนก็จะเกิดการตั้งตัวใหม่เกิดขึ้นได้”

....ทุกคนเจอโจทย์เดียวกันหมด คือ ต้องปรับตัว ทั้งสื่อหลักเจ้าของพื้นที่เดิมและสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ที่กำลังมาแรง ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิม จึงมีการเปลี่ยนหลุมที่หย่อนเม็ดเงินลงไปจากสื่อหลักเป็นโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้สื่อหลักต้องปรับตัวรับกับโซเชียลมีเดียด้วย แต่ทั้งหมดก็อยู่ในธุรกิจเดียวกัน คือ Content Business”

มุมมองของ ณัชชา พัฒนะนุกิจ หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม (มจษ.)ที่มีต่อสถานการณ์สื่อยุคสึนามิดิจิตัล  ขณะที่ จันทรเกษม เอง ที่ผ่านมาได้รับการยอมรับในการผลิตนักศึกษาด้านนิเทศให้มาเป็นนักข่าว-สื่อมวลชน” มีคุณภาพหลายต่อหลายรุ่น การปรับเปลี่ยนของจันทรเกษมต่อหลักสูตรนิเทศศาสตร์ในยุคนี้เป็นอย่างไร ในยุค “ดิจิตัลดิสรัปชั่น” ที่ท้าทายทุกแพลตฟอร์ม


ณัชชา เล่าว่า ปัจจุบัน  มจษ.มีการเรียนการสอนสาขานิเทศศาสตร์ อยู่ภายใต้คณะวิทยาการจัดการ เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีใน 3 แขนง ได้แก่ แขนงวารสารศาสตร์ดิจิทัล(JR) แขนงการประชาสัมพันธ์และการโฆษณา(PR-AD)และแขนงวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และสื่อใหม่(BC) มีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่แยกเป็นแขนงวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ แขนงวิชาวารสารศาสตร์ แขนงวิชาการประชาสัมพันธ์ และแขนงวิชาการโฆษณา ต่อมาแยกเป็นแขนงวิชาวารสารศาสตร์และสื่อออนไลน์ แขนงการประชาสัมพันธ์และโฆษณาและแขนงวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และสื่อใหม่ และเปลี่ยนเป็น 3 แขนงในปัจจุบัน


 

0นักศึกษาลดลง แต่ทุกธุรกิจยังต้องการ content

 

สำหรับนักศึกษาที่เข้าเรียน สาขานี้ระดับปริญญาตรีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง  โดยปี 2556 รับประมาณ 40 คนปี2558 ลดลงเหลือเพียง 25 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 40 คนในปี 2559 และปี 2560 จำนวน 30-40 คน ซึ่งโดยปกติในส่วนของสาขาวารสารศาสตร์จะรับนักศึกษาเพียง 1 ห้อง จำนวน 40 คน สำหรับอาจารย์ทั้งสาขานิเทศศาสตร์มีประมาณ 20 คน เฉพาะแขนงวารสารศาสตร์มี 3 คน ซึ่งไม่ได้ลดจำนวนลง

ณัชชาให้ทัศนะว่า  การที่จำนวนนักศึกษาลดลง อาจเนื่องจากมีความต้องการที่จะไปเรียนในสาขาที่อุ่นใจกว่า จากรับรู้ถึงธุรกิจสื่อที่ตกลง จึงจำเป็นต้องมีการปรับวิธีคิดใหม่สร้างความมั่นใจในการมีงานทำของเด็ก แสดงให้เห็นว่าการเรียนสาขาวารสารศาสตร์ไม่ได้จบไปเป็นเพียงผู้สื่อข่าวเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นผู้สร้างเนื้อหาหรือContent ได้ด้วย เพราะแทบจะทุกธุรกิจมีความต้องการคนที่ทำContent ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลายในการรองรับ อาทิ  Content Online , Content Marketing , Content Analysis ,ผู้ดูแลเนื้อหาในเฟซบุ๊คเพจต่างๆ หรือผู้สื่อข่าวที่เป็นสายเฉพาะทาง เช่น เว็บไซต์รีวิวอาหารโดยเฉพาะ เป็นต้น


สำหรับการปรับตัวของสถาบันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น ณัชชา เผยว่า มหาวิทยาลัยมีการปรับหลักสูตรทุก 5 ปีเพื่อให้ตอบสนองต่อสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการ แต่ส่วนตัวเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ได้เพียง 1 ปี  จึงมองเห็นการปรับหลักสูตรในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น การเรียนการสอนวารสารศาสตร์ มจษ.ที่ผ่านมาพยายามทำให้หลักสูตรมีความยืดหยุ่นกับสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เช่น โครงสร้างหลักสูตรเดิม จะเน้นตามประเภทของข่าวเฉพาะทาง มีรายวิชาแยกเป็น ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวศิลปวัฒนธรรมและบันเทิง อันเนื่องมาจากความเข้มข้นของประเด็นข่าว ซึ่งถือเป็นความแข็งแกร่งการเรียนการสอนของที่นี่ที่ปูพื้นฐานมาดีสำหรับการเป็นนักหนังสือพิมพ์ของจันทรเกษม

 


0เทรนใหม่ฟรีแลนซ์ เจ้าของธุรกิจเล็กๆ


แต่ ณ วันนี้  เด็กที่สำเร็จการเรียนการสอนออกไปจะต้องเป็นได้แบบหลากหลาย และหากพิจารณาจากหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน จะเริ่มมองเห็นหลักสูตรว่าแม้เด็กจะอยู่ในวงการสื่อแต่จะเริ่มเป็นเจ้าของกิจการหรือรับงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์ เป็นเจ้านายตัวเองดูแลเป็นโปรเจคเล็กๆของตนเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับปัจจุบันที่ธุรกิจสื่อจะเน้นจ้างฟรีแลนซ์

“ยืนยันได้จากการที่ไปนิเทศนักศึกษาเมื่อปี 2560 ซึ่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล เรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 บอกว่า  เพื่อเป็นการลดต้นทุนขององค์กรจึงพยายามไม่มีฝ่ายผลิตของตนเอง เพราะไม่ต้องการแบกรับต้นทุนทั้งเรื่อง คน ของ เครื่อง และสวัสดิการต่างๆ จึงจ้างฟรีแลนซ์เป็นรายโปรเจค สามารถบริหารต้นทุนได้”

 

หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม  ย้ำว่า หลักสูตรของสถาบัน ในยุคปัจจุบัน พยายามช่วยนักศึกษา ด้วยการฝึกหลายมิติ ไม่ใช่เพียงแค่เขียนข่าว แต่จะต้องถึงว่าวงการนี้กำลังลุยเข้าสู่ “Business Content” ซึ่งมีความหมายว่า ทุกคนไม่ต้องยึดติดกับรูปแบบช่องทางการนำเสนอ(Platform) เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้แล้ว เหมือนกับว่าโทรศัพท์ที่เดิมเป็นแบบปุ่มกดแต่ตอนนี้เป็นระบบสัมผัสที่ทุกคนเรียนรู้การใช้งานเป็นแล้ว หรือแม้แต่ระบบปฏับัติการยังมีการควบรวมบางส่วนของอีกระบบหากเห็นว่าสิ่งนั้นดีแล้วนำมาปรับเป็นของตนเอง จึงกลายเป็นว่าศักยภาพของเด็กนิเทศศาสตร์ ต้องเรียนรู้และทำเป็นทุกPlatform

หลักสูตรนี้จะมุ่งให้เด็กมีทักษะที่ตลาดแรงงานปัจจุบันต้องการ ได้แก่ 1.การสังเคราะห์และการสร้างสรรค์เนื้อหา  ขณะที่ปัจจุบันมี big data  จะต้องสอนให้รู้จักการสังเคราะห์ จับปลาให้ถูกตัวในการนำเสนอ ไม่ใช่ทำเพียงแต่ลอกมาแล้วนำเสนอทันที 2.การหาข้อมูลเชิงลึก  ทำให้ได้เนื้อหาใหม่ที่จะนำมาสู่การสร้างสรรค์เนื้อหา และ3.การเล่าเรื่องข้ามสื่อ ให้เด็กเรียนรู้ถึงรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละสื่อที่มีบุคลิกต่างกัน แม้จะเป็นเนื้อหาเดียวกัน เช่น โซเชียลมีเดีย เน้นเนื้อหาสั้นๆ โทรทัศน์สื่อความด้วยภาพ โดย 1 ภาพแทน 100 คำพูด โดยเมื่อปีการศึกษา 2561  มีการแทรกรายวิชา วารสารศาสตร์ข้ามสื่อเพื่อให้เด็กวารสารศาสตร์ปรับตัว

 

ยกตัวอย่างเช่น ให้โจทย์เดียวคือรณรงค์การป้องกันโรคมะเร็ง แต่ให้นักศึกษาทำงานมาส่งทั้งเนื้อหาที่นำเสนอผ่านเฟซบุ๊ค ว่าเขียนเนื้อหานำเสนอในเรื่องใด หรือทำ อินโฟกราฟิกที่จะต้องสั้นกระชับแต่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดจะนำเสนออย่างไร  หรือ Viral Clip 1 นาทีสำหรับลงเฟซบุ๊ค และคลิปวิดีโอ 3 นาทีเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ เป็นต้น  ซึ่งเด็กวารสารศาสตร์มีต้นทุนที่ดีคือการหาข้อมูล เพราะหากไม่มีข้อมูลเป็นเบื้องต้นก็ไม่สามารถผลิตเนื้อหานำเสนอออกไปได้

 

 


 

0ปรับตัว ยืดหยุ่น ทัศนคติเชิงบวก ไปได้ทุก platform

“ในการปรับหลักสูตรแต่ละครั้งจะพิจารณาจากเสียงสะท้อนของบัณฑิต ซึ่งจะมีการประเมินทุก 4 ปีว่ามีเสียงสะท้อนอะไร เช่น ขาดทักษะการสังเคราะห์ หรือ มีความขยันหมั่นเพียร นำมาผนวกกับความเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อมวลชนในช่วงเวลานั้นๆ โดยมองในภาพรวมว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไร เช่นที่ปัจจุบันมีการปรับหลักสูตรรองรับ Content Business เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่มีข้อมูลจำนวนมาก แต่การหยิบสร้างสรรค์เนื้อหาและนำเสนอให้เป็นคือสิ่งสำคัญ” ณัชชากล่าว

หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม  ย้ำว่า  หลักสูตรนิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยทุกแขนงพยายามปรับตัวให้ก้าวทันตลาดแรงงาน แต่หากเด็กนักศึกษาไม่พยายามปรับตัวก็จะลำบาก เพราะท้ายที่สุดการจะได้งานทำหรือไม่ขึ้นอยู่ที่นักศึกษาด้วย ทั้งเรื่องบุคลิกภาพ จริยธรรม มารยาท ทัศนคติเชิงบวก  ในมหาวิทยาลัยนอกจากองค์ความรู้ที่เด็กจะได้รับแล้ว จึงพยายามสอนเด็กในเรื่องสำคัญอื่นๆควบคู่ด้วยเช่น ทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน เพื่อให้นักศึกษาเป็นคนที่พร้อมเสมอในการเปิดโลกรับสิ่งใหม่ๆ ไม่มีการยึดติดแต่ตัวเองในการทำงานร่วมกับคนอื่นต้องมีการยืดหยุ่น


รวมถึงการปรับตัวให้สามารถทำงานได้ในทุกPlatform ตลอดจนเรื่องศีลธรรม จรรยาบรรณ เช่น การใช้ big data โดยไม่ใช่การไปCopyคนอื่นมา  และวิธีคิดแบบเล่าเรื่องข้ามสื่อ เพราะแม้ปัจจุบันจะมีข้อมูลจำนวนมาก แต่นักศึกษานำมาใช้ไม่เป็นก็จะไม่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ผลผลิตที่ผู้รับต้องการ

ณัชชาให้ข้อมูลเชิงสถิติไว้ว่า        บัณฑิตวารสารศาสตร์ มจษ. โดยเฉลี่ยเกือบ 100 % มีงานทำ แนวโน้มการทำงานของนักศึกษา ไม่ได้อยู่ในองค์กรสื่อมวลชนเช่นเดิม แต่จะยังอยู่ในธุรกิจสื่อ และเป็นการทำงานแบบฟรีแลนซ์ เช่น รับถ่ายภาพ รับทำวิดีโอ  เป็นครีเอทีฟ  ซึ่งเด็กบางคนยังไม่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแต่เขามีงานทำแล้ว เนื่องจากเด็กยุคปัจจุบันมีโอกาสมาก ไม่ต้องยึดติดกับองค์กรสื่อที่มีแนวโน้มจะไม่แบกรับต้นทุน แต่จะจ้างแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น ทั้งนี้ การทำงานแบบฟรีแลนซ์มีแนวโน้มมากขึ้น เพราะต้องการเป็นเจ้าของกิจการเอง ไม่เสี่ยงตกงานและสามารถคุมตัวเองได้หากมีระเบียบวินัย


สำหรับ ลักษณะการทำงานของเด็กมจษ.มีหลากหลายแบบ อาทิ กลุ่มที่ยังกล้าๆกลัวๆไม่กล้าลุยของตนเองก่อน ก็จะเข้าไปสร้างเครดิต สร้างตัวตนในองค์กรสื่อมวลชนก่อนระยะหนึ่ง  กลุ่มที่รับงานฟรีแลนซ์มาทำตั้งแต่เรียน เมื่อเรียนจบก็รับงานฟรีแลนซ์ต่อไป และกลุ่มฟรีแลนซ์ประจำ คือเป็นฟรีแลนซ์แต่ได้งานจากองค์กรหรือหน่วยงานนั้นเป็นประจำ แต่การทำงานในรูปแบบของฟรีแลนซ์จะต้องมีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลา

สื่อสิ่งพิมพ์อาจจะต้องปรับการเขียนอย่างไรให้แหวกแนว น่าสนใจ สื่อโทรทัศน์จะต้องเน้นเนื้อหาที่เป็นEdutainment มากขึ้น เช่น รายการปริศนาฟ้าแลบ เป็นต้น สื่อวิทยุก็ไม่ควรขายเฉพาะเพลง จะต้องมีเรื่องราวอื่นๆมาขายด้วย

“โจทย์สำคัญของสื่อมี 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.เนื้อหา จะมีการเล่าข้ามสื่ออย่างไรให้น่าสนใจ และ2.โซเชียลมีเดียจะต้องนำเข้ามาร่วมในการนำเสนอด้วย            แม้ปัจจุบันใครๆก็เป็นสื่อได้ แต่สิ่งที่จะทำให้สื่อหลักยังคงยื่นอยู่ได้อย่างมีคุณค่า คือ การมีจริยธรรมและศีลธรรมในการทำสื่อ จะต้องมีจริยธรรมในวิชาชีพ เช่นเดียวกับครู ตำรวจ หรือแพทย์ พยาบาล ซึ่งจะมีการบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ในเด็กที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์ จึงไม่ใช่ใครๆก็จะเป็นสื่อได้ เพราะสื่อที่แท้จริงจะต้องมีจริยธรรมควบคู่กับเสรีภาพในการนำเสนอ จะทำให้สื่อมีคุณค่าในการเป็นสื่อ” ณัชชา ระบุ

ทั้งนี้ หากสื่อใดปรับตัวสู่ยุคดิจิตัล หรือ Content Business โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมของสื่อ มุ่งเน้นแต่จะขายเนื้อหาหรือขายข่าว เน้นความเร็ว ขาดความละเอียด ระยะสั้นแม้มีคนอ่านหรือคนติดตามมาก ระยะยาวจะพบจุดจบจากการที่คนเสื่อมศรัทธา แต่หากมีการสมดุลทั้งการปรับตัวเข้าสู่รูปแบบสมัยใหม่และจริยธรรม สื่อนั้นจะอยู่ได้ยาว

เพราะฉะนั้น ท่ามกลางความรวดเร็ว Platformที่เปลี่ยนไป  และการแข่งขันทางธุรกิจ แต่จริยธรรมและเสรีภาพสื่อยังเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ อาจจะทำงานช้าลงเล็กน้อยเพื่อตรวจสอบก่อนว่านำเสนอแล้วกระทบใครหรือไม่ ประเด็นชัดเจน เข้าใจง่าย หรือตกเป็นเครื่องมือของใครหรือไม่ มีความรอบด้านแล้วหรือยัง  เท่ากับสื่อได้คงจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนไว้และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

.............................


หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย