คณบดีแมสคอม มช. ส่องสื่อ นิเทศแนวใหม่ต้องเชี่ยวชาญเฉพาะตัว สร้างนักข่าวพันธุ์ใหม่ ถึงจะอยู่รอด

คณบดีแมสคอม มช. ส่องสื่อ

นิเทศแนวใหม่ต้องเชี่ยวชาญเฉพาะตัว

สร้างนักข่าวพันธุ์ใหม่ ถึงจะอยู่รอด

----


“การปรับตัวขององค์กรสื่อ คือ หัวใจสำคัญ ปัจจุบันตลาดแคบลง  การจะทำข่าวหรือสร้างเนื้อหาให้ถูกใจทุกคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องมองที่ตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ทุกวันนี้คนที่ต้องการเสพสื่อ สามารถหยิบเครื่องมือเข้ามาดูได้ทันที เพราะอยู่ในมือ ฉะนั้น ต้องมองช่องทางการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรก ส่วนหนังสือพิมพ์กระดาษ จะขายข่าวที่ความสดใหม่ ไม่ได้ เพราะไม่ทันกับข่าวออนไลน์ที่นำเสนอไปหมดแล้ว จะต้องเพิ่มความเจาะลึกหรือความลุ่มลึกมากขึ้น

“ปัจจุบันไม่มีกุญแจแห่งความสำเร็จ ดังนั้น สถาบันการศึกษา และสื่อวิชาชีพจะต้องร่วมมือกัน มิเช่นนั้น ในอนาคตจะเกิดปัญหา คนจบใหม่ไม่ทำงานในองค์กรสื่อ เพราะคนไม่อ่าน คนไม่ดู ทางออกที่น่าสนใจ เช่น ในจีน มหาวิทยาลัยจะทำงานป้อนให้องค์กรสื่อ โดยผลิตเนื้อหาให้ เพราะมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ เช่น เรื่องชาติพันธุ์ต่างๆก็นำเสนอในรูปแบบสารคดี ทำให้ได้เนื้อหาเชิงลึก ขณะที่นักศึกษาทำงานประสบการณ์จริง และองค์กรสื่อลดต้นทุนในการจ้างคนหรือการผลิตเนื้อหา”


ความกังวลของ รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อสถานการณ์สื่อหลักในปัจจุบันที่อยู่ในช่วงขาลง  พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คนหันมาเสพข้อมูลผ่านมือถือ  ไม่นิยมสื่อกระดาษและทีวี

ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนของ แมสคอม ที่รศ.ธีรภัทร เป็นหัวขบวนนำอยู่ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และตามเทรนด์โลกสมัยใหม่ 

เกือบ 60 ของ  “แมสคอม” เชียงใหม่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคหลายสมัย ผลิตนักนิเทศมือดี เข้าสู่วงการมากมาย กระทั่งปัจจุบันยังมีนักศึกษาเข้าเรียนต่อเนื่อง สวนทางกับหลายมหาลัยโดยมีการปรับหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัยและหนีภาวะดิสรัปชั่น

ในปีการศึกษา 2562  มีสาขาใหม่ที่เปิดการเรียนการสอน คือ สาขาวิชาภาพยนตร์ดิจิทัล (Digital Film)  มี 3 วิชาเอก ได้แก่ 1.ภาพยนตร์ศึกษา(Film Studies) 2.การบริหารจัดการงานภาพยนตร์(Film Administration) และ3.คอมพิวเตอร์กราฟิกสำหรับภาพยนตร์(Computer-generated Imagery) เพื่อตอบโจทย์ตลาดปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในอดีต ภาควิชาสื่อสารมวลชน เดิมอยู่ภายใต้สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย​เชียง (มช.) เปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี 2507 ต่อมาสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อนุมัติยกฐานะจากภาควิชาเป็นคณะการสื่อสารมวลชน (MassComm)  ในปี 2548 โดยปัจจุบันหลักสูตรปริญญาตรีแบ่งการเรียนออกเป็น 3 กลุ่มวิชา ได้แก่ 1.วารสารศาสตร์บูรณาการ (Integrated Journalism) 2.การสื่อสารบันเทิง (Entertainment Communication) และ3.การสื่อสารการตลาด(Marketing Communication)

สำหรับหลักสูตรปริญญาโท จากเดิมเปิดสอน 1 สาขา คือ สาขาการสื่อสารศึกษา ซึ่งเปิดมานานกว่า 10 ปี  เน้นเชิงวิชาการ เมื่อสำเร็จการศึกษามุ่งเป็นอาจารย์  นักวิจัย และนักวิชาการ  ในปีการศึกษา 2562 มีจะปรับหลักสูตรแยกเป็น 2 สาขา คือ “สื่อสารศึกษา” และ “สื่อสารการตลาด” เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการสื่อสารตลาดในยุคดิจิทัล  ส่วนระดับปริญญาเอก  คณะวางแผนจะเปิดในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือราวปี 2564

 



0จบออกไปไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อ

แต่ทุกองค์กรต้องการนักสื่อสาร

รศ.ธีรภัทร ระบุว่า จำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนใน คณะการสื่อสารมวลชน มช.มีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับปริญญาตรี จากเดิม​ที่ยังเป็นภาควิชาการสื่อสารมวลชนจะรับนักศึกษาปีละราว 60 -100 คนแยก และเมื่อตั้งเป็นคณะมีการรับนักศึกษาเพิ่มเป็น 200 คน และในปี 2561 คาดว่าจะรับได้ถึง  270 คน รวมทั้งในปีการศึกษา 2562 ที่จะมีการเปิดสาขาภาพยนตร์ดิจิทัลเพิ่มอีก 1 สาขาทำให้น่าจะมีจำนวนนักศึกษามากขึ้น

ส่วนอาจารย์ผู้สอน มีอาจารย์ประจำประมาณ 30 คน และจะมีอาจารย์พิเศษจากแวดวงวิชาชีพมาช่วยสอน เพื่อพัฒนาเด็กให้ก้าวทันการทำงานจริง ซึ่งจะเห็นว่าจำนวนอาจารย์จะเพิ่มขึ้น และเริ่มหาอาจารย์สอนยากในบางสาขา อย่างไรก็ตาม คณะสื่อสารมวลชน มช.มีศิษย์ที่ประสิทธิภาพจำนวนมาก ซึ่งทางคณะได้เชิญมาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอน และมีการแต่งตั้งศิษย์เก่าเป็นผู้ช่วยคณบดีดูแลสาขาละ 2 ท่าน ทำให้แนวโน้มการขาดแคลนอาจารย์ดีขึ้น

ในแง่การปรับเปลี่ยนหลักสูตรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากเดิมคณะเคยแบ่งออกเป็น 5 แขนงได้แก่ 1.แขนงวิชาวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง 2.แขนงวิชาการประชาสัมพันธ์และการโฆษณา 3.แขนงวิชาหนังสือพิมพ์และนิตยสาร 4. แขนงวิชาสื่อสารการแสดงและ 5. แขนงวิชาสื่อใหม่ แต่ในปี 2561  หลักสูตรใหม่จะเป็นการยึดโยงความเป็นบูรณาการ  โดยแบ่งเป็น 3  กลุ่มวิชา  คือ วารสารศาสตร์บูรณาการ  การสื่อสารบันเทิง และการสื่อสารการตลาด ซึ่งเป็นการปรับเพื่อตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ของสื่อ ได้แก่  ให้ความรู้ ให้ความบันเทิงและการจูงใจ

นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2562 จะเปิดสาขาใหม่  คือ สาขาวิชาภาพยนตร์ดิจิทัล (Digital Film)  โดยมี 3 เอก ได้แก่ 1.ภาพยนตร์ศึกษา(Film Studies) 2.การบริหารจัดการงานภาพยนตร์(Film Administration) และ3.คอมพิวเตอร์กราฟิกสำหรับภาพยนตร์(Computer-generated Imagery)

คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มช.​ อธิบายว่า การเรียนการสอนสาขานี้ในระดับชั้นปีที่ 1 จึงจะเรียนวิชาการผลิตหรือโปรดักชั่นเลย เมื่อขึ้นปี 2 จึงจะให้นักศึกษาแยกเป็น 3 เอก และในปี 4 ภาคการศึกษาที่ 2 จะให้นักศึกษาเลือกว่าจะฝึกสหกิจศึกษา หรือทำโครงงาน เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าไปฝึกทักษะตัวเอง

“การศึกษาในยุคปัจจุบันต้องเป็นเหมือนตัว T ในแนวนอนจะเป็นวิชาความรู้ทั่วไป และแนวตั้งจะเจาะลึกในสาขาเชี่ยวชาญเฉพาะตัว หลังจากที่เรียนรู้ทุกศาสตร์แล้ว ซึ่งเป็นความท้าทายของหลักสูตรที่เดินตามแนว “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ของรัฐบาล ที่มุ่งให้เมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถทำงานได้ทันทีและเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์” รศ.ธีรภัทร กล่าว

รศ.ธีรภัทร กล่าวว่า ​นอกจากความรู้ ทักษะการทำงานที่ได้รับจากการเรียนการสอนในวิชาต่างๆแล้ว ภาพจะมีการปลูกฝังตั้งแต่วันแรกที่นักศึกษาเข้ามาเรียนในคณะคือการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการตอบโจทย์ตามสโลแกนของคณะ​ที่มีว่า “สื่อสาร สร้างสรรค์ แบ่งปัน” โดยการทำหน้าที่สื่อ ไม่เพียงแต่จะต้องสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอเท่านั้น แต่จะต้องรู้จักแบ่งปัน คิดถึงคนอื่นด้วยซึ่งที่นี่จะบ่มเพาะให้นักศึกษาเป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลบัณฑิตที่จบการศึกษา ในปี 2561 พบว่า 60 % ทำงานในองค์กรสื่อทั้งภาคเอกชนและรัฐ ขณะที่ 4 % ศึกษาต่อ และ 30% ทำอาชีพส่วนตัว ทำงานธุรกิจครอบครัว และสตาร์ทอัพ  โดยรูปแบบการทำงานที่เป็นลักษณะสตาร์ทอัพมีแนวโน้มมากขึ้น  เช่นรวมตัวกัน 3-4 คน แล้วรับจ้างทำคอนเทนต์ วิดีโอ  วิ่งหาลูกค้า เขียนบท  ตัดต่อ ต่างจากเดิมที่ 60-70 % จะทำงานตรงสายในองค์กรสื่อ ที่เหลือทำงานในองค์กรอื่น

“ท่ามกลาง Media Disruption ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองที่มีความกังวลว่า เด็กที่เรียนด้านนี้ เมื่อจบไปแล้วจะตกงาน จากการที่เห็นนิตยสาร หนังสือพิมพ์ปิดตัว โทรทัศน์คืนคลื่นเพราะขาดทุน เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของสื่อที่จะต้องปรับตัว  โดยส่วนตัวได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่า การเรียนด้านสื่อสารมวลชน ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานในองค์กรสื่อเท่านั้น แต่ในทุกองค์กรต้องการการสื่อสาร”​


0สื่อจะอยู่รอดต้องเน้นเฉพาะกลุ่ม

ต่อมุมมองสถานการณ์สื่อในปัจจุบัน รศ.ธีรภัทร เห็นว่า ปัญหาของสื่อทีวีประเทศไทย คือ มีช่องจำนวนมากเกินไปถึง 24 ช่อง ขณะที่เม็ดเงินโฆษณายังมีเท่าเดิมกับตอนที่โทรทัศน์มี 7-8 ช่อง ทำให้ธุรกิจส่อแววเจ๊ง องค์กรที่แข็งแรงจึงจะอยู่รอดได้  องค์กรสื่อมีการลดขนาดองค์กรลง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาความรวดเร็วในการนำเสนอมากขึ้น แต่จุดสำคัญ คือ ประชาชนแย่งความเป็นนักข่าว และสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างรวดเร็ว เพราะเขาอยู่ในพื้นที่และมีเครื่องมือสื่อสารที่เข้าถึงได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวหรือองค์กรสื่อ จะต้องเน้นการเจาะลึก ซึ่งจะไม่มีใครแย่งไปได้  อีกทั้งการนำข้อมูลข่าวมาแปลงเป็นข้อมูลให้คนเข้าใจ ต้องไม่ใช่วิ่งตามแต่ข่าวในโซเชียลมีเดีย แต่ต้องสามารถแปลงข้อมูลต่างๆที่มีอยู่มากมายให้คนเข้าใจอย่างลุ่มลึก

นอกจากนี้ แวดวงวิชาการและแวดวงวิชาชีพจะต้องร่วมกันสร้าง “นักข่าวรุ่นใหม่”ที่เป็นการผสมผสานระหว่างแบบเก่าและแบบใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่จะขาดความลุ่มลึก ตีประเด็นไม่แตก ทำให้คนรับสารเบื่อหน่าย เหมือนกับช่วงเวลาหนึ่งที่คนจะเบื่อภาพยนตร์แนวซุปเปอร์ฮีโร่อย่างมาก ฉะนั้น จะต้องสร้างเนื้อหาที่มีความลุ่มลึกสื่อออกไปในหลากหลายช่องทาง เพื่อให้ส่งสารเข้ากลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง การสื่อเนื้อหาในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม วัตถุประสงค์ก็จะแตกต่างกัน

 

 


หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย