“นิเทศ ม.เกษตรฯ” ไปต่อ….ต้องปรับสู่ “มัลติสกิล”

 

“นิเทศ ม.เกษตรฯ”

ไปต่อ....ต้องปรับสู่ “มัลติสกิล”

 

“การศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ และวงการนิเทศศาสตร์ยังคงอยู่รอด เพราะต่อให้ทุกคนสามารถประกอบอาชีพ ผลิตสื่อเองได้ แต่ความรู้ในเชิงลึกไม่ได้มีทุกคน ดังนั้น ยังจำเป็นที่สถาบันการศึกษาต้องผลิตนักนิเทศศาสตร์เพื่อเข้าสู่วงการนี้”

คำยืนยันจาก รศ.กิติมา อินทรัมพรรย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่เชื่อมั่นว่า นิเทศศาสตร์จะไม่มีวันตาย โดยในส่วนของคณะที่ได้เปิดปริญญาตรีในภาควิชาสื่อสารมวลชน และปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ มาตั้งแต่ปี 2552 และในปี 2561 นี้ได้ปรับหลักสูตรให้ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนเช่นกัน

“เราไม่ได้ต้องการบุคลากรมีทักษะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องการมัลติสกิล (Multiskill) จึงได้มีการปรับหลักสูตรจากเดิม สาขาสื่อสารมวลชน เปลี่ยนเป็นหลักสูตรสาขานิเทศศาสตร์ ที่จะเน้นการศึกษาแบบองค์รวมมากขึ้น เพื่อให้นิสิตมีความรู้หลากหลาย รู้ลึก รู้กว้าง เป็นบัณฑิตนิเทศศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีองค์ความรู้ทั้งด้านการสร้างสรรค์สื่อ การบริหารสื่อ และมีทักษะที่หลากหลาย

รศ.กิตติมา กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กให้ความสนใจหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ไม่ได้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยแต่ละปี รับนิสิตปีละ 40 คน ซึ่งยังคงมีอัตราการการแข่งขันสูง และอยู่ในอันดับ 4 ของประเทศที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ด้วยรูปแบบของสื่อที่แตกต่างไปจากเดิม จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร เพื่อตอบสนองนิเทศศาสตร์ในอนาคต ที่ต้องมีความสามารถหลากหลายในการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ที่เด็กต้องสื่อสารเป็น ใช้ภาษาได้อย่างดี ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่ 3 และมีเรื่องจริยธรรมต่างๆ

 

0เด็กจบใหม่ไปเป็นผู้ผลิตสื่อ

มากกว่าเป็นผู้สื่อข่าว

ในส่วนของการปรับปรุงหลักสูตร  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัย คณะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอนตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่จะปรับมากปรับน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วง โดยในส่วนของหลักสูตรนิเทศศาสตร์นั้น มีการปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับสื่อ แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ล้วนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนด้านสื่ออยู่แล้ว

" ยิ่งทุกคนสามารถสร้างสื่อด้วยตนเอง จบอาชีพอื่นก็สามารถมาทำงานด้านสื่อได้ ทำให้มหาวิทยาลัย คณะต้องปรับตัว ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ให้ตอบสนองวงการสื่อ และนิสิต ผลิตบุคลากรด้านสื่อที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ หรือลักษณะของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเป็นผู้ผลิต ผู้สร้างสรรค์ เป็นนายตัวเอง เป็นฟรีแลนด์ ชอบความอิสระ และสามารถทำงานได้หลากหลาย ไม่ทำงานด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ"

สำหรับหลักสูตรที่มีการปรับปรุงใหม่ ในปี 2561 และเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2562 นี้ จะไม่ได้แบ่งเป็นสาขา แต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนใน 2 กลุ่มวิชาใหญ่ คือ กลุ่มวิชาด้านมีเดียโปรดักชั่นหรือการผลิตสร้างสรรค์สื่อ และกลุ่มวิชาด้านการสื่อสารองค์กร ซึ่งนิสิตสามารถเลือกเรียนได้ทั้ง 2 กลุ่มวิชา      โดยได้ออกแบบหลักสูตรไว้ให้นิสิตปีที่ 1-2 จะเรียนวิชาพื้นฐาน ทั้งด้านมีเดียโปรดักชั่น การผลิตสร้างสรรค์สื่อ และด้านการสื่อสารองค์กร พอเข้าปี 3 นิสิตจะต้องเลือกเรียนในด้านใดด้านหนึ่งเพื่อเป็นการรู้ลึก รู้กว้าง รู้จริงในกลุ่มวิชาเหล่านั้นมากขึ้น การปรับเปลี่ยนจึงเน้นรายวิชาที่เหมาะสมกับบริบท ความต้องการของนิสิต และการเปลี่ยนแปลงขององค์กรสื่อ รวมถึงมีรายวิชาสร้างนวัตกรรมสื่อ  เมื่อเข้าสู่ปี 4 ภาคเรียนที่ 2 สามารถไปฝึกประสบการณ์กับ สื่อที่นิสิตต้องการ เช่น  สถานีข่าว สถานีโทรทัศน์ บริษัทโฆษณา หรือบริษัทสื่อต่างๆ นักนิเทศศาสตร์รุ่นใหม่ จึงต้องเรียนรู้สื่อและรู้จักสร้างนวัตกรรมสื่อด้วย

"ทุกคนสามารถเลือกเรียนได้ในส่วนที่ต้องการเรียนรู้ เช่น คนที่เรียนด้านมีเดียโปรดักชั่น จะสามารถเรียนด้านโฆษณาการบริหารจัดการสื่ออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ หรือการจัดการอีเว้นต์สามารถเลือกเรียนได้ หรือจะเลือกเรียนการสื่อสารองค์กร การประชาสัมพันธ์ อยู่กับการเลือกสรรของนิสิตเอง เพราะไม่ได้เป็นสาขาวิชา แต่เป็นกลุ่มวิชาเลือกให้เด็กได้เลือกด้วย”รศ.กิติมา กล่าว

ส่วนระดับปริญญาโทเปิดหลักสูตรเดียว คือ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม ศึกษาวิจัยลงลึกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสื่อ การบูรณาการสื่อ การวิเคราะห์สื่อต่างๆ โดยการจัดการเรียนการสอนเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของประเทศ ในการผลิตบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถในด้านนิเทศศาสตร์และสารสนเทศ ให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ละปีจะรับนิสิตเพียง 25 คน

รศ.กิติมา กล่าวยอมรับว่านิสิตของคณะส่วนใหญ่มีทั้งไปประกอบอาชีพส่วนตัว เป็นออกาไนซ์ ไปทิศทางของผู้ผลิตสื่อ มากกว่าจะเข้าสู่วงการสื่อ อย่าง โทรทัศน์ ทีวี หนังสือพิมพ์ และชอบทำงานเป็นฟรีแลนด์ เข้าไปฝึกงาน เรียนรู้และมาสร้างธุรกิจของตัวเอง อย่าง การสร้างโปรดักชั่นส์ ในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อมัลติมีเดีย เป็นเครื่องมือพื้นฐาน เป็นผู้บริหารจัดการสื่อ ดังนั้น ทักษะที่มหาวิทยาลัยต้องเติมให้แก่นิสิต นอกจากความสามารถในการปรับตัวแล้ว ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี มีความตื่นตัวในเรื่องต่างๆ สิ่งรอบตัว พร้อมเรียนรู้ ปรับตัวในการผลิตสื่อ ต้องรู้จักสื่อสาร

ทั้งนี้จากการสำรวจบัณฑิตในแต่ละปีจบออกไปทำงานในองค์กรต่างๆ ด้านนิเทศศาสตร์ 97% ทั้งในส่วนของเอเจนซี่บริษัทต่างๆ หรือเอเจนซี่โฆษณา นักข่าวโทรทัศน์ เว็บไซต์ผลิตคอนเทนต์สื่อดิจิทัล ผู้กำกับภาพยนตร์ งานพีอาร์ และอื่นๆ เด็กจบออกไป มีโอกาสในการสู่อาชีพนี้ค่อนข้างมาก เพราะนิสิตนิเทศศาสตร์ มก.พยายามสร้างให้มีความยืดหยุ่น ผลิตสื่อได้ เข้าใจเรื่องภาษา เทคนิคในการสื่อสาร และมีทักษะการเขียน วิเคราะห์ จับใจความเรื่องราวต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะที่ต้องเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ การสะสมทั้งองค์ความรู้และฝึกปฎิบัติ

0นิเทศยังอยู่รอด

เพราะไม่มีใครรู้ลึกทุกคน

 

รศ.กิติมา กล่าวว่า สื่อในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร  ดังนั้น คนที่ทำงานด้านสื่อควรจะเข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนการสอน หรือเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาบัณฑิตว่าอยากได้บัณฑิตคุณลักษณะใด หรือเปิดโอกาสให้เข้าฝึกปฏิบัติ ไปทำงานระหว่างเรียนมากขึ้น  อยากให้คนทำงานวงการสื่อเข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์ ชี้แนะมหาวิทยาลัยได้ว่าทักษะใดที่นักนิเทศศาสตร์รุ่นใหม่ควรจะมี รวมถึงควรให้ความสำคัญเรื่องจริยธรรม โดยเฉพาะการนำเสนอภาษาที่ใช้ เนื้อหาก็ต้องสร้างสรรค์ไม่ให้กระทบต่อผู้อื่น แม้ว่าสื่อต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง แต่ก็ต้องมองรอบด้าน ก่อนที่จะสรุปและนำเสนอออกสู่สาธารณชน

 

การศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ และวงการนิเทศศาสตร์ยังคงอยู่รอด เพราะต่อให้ทุกคนสามารถประกอบอาชีพ ผลิตสื่อเองได้ แต่ความรู้ในเชิงลึกไม่ได้มีทุกคน ดังนั้น ยังจำเป็นที่สถาบันการศึกษาต้องผลิตนักนิเทศศาสตร์เพื่อเข้าสู่วงการนี้ แต่ต้องเป็นนักนิเทศศาสตร์ที่มีคุณสมบัติหลากหลายประการ เป็นนักนิเทศศาสตร์ที่ดีได้ มีการผลิตสื่อต่างๆ เก่งภาษา การสื่อสารการถ่ายทอดเรื่องราว มีความรู้เฉพาะด้าน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

รศ.กิตติมา กล่าวว่า เด็กด้านนิเทศที่จบออกไป ยังมีโอกาสในการสู่อาชีพนี้ค่อนข้างมาก แต่ต้องมีความยืดหยุ่น เพราะนักนิเทศศาสตร์สมัยนี้ไม่ใช่เพียงผลิตสื่อได้เท่านั้น ต้องเข้าใจเรื่องภาษา เทคนิคในการสื่อสาร และมีทักษะการเขียน วิเคราะห์ จับใจความเรื่องราวต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะที่ต้องเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ การสะสมทั้งองค์ความรู้และฝึกปฎิบัติ

 


หมายเหตุ- ถอดความจากหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2562 เรื่อง “นิเทศศาสตร์ Never Die” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย