กลุ่มนักรบ “ตาลีบัน” ผงาดขึ้นสู่อำนาจในอัฟกานิสถานได้อย่างเบ็ดเสร็จอีกครั้ง หลังเข้ายึดกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ส่งผลให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาลอัฟกานิสถานต้องยอมจำนนโดยปริยาย ด้านสหรัฐอเมริกาพร้อมพันธมิตรต้องรีบอพยพผู้คนออกจากกรุงคาบูลในสภาพทุลักทุเล
หลังจากยึดอำนาจ โฆษกตาลีบันสร้างเสียงฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการให้คำมั่นว่าจะเคารพสิทธิเสรีภาพของชาวอัฟกัน “ตราบใดที่อยู่ในกรอบของกฎหมายศาสนาอิสลาม” ไม่ว่าจะเป็นสิทธิสตรี เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการเดินทาง ฯลฯ ทำให้บางคนถึงกับ “เคลิ้ม” ว่าตาลีบันยุค 2021 จะไม่กดขี่ประชาชนและโหดเหี้ยมเหมือนกับตาลีบันยุคก่อนที่สหรัฐจะบุกไปโค่นล้มในปี 2001
แต่ทว่าคำสัญญาของตาลีบันดูเหมือนจะเป็นเพียง “ลมปาก” เพราะในช่วงเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เกิดกรณีคุกคามสื่อมวลชนอัฟกันหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดในเมืองมาซาร์ อี ชารีฟ (Mazar-i-Sharif) เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นักรบตาลีบันได้เข้าสลายการชุมนุมเรียกร้องสิทธิสตรีอย่างรุนแรง มีการทำร้ายและจับกุมนักข่าวที่รายงานสถานการณ์การประท้วงด้วย
เหตุการณ์ดังกล่าวยังช็อกผู้คนไปทั่วโลก เมื่อมีการเผยแพร่ภาพนักข่าวอัฟกัน 2 คน ที่ระบุว่าถูกทุบตีและซ้อมทรมานขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตาลีบัน ร่างกายของนักข่าวทั้งสองเต็มไปด้วยบาดแผล รอยเลือด รอยฟกช้ำ ราวกับถูกทุบตีด้วยของแข็งและกรีดด้วยของมีคม ข้อมูลระบุว่านักข่าวทั้งสองเป็นพนักงานของหนังสือพิมพ์ชื่อ Etilaat Roz
“เพื่อนร่วมงานของผม 5 คนถูกคุมขังในสถานควบคุมตัวกว่า 4 ชั่วโมง และในระหว่างนั้นเอง พนักงานของเรา 2 คนก็ถูกซ้อมและทรมานอย่างทารุณ”
บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์
ด้านสำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกา ก็เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนักข่าวอัฟกันอีกคนหนึ่งที่ระบุเช่นกันว่าถูกเจ้าหน้าที่ตาลีบันรุมซ้อมและทุบตีจนสลบ นอกจากนี้ยังมีวิดิโอคลิปแสดงภาพนักรบตาลีบันใช้อาวุธปืนข่มขู่นักข่าวที่ทำข่าวการชุมนุม และสั่งให้ออกจากพื้นที่การชุมนุม
เหตุการณ์ที่เมืองมาซาร์ อี ชารีฟ เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของการปราบปรามสื่อภายใต้รัฐบาลตาลีบันยุคใหม่
หลังยึดอำนาจในกรุงคาบูล รัฐบาลตาลีบันสั่งห้ามไม่ให้ผู้ประกาศหญิงทำงานในสื่อของรัฐ ส่วนสื่อเอกชนบางแห่งก็ถูก “ขอความร่วมมือ” ให้นักข่าวผู้หญิงทำงานจากที่บ้านไปก่อนโดยไม่มีกำหนด นอกจากนี้ รัฐบาลตาลีบันยังกำชับให้สื่อหลายแห่งออกข่าวเฉพาะในมุมมองที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น ทำให้นักข่าวหลายคนกลัวว่านโยบายนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาล
นักข่าวหลายคนเองก็ถูกคุกคามโดยตรงเช่นกัน เช่น นักข่าวจากช่อง TOLONews ถูกนักรบตาลีบันรุมซ้อมและยึดโทรศัพท์มือถือ, ผู้อำนวยการสื่อ Enikass Radio โดนทหารตาลีบันเข้าค้นบ้านและยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, ทีมข่าวของสำนักข่าว Radio Television Afghanistan ถูกกลุ่มตาลีบันยึดกล้องขณะกำลังถ่ายทำรายการในกรุงคาบูล เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่านักรบตาลีบันได้จับกุมนักข่าวถึง 14 คนขณะกำลังรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านกลุ่มตาลีบันในกรุงคาบูล
ไม่นับกรณีนักข่าวจำนวนมากที่ได้หลบหนีออกจากประเทศอัฟกานิสถานไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากกังวลว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยภายใต้รัฐบาลตาลีบัน
แม้แต่ผู้ประกาศหญิงใจเหล็ก “Beheshta Arghand” ที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการสัมภาษณ์ผู้บัญชาการระดับสูงของตาลีบันออกอากาศในช่อง TOLONews ก็ได้เดินทางออกจากประเทศอัฟกานิสถานไปแล้วเช่นกัน เพราะเกรงว่าจะถูกกลุ่มตาลิบันตามมาล้างแค้น
“ฉันเองก็กลัวตาลีบัน เหมือนกับประชาชนอีกหลายล้านคนนั่นแหละ”
เธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN
พฤติกรรมคุกคามสื่อของตาลีบัน ทำให้องค์กรด้านสื่อมวลชนจำนวนมากรุมประณามและแสดงความกังวลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของชาวอัฟกัน
“เราขอประณามการทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ และการจับกุมนักข่าวที่พยายามรายงานข่าวการประท้วงในกรุงคาบูล”
ศูนย์กลางผู้สื่อข่าวอัฟกานิสถาน (AFJC) กล่าวในแถลงการณ์
“กลุ่มตาลีบันควรประณามการละเมิดเสรีภาพสื่อเหล่านี้โดยทันที และควรดูแลความปลอดภัยของนักข่าวที่รายงานสถานการณ์การประท้วง”
ด้านสหพันธ์ผู้สื่อข่าวสากล (IFJ) ระบุว่าการคุกคามสื่อหลายครั้งในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ขัดต่อคำสัญญาของรัฐบาลตาลีบันที่ให้ไว้อย่างชัดเจน
“เราขอประณามการโจมตีเสรีภาพสื่อเหล่านี้ และขอเรียกร้องว่าผู้สื่อข่าวทุกคนต้องสามารถทำงานได้โดยปราศจากความกลัวต่อการคุกคามต่างๆ”
IFJ ระบุในแถลงการณ์
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการองค์กร “นักข่าวไร้พรมแดน” ก็กล่าวเตือนว่าอัฟกานิสถานอาจกลายเป็น “หลุมดำ” ของข้อมูลข่าวสาร เพราะนักข่าวทั้งอัฟกันและต่างชาติได้พากันหนีออกมาจากอัฟกานิสถานกันเกือบหมดแล้ว
ณ ขณะนี้ ยังไม่มีถ้อยแถลงหรือท่าทีที่เป็นทางการจากรัฐบาลตาลีบันเกี่ยวกับกรณีทำร้ายสื่อมวลชนแต่อย่างใด
อัฟกานิสถานและสังคมอัฟกันในยุคปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านสื่อมวลชน จากเมื่อก่อนที่มีสื่อรัฐไม่กี่แห่ง ปัจจุบันมีสถานีวิทยุถึง 170 แห่ง มีหนังสือพิมพ์ 100 กว่าหัว และสถานีโทรทัศน์หลายสิบสำนัก ชาวอัฟกันบริโภคสื่อมากขึ้น และให้ความสำคัญต่อสถาบันสื่อมวลชนอย่างเห็นได้ชัด
ขึ้นอยู่กับว่า กลุ่มตาลีบันจะบริหารประเทศโดยเข้าใจความเปลี่ยนแปลง หรือจะถอยหลังกลับไปสู่ยุคมืดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว?